Skip to main content
sharethis

ศาลแรงงานภาค 5 ไม่รับฟ้องกรณีนางหนุ่ม ไหมแสง ร้องคำให้ถอนคำสั่งประกันสังคมที่ทำให้แรงงานข้ามชาติไม่มีสิทธิรับเงินทดแทน ศาลระบุเป็นการฟ้องซ้อนคดีที่ยังอยู่ในศาลฎีกาจึงไม่รับฟ้อง ส่วนใบอนุญาตทำงานแรงงานต่างด้าวเป็นเพียงการลงทะเบียนเพื่อให้ทราบจำนวนแรงงานและเป็นนโยบายผ่อนผัน ไม่เกี่ยวว่าจะต้องได้สิทธิเท่าแรงงานไทยหรือแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองถูกกฎหมาย

แฟ้มภาพนางหนุ่ม ไหมแสง (นั่งรถเข็น) แรงงานข้ามชาติชาวไทใหญ่ เมื่อครั้งเดินทางไปศาลปกครอง จ.เชียงใหม่ เมื่อ 11 เม.ย. 51 เพื่อยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง จ.เชียงใหม่ ให้มีการเพิกถอนหนังสือเวียนของสำนักงานประกันสังคมเลขที่ รส.0711/ว 751 ลงวันที่ 25 ต.ค. 2544

หนังสือเวียนของสำนักงานประกันสังคม เลขที่ รส.0711/ว751 หนังสือเวียนดังกล่าวทางฝ่ายนางหนุ่มและทนายเห็นว่าเป็นการกีดกันสิทธิในการรักษาของแรงงานข้ามชาติ
 
จากกรณีคดีนางหนุ่ม ไหมแสง แรงงานชาวพม่า ที่ฟ้องเรียกร้องเงินชดเชยจากนายจ้างจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในขณะทำงาน ซึ่งจะได้รับเงินชดเชยจากนายจ้างโดยที่ไม่ได้รับสิทธิการคุ้มครองแรงงานจากทางกองทุนเงินทดแทนสำนักงานประกันสังคม แม้จะถือใบอนุญาตทำงานแรงงานต่างด้าว เนื่องจากคำสั่งจากหนังสือเวียนที่ รส.0711/ว 751 ลงวันที่ 25 ต.ค. 2544 ที่ระบุว่าแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้เข้าประเทศโดยถูกกฎหมายจะไม่สามารถเข้าสู่ระบบกองทุนได้ ทั้งที่ฝ่ายนายจ้างเองก็ต้องการที่จะจ่ายเงินสมทบเข้าสู่ระบบกองทุน จึงได้มีการยื่นต่อศาลแรงงานให้พิจารณาให้ยกเลิกหนังสือเวียนดังกล่าว
 
ทั้งนี้หนังสือเวียนดังกล่าวได้กำหนดว่าแรงงานที่จะสามารถเข้าสู่ระบบกองเงินทดแทนได้นั้นต้องเป็นผู้ที่เข้าเมืองอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งจะต้องมีหนังสือเดินทางหรือเอกสารอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศไทย แต่ทางมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและเพื่อการพัฒนา (มสพ.) ชี้ให้เห็นว่าแรงงานจากประเทศพม่านั้นไม่มีทางที่จะเข้าประเทศไทยได้โดยถูกกฎหมาย เนื่องจากกลไกไม่เปิดช่องทางให้ ซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิของแรงงานที่ได้มีการขึ้นทะเบียนแรงงานอย่างถูกกฎหมายด้วย ทั้งที่แรงงานเหล่านี้ได้รับอนุญาตให้ทำงานในประเทศไทยและได้เสียภาษีให้กับประเทศไทยเป็นจำนวนเงินประมาณ 3,800 บาท ทุกปี
 
ล่าสุดได้มีการพิจารณาคดีขึ้นที่ศาลแรงงานภาค 5 ในวันที่ 21 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยศาลได้ตัดสินว่าประเด็นเรื่องการเรียกร้องเงินชดเชยของนางหนุ่มนั้นเป็นการฟ้องซ้อนกับคดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ซึ่งฝ่ายโจทก์ได้ดำเนินการไปแล้ว ฉะนั้นศาลจึงไม่รับฟ้องในประเด็นนี้ ส่วนประเด็นเรื่องการยกเลิกคำสั่งจากหนังสือเวียนที่ไม่เปิดช่องทางให้แรงงานต่างด้าวส่งเงินเข้าสู่ระบบกองทุนนั้นศาลได้ตัดสินว่าเป็นหน้าที่ของนายจ้างในการดำเนินการดังกล่าว ฉะนั้นแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้เข้าเมืองโดยถูกกฎหมายนั้นจึงไม่มีคุณสมบัติที่จะส่งเงินเข้าสู่ระบบกองทุนดังกล่าว ซึ่งทางฝ่ายโจทก์ก็จะดำเนินการให้ศาลฎีกาพิจารณาตัดสินในประเด็นนี้ต่อไป
 
ส่วนใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าวที่ถือเป็นหลักฐานการอนุญาตให้ทำงานในประเทศไทยซึ่งเป็นประกาศที่ออกโดยกระทรวงมหาดไทยนั้น ศาลแรงงานตัดสินว่าไม่ได้เป็นการรับรองสิทธิว่าแรงงานจะสามารถส่งเงินเข้าสู่ระบบกองทุนได้ โดยศาลเห็นว่ากฎหมายคุ้มครองแรงงานเป็นกฎหมายพิเศษ ซึ่งเป็นสิทธิพิเศษที่ให้กับคนไทยและแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองถูกกฎหมายหรือได้รับอนุญาตทำงานถูกกฎหมายเท่านั้น ส่วนแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมายนั้นถึงแม้ได้มีการลงทะเบียนให้ทำงานแต่เป็นไปเพื่อให้ทราบจำนวนแรงงานที่ทะลักเข้ามาเท่านั้นและเป็นเพียงนโยบายผ่อนผัน ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะต้องได้สิทธิเท่ากับแรงงานไทยหรือแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองถูกกฎหมาย
 
 
เรื่องที่เกี่ยวข้อง: 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net