Skip to main content
sharethis

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนอภิปราย “3 ปีวันประหารรัฐประชาธิปไตย” ‘สมชาย ปรีชาศิลปกุล’ ชี้ 19 กันยา เป็นรัฐประหารต้นทุนแพงลากสถาบันทางการเมือง-สังคมลงมาอีเหละเขละขละ ‘ชำนาญ จันทร์เรือง’ เผยความโง่ 4 ประการของคณะรัฐประหาร ‘อรรถจักร สัตยานุรักษ์’ ระบุสังคมอยู่ในความขัดแย้งเชิงโครงสร้างที่เปราะบาง ตีกันง่ายขึ้น ฆ่ากันง่ายขึ้น วงอภิปรายยังหวังสังคมไทยกลับมายึดสันติวิธี

 

 
 
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 19 ก.ย. ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจัดการอภิปราย “3 ปีวันประหารรัฐประชาธิปไตย” ที่ห้องประชุม อาคารศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยหลังการปาฐกถาของนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ หัวข้อ “สาระที่แท้ของประชาธิปไตย” ถัดมาเป็นการอภิปรายหัวข้อ “3 ปี วันรัฐประหารประชาธิปไตย” โดยนักวิชาการ ม.เที่ยงคืน ได้แก่ รศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อ.ชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
 
000
 
 
รัฐประหารต้นทุนแพง(มาก)
 
รัฐประหารครั้งนี้ มีคนบอกว่าไม่นองเลือด เป็นรัฐประหารแบบสันติ แต่ในทัศนะผมนี่เป็นรัฐประหารที่มีต้นทุนแพงมาก ต้นทุนนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นเลือดเนื้อชีวิต แต่รัฐประหารได้นำสถาบันทางการเมือง สถาบันทางสังคมจำนวนมากหลายสถาบันอีเหละเขละขละ เข้าไปสู่จุดที่น่ากลัวมากขึ้น
 
สมชาย ปรีชาศิลปกุล
 
 
สมชาย ปรีชาศิลปกุล กล่าวว่า ความรู้สึกก่อนการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กับตอนนี้มีความต่างกัน ในตอนนั้นมีคนไปถ่ายรูป ยินดีปรีดากับการรัฐประหารค่อนข้างเยอะ สิ่งที่ตามมาคือจนถึงบัดนี้ หลายๆ คนคาดหวังว่าอย่างน้อยการรัฐประหารจะยุติความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้น ถามว่าถึงปัจจุบันสังคมไทยกลับเข้าสู่สิ่งที่เรียกว่าภาวะที่ไม่มีความขัดแย้ง ไม่มีความรุนแรงหรือเปล่า ไม่ใช่
 
มีคนกล่าวว่า การรัฐประหารยุติความขัดแย้งเฉพาะหน้าได้ คำตอบคือ ใช่ และสั้นมาก การรัฐประหารครั้งนี้กระจอกที่สุดในประวัติศาสตร์การรัฐประหาร คณะรัฐประหารเป็นวีรบุรุษสั้นๆ มีใครคิดถึงรัฐบาลสุรยุทธ์บ้าง หลังสุรยุทธ์ออกจากตำแหน่งไปแล้วสุรยุทธ์ก็มีชนักติดตัวเรื่องเขายายเที่ยง
 
มีคนชอบถามผมว่าจะมีรัฐประหารหรือเปล่า ผมไม่รู้หรอกผมไม่ได้ถือปืนขับรถถัง แต่ว่ารัฐประหารมีความหมายน้อยลง รัฐประหารอาจจี้เอาคนบางคนที่ไม่ชอบออกไป แต่ไม่น่าจะกำกับสังคมได้มาก สังคมไทยเปลี่ยนไปมากกระทั่งอำนาจการบริหารงานที่อยู่ภายใต้คณะทหารเป็นไปได้ยากแล้ว
 
รัฐประหารครั้งนี้ มีคนบอกว่าไม่นองเลือด เป็นรัฐประหารแบบสันติ แต่ในทัศนะผมนี่เป็นรัฐประหารที่มีต้นทุนแพงมาก ต้นทุนนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นเลือดเนื้อชีวิต แต่รัฐประหารได้นำสถาบันทางการเมือง สถาบันทางสังคมจำนวนมากหลายสถาบันอีเหละเขละขละ เข้าไปสู่จุดที่น่ากลัวมากขึ้น เช่น รัฐธรรมนูญที่นำสถาบันตุลาการไปสู่การเมือง ทำให้สถาบันตุลาการคลอนแคลนไปมาก การตัดสินวินิจฉัยถูกตั้งคำถาม
 
