ฮอนดูรัสเข้ม ให้อำนาจทหาร ตำรวจ จับ “สื่อ” หรือ “ประชาชน” ที่ “ดูเป็นภัย”

งานศพของเวนดี้ อลิซาเบธ อวิลา อายุ 24 ที่เสียชีวิตจากอาการหอบหืด หลังจากเข้าร่วมประท้วงในวันที่ 27 ก.ย. โดยผู้จัดชุมนุมคาดว่าเป็นผลมาจากแก๊สน้ำตา (Getty Images / Daylife)



ทหารพากันลบกราฟฟิตี้บนกำแพงรอบสถานฑูตบราซิล ในวันที่ 27 ก.ย. (Getty Images / Daylife)

รัฐบาลชั่วคราวฮอนดูรัสขีดเส้นตาย 10 วัน ให้บราซิลจัดการบางอย่างกับเซลายา

ในคืนวันที่ 26 ก.ย. รัฐบาลชั่วคราวของฮอนดูรัสกำหนดเส้นตาย 10 วันแก่สถานฑูตบราซิลจัดการบางอย่างกับการให้ที่พักพิงเซลายา ซึ่งทางรัฐบาลชั่วคราวของฮอนดูรัสกล่าวหาว่าสถานฑูตบราซิลในฮอนดูรัสกลายเป็นสถานที่สำหรับการยั่วยุให้เกิดความรุนแรงต่อประชาชนและการก่อกบฏต่อรัฐบาล หากบราซิลไม่แสดงจุดยืนใดๆ ในเรื่องนี้ ทางรัฐบาลจำต้องใช้มาตรการบางอย่างกับบราซิล โดยไม่ได้ชี้ชัดว่ามาตรการดังกล่าวคืออะไร

กระทั่งในวันที่ 27 ก.ย. ทางรัฐบาลบราซิลก็ออกมาปฏิเสธเส้นตายที่ทางรัฐบาลชั่วคราวของฮอนดูรัสวางไว้ ขณะที่ทางรัฐบาลชั่วคราวของฮอนดูรัสก็ประกาศไม่ยอมรับสถานฑูตบราซิลในฮอนดูรัสว่าเป็นพื้นที่ของบราซิล และบอกว่ามันเป็นเพียง "สำนักงานส่วนบุคคล"

รัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลชั่วคราวกล่าวว่า ทางบราซิลเป็นผู้ที่ทำลายสัมพันธภาพกับรัฐบาลปัจจุบันของฮอนดูรัส เราจึงทำสิ่งเดียวกับที่พวกเขาทำ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลชั่วคราวของมิเชลเลตตีจะกระทำการไร้มารยาทและไร้อารยธรรมอย่างการบุกรุกเข้าไปในสถานฑูต

บราซิลเมินเส้นตาย บอกไม่ยอมรับรัฐบาลจากการก่อรัฐประหาร

ในการประชุมร่วมกันระหว่างผู้นำอเมริกาใต้กับผู้นำแอฟริกาที่เวเนซุเอลา ประธานาธิบดีของบราซิลกล่าวว่าเขาไม่ยอมรับเส้นตายจากรัฐบาลที่มาจากการก่อรัฐประหาร เขายังได้บอกอีกว่าทางรัฐบาลบราซิลไม่มีอะไรต้องเจรจากับรัฐบาลมิเชลเลตตี และบอกว่าเซลายาเป็น "แขก" ของสถานฑูตบราซิลในฮอนดูรัส

ทางสำนักข่าว เอเจนเซีย บราซิล รายงานว่า ในช่วงเช้าของวันที่ 27 ก.ย. รัฐมนตรีต่างประเทศบราซิล กล่าวว่าเขาจะไม่ปฏิบัติตามคำขอของรัฐบาลฮอนดูรัสในเรื่องเซลายา เนื่องจากเขาไม่ยอมรับรัฐบาลของมิเชลเลตตี

โดยประธานาธิบดัของบราซิลยังได้เตือนว่าหากรัฐบาลชั่วคราวตัดสินใจบุกเข้าไปในสถานฑูตฯ จะเป็นการผิดกฏของนานาชาติ รวมถึงได้เรียกร้องให้รัฐบาลฮอนดูรัสขอโทษและคืนเซลายาสู่ตำแหน่งด้วย

เซลายาขอมีการชุมนุมครบรอบสามเดือนรัฐประหาร บอกเป็น "การบุกครั้งสุดท้าย"

ขณะที่ทางด้านมานูเอล เซลายา บอกผ่านโทรศัพท์จากสถานฑูตฯ ว่า เขาและผู้สนับสนุนเขา 50 ราย อาศัยเสบียงอาหารจากกลุ่มจับตาด้านสิทธิมนุษยชน เขาบอกอีกว่าทางรัฐบาลชั่วคราวของฮอนดูรัสพยายามใช้ก๊าซพิษ คลื่นเสียง และรังสีแม่เหล็กไฟฟ้าในการขับเขาออกจากสถานฑูตฯ

"พวกเรามีอาการปวดหัวจากคลื่นรังสี มันทำให้เราอยากอาเจียน" เขากล่าวด้วยเสียงแหบแห้ง

