Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สมพงค์ สระแก้ว จากมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน ถอดประสบการณ์การค้ามนุษย์ที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้แรงงานและการดำเนินการเพื่อช่วยเหลือผู้เสียหาย

 
 

หมายเหตุจากผู้เขียน
: ภาพประกอบไม่ใช่ผู้เสียหายจากถูกค้ามนุษย์
 
1. การค้ามนุษย์ในรูปแบบของแรงงาน
 
นับย้อนหลังไป 2-3 ปี ปรากฏการณ์ด้านการค้าแรงงาน ค้ามนุษย์ ในกลุ่มแรงงานเกิดขึ้นไม่มาก แต่ไม่ได้หมายความว่า แต่ก่อนไม่มีการค้ามนุษย์ในกลุ่มของแรงงาน หนำซ้ำยังพบว่า เกิดขึ้นจำนวนมาก แต่ไม่ปรากฏเป็นประเด็นข่าวในสาธารณะให้ประชาชนได้รับรู้ รับทราบ เมื่อภายหลังมีหลายๆ องค์กรพัฒนาเอกชน ได้ทำงานใกล้ชิดกับแรงงานมากขึ้น พบว่า แรงงานข้ามชาติจาก 3 สัญชาติ ถูกเอาเปรียบ ถูกกดขี่แรงงาน ถูกกระทำทารุณ ถูกละเมิดทางเพศ ถูกค้ามนุษย์ จำนวนมากขึ้น และมีปรากฏเป็นข่าวอยู่เป็นประจำ จนน่าแปลกใจมากว่า ในยุคโลกาภิวัตน์ ที่ผูกติดกับความเติบโต แสวงหาผลกำไรไม่สิ้นสุด จึงมีคนเห็นแก่ตัวมากขึ้น โดยไม่คำนึงถึง มนุษยธรรม ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
 
จึงอยากเสนอรูปแบบ การค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ที่จะสามารถคลี่ปมความซับซ้อนของปัญหาอื่นๆ ได้การแสวงหาประโยชน์ของนายหน้าต้นทาง (พม่า ลาว และกัมพูชา) มีกลไก กระบวนการหาคนงาน ชักจูงใจ หลงเชื่อ นำพา ส่งต่อ ขายให้ นายหน้าปลายทาง หรือ ผู้รับไว้ อาจเป็นเจ้าของกิจการอันใดอันหนึ่ง เมื่อส่งต่อมาถึงปลายทาง นายหน้าจะคิดราคา ค่าส่ง ค่าเดินทางในราคาที่สูงกว่าที่ตกลงกันไว้หลายเท่าตัว และอาจไม่ได้ทำงานตามที่เสนอ หรือ ตกลงกับนายหน้าให้ไว้ตั้งแต่ครั้งแรก เงื่อนไขกลับเปลี่ยนไปเป็น การบังคับ เพราะตกอยู่ภายใต้อำนาจ ควบคุมทุกอย่าง ในที่สุดก็ตกเป็นแรงงานบังคับในโรงงาน ในเรือประมง ตกเป็นหนี้สินอย่างไม่สิ้นสุด ถูกหักเงินจากการทำงาน ถูกยึดบัตรประจำทุกอย่าง กระทั่งบางโรงงานที่มีระบบการจ่ายเงินผ่านบัตรเอทีเอ็มของธนาคาร นายหน้ายึดอาไว้หมด เมื่อไปทำงานจะมีการควบคุมระหว่างเดินทาง เมื่อกลับมาถึงที่พัก จะถูกกักบริเวณไม่ให้ไปที่ใดได้ แรงงานถูกหน่วงเหนี่ยว กักไว้ ไม่ให้ออกไปไหน อ้างเกรงว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจะจับกุม ลักษณะอย่างนี้ เข้าข่ายการค้ามนุษย์ เต็มรูปแบบ เจ้าของบริษัท หรือผู้ประกอบการอาจไม่รู้เท่าทัน กระบวนการนายหน้าต่างชาติ ด้วยกันเองในลักษณะนี้ อาจตกเป็นผู้กระทำผิดฐานสมรู้ร่วมคิด และมีพยานบ่งชี้ชัดว่า เกิดขึ้นในสถานประกอบการของตนเอง แต่บางแห่งจงใจที่จะแสวงหาประโยชน์กับแรงงาน จึงมีการร่วมกับผู้มีอิทธิพลในท้องที่ สร้างระบบคุ้มครองนอกระบบ ขึ้นมา จึงเป็น การเอื้อประโยชน์ระหว่างนายจ้าง กับเจ้าหน้าที่(ไม่มีบัตรใบอนุญาตทำงาน แต่มีเงินจ่ายก็อยู่ได้) หากเจ้าของผู้ประกอบการ มีส่วนร่วมกับนายหน้า (คนต่างชาติ) ยิ่งทำให้รูปแบบการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเยี่ยงทาสรุนแรงมากขึ้น สถานที่ประกอบการใด มีระบบคุ้มกันแน่นหนา รั้วกำแพงสูง มีกล้องวงจรปิด การเคลื่อนไหวเข้าออกมีน้อย นอกจากรถขนถ่ายสินค้าเข้าออก ให้สันนิษฐานเบื้องต้น ว่า แรงงานมีโอกาสถูกบังคับใช้แรงงานเยี่ยงทาส และค้ามนุษย์
 
รูปแบบการค้ามนุษย์ ข้างต้น เป็นเพียงกรณีหนึ่งที่เกิดขึ้นในสถานประกอบการ โรงงาน หากเกิดขึ้นในเรือประมง จะไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ด้วยสภาพแวดล้อมบังคับบนเรือประมง อยู่กลางทะเล ทำให้ถูกจำกัดอิสรภาพ เสรีภาพไปในตัว
 