อย่างคดียุบพรรค (ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคการเมืองสามพรรค คือ พรรคพลังประชาชน พรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคชาติไทยเมื่อ 2 ธ.ค.) เวลา 10 โมงอ่านคำแถลงปิดคดี ต่อมาเวลา 11 โมงศาลอ่านคำพิพากษา เรื่องนี้คนตัดสินก็ต้องเอาคำแถลงปิดคดีของพรรคการเมืองไปฟังว่ารับหรือไม่รับในแต่ละเรื่อง แล้วคำพิพากษาประมาณ 30 กว่าหน้า หนึ่งชั่วโมงพิมพ์ได้หรือ ต่อให้พิมพ์แบบไม่ใช้สมอง 30 กว่าหน้า พิมพ์ได้หรือ แต่นี่พิพากษาเสร็จภายในหนึ่งชั่วโมง หมายความว่า ไม่ได้นำคำแถลงปิดคดีไปอยู่ในคำวินิจฉัย เขียนคำพิพากษามาก่อนแล้ว
 
คดีบางคดีในทางเทคนิคอย่างมติ ครม. (เรื่องแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกร่วม) จะขึ้นศาลปกครองหรือขึ้นศาลรัฐธรรมนูญจะแยกกัน แต่คดีนี้ศาลปกครองรับ ศาลรัฐธรรมนูญก็รับ รับทั้งสองศาล ตกลงคือคดีอะไร จนกระทั่งบัดนี้ก็ยังเถียงกันไม่เลิก คือศาลเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองมากขึ้น ทีนี้เมื่อไม่สามารถรักษาความชอบธรรม เวลามีคำตัดสินออกมา จึงเกิดภาพที่ไม่เคยเกิดในเมืองไทย เช่น มีคนไปล้อมศาล หรือศาลต้องหนีไปที่อื่นเพื่อไปตัดสินคดี
 
การรัฐประหารครั้งนี้จึงลากสถาบันการเมืองไปล่มสลาย ไม่ต้องเอ่ยถึงสถาบันอื่นที่ถูกวิจารณ์อย่างมาก สถาบันจารีตก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ในช่วงชีวิตผมนี้น่าจะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ตั้งแต่ 2475 เราเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นคือ มีการดึงสถาบันต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ถึงที่สุดระบบพวกนี้จะเดินไปได้ยาก จะก็ถูกถึงเข้ามาจนเละเทะไปหมด
 
นี่เป็นการรัฐประหาร ที่ต้นทุนแพงมาก แม้จะไม่ได้เสียเลือดเนื้อเลย และต้นทุนนี้เองจะทำให้เกิดเลือดตกยางออกในสังคมไทยตามมา
 
ถามว่า จะทำอะไรได้บ้าง ท่ามกลางความขัดแย้งที่ลงลึกมากขึ้น เราจะเผชิญหน้ากับปรากฏการณ์นี้อย่างไรบ้าง อันดับแรก อย่าไปฝากความหวังไว้กับใครแม้แต่คนเดียวว่าจะมีอัศวินขี่ม้าขาวมาแก้ปัญหา อัศวินมักจะขี่ม้าขาวก่อนมีอำนาจ พอมีอำนาจก็เปลี่ยนหมด ลองไปเปิดเว็บไซต์คุณอภิสิทธิ์ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2550 คุณอภิสิทธิ์ให้เหตุผลที่ดีมากในการคัดค้านกฎหมายความมั่นคง 5 ประการ ผมเห็นด้วยหมด แต่พอมีการชุมนุมเสื้อแดงก็ประกาศใช้กฎหมายความมั่นคง ที่รอบแรกวืดไป รอบนี้ก็เอากฎหมายความมั่นคงมาใช้อีก ทั้งที่เคยเห็นว่ากฎหมายมีความบกพร่อง 5 ประการ จึงอย่าไปฝากความหวังกับคนที่มีอำนาจ
 
เราควรทำอะไร อันดับต่อมาคือ สันติวิธี หายไปจากช่วงที่มีเคลื่อนไหวต่อต้านคุณทักษิณ สันติวิธี เคยเป็นเครื่องมือที่สำคัญของประชาชนในการต่อต้านรัฐ ตั้งแต่ในช่วงพฤษภาคม 2535 ช่วงที่ผ่านมาของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยช่วงเริ่มต้น ด้านหลักพันธมิตรฯ ใช้สิ่งที่เรียกว่าสันติวิธี ต่อมาด้านหลักไม่ใช่สันติวิธี เช่น การประกาศสงครามครั้งสุดท้าย
 
