Skip to main content
sharethis
 
16 ก.ย.52 นายอานนท์ นำภา ทนายความของ น.ส.บุญรอด สายวงศ์ ผู้ต้องหาที่2 น.ส.จิตรา คชเดช ผู้ต้องหาที่3 ซึ่งถูกพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลดุสิตออกหมายจับในฐานะเป็นแกนนำนำกลุ่มผู้ชุมนุมไทรอัมพ์ประมาณ 300-400 คน ปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือถึง นายกฯ ให้ช่วยเหลือคนงานที่ถูกบริษัทเลิกจ้าง เมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา  ได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องการขอคัดถ่ายคำร้องออกหมายจับ, คำเบิกความพนักงานสอบสวนผู้ขอออกหมายจับ เพื่อจะได้ทราบข้อกล่าวหาที่แน่ชัด โดยศาลชั้นต้นระบุเหตุผลว่า “การขอออกหมายจับเป็นขั้นตอนในชั้นสอบสวน ไม่มีเหตุอนุญาต ยกคำร้อง”
ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนฯ ได้ออกหมายจับเลขที่ 2493-2495/2552 โดยมีรายงานข่าวระบุว่าเป็นการออกหมายจับแกนนำแรงงาน 3 คน ในข้อหา มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้า หรือ ผู้สั่งการเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก (อ่านรายละเอียดได้ที่ http://www.prachatai.com/journal/2009/08/25623)
อย่างไรก็ตาม ในคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นครั้งนี้ ทนายความได้ระบุเหตุผลว่า ผู้ร้องมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 26,28,40 รวมถึง หลักการในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองค.ศ.1966 (ICCPR: International Covenant on Civil and Political Rights) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิก มีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม ในข้อ 14 ข้อย่อยที่ 3
คำร้องดังกล่าว ระบุด้วยว่า การออกหมายจับย่อมมีผลกระทบกระเทือนถึงสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้อง และอาจถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม รวมทั้งต้องอาจถูกควบคุมตัวในระหว่างสอบสวน ผู้ร้องจึงเป็นบุคคลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในคดี และมีสิทธิในการขอคัดถ่ายคำร้องขอออกหมายจับ หมายจับ ตลอดจนสรรพเอกสารในสำนวน มีโอกาสในการต่อสู้คดีอย่างเพียงพอ มีสิทธิในการตรวจสอบหรือได้รับทราบพยานหลักฐานตามสมควร มีสิทธิในการได้รับการสอบสวนอย่างถูกต้อง รวดเร็ว เป็นธรรมตามรัฐธรรมนูญ
การที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ผู้ร้องคัดถ่ายเอกสารดังกล่าวนั้น ย่อมทำให้ผู้ร้องไม่มีโอกาสในการรับทราบพยานหลักฐานอย่างเพียงพอ และไม่มีโอกาสเสนอข้อเท็จจริง ข้อโต้แย้ง และพยานหลักฐานของตนในการโต้แย้งการออกหมายจับ ทำให้ผู้ร้องถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญซึ่งมุ่งหวังในการประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนตั้งแต่ชั้นสอบสวน และทำให้ผู้ร้องไม่สามารถใช้สิทธิขอเพิกถอนหมายจับตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการออกคำสั่งหรือหมายอาญาพ.ศ.2548 ข้อ 24 ซึ่งบัญญัติว่า “เมื่อมีเหตุที่จะเพิกถอนหมายจับหรือหมายค้น ให้เจ้าพนักงานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องรายงานหรือแจ้งให้ศาลที่ออกหมายทราบโดยเร็ว ในกรณีเช่นนี้ให้ผู้พิพากษาไต่สวนและมีคำสั่งเป็นการด่วน” ได้ รวมทั้งไม่สามารถเตรียมหลักทรัพย์ในการประกันตัวให้เพียงพอตามข้อกล่าวหา เตรียมคำให้การได้ เนื่องจากยังไม่ทราบข้อกล่าวหาที่แน่ชัดจนถึงปัจจุบัน
            

มาตรา ๒๖ การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
 
มาตรา ๒๘ บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น  ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน
 
บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้เพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้
 
บุคคลย่อมสามารถใช้สิทธิทางศาลเพื่อบังคับให้รัฐต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติในหมวดนี้ได้โดยตรงหากการใช้สิทธิและเสรีภาพในเรื่องใดมีกฎหมายบัญญัติรายละเอียดแห่งการใช้สิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้แล้ว ให้การใช้สิทธิและเสรีภาพในเรื่องนั้นเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
 
บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการส่งเสริม สนับสนุน และช่วยเหลือจากรัฐ ในการใช้สิทธิตามความในหมวดนี้
 
มาตรา ๔๐ บุคคลย่อมมีสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ดังต่อไปนี้
(๑) สิทธิเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยง่าย สะดวก รวดเร็ว และทั่วถึง
(๒) สิทธิพื้นฐานในกระบวนพิจารณา ซึ่งอย่างน้อยต้องมีหลักประกันขั้นพื้นฐานเรื่อง การได้รับการพิจารณาโดยเปิดเผย การได้รับทราบข้อเท็จจริงและตรวจเอกสารอย่างเพียงพอ การเสนอข้อเท็จจริง ข้อโต้แย้ง และพยานหลักฐานของตน การคัดค้านผู้พิพากษาหรือตุลาการ การได้รับการพิจาณาโดยผู้พิพากษาหรือตุลาการที่นั่งพิจาณาคดีครบองค์คณะ และการได้รับทราบเหตุผลประกอบคำวินิจฉัย คำพิพากษา หรือคำสั่ง
(๓) บุคคลย่อมมีสิทธิที่จะให้คดีของตนได้รับการพิจารณาอย่างถูกต้อง รวดเร็วและเป็นธรรม
(๔) ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา โจทก์ จำเลย คู่กรณี ผู้มีส่วนได้เสีย หรือพยานในคดีมีสิทธิได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสมในการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งสิทธิในการได้รับการสอบสวนอย่างถูกต้อง รวดเร็ว เป็นธรรม และการไม่ให้ถ้อยคำเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง
(๗) ในคดีอาญา ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีสิทธิได้รับการสอบสวนหรือการพิจารณาคดีที่ถูกต้องรวดเร็ว และเป็นธรรม โอกาสในการต่อสู้คดีอย่างเพียงพอ การตรวจสอบหรือได้รับทราบพยานหลักฐานตามสมควร การได้รับความช่วยเหลือในทางคดีจากทนายความ และการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว
 
กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองค.ศ.1966 (International Covenant on Civil and Political Rights)ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิก มีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม ในข้อ 14 ข้อย่อยที่ 3 ซึ่งบัญญัติว่า “ในการพิจารณาคดีอาญา บุคคลทุกคนซึ่งต้องหาว่ากระทำผิดย่อมมีสิทธิที่จะได้รับหลักประกันขั้นต่ำดังต่อไปนี้โดยเสมอภาค
(ก) สิทธิที่จะได้รับแจ้งโดยพลันซึ่งรายละเอียดเกี่ยวกับสภาพและเหตุแห่งความผิดที่ถูกกล่าวหา       ในภาษาซึ่งบุคคลนั้นเข้าใจได้
(ข) สิทธิที่จะมีเวลา และได้รับความสะดวกเพียงพอแก่การเตรียมการเพื่อต่อสู้คดี และติดต่อกับทนายความที่ตนเลือกได้”
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net