เซลายาบอกอีกว่าเขาอยากเจรจากับมิเชลเลตตีที่สถานฑูตบราซิล โดยแม้ว่าก่อนหน้านี้ผู้ลงสมัครเลือกตั้งในการเลือกตั้ง 29 พ.ย. คนหนึ่ง จะไปพบทั้งเซลายาและมิเชลเลตตีเพื่อให้มีการเจรจากันทั้งสองฝ่าย แต่แม้ว่าเซลายาจะบอกยอมรับให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 29 พ.ย. ตามเงื่อนไขของมิเชลเลตตีแล้ว แต่ก็ยังไม่มีการเจรจาของทั้งสองคนเกิดขึ้นอยู่ดี

เซลายายังได้ขอให้ผู้ชุมนุมออกมาชุมนุมใหญ่วันที่ 28 ก.ย. ในฐานะครบรอบรัฐประหาร 3 เดือน และเรียกการชุมนุมดังกล่าวว่าเป็น "การบุกครั้งสุดท้าย"

ความมั่นคงในฮอนดูรัสอัดเข้ม ให้อำนาจทหาร ตำรวจ จับสื่อหรือประชาชน ที่ "ดูเป็นภัย"

เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่เซลายาประกาศชุมนุมใหญ่รัฐบาลชั่วคราวของฮอนดูรัสก็ประกาศห้ามมีการชุมนุมเป็นเวลา 45 วัน และมีการปิดกั้นสิทธิพลเมืองในด้านอื่นๆ เพื่อเป็นการตอบโต้การเรียกชุมนุมของเซลายา

โดย ซีซาร์ คาเซเรส โฆษกรัฐบาลกล่าวว่า จะมีการปิดสื่อใดๆ ก็ตามที่มีการ "ยั่วยุ" ให้เกิดความรุนแรง มีการอนุญาตให้ตำรวจและทหารจับกุมตัวผู้ที่ดูเป็นภัยต่อความมั่นคงโดยไม่จำเป็นต้องมีหมายจับ รวมทั้งยังห้ามประชาชนรวมตัวกันโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งในรัฐธรรมนูญของฮอนดูรัสมีข้อห้ามจับกุมใครก็ตามโดยไม่มีหมายจับ เว้นแต่ในทันทีที่พบเห็นขณะที่พวกเขากำลังกระทำผิด

ในคืนวันที่ 27 ก.ย. รัฐบาลมิเชลเลตตีสั่งการให้สื่อหยุดตีพิมพ์หรือออกอากาศ "ภาพใดๆ ก็ตามที่เป็นการคุกคามสันติภาพและความสงบเรียบร้อย หรือที่เป็นการดูหมิ่นศักด์ศรีของเจ้าหน้าที่รัฐ"

คำสั่งจากคณะกรรมการโทรคมนาคมของฮอนดูรัสที่เรียกว่า โคนาเทล (Conatel) มีการให้อำนาจตำรวจและทหารปิดสถานีวิทยุหรือโทรทัศน์ใด ๆ ก็ตามที่ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับดังกล่าว

อัยการของสถานีโทรทัศน์ช่อง 36 ได้เคยออกมากล่าวก่อนหน้านี้ว่าสถานีโทรทัศน์ของฮอนดูรัสถูกสั่งปิดโดยรัฐบาล ทางสถานีได้ทำการแพร่ภาพแถบสีเป็นการชั่วคราวและมีข้อความภาษาสเปนว่า "นี่เป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการ - รัฐบาลรัฐประหารของมิเชลเลตตี"

หนึ่งผู้ชุมนุมเสียชีวิตจากอาการหอบ คาดมาจากแก๊สน้ำตา

ในวันที่ 27 ก.ย. มีผู้สนับสนุนเซลายาคนหนึ่งเสียชีวิต คือ เวนดี้ อวิลา หลังจากที่ถูกนำส่งโรงพยาบาลจากอาการหอบหืด ซึ่งผู้จัดการชุมนุมคาดว่าน่าจะเป็นผลมาจากแก๊สน้ำตาในการประท้วง โดยผู้จัดการชุมนุมคนดังกล่าวระบุว่าจะฟ้องร้องตำรวจในกรณีนี้ด้วย ขณะที่ทางโฆษกตำรวจ ออร์ลิน เซอร์ราโต บอกว่าจะมีการสืบสวนการเสียชีวิตในครั้งนี้

วันถัดมา (28 ก.ย.) ผู้สนับสนุนเซลายาก็รวมตัวกันจัดงานศพให้กับ เวนดี้ อวิลา ที่สำนักงานสหภาพแรงงานแห่งหนึ่งซึ่งใช้เป็นฐานปฏิบัติการจัดการประท้วง

รัฐบาลชั่วคราวฮอนดูรัสกันตัวแทนเจรจาจาก OAS ไม่ให้เข้าประเทศ

ทางรัฐบาลชั่วคราวของมิเชลเลตตียังได้ปฏิเสธที่จะยอมรับตัวแทนจากองค์การรัฐอเมริกัน (OAS) ห้ารายจากหกราย โดยไม่มีเหตุผลชัดเจน หลังจากที่พวกเขามาถึงที่สนามบินในกรุงเตกูซิกัลปา เมืองหลวงของฮอนดูรัสเพื่อจัดการเจรจาหาทางออกกับวิกฤติทางการเมืองครั้งนี้ โดยมีเพียง จอห์น บีลฮ์ ที่ปรึกษาพิเศษของ OAS เท่านั้นที่ได้รับอนุญาต

ที่มา แปลและเรียบเรียงจาก

Honduras Expels Brazilian Diplomats, New York Times, 27-09-2009
Honduras Suspends Civil Rights, Bans Protests as Talks Stall, Andres R. Martinez and Blake Schmidt, BloomBerg, 28-09-2009

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท