Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“ภูมิซรอล” เป็นชื่อหมู่บ้านภาษาต่างชาติที่ใครบางคนฟังแล้วแสงใจ เขาจะหารู้มั้ยว่าในประเทศไทยที่มีชื่อหมู่บ้านที่ไม่ได้เป็นภาษาไทยกี่หมู่บ้าน

 
บางหมู่บ้านมีชื่อของเขาดีๆ อยู่แล้ว วันดีคืนดีหน่วยราชการไทย (ในอดีต) ก็ไม่ตั้งชื่อให้ใหม่ ลากจากคำเดิมให้เป็นคำไทย กลายเป็นว่าจากหมู่บ้านหนึ่ง ซึ่งชื่ออาจบ่งบอกถึงความเป็นมา กลับกลายไปมีความหมายใหม่ที่หารากเหง้าอะไรไม่ได้เลย
 
มิหนำซ้ำ ชื่อที่ตั้งใหม่กลับสร้างปัญหาให้ปวดเศียรเวียนเกล้ามากขึ้น ผ่านไปเนิ่นนานกว่าจะได้รับการแก้ไข อย่างที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
ที่ครั้งหนึ่งเมื่อราวๆ เดือนเมษายน ปี 2550 ผมเคยเขียนบทความชิ้นหนึ่งบอกเล่าถึงประสบการณ์ของตัวเองในสมัยที่เรียนหนึ่งสืออยู่ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ระหว่างปี 2540 – 2544 จำไม่ได้ว่าตอนเรียนปีเคยช่วย ผศ.จิตติมา ระเด่นอาหมัด แห่งภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เก็บข้อมูลทำวิจัยเรื่อง “ภูมินาม”
 
ผมช่วยอาจารย์โดยเข้าหาข้อมูลประวัติชื่อหมู่บ้านกว่า 1,400 หมู่บ้านใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส เพื่อหาประวัติว่า เหตุใดแต่ละหมู่บ้าน หรือแม้กระทั่งกลุ่มบ้านว่าจึงชื่อเช่นนั้น ด้วยเพราะมีประเด็นบางอย่างที่น่าสนใจเกี่ยวกับชื่อหมู่บ้านในพื้นที่แห่งนี้ ที่อาจเป็นเงื่อนไขหนึ่งแห่งความไม่สงบในพื้นที่ด้วยก็ได้
 
แต่ผมไม่ได้ไปทุกหมู่บ้านน่ะครับ แล้วก็ไปเฉพาะในจังหวัดปัตตานีกับยะลาเท่านั้น อาจารย์ชวนผมไปกันหลายหมู่บ้าน แต่ในที่สุดผมก็ทราบมาว่า งานวิจัยของอาจารย์ก็ยังไม่เสร็จเพราะหาข้อยังไม่ครบทุกหมู่บ้าน เนื่องจากปัญหาสุขภาพของอาจารย์เอง
 
ผมขอนำบทความชิ้นดังกล่าวนำมารีวิวใหม่ให้เข้ากับสถานการณ์ภูมิสรอล เผื่อท่านใดแสดงใจกับชื่อหมู่บ้านในชายแดนใต้บ้าง แล้วคิดแก้ไขให้มันถูกต้อง โดยผมปรับปรุงเนื้อหาบางส่วน เพื่อให้ถูกต้องและเข้าใจง่ายมากขึ้น ดังนี้
 
 
... ครั้งหนึ่ง ผมเคยไปถามคนแก่คนหนึ่ง ในหมู่บ้าน “แลแป” ซึ่งเป็นหมู่บ้านของชาว “ไทยพุทธ” ว่า แปลว่าอะไร
 
ไม่มีใครรู้ครับ
 
จากนั้น ผมก็ได้ไปถาม คนแก่ๆ คนหนึ่งเป็นหมอพื้นบ้านรักษาโรคเกี่ยวกับกระดูก ที่บ้าน “นาค้อ” ซึ่งเป็นบ้าน “มุสลิม” ห่างจากบ้านแลแป หลายกิโลเมตรอยู่ ถามแกว่า ทำไมถึงชื่อบ้านนาค้อ
 
แกบอกว่า เมื่อก่อนมีต้นข่อยเยอะ แล้วก็อยูในนา ก็เลยเรียกว่า “บ้านนาข่อย” ต่อมา นานๆ เข้า ก็เพี้ยนเป็น “นาค้อ”
 
แล้ว “บ้านแลแป” ล่ะ หมายถึงอะไร?
 
“ไม่รู้”
 
แต่มีคนแก่อีกคนหนึ่ง เจอโดยบังเอิญ แกบอกว่า มาจากคำว่า “กะดูแป” หมายถึงต้นไม้ยืนต้นชนิดหนึ่ง ผมก็ไม่รู้ว่าภาษาไทยเรียกต้นอะไร
 
แกบอกว่า คนแรกๆ ที่ไปตั้งหมู่บ้านเป็นคนมุสลิม แล้วก็มีคนไทยพุทธตามเข้าไปอยู่ด้วย ที่นั่นมีต้นไม้อย่างว่าเยอะ ก็เลยเรียกบ้านกะดูแป แล้ววันหนึ่งคนมุสลิมที่เข้าไปตั้งหมู่บ้านก็ย้ายออกไป คนไทยพุทธที่เข้ามาใหม่ ออกเสียงเรียกชื่อหมู่บ้านสั้นๆ จนเพี้ยนเป็น “แลแป”...
 
....บางหมู่บ้านไปไม่ทันถึง ก็ได้คำตอบเสียก่อนว่า มีประวัติชื่อหมู่บ้านเป็นอย่างไร เพราะดันไปเจอคนที่ย้ายออกมาจากหมู่บ้านที่จะไป ก็โชคดีไม่ต้องเหนื่อยมาก
 
ที่โชคร้ายหน่อยก็คือ บางหมู่บ้านต้องเวียนไปหมู่บ้านรอบๆ หลายหมู่บ้าน เพราะคนในหมู่บ้านไม่มีใครรู้ หรือบางทีต้องตามหาคนแก่คนหนึ่งที่น่าจะรู้ประวัติดี แต่ตอนนี้ย้ายไปอยู่อีกหมู่บ้าหรืออีกจังหวัดหนึ่งเลย
 
อย่างเช่น หมู่บ้าน “ปุหรน” ครั้งแรกไปถามคนในหมู่บ้านได้คำตอบว่า หมายถึงกะลามะพร้าว เพราะภาษายาวี เรียกกะลามะพร้าว ว่า “ปูรน” ไม่แน่ใจ ก็ถ้าถามอีกคน พวกหนุ่มๆ หน่อย บอกว่า มาจากคำว่า “ปูหล่น” เพราะเอาปูใส่กระสอบ แล้วกระสอบขาดปูก็เลยหล่น ต่อมาเพี้ยนมาเป็นปุหรน
 
แต่คำตอบที่อาจารย์บอกว่าของแท้แน่นอน คือมาจากคำว่า “อูปุ อารง” แปลว่า หญ้าหนวดดุก (อูปุ แปลว่า หญ้า ส่วน อารงเป็นชื่อพันธุ์ของต้นหญ้า)
 
เหตุที่ใช้ชื่อนี้ ต้องมีที่มา แต่ผมจำไม่ได้ บางทีอาจเป็นเพราะที่นั่นมีต้นหญ้าชนิดนี้ขึ้นอยู่มาก
 
อีกตัวอย่าง คือ “บ้านบางปู” เป็นหมู่บ้านมุสลิม แต่ทำไมถึงชื่อ บางปู ซึ่งเป็นภาษาไทย อาจารย์บอกว่า เพราะกลุ่มคนแรกๆ ที่เข้าไปในพื้นที่ตรงนั้น เป็นคนไทยพุทธ เข้าไปจับปูบริเวณที่เป็นป่าชายเลน คนไทยพุทธ ซึ่งพูดภาษาไทย ก็เรียกว่าบางปู ต่อมามุสลิมเข้าไปอยู่อาศัย ก็ยังเรียกว่าบ้านบางปูเหมือนเดิม
 
จะเห็นได้ มีหลายหมู่บ้านที่เป็นชื่อภาษาไทย แต่คนที่อาศัยอยู่เป็นชาวมุสลิม พูดภาษายาวี ขณะที่มีหมู่บ้านที่ชื่อเป็นภาษายาวี แต่ชาวบ้านที่อาศัยเป็นชาวไทยพุทธ ซึ่งพูดภาษาไทย
 
จากประสบการณ์ดังกล่าว บวกกับที่อาจารย์บอก พบว่า การตั้งชื่อหมู่บ้าน ไม่ได้มีเฉพาะประเภทตามสภาพภูมิศาสตร์ในพื้นที่ซึ่งพบมากที่สุด โดยอาจตั้งตามชื่อต้นไม้ แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง ที่ราบ เนิน เขา ควน เป็นต้น เช่น บ้านปุหรน บ้านนาเกตุ บาโง บันนังสตา ยะหา รือเสาะ เป็นต้น
 
นอกจากนี้ ยังมีการตั้งชื่อหมู่บ้านตามชื่อบุคคล และเหตุการณ์ด้วย เช่น กลุ่มบ้าน “เจ๊ะแลเงาะ” ซึ่งเป็นชื่อคน เพราะคนแรกที่ไปตั้งบ้านชื่อ “แลเงาะ” ส่วนคำว่า “เจ๊ะ” เป็นคำเรียกคนแก่เฒ่า หรืออาจเทียบได้กับคำว่า “ปู่” หรือ “ตา” เป็นคำเรียกคนแก่ๆ ทั่วไป
 
ส่วนชื่อตามเหตุการณ์หรือกิจกรรม เช่น บ้าน “ล้อแตก” “คลองช้าง” “ท่าแรด” “ตุยง”(ยง หรือ หยง “ปะนาเระ” “พิเทน” กือฎี” หรือแม้แต่คำว่า “ปาตานี” ฯลฯ แต่ละที่มีคำบอกเล่าที่เหลือเชื่อและพิศดารก็มี
 
เช่น บ้าน “ล้อแตก” ชาวบ้านก็บอกว่า สมัยก่อนเป็นเส้นทางเกวียนของพระอินทร์ เมื่อขับผ่านมาถึงที่นี่ล้อเกวียนก็แตก เลยตั้งเป็นชื่อหมู่บ้านล้อแตก
 
แต่ข้อมูลที่ได้อีกอย่างหนึ่งก็คือ บริเวณบ้านล้อแตกในอดีตเป็นพื้นที่อู่ข้าวอู่น้ำของอาณาจักรปาตานีในอดีต มีการขนข้าวที่ปลูกไว้ด้วยเกวียน พอบรรทุกหนักๆ เข้า ล้อเกวียนก็แตก จนกระทั่งกลายมาเป็นชื่อหมู่บ้าน ซึ่งปัจจุบันเป็นหมู่บ้านสมานฉันท์ไทยพุทธ – มุสลิม
 
บางแห่งเป็นชื่อศาสนสถานทางศาสนาพุทธ หรือเป็นพื้นที่ที่มีการทำกิจกรรมทางศาสนาพุทธ ทั้งที่ผู้อยู่อาศัยเป็นมุสลิมทั้งหมด
 
ที่เป็นเชื่นนั้น เพราะในอดีตก่อนการเข้ามาของศาสนาอิสลามพื้นที่แถบจังหวัดชายแดนภาคใต้นับถือศาสนาพุทธมาก่อน เช่น คำว่า “พิเทน” อาจารย์บอกว่า มาจากคำว่า “พี่เณร” หรืออาจมาจากคำว่า “ซีแย บีเด” คำว่า “ซีแย” หมายถึง สยาม
 
ยังมีบางหมู่บ้านที่เมื่อมีการตั้งชื่อเป็นทางการ หลังจากแยกเป็นหมู่บ้านใหม่ มีการตั้งผู้ใหญ่บ้านเป้นคนแรก ก็ใช้ชื่อใหม่ไปเลย แทนคำเรียกเดิม อาจเป็นเพราะมีความหมายที่เป็นสิริมงคลมากกว่า เช่น บ้าน “สลาม” แทนที่จะใช้คำว่า “มะดาฆัง”
 
ยังมีอีกหลายหมู่บ้านที่ยังไม่รู้ว่า มีประวัติความเป็นมาอย่างไร และมีความหมายอย่างไร ยกตัวอย่าง เช่น บ้าน “สะมะบุง” ฯลฯ ซึ่งครั้งนั้น ผมบอกอาจารย์ว่า ผมมีเพื่อนสมัยเรียนคนหนึ่ง เขามีนามสกุล “สะมะบู”
 
อาจารย์ไม่รอช้า รีบบอกผมให้ไปถามเขาเลยว่า เกี่ยวข้องกับบ้าน “สะมะบุง” หรือเปล่า ก็ต้องขอโทษด้วย เพราะจนถึงวันนี้ ผมก็ยังไมไปถามเขาเลย เขาอยู่จังหวัดสงขลาครับ
 
ชื่อหมู่บ้านทั้งที่ยกมาเป็นตัวอย่างและอีกหลายหมู่บ้านที่ไม่ได้ยกมา มีทั้งที่ยังเป็นชื่อเดิม และที่เพี้ยนไป เพราะความตั้งใจลากคำให้มีความหมายเป็นอื่นไป... ที่บางครั้งก็สร้างปัญหาขึ้นมา
 
ยกตัวอย่างครั้งหนึ่ง ผมเคยเข้าร่วมฟังสัมมนาที่สำนักข่าวประชาไทจัดขึ้น(เมื่อปีสองปีที่แล้ว) เกี่ยวกับสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งนั้นมีคุณ “อับดุลอายิ อาแวสือแม” นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวของจังหวัดนราธิวาส เป็นวิทยากร
 