สันติวิธีหายไปจากสังคมไทย แม้แต่ในหมู่คนเสื้อแดงก็หาย เราจะทำอย่างไรให้การเคลื่อนไหวในสังคมอยู่ภายใต้กรอบสันติวิธี คือใครล้ำเส้นไปต้องวิจารณ์ไม่ว่าเหลืองหรือแดง สังคมต้องใช้พลังบางอย่างเข้าไปกำกับให้ได้
 
คำว่า สมานฉันท์ มีความตื้นเขินเยอะ เช่น ให้ร้องเพลงชาติ ไม่รู้จะพูดอย่างไรแต่ตื้นเขินอย่างมาก สมานฉันท์ไม่ได้เรียกร้องให้คนรักกัน คนเห็นต่างกันได้ แต่จะทำอย่างไรให้เกิดการด่ากันได้โดยที่ไม่ต้องตีหัวกัน สมานฉันท์ไม่ใช่การรักกัน แต่สร้างเวทีในสังคมประชาธิปไตยให้คนพูดอย่างเสรี โดยไม่ถูกตีหัว หรือไม่ถูกมองว่าเป็นอมนุษย์ คือผมอาจจะคิดผิดก็ได้ แต่ทุกอย่างต้องพูดกันด้วยหลักเหตุผล
 
ทำอย่างไรให้สังคมยอมรับความแตกต่าง ที่มีมีพื้นฐานอะไรบางอย่างร่วมกัน เช่น มองเห็นความเป็นมนุษย์ที่เห็นต่างจากเรา การพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินไม่ว่าจะเกิดจากฝ่ายไหนก็เป็นไปไม่ได้ เราเปลี่ยนสังคมในวันเดียวไม่ได้ นอกจากนี้คนเรามีคุณค่า มีศักดิ์ศรีเหมือนกัน มากกว่าจะโยนให้อีกฝ่ายเป็นอมนุษย์หรือชั่วช้าสามานย์ เราต้องทำให้สังคมไทยกลับมาสู่จุดนี้
 
000
 
 
บันไดโง่สี่ขั้นของการรัฐประหาร
 
“พอมีรัฐประหารจึงได้รู้ว่าหัวหน้าคณะรัฐประหาร นายทหารยศพลเอก รับราชการจนเกษียณถึงเงินเดือนจะไม่ใช้เลยก็ไม่น่าจะมีทางจะมีเงินขนาด 90 กว่าล้าน บางคนมีที่เขายายเที่ยง มีได้อย่างไร ก็ดีไปอย่างทำให้เราได้ทราบ”
 
ชำนาญ จันทร์เรือง
 
 
ชำนาญ จันทร์เรือง กล่าวว่า ในโลกมีคนสี่ประเภท หนึ่ง ฉลาดแล้วขยัน สอง ฉลาดแล้วขี้เกียจ สาม โง่แล้วขี้เกียจ และสี่ คืออยู่ที่ไหนอันตราย บ้านเมืองบรรลัยที่นั่น คือประเภทโง่แล้วขยัน การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นการกระทำของคนที่โง่แล้วขยัน ประเภทนี้ฮิตเลอร์ก็ไม่เอาเพราะโง่แล้วขยันเหมือนฮิตเลอร์ ในที่สุดก็ต้องฆ่าตัวตาย
 
ทั้งคณะรัฐประหาร 19 ก.ย. และคณะรัฐประหาร รสช. ต่างคิดว่าการรัฐประหารคือการแก้ปัญหาประชาธิปไตย ซึ่งไม่มีในตำราไหนในโลก และโง่ครั้งที่สองคือ ยึดอำนาจจากประชาชนที่เป็นเสียงส่วนใหญ่แล้วเลือกตั้งผู้นำเข้ามา แล้วไปตั้งชื่อ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.)
 