000
 
 
2. กระบวนทัศน์ของคนทำงานด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์
 
2.1 ด้านสิทธิมนุษยชน การมอง แรงงานข้ามชาติ คือ คน ที่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ต้องมีกรอบแนวคิด ความเข้าใจด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการมองแรงงานข้ามชาติ ด้วยอคติเชิงลบ เป็นแค่คนทำงาน เป็นกรรมกร เป็นคนหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย นำปัญหาเข้ามาให้ประเทศไทยต้องแบกภาระค่าใช้จ่าย อาทิ เรื่องค่ารักษาพยาบาล เมื่อ การเข้ามาอาศัยอยู่และทำงานชั่วคราวในประเทศไทยของแรงงานข้ามชาติ ไม่จำเป็นต้องไปให้ความสำคัญด้านการปกป้องคุ้มครอง ดูแลด้านสิทธิมนุษยชนมาก ต้องดูแลคนไทยก่อน แต่เมื่อการเข้ามาของแรงงานโดยถูกบังคับใช้แรงงานเยี่ยงทาส ถูกค้าแรงงาน ค้ามนุษย์ การปล่อยประ ละเลย เพิกเฉย ถือว่า มิใช่หนทางในการแก้ไขปัญหาที่ดี ดังนั้น การปฏิบัติที่ดีต่อกัน ต่อมวลมนุษย์ การให้ความเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การปรับโลกทัศน์ของการที่มนุษย์ต้องอยู่ในสังคมหลากหลายชาติพันธุ์ การย้ายถิ่นของมวลมนุษย์มีมานานนับพันปี การมีชีวิตต้องอาศัยความจำเป็นขั้นพื้นฐาน ความต้องการอยู่รอด ปลอดภัย จากภัยคุกคาม จากความแร้นแค้น ยากจน ขัดสนที่ทำมาหากิน บวกกับเศรษฐกิจประเทศต้นทาง อย่างเช่น ประเทศพม่า ลาว และกัมพูชา ผู้ปฏิบัติงาน จำเป็นต้องมีความเข้าใจเป็นการพิเศษ เพราะเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจแล้ว ยังมีปัญหาทางการเมืองด้วย เพราะฉะนั้น คนทำงานต้องต่อสู้กับมายาคติ อคติ ทัศนะเชิงลบของคนในสังคมต่อคนข้ามชาติ คนชายขอบ ไม่สามารถเข้าถึงกลไกการคุ้มครองเชิงสิทธิได้
 
2.2 ด้านกฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 และกฎหมายหลัก กฎหมายรองอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
การทำงานด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ผู้ปฏิบัติงานต้องมีความรู้ ความเข้าใจกฎหมายที่เกี่ยวข้องมากกว่า 15 ฉบับ [1] ซึ่งได้กล่าวไว้ข้างต้น รวมถึงแนวปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในรูปแบบของแรงงาน ซึ่งมีกระทรวงแรงงาน เข้ามามีบทบาทหลักร่วมด้วยกับ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
 
2.3 เทคนิค และรูปแบบการละเมิดสิทธิของผู้ค้ามนุษย์
ผู้ปฏิบัติงานต้องรู้เท่าทันเทคนิค และรูปแบบการค้ามนุษย์ในรูปแบบของแรงงาน เพราะมีความซับซ้อนเฉพาะมากกว่า การค้ามนุษย์ในรูปแบบผู้หญิงและเด็ก สถานประกอบการบางแห่งรู้ไม่เท่าทันนายหน้าที่นำแรงงานข้ามชาติมาค้าแรงงาน และเข้าข่ายการค้ามนุษย์ ซึ่งสถานที่เกิดเหตุเกิดที่สถานประกอบการที่ตนเองประกอบธุรกิจอยู่ แต่บางแห่ง หรือหลายๆ แห่ง ต้องยอมรับว่า ผู้กระทำผิด อาจเป็นเจ้าของผู้ประกอบการ นายจ้าง เจ้าของเรือ อาจเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในการแสวงหาผลประโยชน์กับแรงงาน และให้ตกอยู่ในสภาพการบังคับ ไม่สามารถต่อรอง หรือมีอิสรเสรีภาพในการดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติ กรณีนี้ กระบวนการนายหน้าค้ามนุษย์มีส่วนสำคัญยิ่งที่เป็น ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรง บางรายต้องเสียชีวิตจากการพยายามควบคุมของนายจ้าง ก็มีจำนวนมาก
 
2.4 ผลประโยชน์ ของผู้มีอิทธิพล
ผู้ปฏิบัติงานต้องทำงานบนความขัดแย้ง บางครั้งต้องไปขัดผลประโยชน์จำนวนมหาศาลจากผู้จงใจแสวงหาผลประโยชน์ไม่สิ้นสุด ดังนั้น ต้องมองว่า การกระทำผิดของผู้กระทำผิดต่อกฎหมายต่างๆ ย่อมได้รับโทษตามกฎหมาย ที่สำคัญต้องยึด ผู้เสียหายจากการถูกค้ามนุษย์เป็นศูนย์กลาง เพราะเขาเหล่านั้นต้องเป็น เหยื่อ ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกละเมิดสิทธิ ความเป็นคนขั้นรุนแรง ไม่สามารถหาสิ่งใดทดแทนได้
 
2.5 จิตอาสา ปรัชญาการทำงาน ที่ส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ พัฒนากระบวนการช่วยเหลือ
ผู้ปฏิบัติงาน ต้องมีจิตใจอาสา รักความเป็นธรรม เห็นผู้อื่นประสบปัญหาต้องไม่นิ่งดูดาย มีความพร้อมเสมอในการนำเอาหลักปฏิบัติข้อกฎหมายมาบังคับใช้ ให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ ตกผลึกวิธีคิด ไปพร้อมๆ กับทีมงานสหวิชาชีพ ในการปฏิบัติงานร่วมกัน จนสามารถเกิดทักษะกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน เป็นต้นแบบการทำงานในอนาคต
 
