Skip to main content
sharethis
 
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เผยแพร่เอกสารแถลงข่าวระบุว่า วันที่ 28 ก.ย.52 ศาลจังหวัดยะลาได้นัดพร้อมฝ่ายอัยการผู้ร้อง และทนายความฝ่ายผู้คัดค้าน (นางแบเดาะ สะมาแอ มารดานายอัสฮารี สะมาแอ) เพื่อพิจารณาคดีไต่สวนการตาย หรือไต่สวนชันสูตรพลิกศพ ตามมาตรา 150 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา นับเป็นเวลากว่าสองปีที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งให้มีการไต่สวนการตายกรณีนายอัสฮารี สะมาแอ โดยก่อนหน้านี้ทางพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบสำนวนได้ส่งสรุปสำนวนคดีนี้ไปยังพนักงานอัยการจังหวัดยะลาเป็นคดี ช. 0998 แล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2550 แต่อัยการจังหวัดยะลามีคำสั่งไม่ร้องเป็นคดีไต่สวนการตาย โดยให้เหตุผลว่าผู้ตายเสียชีวิตในโรงพยาบาลไม่ใช่การเสียชีวิตในระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่
 
โดยนางแบเดาะ สะมาแอ มารดาของนายอัสฮารี สะมาแอ อายุ 26 ปี ผู้ตาย ได้ร้องขอความเป็นธรรมไปยังอัยการสูงสุดเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2551 โดยระบุว่านายอัสฮารี สะมาแอถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับกุมตัวเมื่อวันที่ 21 กรกฏาคม พ.ศ.2550 ที่เขตอำเภอกรงปีนัง จังหวัดยะลา และในระหว่างที่ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ นายอัสฮารี สะมาแอได้รับบาดเจ็บและถูกส่งตัวไปที่โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธิบริหาร โรงพยาบาลปัตตานี และได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 23 กรกฏาคม พ.ศ.2550 ที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา ต่อมาอัยการสูงสุดมีคำสั่งให้สอบเพิ่มเติมกรณีการเสียชีวิตของนายอัสฮารี สะมาแอ เนื่องจากมีข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่าเป็นการเสียชีวิตระหว่างการจับกุมและควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ ผลการสอบอัยการสูงสุดมีความเห็นว่าให้มีการไต่สวนการตาย ตามมาตรา 150 นับเป็นเวลากว่าสองปีที่การร้องขอความเป็นธรรมตามกฎหมายของมารดาได้รับตอบสนองโดยกลไกของรัฐภายใต้กระบวนการยุติธรรมไทย
 
อย่างไรก็ดีนางแบเดาะ สะมาแอและครอบครัวของนายอัสฮารี สะมาแอ ยังไม่ได้รับการเยียวยาค่าเสียหาย โดยกลุ่มงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ศอ.บต. ได้มีหนังสือลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2551 ถึงนางแบเดาะ สะมาแอ ว่าการเสียชีวิตของนายอัสฮารี สะมาแอ เกิดจากการถูกจับกุมของเจ้าหน้าที่ไม่ได้เกิดจากการกระทำของผู้ก่อความไม่สงบ จึงให้ขอความช่วยเหลือกับสำนักงานยุติธรรมจังหวัดยะลา ต่อมาศูนย์ปฏิบัติการเยียวยาฯจังหวัดยะลาได้มีหนังสือปฏิเสธการร้องขอรับค่าช่วยเหลือเยียวยาฯ ลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2551 ว่าหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะช่วยเหลือเฉพาะบุคคลซึ่งถูกกระทำจากผู้ก่อความไม่สงบ แต่กรณีนายอัสฮารี สะมาแอ ถูกกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือเยียวยาฯ ในการนี้เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 นางแบเดาะ สะมาแอ ได้ยื่นฟ้องคดีแพ่งข้อหาละเมิดต่อศาลแพ่งกรุงเทพในการเรียกร้องค่าเสียหายจากกองทัพบกกระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นคดีดำที่ 4039/2551 ขณะนี้คดีอยู่ในการพิจารณาของศาลแพ่งกรุงเทพ
                                                                                                                      
อีกกรณีหนึ่งคือ 25 กันยายน พ.ศ. 2552 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดยะลามีนัดไต่สวนคำร้องของนางซูมาอีเด๊าะ มะรานอ ภรรยาขอให้ศาลสั่งว่านายมะยาเต็ง มะระนอ สามีเป็นบุคคลสาบสูญตามมาตรา 61 วรรค 2 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยใช้เงื่อนเวลาสองปี เพราะเป็นการหายตัวไปในระหว่างสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิต โดยศาลได้มีหมายเรียกพยานสำคัญสองปากคือ แม่ทัพภาคที่ 4 พลโท พิเชษฐ์ วิสัยจร และ ผศ.ดร. ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มาเป็นพยานฝ่ายผู้ร้อง หากศาลจังหวัดยะลามีคำสั่งว่านายมะยาเต็งเป็นบุคคลสาบสูญแล้ว จะมีผลทำให้ครอบครัวของนายมะยาเต็งได้สิทธิจากเงินเดือนส่วนที่ถูกต้นสังกัดระงับจ่าย และได้บำเน็จและสวัสดิการที่สมควรจะได้รับจากต้นสังกัดของนายมะยาเต็ง อันเป็นการเยียวยาความเสียหายเบื้องต้นให้แก่ครอบครัว สำหรับประเทศไทยนั้นยังไม่มีความผิดฐานบังคับให้บุคคลหายไปทำให้ผู้เสียหายยังไม่สามารถฟ้องร้องทางแพ่งหรืออาญาต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรงอย่างกรณีการบังคับให้หายไปได้
 
นายมะยาเต็ง มะรานอ ลูกจ้างประจำ ตำแหน่งนักการภารโรง โรงเรียนบ้านบางลาง อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษายะลา เขต 2 ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารนำตัวไป สอบถาม ณ ค่ายทหารที่โรงเรียนบันนังสตาอินทรฉันท์ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2550 และบัดนี้ไม่ทราบว่ายังถูกควบคุมตัวหรือไม่อย่างไร กลุ่มอำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษายะลา เขต 2 ได้งดเบิกเงินค่าจ้างประจำของนายมะยาเต็ง มะรานอตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2550 จนถึงถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 2 ปี และสหกรณ์ออมทรัพย์ครูยะลาก็ได้มีมติให้นายมะยาเต็ง พ้นสภาพสมาชิก มีผลให้ครูผู้ค้ำประกันเงินกู้จำนวน 4 คนตกเป็นผู้มีภาระชำระหนี้สิ้นของสหกรณ์ประมาณ 1400 บาทต่อเดือนเป็นเวลาปีเศษแล้ว และอีกทั้งรถกระบะที่หายไปพร้อมกับนายมะยาเต็งบริษัทที่เช่าซื้อรถกระบะก็ได้มาติดตามทวงหนี้กับครอบครัวของนายมะยาเต็ง
 
ทั้งนี้ในประเทศไทยยังมีกฎหมายที่ระบุว่าการบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นความผิดทางอาญาทำให้ผู้เสียหายและครอบครัวไม่สามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้ทั้งทางแพ่งและอาญา นอกจากนี้ครอบครัวของนายมะยาเต็งก็ไม่ได้รับการเยียวยาใดใดจากรัฐตามพรบ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2541 ซึ่งระบุว่าผู้มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนจะต้องปรากฎว่าเป็นผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิตหรือร่างกายหรือจิตใจ เนื่องจากการกระทำความผิดอาญาของผู้อื่น กรณีนี้นายมะยาเต็งหรือทายาทของนายมะยาเต็งไม่ใช่ผู้เสียหายตามพรบ.ฯดังกล่าว เพราะไม่ปรากฏว่านายมะยาเต็งได้เสียชีวิตเนื่องจากการกระทำของผู้อื่น ดังนั้นจึงไม่ได้รับค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา
           
ก่อนมายื่นคำร้องในคดีขอให้ศาลสั่งว่านายมะยาเต็ง มะระนอ สามีเป็นบุคคลสาบสูญนี้ นางซูมาอีเด๊าะ มะรานอ ภรรยาของนายมะยาเต็ง ได้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวนายมะยาเต็ง มะรานอ ผู้ถูกควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 90 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อศาลจังหวัดยะลา ศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2551 เป็นคดีหมายเลขแดงที่คป.1/2551 ยกคำร้องของผู้ร้อง เพราะไม่ปรากฏว่านายมะยาเต็งอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ทหารแต่อย่างใด ผู้ร้องได้อุทธรณ์คำสั่งศาลจังหวัดยะลาต่อศาลอุทธรณ์ และศาลได้กำหนดนัดฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ในวันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม 2552 เวลา 09.00 น. ณ ศาลจังหวัดยะลา
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net