โง่ครั้งที่สาม ต้องรีบแก้ชื่อคณะรัฐประหารในภาษาอังกฤษ เพราะชื่อในภาษาอังกฤษที่แปลมาตอนแรกสร้างความเสื่อมเสียให้สถาบัน
 
โง่ครั้งที่สี่ พรรคมาตุภูมิ เปิดทางให้คนที่ยึดอำนาจจากรัฐบาลประชาธิปไตยมาเป็นหัวหน้าพรรคคือสนธิ บุญยรัตกลิน
 
การแก้ปัญหาโดยวิธีการรัฐประหาร ของทั้ง คปค. กับ รสช. ปัญหามีอย่างเดียวกันคือ เพราะกลัวถูกย้าย เขาให้สัมภาษณ์สื่อว่าต้องการเอาทักษิณออกไป เอาคนๆ หนึ่งออกไปแล้วปัญหาจะจบ ประชาธิปไตยจะคืนมา เหตุผล 4 ข้อเขียนขึ้นทีหลังทั้งนั้น โดยคำประกาศหัวหน้าคณะรัฐประหารก็คิดเอง กฎหมายก็อาศัยเนติบริกรต่างๆ เมื่อวานนี้ คณะกรรมการบอร์ดกองสลากจะออกรางวัลที่ 1 เป็น 25 รางวัล คนที่แถลงเป็นคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ไม่รู้ว่ามีความเชี่ยวชาญในการทำหวยได้อย่างไร นี่เป็นผลพวงหนึ่งของการสนองคณะรัฐประหาร
 
คนที่ได้ประโยชน์จากรัฐประหารนั้น ทหารได้ยศ ตำแหน่ง งบประมาณ เบี้ยเลี้ยง ที่ได้ตามมาก็ประชาธิปัตย์เหมือนตอน รัฐประหาร พ.ศ.2490 เลยแต่ตอนนั้นประชาธิปัตย์ขึ้นมาเดือนกว่าๆ ทหารก็เตะออก ส่วนสื่อมวลชนจอมปลอมทั้งหลายก็ได้เวลาไพรม์ไทม์ไป
 
อย่างไรก็ตามผลจากรัฐประหารในแง่ที่มันเป็นผลลบ มันก็ยังมีผลบวกเหมือนกันซึ่งเขาคงคิดไม่ถึง คือผลบวกต่อประชาธิปไตย ใครจะไปนึกว่าการเมืองภาคประชาชนจะเดินมาเข้มแข็งขนาดนี้ รัฐประหารเป็นตัวเร่งทั้งเสื้อเหลือง เสื้อแดง รัฐประหารครั้งนี้มีคนต่อต้านอย่างชัดเจน มีการปราศรัยที่สนามหลวง เกิดปรากฏการณ์ลุงนวมทองสละชีวิตขึ้นมา
 
ที่น่าดีใจก็คือเมื่อสองวันก่อน ที่เพชรบุรีมีเวทีผู้นำเสื้อเหลือง เสื้อแดงในจังหวัดมานั่งคุยกัน เขาสรุปร่วมกันว่าทั้งเหลืองทั้งแดงเป็นเบี้ยเขาทั้งนั้น ถูกปั่นเพื่อรักษาอำนาจ ผมเชื่อว่าคนที่กุมอำนาจในประเทศมีไม่เกิน 10 กลุ่ม เขาตกลงเจรจาผลประโยชน์เรียบร้อยเมื่อไหร่ทิศทางก็คงเปลี่ยนไป
 
ผลบวกอีกอย่างคือ พอมีรัฐประหารจึงได้รู้ว่าหัวหน้าคณะรัฐประหาร นายทหารยศพลเอกรับราชการจนเกษียณถึงเงินเดือนจะไม่ใช้เลยก็ไม่น่าจะมีทางจะมีเงินขนาด 90 กว่าล้าน บางคนมีที่เขายายเที่ยง มีได้อย่างไร ก็ดีไปอย่างทำให้เราได้ทราบ
 
แน่นอนผลพวงจากรัฐประหาร ก็ทำให้หลายๆ คนอิ่มหมีพีมัน แต่ประชาชน ประเทศชาติ รับทุกข์ถ้วนหน้า กองทัพก็ตกต่ำ ศักดิ์ศรีลดลง ถูกทหารเขมร พม่าข่มเหงรังแก โดยศักยภาพโดยภาพรวมดูจะเหนือกว่าแต่จริงๆ ไม่ใช่ หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 มากองทัพก็ไม่เคยชนะใครเลยนอกจากรบกับประชาชน รบเวียดนามมาก็แพ้เพราะอเมริกาแพ้เราก็แพ้ด้วยเพราะไปช่วยอเมริกา
 
กล่าวโดยสรุป รัฐประหาร 19 กันยา ทำให้ระบบเศรษฐกิจพังพินาศ อย่าไปโทษเศรษฐกิจอเมริกาเลย อเมริกาเขาเห็นแสงสว่างแล้วเศรษฐกิจเรายังลงเป็นรูปตัวแอล
 
