Skip to main content
sharethis

17 ก.ย. 52 สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เตรียมจดหมายยื่นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในวาระที่นายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีกำหนดนัดหมายพูดคุยกับแกนนำชาวบ้านและสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนในวันศุกร์ที่ 18 กันยายน 2552

จดหมายดังกล่าว เป็นจดหมาย “ขอให้ปฎิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 67 วรรคสอง อย่างเคร่งครัด” โดยมีเนื้อหาไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลปฏิบัติตามความเห็นของกฤษฎีกา โดยพยายามที่จะผลักดันให้หน่วยงานอนุมัติ/อนุญาตต่างๆ เร่งออกใบอนุญาตให้กับโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง ซึ่งเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งยังไม่มีกฎหมายลูกรองรับ
 
ทั้งนี้ในจดหมายระบุว่า สมาคมฯ และผู้แทนของชุมชนยืนยันว่า การดำเนินการเพื่ออนุวัตให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 67 วรรคสอง ทั้ง 5 ประการข้างต้น ไม่ทำให้การผลักดันนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลล่าช้าจนเกินไปนัก แต่ทว่าจะเป็นการทำให้สังคมและผู้ประกอบการและภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมีความเชื่อมั่นได้เต็มที่ว่า การดำเนินการใด ๆ ต่อไปนี้จะเป็นการดำเนินการภายใต้กฎหมาย และนโยบายของรัฐบาล โดยการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนได้อย่างแท้จริง เพื่อนำไปสู่เป้าหมายสุดท้ายร่วมกัน คือ “การลดความขัดแย้งอันเนื่องมาจากโครงการพัฒนาต่าง ๆ”
                                                           
0 0 0
 
 
สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน
 
 
วันที่ 18 กันยายน พ.ศ.2552
 
เรื่อง      ขอให้ปฎิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 67 วรรคสอง อย่างเคร่งครัด
 
กราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี และหรือในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
 
            ตามที่รัฐบาลพยายามที่จะผลักดันให้หน่วยงานอนุมัติ/อนุญาตต่าง ๆ เร่งออกใบอนุญาตให้กับโครงการหรือกิจกรรมต่าง ๆ โดยพยายามหาเหตุที่จะหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสองนั้น สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและตัวแทนชุมชนใคร่ขอกราบเรียน ฯพณฯ เพื่อทราบว่า ท่านกำลังดำเนินการใด ๆ ที่ขัดต่อกฎหมายหลายกรรมหลายวาระ ตั้งแต่กฎหมายซึ่งเป็นแม่บทของประเทศ ยันถึงกฎหมายธรรมดาทั่วไป และที่สำคัญยิ่ง คือ การขัดต่อแนวนโยบายของ ฯพณฯ เองที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2551 โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจ ข้อ 4.3.10 ที่ว่า “เร่งแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินโครงการขนาดใหญ่อย่างจริงจัง ภายใต้กระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน....”
 
เริ่มจาก ฯพณฯ ไม่สั่งการหรือลงโทษหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่มีหน้าที่ตามกฎหมาย (พรบ.คณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ.2522) ว่า “ต้องเสนอความเห็นและข้อสังเกตต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการให้มีกฎหมาย หรือแก้ไขปรับปรุง หรือยกเลิกกฎหมาย”, ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มีคำสั่งกระทรวงฯแต่งตั้งคณะทำงานที่ 74/2551 ให้ทำการยกร่างกฎหมายจัดตั้งองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งคณะทำงานได้ยกร่างและเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสียทั่วประเทศทุกภาคแล้ว และได้ส่งร่างกฎหมายให้ปลัดกระทรวงฯนี้แล้วตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2551 แต่ปลัดกระทรวงฯแห่งนี้กลับแช่แข็งเรื่องดังกล่าวไว้ จนไม่สามารถอนุวัตให้มีกฎหมายออกมารองรับตามรัฐธรรมนูญมาตรา 303 ภายใน 1 ปี นับแต่รัฐบาลชุดแรกแถลงนโยบายต่อรัฐสภา รวมทั้งคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่ปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2551 มาตรา 25 (5)
 
บัดนี้ ระยะเวลาดังกล่าวเนิ่นนานมากว่า 20 เดือนแล้ว กฎหมายที่จะต้องอนุวัตตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง ยังไม่สามารถออกมาบังคับใช้เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติของผู้มีส่วนได้เสียได้ แต่กลับมีความพยายามลุกรี้รุกรนในการใช้คำสั่งทางปกครอง ทั้งมติของคณะกรรมการ กรอ. ครั้งที่ 5/2552 และครั้งที่ 6/2552 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ.2552 ที่ผ่านมาให้หน่วยงานอนุมัติ/อนุญาตเร่งออกใบอนุญาตให้กับโครงการหรือกิจกรรมใด ๆ ไปได้เลยตามความเห็นของกฤษฎีกาที่เป็นเพียงที่ปรึกษาของรัฐบาล หาใช่ผู้ที่มีอำนาจวินิจฉัยประเด็นต่าง ๆ ในรัฐธรรมนูญได้ไม่
 