2.6 การทำงานกับภาคีรัฐ เอกชนที่เกี่ยวหลากหลาย และแตกต่างวิธีคิด
หากเราจะประสานการทำงานเพื่อให้ผู้ถูกละเมิด ผู้เสียหายให้ได้รับการคุ้มครองสูงสุด การทำงานที่เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก และมีอำนาจบังคับใช้กฎหมายแต่ละฉบับ แตกต่างกันออกไป ต้องมีความเข้าใจกระบวนการการทำงานร่วมกัน ความสัมพันธ์ของการทำงานร่วมกัน ต้องยึดประโยชน์สูงสุดของผู้เสียหายจากการถูกค้ามนุษย์ ข้อมูลสำคัญและเชื่อมั่นในข้อมูลของภาคี เป็นตัวบ่งชี้ได้ว่า จะสามารถดำเนินการให้ประสบผลสำเร็จร่วมกันได้อย่างไร
 
2.7 เศรษฐกิจโลก และผลกระทบทางสังคม กับนานาประเทศในประเทศ และนานาชาติ
ประเทศไทย มีอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารส่งออกไปยังประเทศ อเมริกา ญี่ปุ่น จีน ออสเตรเลีย และอีกหลายประเทศๆ ทางยุโรป หากเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากประมง ส่วนใหญ่จะเป็นกุ้ง อาหารแช่แข็ง ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า เมื่อเกิดกรณีปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงาน ในโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นผู้ผลิตสินค้า เช่น โรงงานมีการผลิตไม่ได้มาตรฐานอุตสาหกรรม ไม่มีระบบการคุ้มครองแรงงาน โดยปกติผู้รับสินค้าต้องมีกระบวนการตรวจสอบ ดังเมื่อปี 2551 ประเทศคู่ค้าจากสหรัฐอเมริกา โดยฝ่ายเศรษฐกิจได้เข้ามาตรวจสอบ ติดตาม การใช้แรงงานในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งต้องยอมรับว่า บางโรงงานมีการจ้างงานไม่เป็นธรรม มีการละเมิดสิทธิแรงงาน มีการใช้แรงงานเด็ก มีแรงงานบังคับ ค้ามนุษย์ และบางโรงงานก็มีมาตรฐานการผลิตที่ดี มีการบริหารจัดการด้านแรงงานที่ดี แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์กรณี โรงงานต่างๆ ที่เอารัดเอาเปรียบแรงงาน มีการใช้แรงงานเด็ก จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมการส่งออกทั้งหมด ดังนั้น เราจะคลี่ปมปัญหาที่ซับซ้อน บางเรื่องเกี่ยวข้องได้อย่างไร
 
2.8 ต้องกล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง
การดำเนินการผู้กระทำผิดตามกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง เป็นจริยธรรม คุณธรรม และหัวใจสำคัญ ทั้งนี้ กฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ได้มีบทบัญญัติสำคัญๆ หากปรากฏพบว่า มีผู้กระทำผิดจริง ตามพยานหลักฐาน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีผู้ร้องทุกข์เป็นผู้เสียหาย แต่เมื่อต่อสืบสาวราวเรื่องได้ว่า อาจเกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ จะต้องมีความกล้าหาญที่จะพยายามนำผู้ที่เกี่ยวข้องมาดำเนินคดีให้จงได้ มิฉะนั้น ผู้เสียหาย หรือผู้ตกเป็นเหยื่อจากการค้ามนุษย์ คนอื่นๆ ก็จะไม่ได้รับการช่วยเหลือ ปัญหานี้อาจเกิดขึ้นได้กับบุคคลอื่นๆ ต่อไป
 
 
3.การดำเนินการช่วยเหลือ จับกุมคดีค้ามนุษย์ และช่วยเหลือผู้เสียหาย
 
เมื่อมีกรณีการค้ามนุษย์ในพื้นที่ใดๆ ก็ตาม การดำเนินการสืบสวน จับกุมคดีค้ามนุษย์ ผู้ปฏิบัติงาน ต้องรู้ ทำความเข้าใจ มีทักษะ ในการดำเนินการ ดังนี้ [2]
 
 
3.1 ต้องรู้ตัวบทกฎหมาย การค้ามนุษย์ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
การค้ามนุษย์ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ 2551 ได้กล่าวถึงรูปแบบ พฤติการณ์ และวิธีการ ใน มาตรา 6 ว่า ผู้ใดเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
 
(1) เป็นธุระจัดหา ซื้อ ขาย จำหน่าย พามาจากหรือส่งไปยังที่ใด หน่วงเหนี่ยวกักขัง จัดให้อยู่อาศัย หรือรับไว้ซึ่งบุคคลใด โดยข่มขู่ ใช้กำลังบังคับ ลักพาตัว ฉ้อฉล หลอกลวง ใช้อำนาจโดยมิชอบ หรือโดยให้เงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่นแก่ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลบุคคลนั้น เพื่อให้ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลให้ความยินยอมแก่ผู้กระทำความผิด ในการแสวงหาประโยชน์จากบุคคล ที่ตนดูแล หรือ
 
(2) เป็นธุระจัดหา ซื้อ ขาย จำหน่าย พามาจากหรือส่งไปยังที่ใด หน่วงเหนี่ยวกักขัง จัดให้อยู่อาศัย หรือรับไว้ซึ่งเด็ก ผู้นั้นกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ หรือการกระทำดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์ตามข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้
ü       การแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณี 
ü       การผลิตหรือเผยแพร่วัตถุหรือสื่อลามก   
ü       การแสวงหาประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่น         
ü       การเอคนลงเป็นทาส                                       
ü       การนำมาขอทาน                                           
ü       การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ             
ü       การบังคับตัดอวัยวะเพื่อการค้า              
ü       การอื่นใดที่คล้ายคลึงกันอันเป็นการขูดรีดบุคคล    
 
ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้ที่ทำงานด้านนี้ จะต้องมีความเข้าใจในข้อกฎหมายให้ดีก่อนเนื่องจาก มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องใช้ในการดำเนินการให้ความช่วยเหลือในขั้นตอนกระบวนการอื่นๆ ต่อไป ซึ่งนอกจากกฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 แล้ว เจ้าหน้าที่หรือผู้ที่จะให้ความช่วยเหลือกรณีค้ามนุษย์จะต้องมีความเข้าใจในกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น
1. ประมวลกฎหมายอาญาฯ
2. พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539
3. พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และฉบับแก้ไข พ.ศ. 2551
4. พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546
5. พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว (แก้ไข)พ.ศ.2551
6. พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522
7. พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542
8. ประมวลกฎหมายวิธีพิจาณาความอาญาฯ
9. ประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์
10. พ.ร.บ. คุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546
11. พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าตอบแทน และค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544
12. พ.ร.บ. ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องคดีอาญา พ.ศ. 2535
13. พ.ร.บ. ส่งผู้ร้ายข้ามชาติ พ.ศ. 2551
14. พ.ร.บ. ที่มีโทษทางอาญาอื่นๆ
 
เนื่องจากในกรณีของการค้ามนุษย์ ในรูปแบบของแรงงานนั้นมีความทับซ้อนกับกฎหมายฉบับอื่นๆ ด้วย ซึ่งการทำความเข้าใจในข้อกฎหมายนี้ จะส่งผลต่อการตีความว่าผู้เสียหายรายนั้นๆ เป็นเหยื่อหรือไม่ โดยหากเป็นเหยื่อแล้วนั้น ผู้ทำงานจะต้องทำความเข้าใจในส่วนของ
 
การทำความเข้าใจอย่างง่าย อีกแบบในการที่จะมองว่าผู้เสียหายรายนั้นจะตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ หรือไม่คือ ผู้ที่ทำงานจะต้องมาดูองค์ประกอบของกฎหมาย และการกระทำของผู้ค้า คือ จะต้องดู ที่การกระทำ วิธีการ และวัตถุประสงค์ คือ
 
การกระทำ ประกอบด้วย
การจัดหา, ชื้อ, ขาย, จำหน่าย, พามาจาก, กักขัง, รับไว้, ส่งไปยังที่, หน่วงเหนี่ยว,
จัดให้อยู่อาศัย, โดยพฤติการณ์หรือการกระทำที่ผู้ค่าทำต่อเหยื่อ ซึ่งกรณีการค้ามนุษย์ในส่วนของการค้าในรูปแบบของแรงงานผู้ปฏิบัติ จะต้องมีการเข้าใจในรายละเอียด หรือต้องมีความรู้ความเข้าใจในประเด็นแรงงานมากพอสมควร เพราะต้องแยกให้ออกว่า การกระทำนั้น เป็นการค้ามนุษย์ หรือ การพาแรงงานหลบหนีเข้าเมือง
 
วิธีการ ประกอบไปด้วย
ข่มขู่, ฉ้อฉล, หลอกลวง, ลักพาตัว, ใช้อำนาจโดยมิชอบ, ใช้กำลังบังคับ, โดยให้เงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่นแก่ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อให้ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลให้ความยินยอมแก่ผู้กระทำ ความผิดในการแสวงหาประโยชน์จากบุคคลที่ตนดูแล, ซึ่งวิธีการมักจะแฝงการที่ส่งผลต่อการความคุมเหยื่อ โดยใช้รูปแบบและวิธีการต่างๆ โดยส่วนใหญ่แล้วจากประสบการณ์ที่ผ่านมานั้นการละเมิดจะมาในรูปแบบของการหลอกลวงเพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อ และทำตามที่ผู้ค้าต้องการ และเมื่อเหยื่อเข้ามาอยู่ในสถานที่การควบคุมของผู้ค้า เหยื่อจะตกอยู่ในการบังคับ ทั้งกำลัง และวาจา รวมไปถึงการข่มขู่ ซึ่งมักจะใช้ข้อด้อยของเหยื่อในการข่มขู่ เช่น จะให้ตำรวจจับ หรือ หากตำรวจจับตำรวจก็จะนำมาส่งให้ผู้ค้า หรือ จะถูกขายไปในที่ที่มีความรุนแรงกว่า เป็นต้น
 
วัตถุประสงค์ ประกอบด้วย
 การแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณี, การผลิตหรือเผยแพร่วัตถุหรือสื่อลามก, การแสวงหาประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่น, การเอคนลงเป็นทาส, การนำมาขอทาน, การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ, การบังคับตัดอวัยวะเพื่อการค้า, การอื่นใดที่คล้ายคลึงกันอันเป็นการขูดรีดบุคคล, ซึ่งผู้ที่ปฏิบัติให้ความช่วยเหลือจะต้องดูรายละเอียดให้ครบ ก่อนการสรุปว่ากรณีนั้นๆ เป็นเหยื่อจากการค้ามนุษย์หรือไม่
 
การค้ามนุษย์ในรูปแบบของแรงงาน ถึงแม้ในช่วงแรกเหยื่อจะเต็มใจที่จะเข้ามาทำงาน แต่หากผิดเงื่อนไขในการตกลงกัน เช่น จะพามาทำงานโรงงาน แต่เมื่อมาถึงแล้วบังคับลงเรือ ด้วยวิธีการบังคับขู่เข็ญ กักขังหน่วงเหนี่ยว ให้ขาดซึ่งอิสรภาพ ก็เข้าข่ายอาจจะตกเป็นเหยื่อจากการค้ามนุษย์ แต่ต้องพิจารณาให้ดีว่า การเข้ามาของเหยื่อนั้นเป็นไปในลักษณะใด กล่าวคือ หากการทำงานในเรือนั้นเพื่อเงินล่วงหน้าแล้วไม่ต้องการที่จะทำงานลักษณะการเชิดเงินก็ไม่เข้าข่ายการค้า หรือการที่ตกลงถึงการเข้ามาว่าต้องทำงานใช้หนี้ และเข้ามาแล้วถูกกักขัง หรือทำงานจนชดใช้หนี้ได้หมดแล้ว และได้รับอิสรภาพ ก็จะเป็นความผิดฐานอื่นแทน เช่น การกักขังหน่วงเหนี่ยว
 
ดังนั้นผู้ที่จะปฏิบัติงานด้านการค้ามนุษย์ หรือผู้ที่จะดำเนินการให้ความช่วยเหลือแก่เหยื่อนั้น จำเป็นที่จะต้องมีความเข้าใจในรายละเอียด ทั้งข้อกฎหมาย รูปแบบแรงงาน แบบแผนวิถีชีวิตของแรงงาน และกรณีที่เกิดขึ้นให้ละเอียดที่สุด ที่สำคัญพึงระวังไว้เสมอว่า จะต้องได้มาซึ่งความจริง และต้องรอบคอบที่สุด เนื่องจาก บางครั้งผู้ที่เข้ามาขอความช่วยเหลือนั้นต้องการที่จะหลุดพ้นจากการควบคุมของนายจ้างหรือนายหน้า ซึ่งอาจจะให้ข้อมูลที่เกินจริง เพื่อให้เกิดประโยชน์กับตนเองมากที่สุด ซึ่งผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่อาจจะตกเป็นเครื่องมือของผู้ที่เข้ามาร้องขอความช่วยเหลือรายนั้นก็ได้
 
3.2 ต้องรู้รายละเอียดข้อเท็จจริง จากเบาะแส และข้อมูลจากการรับเรื่องร้องเรียน
เมื่อมีผู้เสียหายมาร้องทุกข์ด้วยตนเอง หรือมาร้องทุกข์เอง เมื่อประสบปัญหา ผู้ปฏิบัติงานต้องรู้เรื่องราวรายละเอียดให้มากที่สุด รวมถึง ผู้กระทำผิดโดยตรง หรือผู้เกี่ยวข้อง เช่น ผู้บังคับค้ามนุษย์ นายจ้าง นายหน้าค้ามนุษย์ ต้องมีการสำรวจพื้นที่เกิดเหตุ สถานที่เกิดเหตุ พยานหลักฐานต่างๆ ผู้ร้องทุกข์ หรือผู้เสียหาย ร่องรอยบาดแผลจากตัวเหยื่อ พยานเอกสารต่างๆ เช่นเอกสารบัญชีการจ่ายเงินจากนายจ้าง สลิปเงินเดือนลูกจ้าง บัญชีรายชื่อลูกจ้าง เป็นต้น
 
ข้อมูลจากเบาะแส แน่นอนว่าการรับทราบเบาะแสเรื่องการค้ามนุษย์นั้น สามารถมาได้จากหลายลักษณะ แต่ที่สำคัญคือผู้ที่ดำเนินการจะต้องให้ความสำคัญกับการ สืบเสาะแสวงหารายละเอียด ซึ่งหากข้อมูลที่มี หรือที่ได้ไม่ชัดเจน จะส่งผลต่อการดำเนินการให้ความช่วยเหลือ ดังนั้น จะต้องให้ความสำคัญ และเวลากับการสืบหาข้อมูลเชิงลึก ในการรับเบาะแส อาทิ เจ้าหน้าที่พบเบาะแสจากสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ทั้งภาครัฐ หรือ องค์กรพัฒนาเอกชน ที่มีการทำงานเกี่ยวข้องกับแรงงาน ในการลงพื้นที่ หรือการได้พูดคุยกับแรงงานในบางครั้งจะรับทราบปัญหาได้โดยที่ท่านไม่รู้ตัว เช่น สภาพโรงงานเป็นรั้วกำแพงสูง ด้านบนอาจจะมีลวดหนาม ป้องกันการปีนเข้า-ออก มีการติดกล้องวงจรปิด หรือโรงงาน / สถานประกอบกิจการ หรือที่พักนั้นๆ ไม่มีใครเข้าออก แต่จะมีเพียง คนเพียงไม่กี่คนที่สามารถเข้าออกได้ แต่ท่านอาจจะประมาณการด้วยสายตาแล้วว่า ภายในโรงงานนั้นมีการประกอบกิจการ การทำงานมีโดยตลอด แต่ที่แห่งนั้นกลับปิดเงียบทั้งที่อาจจะมีคนอยู่ภายในเป็นจำนวนมาก ซึ่งมากกว่า คนที่เข้าออก หรือหากตามสถานที่พัก เมื่อมีคนที่เข้าห้องพักแล้ว จะมีคนที่คอยปิดล๊อกกุญแจจากภายนอก หรือมีการควบคุมจากกลุ่มคนไม่ให้แรงงานเหล่านั้นสามารถมีเสรีภาพได้ การสังเกตดังกล่าว คือเบาะแสว่าอาจจะมีการกักขังแรงงานไว้ภายใน กล่าวคือ ถ้าท่านเห็นที่สักที่ที่เมื่อเข้าไปแล้วน่าจะออกไม่ได้ หรือลองจินตนาการว่าถ้าเป็นท่าน ท่านจะสามารถเข้าออกที่แห่งนี้ได้หรือไม่ ซึ่งหากท่านพบกรณีเช่นนี้ การทำงานขั้นต่อไปคือการ สืบเสาะหาข้อมูล แต่จงระวัง เรื่องความปลอดภัยของตัวท่าน และระวังอย่างให้ผู้ที่กระทำผิดรู้ตัว และอาจจะมีการปกปิดร่องรอย หรือการเปลี่ยนย้ายสถานที่ ซึ่งการทำงานของท่านจะยากขึ้น หรือท่านอาจจะไม่สามารถช่วยเหลือผู้เสียหายได้เลย
 
เมื่อมีพลเมืองดีเข้าแจ้งร้องเรียนขอให้ช่วยเหลือ ในหลายๆ ครั้งจะเห็นว่ามักจะมีพลเมืองดีทั้งที่เป็นแรงงานข้ามชาติด้วยกันเอง และกลุ่มที่เป็นคนไทย ที่ทราบ และเห็นสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นทั้งสภาพแวดล้อม และสิ่งที่ได้ยิน ได้รับฟังมา ที่สำคัญ ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ต้องใส่ใจ เต็มใจ และเปิดใจรับ อีกทั้งจะต้องเป็นผู้ฟังที่ดี จับประเด็น เพราะบางครั้งสิ่งที่พลเมืองดีเล่ามานั้น มักมีการเติมแต่งข้อมูล ดังนั้น ผู้ที่รับเรื่องจะต้องทราบรายละเอียดหลัก 2 สิ่ง เพื่อการดำเนินการต่อคือ 1) สถานที่ จะต้องสามารถกำหนดแผนที่ทางกายภาพได้อย่างชัดเจน ทั้งภายนอก และภายในของสถานที่เป้าหมาย 2) คนที่จะให้ข้อมูลได้ หรือคนที่เล่านั้นสามารถพาไปพบคนที่เป็นเหยื่อ หรือ ผู้เสียหาย หรือคนที่เคยตกเป็นเหยื่อ แล้วสามารถหนีออกมาได้ หรือไม่ แต่ก็มิใช่จะตัดบทหรือไม่ฟังสิ่งที่ได้รับการบอกเล่า หากแต่จะต้องเท่าทัน รู้ว่าตนต้องทำอะไรต่อ หรือตนต้องคุยกับใครต่อ จากนั้นการดำเนินการขั้นต่อไปคือการสืบหาข้อเท็จจริงแต่ที่สำคัญการสืบหาข้อมูลนั้นจะต้องไม่ทำให้กลุ่มผู้ที่ละเมิดนั้นรู้ตัว และเรื่องราวทั้งหมดจะต้องให้คนรู้น้อยที่สุด
 
จากการขอความช่วยเหลือจากผู้ที่อาจจะตกเป็นเหยื่อ หรือผู้ที่สามารถหนีรอดออกมาได้ในประเด็นนี้เป็นโอกาสที่ผู้ปฏิบัติ จะต้องให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ข้อเท็จจริงเพื่อนำไปวิเคราะห์ประกอบในการดำเนินการ เนื่องจาก เป็นกรณีที่ได้ข้อมูลที่เป็นจริงมากที่สุด มีภาพเป็นหลักฐานยืนยันสำคัญ และนำไปสู่การดำเนินการให้ความช่วยเหลือได้จริง กล่าวคือ ข้อมูลที่ได้จากเหยื่อ และผู้ที่เคยตกเป็นเหยื่อ แต่สามารถหลบหนีออกมาได้ แล้ว แต่สถานประกอบกิจการ หรือกลุ่มผู้ค้ายังคงมีพฤติกรรมในการละเมิด และที่สำคัญข้อมูลที่ได้ยังเป็นข้อมูลที่มีความสดใหม่อยู่ ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลที่ผู้ปฏิบัติจะต้องเก็บรายละเอียดให้ได้มากที่สุด ต้องตรวจสอบความถูกต้อง ลงพื้นที่เพื่อสำรวจสภาพแวดล้อมเพื่อนำไปสู่การดำเนินการ ที่สำคัญผู้ที่รับเรื่องหรือเบาะแสจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้เสียหาย ซึ่งอาจจะต้องจัดหาสถานที่ที่ปลอดภัยในเพื่อให้พักอาศัยก่อนชั่วคราวเพื่อที่จะ ดำเนินการในชั้นต่อไป
 
จงระลึกอยู่เสมอว่าคนที่เคยตกเป็นเหยื่อนั้น บางคนอาจจะถูกละเมิดทางด้านจิตใจ และมักเกรงกลัวต่อเจ้าหน้าที่ หรือจะไม่ไว้ใจกับบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยง่าย ดังนั้น การให้คำปรึกษาหรือการปรับสภาพของเหยื่อให้ไว้วางใจต่อเจ้าหน้าที่ เป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการที่จะได้มาซึ่งข้อมูล รวมไปถึงการที่มีล่ามที่มีทักษะและกระบวนการการเป็นล่ามเข้ามาช่วยในการสื่อสาร เป็นองค์ประกอบที่สำคัญต่อการรับเรื่องร้องเรียนเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากการสื่อสารภาษาเดียวกัน จะช่วยให้ผู้เสียหายสามารถถ่ายทอดข้อมูลที่ถูกต้องให้กับเจ้าหน้าที่ แต่ข้อควรระวังคือ ล่ามนั้นเป็นผู้ที่สามารถสื่อสารกับผู้เสียหาย ซึ่งเจ้าหน้าที่เองก็ไม่สามารถทราบได้เลยว่าเขาเหล่านั้นกำลังสื่อสารอะไรกัน หรือการที่เราพูดไปนั้นล่ามได้สื่อสารอย่างถูกต้องหรือไม่ เพราะมักจะพบว่ามีหลายครั้งที่ล่ามสื่อสารเกินกว่าที่เจ้าหน้าที่ได้พูดออกไป หรือการที่ล่ามเองเป็นผู้ละเมิด เช่น การใช้วาจาที่ไม่สุภาพ การข่มขู่ผู้เสียหายเนื่องจากผู้กระทำอาจจะเป็นคนที่ล่ามรู้จัก หรือการอวดฉลาดทั้งที่ล่ามเองก็ไม่เข้าใจในสิ่งที่เจ้าหน้าที่กำลังสื่อสาร เป็นต้น
 