สอง สังคมแตกแยก ไม่เชื่อขับรถผ่านหลังวัดพระสิงห์ลองใส่เสื้อเหลืองสิ ขับรถผ่านโรงพยาบาลหมอวงศ์ลองใส่เสื้อแดงสิ
 
สาม การบังคับใช้กฎหมายหมายไม่มีมาตรฐาน มีคนบอกว่าสองมาตรฐาน จริงๆ ก็ไม่มีมาตรฐาน ดา ตอร์ปิโดปราศรัย ศาลสั่งจำคุก 18 ปี แต่สนธิ ลิ้มทองกุล นำคำพูดเดียวกันมาพูดบนเวทีพันธมิตร ตามกฎหมายก็ถือเป็นความผิด ตอนนี้อยู่ไหน ก็ยังเลยครับ ยึดสนามบินหมายจับยังไม่ออกเลย แต่พอแรงงานไทรอัมพ์เดินขบวนหน้าทำเนียบ มีการออกหมายจับทันควัน คลิปเสียงอภิสิทธิ์ตัดต่อหรือเปล่าไม่รู้ แต่ออกมาได้สามวันก็ได้ตัวคนทำเลย รู้เลยว่าตัดต่อกี่ที่
 
สี่ การเมืองอ่อนแอ สูญเสียความเชื่อมั่นทางการเมือง ไม่รู้ใครเป็นฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล เดี๋ยวตีกันเดี๋ยวตบกัน เดี๋ยวตั้ง ผบ.ตร. ไม่ได้
 
000
 
 
ตีกันง่ายขึ้น ฆ่ากันง่ายขึ้น
 
“การรัฐประหารเองเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการความขัดแย้งทั้งหลายในสังคมไทย รัฐประหารโผล่มาในช่วงที่โครงสร้างเกิดขัดแย้งขึ้น ถ้ารัฐประหารไม่โผล่มาตอนนั้น ก็โผล่มาอีกในเวลาต่อๆ มา กรณีสนธิ บุญยรัตกลินไม่ฉลาดในการรัฐประหาร แต่อย่าลืมว่าคุณไม่ฉลาดแต่สามารถทำรัฐประหารในโครงสร้างที่เปราะบางนี้ได้
 
อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์
 
 
อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ กล่าวว่า ผมเป็นนักประวัติศาสตร์ จะหลีกเลี่ยงการหาแพะในประวัติศาสตร์ สิ่งที่นักประวัติศาสตร์จะทำก่อนหาคนผิดในประวัติศาสตร์คือจำเป็นต้องเข้าใจโครงสร้าง
 
การรัฐประหารเองเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการความขัดแย้งทั้งหลายในสังคมไทย รัฐประหารโผล่มาในช่วงที่โครงสร้างเกิดขัดแย้งขึ้น ถ้ารัฐประหารไม่โผล่มาตอนนั้น ก็โผล่มาอีกในเวลาต่อๆ มา กรณีสนธิ บุญยรัตกลินไม่ฉลาดในการรัฐประหาร แต่อย่าลืมว่าคุณไม่ฉลาดแต่สามารถทำรัฐประหารในโครงสร้างที่เปราะบางนี้ได้ ในโครงสร้างแบบเดียวกันพบว่าขบวนการสีแดงกว่าจะเคลื่อนได้ก็หลังยุบพรรคแล้ว
 
เรามีโอกาสบ้างไหม ที่จะช่วยกันประคับประคองสังคมที่มีวิกฤตรอบด้านให้ดีที่สุด ผลักดันตัวเองให้พ้นไปจากสิ่งที่อาจารย์สมชายเรียกว่า “อัศวินม้าขาว” ซึ่งจะพ้นได้ต้องเข้าใจโครงสร้าง
 
สังคมไทยที่วิกฤตเพราะไม่เข้าใจโครงสร้าง สิ่งที่ทำให้เกิดรัฐประหาร คือ โครงสร้างเศรษฐกิจ ที่ทำให้เกิดความต่างทางชนชั้นระหว่างกลุ่มคนที่มีกับคนที่ไม่มีมากถึง 96 เท่า เกิดความต่อเนื่องของความยากจนซ้ำซาก นี่เป็นโครงสร้างอันแรกที่ทำให้เกิดปัญหา หลังรัฐประหารก็พูดเรื่องนี้น้อยมาก กรณ์ จาติกวนิช อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้พูดเรื่องภาษีที่ดินการกระจายรายได้อยู่บ้าง แต่ยังไม่ได้ทำอะไร ความขัดแย้งในโครงสร้างทางเศรษฐกิจยังมีแน่ๆ คนเสื้อแดงก็หวังให้ทักษิณมาแก้ปัญหาให้ แต่คนเสื้อเหลืองก็ไม่เห็นทางว่าจะให้แก้ปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจนี้อย่างไร
 