อับดุลอายิ พูดถึงความไม่เป็นธรรมบางอย่างที่ภาครัฐกระทำต่อคนในพื้นที่ นั่นคือ ชาวบ้านแห่งหนึ่งเขาบอกว่า เมื่อก่อนชาวบ้านเดือดร้อนมาก เพราะหมู่บ้านชื่อ “โคกกระดูกหมู”
 
“เวลามีคนมาที่หมู่บ้าน เขาก็สงสัยว่า เอะ ! ชื่อบ้านโคกกระดูกหมู แล้วทำไมถึงมีมัสยิดด้วย หรือเวลามีงานบุญหรือไปขอเรี่ยไรเงินสร้างมัสยิดในหมู่บ้านอื่นที่คนไม่รู้จัก เขาก็ถามว่า เป็นงานมัสยิดหรือเปล่า ทำไมมีชื่อหมูอยู่ด้วย แล้วมัสยิดชื่ออะไร มัสยิดโคกกระดูกหมูด้วยหรือเปล่า”
 
“แต่เดี๋ยวนี้ทางการเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านให้แล้วครับ ชื่อ โคกยามู”...
 
...ย้อนกลับไปเรื่องของอาจารย์ “จิตติมา” ซึ่งผมประมวลจากอาจารย์ที่อาจารย์เล่าให้ฟังว่า ในสมัยหนึ่ง ทางราชการต้องการตั้งชื่อหมู่บ้านอย่างเป็นทางการ ดำเนินการโดยกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเมื่อจะมีการตั้งชื่อหมู่บ้านบางแห่ง เจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งนับถือศาสนาพุทธ และพูดภาษาไทย ไม่สามารถออกเสียงชื่อหมู่บ้านที่เป็นภาษายาวีได้ถูกต้อง
 
เมื่อเป็นดังนั้น จึงพยายามลากเสียงให้เป็นภาษาไทยและให้มีความหมายที่เป็นภาษาไทย จากการเข้าไปเก็บข้อมูลพบว่า หลายหมู่บ้านมีประวัติความเป็นมาอย่างหนึ่ง แต่ชื่อหมู่บ้านไม่ตรงกับที่มาที่ไปของหมู่บ้าน เพราะถูกลากเสียงให้เป็นคำในภาษไทย
 
เช่น มีชื่อที่มีความหมายบ่งบอกถึงลักษณะภูมิประเทศอย่างหนึ่ง แต่ข้อเท็จจริงในพื้นที่กลับพบว่ามีสภาพที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เช่น บ้าน “นาเกตุ” ในภาษายาวี เรียกว่าบ้าน “อาเนาะ บูเก๊ะ” แปลว่า ลูกภูเขา หมายถึงภูเขาลูกเล็กหรือเนินเขา ไม่ได้เป็นที่นาแต่อย่างใด
 
อีกตัวอย่างที่จำได้ คือบ้าน “ศาลาลาก” แต่ชาวบ้านเรียกว่าบ้าน “ซือลา มอและ” แปลว่า “ศาลาที่สวนงาม” คนละความหมายกันเลย
 
ครั้งนั้นอาจารย์บอกว่า ในข้อมูลของกระทรวงมหาดไทย พบว่ามีชื่อหมู่บ้านหลายแห่งที่ถูกแก้ไขให้ถูกต้องตามที่มาที่ไปแล้ว
 
นอกจากการลากคำให้มีความหมายในอีกภาษาหนึ่งแล้ว ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการสะกดเป็นภาษาอังกฤษด้วย ซึ่งปัญหานี้จะปรากฏตามป้ายริมถนน เช่น บ้าน “ปาลัส” ครั้งหนึ่งกรมทางหลวงเขียนชื่อภาษาอังกฤษว่า “PALAD”
 
ชาวบ้านโวยครับ เพราะคำนี้ ในความหมายภาษามลายู แปลว่า “อวัยวะเพศหญิง” ต่อมาจึงแก้ไขให้ถูกต้อง เป็นคำว่า “PALAS” แปลว่า “ต้นกะพ้อ”
 
เห็นมั้ยละครับว่า ชื่อหมู่บ้านสำคัญขนาดไหน อ่านอย่างนี้ก็คงเห็นแล้วว่า ประวัติชื่อหมู่บ้าน ก็คือประวัติศาสตร์ท้องถิ่นดีๆ นี่เอง ไม่เชื่องลองกลับไปถามคนแก่ๆ ที่บ้านดู ว่าทำไมหมู่บ้านเราถึงชื่อนี้
 
ถ้าจะเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านภูมิซรอล ก็น่าจะลองถามพวกบันนังสตา พวกตันหยงลีมอ พวกปาตาบาระ ไอร์ปาแย ฯลฯ ดูก่อนก็ได้ว่า คิดยังงัย เพราะชื่อหมู่บ้านของท่านนั้น มันไม่ใช่ภาษาไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net