            สมาคมฯและตัวทนชุมชนขอยืนยันว่า ความเห็นของกฤษฎีการที่ 491-493/2552 เป็นการก้าวล่วงอำนาจการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เคยมีคำวินิจฉัยไว้แล้วที่ 3/2552 วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2552 ที่ว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มีเจตนารมณ์ให้สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้รับรองไว้มีสภาพบังคับใช้ได้ทันทีที่รัฐธรรมนูญประกาศให้มีผลใช้บังคับโดยไม่ต้องรอให้มีการบัญญัติกฎหมายอนุวัตการมาใช้บังคับก่อน”
 
            สมาคมฯ และตัวแทนชุมชน จึงใคร่กราบเรียนมายัง ฯพณฯ ในวันนี้ว่า
 
            1)ไม่เห็นด้วยกับการยอมรับการตีความมาตรา 67 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ประกอบกับมาตรา 303 (1) ตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เพราะ การตีความว่า หน่วยงานสามารถดำเนินการอนุมัติ อนุญาตตามกฎหมายที่มีอยู่เดิม โดยไม่ต้องรอให้มีองค์กรอิสระสิ่งแวดล้อมตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ เป็นการตีความที่ขัดหรือแย้งกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เคยมีเป็นบรรทัดฐานไว้แล้ว และเป็นการก้าวล่วงต่ออำนาจของศาลรัฐธรรมนูญและเป็นการละเมิดสิทธิในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีของชุมชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67
 
2)ไม่เห็นด้วยและขอให้สั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมยกเลิกความพยายามที่จะออกประกาศ 8 ประเภทโครงการกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ที่จัดทำโดยกระทรวงอุตสาหกรรม เพราะไม่เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้ามามีส่วนร่วมในการยกร่าง อีกทั้งไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรมตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535
 
3)ให้ยุติการอนุมัติอนุญาตโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชุมชนในพื้นที่มาบตาพุด-บ้านฉางและใกล้เคียงที่ผ่าน EIA แล้วซึ่งมีกว่า 76 โครงการไว้ก่อน รวมทั้งโครงการหรือกิจกรรมประเภทรุนแรงอื่น ๆ ทั่วประเทศไว้จนกว่าการดำเนินการตามข้อ 4) และข้อ 5) จะเสร็จสิ้น
 
4)ให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พ.ศ. ... และร่างประกาศประเภทโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ที่จัดทำโดยคณะกรรมการยกร่างฯ ตามคำสั่งของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และขณะนี้อยู่ในมือปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ นำมาเพื่อให้คณะรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบและดำเนินการให้เป็นกฎหมายภายในสมัยประชุมนิติบัญญัติ ของรัฐสภานี้โดยเร่งด่วน
 
5)รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการจัดให้มีกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (HIA) และออกระเบียบว่าด้วยกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย (Public Hearing Act) ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญโดยเร็ว ทั้งนี้ภายใต้กระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน
 
สมาคมฯ และผู้แทนของชุมชนขอยืนยันว่าการดำเนินการเพื่ออนุวัตให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 67 วรรคสอง ทั้ง 5 ประการข้างต้น ไม่ทำให้การผลักดันนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลล่าช้าจนเกินไปนัก แต่ทว่าจะเป็นการทำให้สังคมและผู้ประกอบการและภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมีความเชื่อมั่นได้เต็มที่ว่า การดำเนินการใด ๆ ต่อไปนี้จะเป็นการดำเนินการภายใต้กฎหมาย และนโยบายของรัฐบาล โดยการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนได้อย่างแท้จริง เพื่อนำไปสู่เป้าหมายสุดท้ายร่วมกัน คือ “การลดความขัดแย้งอันเนื่องมาจากโครงการพัฒนาต่าง ๆ” ได้ในที่สุด มิเช่นนั้นการชุมนุมประท้วง การฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาล จะมีมากมายเต็มไปทั่วทุกหัวระแหง ความสงบสุขของสังคมก็จะไม่มีวันเกิดขึ้นได้อันเนื่องมาจากการพัฒนาตามนโยบายของรัฐบาล
 
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
 
ขอแสดงความนับถือ
                                               
           (นายศรีสุวรรณ จรรยา)
           นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net