โครงสร้างที่สองการเปลี่ยนรูป (Transform) ของรัฐ นี่ต้องเครดิตทักษิณว่าได้เปลี่ยนรูปของรัฐ ทักษิณทำให้คนจนเข้าถึงสาธารณสุข เกิด Concept ความเป็นพลเมือง และหลังยุบพรรค ก็ทำให้เกิด Active citizenship ขึ้น
 
โครงสร้างที่สามก็คือการรวมศูนย์อำนาจของรัฐ จึงทำให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองของ Active Citizenship ที่มุ่งสู่อำนาจรัฐ ลองคิดถึงเสื้อเหลือง เสื้อแดง และสีอื่นๆ ที่เคลื่อนไหวเพื่อมุ่งสู่อำนาจรัฐ เนื่องจากเขาตระหนักแล้วว่ารัฐมีรูปแบบรวมศูนย์อำนาจจึงต้องไปสู่อำนาจรัฐนั้น
 
ส่วนญี่ปุ่นไม่ต้องเป็นรูปแบบนั้น การขึ้นมาของพรรค DPJ (พรรค Democratic Party of Japan) ได้คะแนน 308 เสียง ที่ขึ้นมาเพราะสังคมญี่ปุ่นไม่ได้อยากรวมศูนย์ แต่รัฐไทยไม่ใช่ เพราะเรายังรวมศูนย์อำนาจรัฐ
 
สังคมไทยหลัง 2500 ถูกแยกเป็น 3 มิติ คือ การเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรมและดุลย์กันอยู่ สิ่งที่เกิดขึ้นช่วงที่มีการเปลี่ยนรูปของรัฐ ทักษิณทำให้อำนาจเศรษฐกิจไปเป็นก้อนกับอำนาจการเมือง และไปกินพื้นที่อำนาจวัฒนธรรม ตอนนั้นเป็นช่วงที่เราเป็นห่วงอำนาจวัฒนธรรม จึงเกิดวิกฤตขึ้นมา ผมก็เป็นส่วนหนึ่งที่ตกอยู่ในการแบ่งแยกอำนาจนั้น วันนั้นผมก็ยังตกอยู่ในกรอบมิตินั้นเพราะเคยพูดกับเอ็นจีโอว่าทักษิณจะตั้งราชวงศ์ใหม่แล้ว ดังนั้นสังคมไทยรวมทั้งผม ต้องคิดการดุลย์ตรงนี้ให้เหมาะสม
 
ความขัดแย้งนี้ทำให้ทหารที่ควรเป็นผีดิบในหลุมการยึดอำนาจแล้ว สามารถโผล่ขึ้นมาได้ แต่พอยึดอำนาจแล้วก็อยู่ไม่ได้ มีคนว่าเราไม่ได้ด่ารัฐประหาร หลังจากยึดอำนาจนั้น นักศึกษาจัดด่ารัฐประหารข้างหน้านี้ (ชี้ไปที่คณะสังคมศาสตร์) วันนั้นผมบอกว่าถ้าคณะรัฐประหารอยู่ได้ปีหนึ่งนี่เก่งเลย คณะรัฐประหารนี้ Made in Thailand หนีการพูดภาษาอังกฤษเป็นอย่างยิ่ง และเป็นคณะรัฐประหารที่อ่อนแอมากด้วย พล.อ.สพรั่ง ตอนนั้นมีท่าทีก้าวร้าวมาก แต่พอหลุดคำว่า “ผมเป็นวีรบุรุษ” ก็หลุดวงโคจรออกมาเลย คือคณะรัฐประหารโผล่ขึ้นมาท่ามกลางโครงสร้างสังคมที่เปาะบาง ถ้าโครงสร้างเปราะบางก็อาจจะมีรัฐประหารอีกก็ได้ แต่จะอยู่ได้ถึงปีแบบ คปค. หรือไม่ ไม่น่าจะได้
 
