Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

แม้เด็กชายหม่อง ทองดี จะสามารถเดินทางไปแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับที่ประเทศญี่ปุ่นได้ด้วยความช่วยเหลือของหลายฝ่าย และยังได้ชัยชนะในการแข่งขันบางประเภทเมื่อกลับมาสู่เมืองไทยมีปัญหาที่เด็กชายคนนี้ต้องเผชิญรออยู่เช่นเดียวกับเพื่อนร่วมชะตากรรมอีกเป็นจำนวนมาก

การไร้สัญชาติเป็นปัญหาสำคัญประการหนึ่งที่เกิดขึ้นโลกปัจจุบัน อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานที่อยู่ของผู้คนไม่ว่าจะเป็นไปด้วยความเต็มใจหรือไม่ และเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางทั่วโลก

จำนวนไม่น้อยเคลื่อนย้ายถิ่นที่อยู่ด้วยความหวังว่าจะไปมีชีวิตที่ดีกว่าในประเทศอื่นเนื่องจากในบ้านเกิดของตนมีความยุ่งยากทางด้านเศรษฐกิจ หรือไม่สามารถทำมาหากินเพื่อเลี้ยงปากท้องของตนและครอบครัวได้ จำนวนไม่น้อยก็เป็นการอพยพเพื่อหลบหนีภัยความตายจากการต่อสู้หรือสงครามภายในประเทศ

แม้อาจไม่รู้อนาคตว่าจะเป็นอย่างไร แต่อย่างน้อยก็ยังมีความหวังมากกว่าการทนทุกข์อยู่ในบ้านเกิดเมืองนอน

เด็กชายหม่องเป็นส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงนี้ และเป็นปัญหาสำคัญไม่น้อยที่กำลังฝังตัวอยู่ในสังคมหลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการอพยพย้ายถิ่นฐานดำเนินไปในรูปแบบที่เป็นการอพยพแบบไม่อาจหวนกลับสู่บ้านเกิด เมื่อเวลาเนิ่นนานไปบรรดาลูกหลานของผู้อพยพในลักษณะเช่นนี้จะถือกำเนิดขึ้นมาในอีกประเทศหนึ่ง เติบโต ดำรงชีวิต คุ้นเคยและรู้จักแต่เฉพาะดินแดนใหม่เท่านั้น ไม่รู้จักถิ่นฐานบ้านเกิดของพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดตน

ความยากลำบากที่แต่ละรัฐต้องขบคิดก็คือ เป็นไปได้ยากหรือแทบเป็นไม่ได้เลยในการผลักดันคนกลุ่มนี้ให้ออกไปจากดินแดนของตน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลของการเข้าเมืองผิดกฎหมาย หรือการไม่มีสัญชาติไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายก็ตาม ลองจินตนาการถึงเด็กชายหม่อง ผู้ซึ่งพูดภาษาไทยได้คล่องแคล่ว เรียนในโรงเรียนไทย ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมไทยนี่คือโลกแห่งเดียวที่หล่อเลี้ยงเขาขึ้น

แล้วจะไล่ให้กลับไปอยู่ประเทศพม่าที่เขาไม่รู้จักแม้แต่น้อยเลยกระนั้นหรือ

รัฐเป็นจำนวนมากก็เผชิญกับปัญหาในลักษณะที่กล่าวมา และก็ตระหนักถึงข้อเท็จจริงว่าไม่อาจขับไล่ไสส่งมนุษย์เหล่านี้ออกไปจากดินแดนของตนเหมือนหมูเหมือนหมา เพราะอย่างไรก็ไม่มีที่ไปให้คนกลุ่มนี้มากนัก

หลายประเทศโดยเฉพาะในยุโรปจึงหันมาจัดการกับความยุ่งยากนี้ ด้วยการยอมรับให้บุคคลที่เป็นผู้อพยพหรือลูกหลานของผู้อพยพสามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายและไม่ต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ ซึ่งนำไปสู่การสร้างอาชญากรรมแบบใต้ดินให้เกิดขึ้นติดตามมา

ทั้งนี้ ด้วยการยอมรับการให้สัญชาติด้วยหลักการใหม่ จากแต่เดิมที่การให้สัญชาติของรัฐแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งจะยึดอยู่กับหลักดินแดนและหลักสืบสายโลหิตเป็นสำคัญ โดยหลักดินแดนจะให้สัญชาติกับบุคคลที่ถือกำเนิดขึ้นภายในรัฐแห่งใดแห่งหนึ่ง และบุคคลผู้เป็นบิดามารดาอาศัยอยู่อย่างถูกกฎหมาย

ส่วนหลักสืบสายโลหิตจะเป็นการให้สัญชาติกับบุคคลตามสัญชาติของผู้ที่เป็นบิดามารดา เช่น หากบิดาหรือมารดาเป็นสัญชาติไทย เด็กที่เกิดขึ้นมาจากบิดาหรือมารดาที่ถือสัญชาติไทยก็จะได้รับสัญชาติไทยตามหลักสืบสายโลหิต

ซึ่งหากพิจารณาตามหลักการได้สัญชาติทั้งหลักดินแดนและหลักสืบสายโลหิตจะพบว่าบุคคลผู้อพยพผู้เข้าสู่ดินแดนของรัฐอื่นอย่างผิดกฎหมายหรือการหลบหนีภัยสงครามจะไม่สามารถกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้นได้ แม้ในความเป็นจริงจะมีชีวิตแทบทั้งหมดอยู่ภายในสังคมแห่งนั้น

รวมทั้งลูกหลานของผู้อพยพก็ตกอยู่ในสถานะที่ไม่แตกต่างกัน

มีการพัฒนาหลักการให้สัญชาติในแนวทางใหม่ ด้วยการให้แก่บุคคลที่ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมนั้นๆ มาเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่งที่ได้ยาวนานพอจะแสดงให้เห็นว่าสังคมแห่งนี้เป็นถิ่นฐานของเขาในการดำรงชีวิต และได้แสดงให้เห็นถึงการปรับตัวให้เข้ากับสังคมผ่านกระบวนการบางอย่าง เช่น ในบางประเทศกำหนดให้ต้องเรียนในโรงเรียนเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่ง หรือสามารถใช้ภาษาของประเทศนั้นได้

หลักการนี้ถูกเรียกว่าการให้สัญชาติโดยหลักพำนักอาศัย (jus domicile) อันเป็นหลักการที่ช่วยทำให้สามารถรับเอาบุคคลจำนวนมากซึ่งเป็นผู้อพยพแบบไม่หวนกลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้นได้มากกว่าการปล่อยให้เขาต้องเคว้งคว้างไป จะทำงานแบบสุจริตก็ทำไม่ได้ จะเดินทางไปไหนมาไหนก็ไม่ได้ ระบบสวัสดิการทางสังคมก็ไม่มีรองรับ

สุดท้ายก็จบลงด้วยการประกอบอาชญากรรมในลักษณะต่างๆ ค้ายาเสพติด อาวุธสงครามเถื่อน

แน่นอนว่าการให้สัญชาติแก่บุคคลในลักษณะเช่นนี้ย่อมมีความแตกต่างจากการได้สัญชาติโดยหลักสืบสายโลหิตและโดยหลักดินแดน เนื่องจากอาจถูกพิจารณาได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับผู้ที่ได้สัญชาติอยู่ในลักษณะที่เบาบาง จึงอาจทำให้มีข้อสงสัยถึงความปลอดภัยหรือความมั่นคงต่อรัฐที่ให้สัญชาติได้

ซึ่งการให้สัญชาติด้วยหลักพำนักอาศัยก็ได้คำนึงถึงด้วยเช่นกัน การให้สิทธิกับบุคคลที่ถือสัญชาติในลักษณะนี้จะไม่ได้อยู่ในลักษณะเดียวกันกับบุคคลอื่นที่ถือสัญชาติ แต่มีข้อจำกัดบางประการเอาไว้โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิทางการเมือง เช่น สิทธิในการลงคะแนนเลือกผู้แทนหรือการลงรับสมัครเป็นผู้แทนในการเมืองระดับชาติ

แต่โดยที่ยังคงรับรองสิทธิในด้านอื่นๆ เอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองจากรัฐในชีวิตและร่างกาย สิทธิในสวัสดิการที่รัฐจัดไว้ให้กับประชาชนกลุ่มต่างๆ สิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองแห่งรัฐ

การให้สัญชาติด้วยหลักพำนักอาศัยจึงเป็นการยอมรับถึงความเป็นจริง ว่ามีกลุ่มคนซึ่งอพยพมาอยู่ในดินแดนของรัฐแม้ว่าจะเป็นการเดินทางเข้ามาแบบไม่ถูกต้องตามกฎหมายแต่ก็ยากจะผลักดันให้พ้นไปจากสังคมของตน ยกเว้นจะปิดหูปิดตาไม่สนใจต่อความโหดร้ายว่าเมื่อไล่ไปแล้วเขาอาจตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ

ในขณะเดียวกันก็ตระหนักว่าอาจต้องจำกัดสิทธิบางประการทางด้านการเมืองกับคนกลุ่มนี้ จนกว่าจะเกิดความมั่นใจหรือมีช่วงระยะเวลาที่แสดงให้เห็นได้มากขึ้นถึงความมั่นคงในการดำรงอยู่ในสังคมนั้น

ระบบกฎหมายของไทยในเรื่องการให้สัญชาติยังคงยึดหลักการให้สัญชาติด้วยหลักดินแดนและหลักสืบสายโลหิตเป็นสำคัญ ทำให้คนอีกจำนวนมากที่อยู่ในฐานะเฉกเช่นเด็กชายหม่องจึงยังต้องตกอยู่ในสถานะที่ยากลำบากอีกต่อไป

ในฐานะที่ตกเป็นเป้าสายตาของสังคม ในอนาคตเขาอาจได้รับการแปลงสัญชาติให้เป็นคนไทยได้

อย่างไรก็ตาม จะยังคงมีเด็กชายหม่องอีกนับหมื่นนับแสนอยู่ในสังคมไทย คนเหล่านี้อาจไม่มีโอกาสได้แสดงความสามารถในด้านต่างๆ ไม่เป็นที่รู้จัก ไม่ได้เจอนายกรัฐมนตรี ต้องตกอยู่ในสถานะของการไร้สัญชาติและเผชิญกับความยากลำบากในชีวิตอีกต่อไป

ตราบเท่าที่ระบบกฎหมายไทยยังไม่ยอมรับการให้สัญชาติในรูปแบบใหม่ๆ ที่เปิดกว้างเพิ่มมากขึ้น
 

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 28 กันยายน 2552 หน้า 6

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net