Skip to main content
sharethis

(SHAN 18/09/52) - เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน เตรียมจัดงานปอยเหลินสิบเอ็ด (งานออกพรรษา) ประจำปี 2552 เพื่ออนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมชาวไทใหญ่ที่ยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมายาวนาน โดยจะมีการประกวดจองพารา นางสาวไต ชุดเสื้อผ้า อาหารและการฟ้อนรำมากมาย

นายสุเทพ นุชทรวง นายกเทศมนตรีเมืองแม่ฮ่องสอน เผยผ่านรายการ “มองเมืองเหนือ” สถานีโทรทัศน์เอ็นบีที เช้าวันนี้ (18 ก.ย.) ว่า เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอนกำลังมีการเตรียมการจัดงาน ปอยเหลินสิบเอ็ด หรือ ปอยออกหว่า (งานออกพรรษา) ประจำปี 2552 ซึ่งเป็นงานประเพณีชาวไทใหญ่ที่จัดสืบทอดกันมาเป็นประจำทุกปี โดยจะจัดเป็นงานใหญ่เริ่มตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย. – 12 ต.ค. 2552 ณ เขตเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน

ภายในงานจะมีกิจกรรมหลากหลาย คือจะมีการจัดตลาดนัดออกพรรษา การประกวดศิลปะและวัฒนธรรมไทใหญ่ อาทิ การประกวดนางสาวไต การประกวดชุดไต การประกวดรำไต การประกวดฟ้อนดาบและก้าลาย การประกวดตีกลองมองเซิงและกลองก้นยาว การประกวดจองพาราและขบวนแห่ฯ การสาธิตการทำอาหารและขนมไทใหญ่ เช่น ข้าวมุนข่วย ข้าวมุนห่อ ข้าวมุนจ๊อก เนื้อไก่อุ้บ น้ำพริกอ่อง ฯลฯ การแข่งขันกีฬาประเภทต่างๆ รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย

ส่วนกิจกรรมสำคัญของงานคือ วันที่ 30 ก.ย. ทำพิธีเปิดงาน วันที่ 2 ก.ย. มีขบวนแห่จองพารา หรือ เข่งส่างปู้ด (ปราสาทจำลอง) จากตำบลต่างๆ ไปตามถนนสายหลักในตัวเมืองแม่ฮ่องสอน วันที่ 4 ก.ย. ช่วงเช้าจะมีพิธีตักบาตรเทโวโลหนะ ซึ่งชาวไทใหญ่ถือเป็นกิจกรรมสำคัญเนื่องจากเชื่อว่าเป็นวันพระเจ้าเปิดโลก โดยจะมีการเตรียมอาหาร ผลไม้ และจองพาราคอยรับการเสด็จ ส่วนช่วงเย็นจะมีการปล่อยโคมไฟลอยและการรำนก / โต การฟ้อนดาบ ก้าลาย (รำมวยไต) และการแสดงอื่นๆ

ในวันที่ 12 ก.ย. 52 วันสุดท้ายของงาน จะมีการตัดสินการประกวดต่างๆ อาทิ การประกวดนางสาวไตและชุดไต (ไทใหญ่) การประกวดการฟ้อนรำนก / โต ซึ่งจะมีไม่ต่ำกว่า 40 – 50 ชุด การประกวดการฟ้อนดาบ ก้าลาย (รำมวยไต) การประกวดชุดไต ประกวดการตีกลอง นอกนั้นจะมีพิธีแห่และถวายเทียนแปกพันเล่ม (ทำจากไม้สนหรือไม้เกี๊ยะ) ซึ่งการแสดงต่างๆ ตลอด 12 วันของงาน จะเริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 19.00 – 24.00 น. สำหรับผู้สนใจสมัครเข้าร่วมกิจกรรมแข่งขันกีฬาและการประกวดต่างๆ ติดต่อได้ที่ สำนักงานเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน โทรศัพท์ 0-5361-3860

ทั้งนี้ งานประเพณีปอยเหลินสิบเอ็ด หรือ ปอยออกหว่า หรือ เทศกาลออกพรรษา ชาวไทใหญ่ถือว่าเป็นงานบุญสำคัญ โดยจะมีการสร้างจองพารา (ปราสาทจำลอง) มีรูปทรงคล้ายวัดไทใหญ่ ซึ่งคำว่า “จองพารา” แปลว่า “ปราสาทพระพุทธเจ้า” สร้างไว้เพื่อคอยรับเสด็จพระพุทธเจ้าที่จะเสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ลงมาสู่โลกมนุษย์ หรือ ที่เรียกว่า วันพระเจ้าเปิดโลก ซึ่งนอกจากการสร้างจองพาราแล้ว ชาวไทใหญ่ยังนิยมแสดงการฟ้อนรำนก และโต ในช่วงเทศกาลนี้ เนื่องจากเชื่อว่า ช่วงพระพุทธเจ้าเสด็จลงมานั้น มีสรรพสัตว์ไปรำต้อนรับมากมาย ซึ่งรวมถึงนกกินรี กินรา หรือ กิ่งกะหร่า และโต รวมอยู่ด้วย