สามปีที่ผ่านมา ยิ่งทำให้โครงสร้างเหล่านี้ขัดแย้งกันมากขึ้น และแต่ละหน่วยก็ขัดแย้งมากขึ้น แต่ยังอยู่กันได้เพราะยังขัดแย้งกันไม่ถึงที่สุด ถ้าถึงที่สุดก็อาจเหมือนฟิลิปปินส์ ปากีสถาน หรือแม้แต่รวันดา ถึงตอนนั้นยังเป็นประเทศไทยไหมก็เป็น แต่ไปที่ไหนก็เสียวสันหลังวาบ เหลียวหลังแล้วเหลียวหลังอีก เรากำลังอยู่ในสภาวะที่สังคมเริ่มไม่มีความสัมพันธ์อะไรกัน ตีกันได้ง่ายขึ้น ฆ่ากันได้ง่ายขึ้น สามปีที่ผ่านมาไม่ได้แก้ปัญหานี้เลย โครงสร้างยิ่งทวีความขัดแย้งกันมากขึ้น
 
รัฐบาลอภิสิทธิ์มองไม่เห็นความขัดแย้งของโครงสร้างนี้ จึงมองไม่เห็นการออกจากปัญหา เขาก็ยังประชานิยมแบบทักษิณ แต่เป็นประชานิยมแบบขวาใหม่ คือไปขยายประชานิยมในฝั่งของกลไกระบบราชการซึ่งพิสูจน์แล้วว่าล้มเหลว ขณะที่ทักษิณใช้วิธีข้ามระบบราชการไปแล้ว ความขัดแย้งทางโครงสร้างนี้จึงยังรุนแรงอยู่ ทำให้ความขัดแย้งในสังคมไทยสูงมากขึ้น สามปีนี้จึงไม่ได้แก้ไขอะไรเลย
 
และมีปรากฏการณ์อย่างน้อยสามปรากฏการณ์ชัดขึ้น
 
หนึ่ง ปรากฏการณ์ต่อต้านกระแสหลักของสังคมไทยชัดขึ้น แรงขึ้น  ทุกวันนี้คนได้เอกสารต้องห้ามอย่างง่ายๆ หนังสือต้องห้ามถูกซีรอกซ์เป็นล้านก็อบปี้ และมีฉบับอิงแอบที่ปลอมเป็นผู้หญิงเขียนด้วย และคลิปก็ระบาดไปอย่างรวดเร็ว ปรากฏการณ์นี้แรงชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน สมัยก่อน 6 ตุลา ก็ไม่ขนาดนี้
 
สอง มีปรากฏการณ์ต่อต้านสังคม โดยผู้คนเบื้องล่าง ที่คิดว่าสังคมไม่ให้ความหวังอะไรอีกแล้ว เช่น คนปาหิน ไม่รู้ว่าเป้าอยู่ไหนแต่ก็ต้องทำ ต่อให้เอารถตำรวจไปวิ่งก็แก้ไขไม่ได้
 
สาม ปรากฏการณ์รัฐล้มเหลวหรือสภาวะไร้รัฐ ปรากฏการณ์เหลืองแดงทำให้เห็นว่ารัฐล้มเหลวและไร้รัฐชัดขึ้น และจะเป็นไปมากกว่านี้ถ้าไม่มีอำนาจรัฐ
 
ทำอย่างไรจะหลุดพ้นออกมาให้ได้ ปรากฏการณ์แบบนี้มีทางออกอย่างไรบ้าง
 
ถ้ามองโลกในแง่ดี ความขัดแย้งของกลุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมืองคือเหลืองแดง เคลื่อนไปสู่การเป็น Democratization หรือเข้าสู่กระบวนการทางประชาธิปไตย กลุ่มสีเหลืองตกเป็นรองหลังยึดสนามบิน จึงเริ่มเบนตัวเองสู่พรรคการเมืองมากขึ้น และหวังจะเป็น mass party
 
กลุ่มสีแดง ลองแยกเป็นสามปีก ปีกซ้ายจัด ที่ต้องการกวาด ‘ทั้งหมด’ ออก ลองอ่านงานของจักรภพ และสุรชัยดู แต่ปีกตรงกลางหวังที่รัฐสภา แต่ในมุมของปีกซ้ายสุดเห็นเป็นเรื่องหน่อมแน้ม แต่กลุ่มตรงกลางเขาจะเกาะปีกซ้ายสุดเพื่อให้น้ำหนักการเคลื่อนไหวสูง ส่วนปีกขวาสุดคือกลุ่มที่อาจารย์สมชายเคยเรียกว่ากลุ่ม “รักในหลวง ห่วงทักษิณ” กลุ่มนี้เป็นกลุ่มใหญ่สุด กลุ่มนี้ถ้าไม่ใหญ่จริงตอนถวายฎีกาเราจะไม่มีทางเห็นการมาร่วมถวายฎีกาของคนอย่างวิสา คัญทัพ
 
