Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 23 ก.ย.52 เวลา 13.30 น. ที่ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ นายภานุพันธ์ ชัยรัต ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง เจ้าของสำนวนคดีฟ้องระงับการให้ใบอนุญาตโรงงานอุตสาหกรรม 76 โครงการในเขตมาบตาพุด-บ้านฉางและใกล้เคียง จ.ระยอง ตามคดีหมายเลขดำที่ 908/2552 พร้อมองค์คณะไต่สวนคู่ความ

ตามที่ นายศรีสุวรรณ จรรยา กรรมการสิ่งแวดล้อม สภาทนายความ ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และชาวบ้านชุมชนมาบตาพุด-บ้านฉางจำนวน 43 รายได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราว ให้ศาลสั่งระงับโครงการ หรือกิจกรรมใดๆ ทั้ง 76 โครงการที่ผ่านความเห็นชอบเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว นับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ประกาศใช้ คือ วันที่ 24 ส.ค. 50 เป็นต้นมา ซึ่งจะประกอบกิจการใดๆ ไม่ได้ในพื้นที่เขต อ.มาบตาพุด-บ้านฉางและใกล้เคียง จ.ระยอง ไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาต่อไป

หลังจากเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา นายศรีสุวรรณ จรรยาและคณะได้ยื่นฟ้อง คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ, เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.), รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (พม.), รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม, รมว.กระทรวงพลังงาน, รมว.กระทรวงคมนาคม, รมว.กระทรวงสาธารณสุข และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงที่ 8 ฐานเป็นหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร จากการที่ร่วมกันเห็นชอบหรืออนุญาตให้เจ้าของโครงการหรือกิจกรรมที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ไปดำเนินการก่อสร้างหรือขยายโรงงานในพื้นที่มาบตาพุด บ้านฉางและใกล้เคียง ที่ผิดไปจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 67 วรรคสอง และกฎหมายสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 หรือกระทำการโดยไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายบัญญัติอีก 3 ประการ คือไม่มีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชน, ไม่จัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียที่อยู่ในพื้นที่ซึ่งก็คือ จ.ระยอง อย่างแท้จริง รวมทั้งไม่จัดให้มีองค์กรอิสระด้วยสิ่งแวดล้อมและสุขภาพให้ความเห็นประกอบก่อนการดำเนินการ

โดยการไต่สวนในวันดังกล่าว ฝ่ายผู้ฟ้องคดีมีนายศรีสุวรรณ จรรยา และทีมทนายความกว่า 10 นาย, นายสุทธิ อัชฌาศัย เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก จ.ระยอง นายเจริญ เดชคุ้ม นายน้อย ใจตั้ง และชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด-บ้านฉาง จ.ระยองจำนวน 43 รายมาร่วมให้ถ้อยคำ ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีมีผู้แทนจากสำนักงานอัยการ และนิติกร รับมอบอำนาจจากหน่วยราชการที่ถูกฟ้องคดีเข้าให้ถ้อยคำ ขณะที่มีผู้แทนของผู้บริหารโรงงานต่างๆ ในมาบตาพุด-บ้านฉาง ร่วมให้ถ้อยคำเพิ่มเติมด้วย ซึ่งศาลใช้เวลาไต่สวนประมาณ 4 ชั่วโมงจึงแล้วเสร็จ

นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก จ.ระยอง เปิดเผยว่า ในการไต่สวน เขาและชาวบ้าน ได้นำเสนอข้อมูลทั้งปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นมาแล้ว และปัญหาด้านสุขภาพที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น โดยมีเด็กในพื้นที่เป็นโรคมะเร็ง ลูคีเมียหรือมะเร็งเม็ดเลือดขาว ซึ่งการตรวจสอบทางการแพทย์พบว่าเด็กได้รับสารปนเปื้อนของโลหะหนักในน้ำ ที่แม้ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าสารปนเปื้อนถูกปล่อยมาจากที่ใด แต่แสดงให้เห็นว่าหากยังจะให้การก่อสร้างโรงงานย่อมเป็นไปได้ที่จะเกิดผลกระทบต่อสุขภาพของคนในพื้นที่ยิ่งขึ้น ขณะที่ฝ่ายหน่วยงานราชการ และผู้บริหารโรงงาน ได้ยื่นเอกสารชี้แจงเกี่ยวกับความเห็นชอบการอนุญาตสร้างโรงงานที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งเขาและผู้ฟ้องยังไม่เห็นรายละเอียดก็จะขออนุญาตศาลคัดถ่ายสำเนาต่อไป

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ผู้แทนคดีกล่าวว่า หลังจากที่ศาลไต่สวนคู่ความครบถ้วนแล้ว ศาลได้แจ้งให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายทราบว่า หลังจากนี้ศาลจะเรียกประชุมองค์คณะเพื่อพิจารณาสำนวนโดยเร็วที่สุด เพื่อสรุปสำนวนคดี และจะส่งให้ตุลาการผู้แถลงคดีเป็นผู้พิจารณาอีกครั้ง หลังจากนั้นศาลจะมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดออกมา และจะแจ้งคำสั่งให้คู่กรณีทราบต่อไป แต่ศาลยังไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะมีคำสั่งได้ภายในวันใด ซึ่งหากศาลมีคำสั่งไม่กำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวตามที่ผู้ฟ้องคดีมีคำขอไป เรื่องนี้ก็จะสิ้นสุดเฉพาะประเด็นการขอการคุ้มครองชั่วคราว แต่หากศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ตามที่ผู้ฟ้องคดีขอต่อศาล ผู้ถูกฟ้องคดีหรือผู้ที่ได้รับผลจากคำสั่งของศาลก็ยังสามารถใช้สิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้อีก ทั้งนี้ไม่เกี่ยวกับการพิจารณาคดีตามปกติของศาลที่ต้องดำเนินการต่อไป

ส่วนการเคลื่อนไหวชุมนุมประท้วงของชาวบ้านในพื้นที่มาบตาพุด-บ้านฉางนั้น เป็นสิทธิของประชาชนที่สามารถกระทำได้ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ไม่เกี่ยวข้องกับกระบวนพิจารณาของศาลเป็นการใช้สิทธิอื่นของชาวบ้านนอกเหนือจากการใช้สิทธิยื่นฟ้องคดีต่อศาลในคดีนี้ เพราะก่อนหน้านี้นั้นตัวแทนชาวบ้านเคยไปเข้าพบกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีมาแล้ว ซึ่งชาวบ้านได้ยืนยันไว้แล้วว่าจะให้เวลาภาครัฐ 1 เดือน ในการพิจารณาทบทวนการต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง ซึ่งหากยังไม่มีความคืบหน้ากลุ่มชาวบ้านเคยแจ้งว่าจะร่วมกับกลุ่มประชาสังคมในจังหวัดต่างๆ ออกมาเคลื่อนไหวพร้อมๆ กันทั่วประเทศ และเมื่อถึงวันนั้นภาครัฐจะมาอ้างว่า เป็นการใช้กฎหมู่เหนือกฎหมายไม่ได้ เพราะภาครัฐเพิกเฉยหรือละเว้นต่อการแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้องของชาวบ้านหรือการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายก่อนต่างหาก นายศรีสุวรรณ กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net