สำหรับเมืองแม่ฮ่องสอน ตามบันทึกประวัติศาสตร์ระบุว่า สมัยก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ เมืองแม่ฮ่องสอนเดิมเป็นชุมชนบ้านป่า ไม่มีผู้ใดปกครอง มีชาวไทใหญ่บางส่วนจากดินแดนไทใหญ่ (รัฐฉาน สหภาพพม่าปัจจุบัน) ที่อพยพเข้ามาทำมาหากิน ทำไร่ทำสวนเป็นบางฤดูกาล ความสำคัญสมัยนั้นเป็นเพียงทางผ่านของกองทัพพม่า ที่เดินทัพไปยังกรุงศรีอยุธยาหรือหัวเมืองฝ่ายเหนือของไทย

ในปี พ.ศ. 2374 ซึ่งตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทางแคว้นล้านนาไทย เมืองพิงค์นคร หรือเมืองเชียงใหม่ มีพระยาเชียงใหม่มหาวงศ์ ซึ่งต่อมาได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าเป็น พระเจ้ามโหตรประเทศราชาธิบดี ได้ทราบว่าทางตะวันตกของเมืองเชียงใหม่ ซึ่งก็คือดินแดนที่เป็นหัวเมืองแม่ฮ่องสอนในปัจจุบัน มีภูมิประเทศเป็นภูเขาสูง ป่าทึบและเป็นที่อยู่ของสัตว์ป่านานาชนิด โดยเฉพาะช้างป่าที่ชุกชุมมาก จึงมีบัญชาให้เจ้าแก้วเมืองมา ผู้เป็นญาติเป็นแม่กองนำไพร่พล นำช้างต่อหมอควาญ ออกไปสำรวจความเป็นไปของเหตุการณ์ชายแดนด้านตะวันตก พร้อมให้จับช้างป่านำมาฝึกสอนใช้งาน

หลังจากที่เจ้าแก้วเมืองมาคล้องช้างได้มากพอควร ฝึกสอนอยู่จนเห็นว่าควรเดินทางกลับได้ จึงได้ตั้งให้ "แสนโกม" บุตรเขยของพะก่าหม่อง เป็น "ก้าง" (ผู้ใหญ่บ้าน) ปกครองดูแลและตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ว่า "บ้านแม่ร่องสอน" ต่อมาคำว่า "แม่ร่องสอน" ได้เพี้ยนมาเป็น "แม่ฮ่องสอน" ซึ่งบ้านแม่ร่องสอนเจริญรุ่งเรืองเป็นลำดับมา หลังมีชนชาวไทใหญ่อพยพเข้ามาอยู่มากขึ้น เนื่องจากระยะนั้นประมาณปี พ.ศ. 2399 ได้เกิดจลาจลทางหัวเมืองไตฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสาละวิน ทำให้ชาวไทใหญ่ที่รักสงบอพยพมากขึ้น ถึงปี พ.ศ. 2409 เกิดการรบกันในหัวเมืองไทใหญ่ ระหว่าง เจ้าฟ้าเมืองนาย กับเจ้าฟ้าโกหล่านแห่งเมืองหมอกใหม่ เจ้าฟ้าโกหล่านสู้ไม่ได้ จึงได้อพยพครอบครัวมาอยู่กับแสนโกมที่บ้านแม่ร่องสอน พร้อมกับภรรยาชื่อ "นางเขียว" บุตรชื่อ "ขุนโหลง" หลานชื่อ "ขุนแอ" และหลานสาว "เจ้านางนุ" และเจ้านางเมี๊ยะ" มาอยู่ด้วย

ถึงปี พ.ศ. 2417 บ้านแม่ร่องสอนกลายเป็นชุมชนใหญ่ มีผู้คนเข้ามาอาศัยจนเห็นว่าจะจัดตั้งเป็นเมืองขึ้นได้แล้ว "เจ้าอินทวิชายานนท์" เจ้าเมืองเชียงใหม่จึงได้ตั้งให้ "ชานกะเล" ชาวไทใหญ่เป็นเจ้าเมืองคนแรกมีบรรดาศักดิ์เป็น "พญาสิงหนาทราชา" ครองเมืองแม่ฮ่องสอนใน พ.ศ. 2417 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อมาปี พ.ศ. 2427 หลังจากทำนุบำรุงบ้านเมืองมาได้ 10 ปี พญาสิงหนาทก็ถึงแก่กรรม ผู้ที่ครองเมืองแม่ฮ่องสอนต่อมาคือ "เจ้านางเมี๊ยะ" ครองเมืองแม่ฮ่องสอนอยู่ 7 ปี ได้นำความเจริญมาสู่เมืองแม่ฮ่องสอนเป็นอันมาก


ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.com/

สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) เป็นสำนักข่าวอิสระจัดตั้งโดยกลุ่มชนไทยใหญ่พลัดถิ่น มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org และภาษาไทยใหญ่ที่ www.mongloi.org

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net