แต่ที่สำคัญความลับยังคงมีความจำเป็นในการปฏิบัติงาน เจ้าหน้าที่จะต้องแพร่งพรายหรือสื่อสารข้อมูลที่ได้มานั้นอยู่ในวงจำกัด และจะต้องไม่ทำในสิ่งที่ฝ่ายตรงข้ามอาจจะรู้ตัว เนื่องจากหมายถึงความปลอดภัยของผู้ให้ข้อมูล เจ้าหน้าที่ และเหยื่อรายอื่นๆ ที่ยังรอความช่วยเหลืออยู่
 
จากการรับทราบปัญหาอื่นๆ ที่ยังไม่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์โดยตรง เจ้าหน้าที่ทั้งภาครัฐ และองค์กรพัฒนาเอกชนในหลายๆ ครั้งที่เป็นผู้รับเรื่องราวร้องทุกข์ หรือได้ยินได้ฟังเรื่องราวที่อาจจะเป็นเรื่องราวปกติ หรือเรื่องที่ตนอาจได้ยินอยู่เป็นประจำในหลายๆครั้ง อาจจะมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย เช่น มีแรงงานที่อยู่ในโรงงานแล้วนายจ้างไม่ให้ออกนอกโรงงาน เมื่อฟังแล้วก็เป็นเรื่องที่นายจ้างอาจจะกลัวถูกตำรวจจับ เพราะแรงงานไม่มีบัตรก็ได้ แต่ถ้าหากลองหาข้อมูลท่านอาจจะพบว่าเขาเหล่านั้นกำลังตกเป็นเหยื่อก็ได้ โดยที่ผ่านมานั้นทางมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงานมักจะสามารถดำเนินการให้ความช่วยเหลือแรงงานที่เป็นกรณีใหญ่ๆ ได้หลายครั้ง ซึ่งทุกครั้งจะมาจากเรื่องเล็กๆ โดยผู้ที่รับเรื่องจากต้องให้ความสำคัญกับทุกเรื่องของการร้องเรียน ใส่ใจและมองให้ลึก ซักถามในประเด็นที่สงสัย หรือ ซักถามประเด็นที่อาจจะนำไปสู่การคนพบเหยื่อ เช่น ทำไมแรงงานถึงไม่สามารถออกนอกโรงงานได้? มีการทำร้ายร่างกายไหม? หากไม่ทำงานจะเกิดอะไรขึ้น? แต่ที่สำคัญผู้ที่รับเรื่องจะต้องเข้าใจประเด็นการค้ามนุษย์ให้กระจ่าง เพราะเมื่อการถาม – ตอบ ก็จะสามารถมองเห็นภาพของการละเมิดสิทธิ การค้ามนุษย์ได้
 
เมื่อพบว่าเรื่องเล็กนั้นอาจจะนำไปสู่การที่จะเป็นเรื่องใหญ่ จะต้องไม่ทำการหรือตัดสินใจเพียงลำพัง เพราะต้องคิดเสมอว่า หลายหัวดีกว่าหัวเดียว บางเรื่องที่เรามองข้ามเพื่อนคนอื่นอาจจะมองเห็นมัน แต่ก็ควรจะปรึกษากันในวงที่จำกัด และไว้ใจได้ และจะต้องรีบให้การดูแลและคุ้มครองผู้เสียหายโดยเร็ว (จำไว้ว่าเบาะแสกับการเก็บข้อมูลนั้นเป็นคนละประเด็น เนื่องจากการเก็บข้อมูลเป็นการรับทราบเรื่องราวโดยละเอียด ต้องใช้เวลา และการทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นให้ถูกต้อง แต่การรับเบาะแสเป็นรายละเอียดปลีกย่อยที่จะต้องใช้ทักษะในการเก็บข้อมูล แล้วนำเรื่องราวที่ได้มา มาวิเคราะห์ สังเคราะห์ ในรายละเอียด โดยใช้ทักษะและประสบการณ์)
 