หากมองโลกในแง่ดี ทุกกลุ่มจะค่อยๆ เป็น Democratization และเกิดการแก้ไขปัญหาโครงสร้างที่กล่าวมาได้
 
แต่ถ้ามองโลกในแง่ร้าย อนาคตก็จะเป็นแบบรวันดา หรือตอนนี้ก็ใกล้เหมือนฟิลิปปินส์ หรือเหมือนบางเขตของเม็กซิโกที่ยิงกันสนั่นเมือง หรือจะเป็นบางส่วนที่ฆ่ากันเป็นเบือแบบริโอ เดอ จาเนโร ในบราซิลเราจะมองไม่เห็น “ความเป็นไทย” แบบที่เคยเป็น
 
ไม่ต้องคิดถึงการสร้างกิจกรรมที่แก้ปัญหานั้นได้ แต่ต้องคิดถึงการนำคนในสังคมมาคิดถึงจินตนาการใหม่ร่วมกัน คิดร่วมกันว่าจะออกไปสู่ความเสมอภาคร่วมกันอย่างไร ต้องช่วยกันคิด การคิด “คำ” แบบนี้เองที่นำไปสู่จินตนาการที่ผูกเราเข้าสู่ปัญหาโครงสร้างและสังคมไทย น่าจะลดปัญหาโครงสร้างนั้นลงไป
 
ขอมองโลกในแง่ดีว่าเราจะไปทางไหน และหวังว่าจะได้อยู่ร่วมกันในสังคมที่ไม่น่ากลัวมากไปกว่านี้
 
000
 
ช่วงอภิปราย
 
ชาญกิจ คันฉ่อง– รัฐประหารเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่เปิดให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาในการเมือง ซึ่งในภาวะปกติเกิดขึ้นไม่ได้ ผลทำให้กลุ่มการเมืองกลุ่มใหญ่ลงใต้ดิน เหมือนถูกทำให้กลายเป็นปีศาจหลอกหลอนสังคมไทย มีการไล่ผีไล่ปีศาจ ล่าแม่มด กระทั่งว่าหลักเคลื่อนไหวสันติวิธีก็แปรเป็นยันต์เป็นมีดเพื่อใช้ไล่ปีศาจ
 
สมชาย ปรีชาศิลปกุล - ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่อาจารย์อรรถจักร์ว่ามา ที่เปลี่ยนไปมากคือคนในสังคมไปร่วมในความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไพศาล ถูกปลุกเร้าทางการเมืองอย่างสูง เข้ามาร่วมอย่างถวายหัว คนที่ไปร่วมอาจต้องคิด ต้องใช้สติมากขึ้น เราไม่อาจเปลี่ยนอะไรได้ข้ามวันข้ามคืน ผมยืนยันว่าไม่มี เราอาจต้องพูดถึงภาษีก้าวหน้า พูดถึงอะไรที่ก้าวหน้าจริงๆ และต้องมาทำความเข้าใจกันมาก คนที่ไปร่วมในส่วนต่างๆ โดยเฉพาะไปร่วมในส่วนที่ไม่ใช่รัฐน่าจะช่วยเปลี่ยนผ่านสังคมอย่างสันติ
 
ชำนาญ จันทร์เรือง- รัฐประหารครั้งนี้ดูเหมือนจะจบแล้ว แต่ยังนะครับ มีมรดกบาปคือ รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 309 กกต. ที่คณะรัฐประหารตั้ง มี ปปช. ที่คณะรัฐประหารตั้ง แล้วมีปัญหาเรื่องความชอบทางกฎหมาย ปัญหาเรื่องที่ ปปช. ไม่ผ่านการเข้าเฝ้าฯ ปปช. มีคดีเป็นหมื่นๆ คดีที่ยังค้างคา แต่มาเร่งบางคดี  นี่ไม่ได้เข้าข้างพัชรวาทย์ แต่คดีนี้ไม่ถึงปีคดีก็ตัดสินแล้ว มีเรื่องศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้
 
เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช ผู้ดำเนินรายการ - ถ้ามองจากสถานการณ์ที่เราเห็นอยู่ สังคมไทยอยู่ในภาวะที่ล่อแหลม ย่ำแย่ ตกต่ำ ผู้ร่วมอภิปรายพยายามที่จะสื่อสารกับพวกเราว่าจะทำอย่างไรเพื่อแก้ไขสถานการณ์แบบนี้ สังคมโดยรวมจะเคลื่อนไปอย่างไรที่จะนำไปสู่การกำเนิดขึ้นของสิ่งที่งดงาม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net