ส่วนการเก็บข้อมูล ในแต่ละที่ หรือรูปแบบการทำงานของแต่ละคนนั้น คงมีความแตกต่างกันบ้างแต่ในการเก็บข้อมูลโดยเฉพาะการเก็บข้อมูลกับผู้ที่อาจจะตกเป็นเหยื่อจากการค้ามนุษย์ จะต้องมีความเป็นพิเศษอยู่บ้าง ทั้งในรายละเอียด สภาพแวดล้อม การใช้ถ้อยคำ และบรรยากาศในการสัมภาษณ์ โดยการเก็บข้อมูล การเก็บข้อมูลเมื่อมีผู้มาร้องเรียน (ในสถานที่ทำงาน) เมื่อมีใครสักคนเดินเข้ามาหาหรือมาที่ทำงานของท่านจงจำไว้เสมอว่า “หากเขาสบายดี เขาก็คงไม่มาหาท่าน” และการที่ใครสักคนจะเดินเข้าไปร้องขอความช่วยเหลือ หรือจัดการกับปัญหาสักเรื่องเขาเหล่านั้นคงคิดอยู่นาน (ท่านลองมองดูว่าตัวท่านเอง หรือคนที่ท่านรู้จัก ว่าในการที่จะไปทำอะไรสักอย่างเช่นการไปประสาน หน่วยงานรัฐหรือเอกชน ที่เป็นสถานที่สาธารณะ มีผู้คนเข้าออกมากมาย ในตอนนั้นท่านคิดอย่างไร หรือรู้สึกอย่างไร หลายคนบอกว่า ไปถึงแรกๆ ก็ยังทำอะไรไม่ถูก หรือ เขินอายพอสมควร) แน่นอนว่าหากเขาเข้ามาแล้วไม่ได้รับความเป็นมิตรการให้เกียรติ ความไว้วางใจที่มีนั้นก็จะเกิดปัญหาขึ้นทันที เพราะเหยื่อ หรือผู้ที่เข้ามาแจ้งนั้น เขาย่อมมีความเกรงกลัวทั้งต่อเจ้าหน้าที่ และคำขู่ต่างๆ ที่เหล่าบรรดานายจ้าง และนายหน้าได้ข่มขู่เขาเหล่านั้นอยู่เป็นทุนเดิมแล้ว
 
3.3 เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานต้องสามารถวิเคราะห์ข้อเท็จจริง
จากข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ การสำรวจแหล่งที่ตั้ง ที่เป็นที่เกิดเหตุ และสามารถบอกได้ว่า กรณีนี้ เข้าข่ายความผิดฐานค้ามนุษย์ หรือไม่ หรือ เกี่ยวข้องกับกฎหมายอื่นอย่างไร
 
3.4 เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานต้องรู้วิธีดำเนินการ
การดำเนินการช่วยเหลือผู้ตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ เป้าหมายที่สำคัญที่สุด คือ ต้องสามารถจับกุมผู้ที่กระทำผิดได้ และผู้เสียหายต้องได้รับการคุ้มครอง เยียวยา ในกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจคือผู้ที่ต้องดำเนินการจับกุม ต้องรู้วิธีดำเนินการเบื้องต้นคือ กรณีที่เกิดขึ้น จะต้องทำเป็นสำนวนการสืบสวนหรือไม่ หลังการรับแจ้งเบาะแส ต้องมีพยานหลักฐานประกอบที่สำคัญๆ อะไรบ้าง แล้วมีการวางแผนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ นักสังคมสงเคราะห์ เจ้าหน้าที่คุ้มครองแรงงาน เจ้าหน้าที่จัดหางาน องค์กรพัฒนาเอกชนในหรือนอกพื้นที่ และล่ามที่สามารถสื่อสารภาษาไทย และภาษาของแรงงานได้ดี กรณีการเข้าไปในสถานที่รโหฐาน โรงงาน จะต้องมีหมายค้น หรือไม่มี กรณีไม่มีต้องใช้อำนาจเจ้าหน้าที่นักสังคมสงเคราะห์ ตามกฎหมายคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 หรือแจ้ง พาเจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ที่มีอำนาจตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และเจ้าหน้าที่จัดหางาน ที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายการทำงานของคนต่างด้าว เพราะเจ้าหน้าที่ดังกล่าวสามารถเข้าไปตรวจค้นโดยไม่มีหมายค้นได้ หากเมื่อเข้าไปแล้วพบว่า มีความผิดซึ่งหน้า เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถดำเนินการจับกุมได้ทันที
 
กรณีโรงงาน หรือสถานประกอบการบางแห่ง ที่มีการบังคับใช้แรงงาน และละเมิดสิทธิแรงงาน เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าไปในโรงงานพบว่า สภาพทางกายภาพ ที่ตั้ง อาคารโรงงาน ที่พัก สามารถบ่งชี้ หรือ สันนิษฐานได้ว่า เป็นโรงงานบังคับใช้แรงงาน เจ้าของโรงงานได้ติดตั้งกล้องวงจรปิดในทุกๆ ที่ ตั้งแต่ด้านหน้าปากทางเข้าออกโรงงาน ที่ทำงานที่พัก ที่อาบน้ำ กำแพงรั้วโรงงานสูง มีเหล็กกั้นแน่นหนา ด้านบนห้องน้ำมีตะแกรงเหล็ก กั้นป้องกันการหลบหนี แรงงานข้ามชาติ อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี แรงงานไม่สามารถออกจากบริเวณโรงงานได้ ก็สามารถบ่งบอกได้ว่า สถานประกอบการแห่งนี้ กระทำผิด ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นต้น
 
 
เชิงอรรถ
[1] ประมวลกฎหมายอาญาฯ, พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 ,พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และฉบับแก้ไข พ.ศ. 2551 ,พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ,พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว (แก้ไข)พ.ศ.2551 ,พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ,พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ,ประมวลกฎหมายวิธีพิจาณาความอาญาฯ ,ประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ ,พ.ร.บ. คุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 ,พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าตอบแทน และค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 ,พ.ร.บ. ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องคดีอาญา พ.ศ. 2535 ,พ.ร.บ. ส่งผู้ร้ายข้ามชาติ พ.ศ. 2551 ,พ.ร.บ. ที่มีโทษทางอาญาอื่นๆ
 
[2] พ.ต.ท. ชลิต เกตุศรีเมฆ รองผู้กำกับการกลุ่มงานสวัสดิภาพเด็ก เยาวชนและสตรี ศูนย์สืบสวนตำรวจภูธรภาค 7 ได้ถอดบทเรียนรู้ ประสบการณ์จากการดำเนินการสืบสวน จับกุมคดีค้ามนุษย์ ในโรงงาน สถานประกอบการสำคัญ ๆ ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร และพื้นที่อื่นๆ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net