สัมภาษณ์ ‘สุรชาติ บำรุงสุข’ : ดูก่อน ผู้กระหายสงคราม ปราสาทพระวิหารไม่ใช่ของเรา! (แต่เป็นของ ‘เรา’ ทั้งคู่)

 

 
กรณีปราสาทพระวิหารยังคงร้อนแรง แม้ ‘กษิต ภิรมย์’ จะได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและปรับท่าทีเสียใหม่หมดจดแล้วก็ตาม กระทั่งเร็วๆ นี้มีรูปธรรมดุเดือดของการปะทะ (กันเอง) ที่ชายแดน ตามด้วยเสียงคำรามคืนกลับมาของเพื่อนบ้าน บรรยากาศราวกับประวัติศาสตร์สงครามโบราณในแบบเรียน
 
ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงที่ไม่ใช่โหรแต่ฟันธงชัดเจนว่า เรื่องประสาทเขาพระวิหารนั้นจบไปนานแล้ว! วันนี้เป็นเพียงอารมณ์ตกค้างของ “ลูกหลานอำมาตย์ชาตินิยม 2484” ทางออกมีง่ายๆ เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมแห่งภูมิภาค
 
ด้วยความสับสนทางด้านกาลเวลาและประวัติศาสตร์ดังกล่าว รายการ ‘บ้านเมืองไม่ใช่ของเรา’ (ชู-พิชญ์ คิดตามวัน) ไขข้อข้องใจเรื่องนี้กับ ‘รศ.ดร.สุรชาติ บำรงสุข’ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ซึ่งทำงานวิจัยเกี่ยวกับความมั่นคงชายแดนตรงพื้นที่พระวิหารในช่วงสองสามปีนี้มาพอดิบพอดี
 
 
0 0 0
 
ถาม – อาจารย์สุรชาติศึกษาเรื่องความมั่นคงชายแดนมามาก และล่าสุดดูเหมือนจะได้รางวัลจาก สกว. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย) รางวัลโครงการวิจัยดีเด่นด้วย
สุรชาติ เราได้รับในระยะที่สามของโครงการที่ทำเรื่องความมั่นคงชายแดน หรือ border security บังเอิญว่า ตอนคิด เขายังไม่มีปัญหาเรื่องเขาพระวิหาร พอเราทำวิจัยเสร็จ ปัญหายังไม่แรง เราเปิดเวทีครั้งแต่มีนาคม 2551 คนฟังก็ไม่ค่อยตื่นเต้น แต่หลังจากนั้นปัญหานี้ก็ขยายวง ทำให้งานวิจัยมันดูเด่นขึ้น
 
เวลาเราพูดเรื่องชายแดนในสังคมไทย เราพูดกันบ่อยเกี่ยวกับความต้องการความมั่นคงในพื้นที่ชายแดน แล้วเราก็สรุปมาเป็นเชิงแนวคิดเรื่อง border security แต่ถ้าเราสังเกตจะเห็นว่า ในหลายๆ ปีที่ผ่านมาเราไม่มีงานวิจัยเรื่องปัญหาเส้นเขตแดน หรือปัญหาตามแนวชายแดนเกิดขึ้นเลย พูดง่ายๆ ว่าผมเอาวิชาเก่าในสายรัฐศาสตร์ที่หายไปนาน คือ ภูมิรัฐศาสตร์ เอามาปัดฝุ่นใหม่
 
หนึ่งในสิ่งที่ทำคือ ปัญหาเรื่องเส้นเขตแดน หลายปีที่ผ่านมา เราไม่มีตำราที่บอกเราเลยว่า เส้นเขตแดนของไทยหน้าตาเป็นอย่างไร
 
ข้อค้นพบสำคัญคืออะไร
สุรชาติ ข้อค้นพบใหญ่ที่สุดคือ วันนี้พื้นที่ชายแดนมันมีพลวัตรและความเปลี่ยนแปลง งานชิ้นหนึ่งเราพูดถึงถนนที่ตัดขวางภูมิภาค คือเส้นทางหมายเลข 9 สำหรับผมเรียกว่า Regional Globalization หรือโลกาภิวัตน์ระดับภูมิภาค เพราะมันตัดขวางไทย ลาว และเวียดนาม แล้วเชื่อมต่อเข้าด้วยกัน วันนี้ในโลกที่เปลี่ยนแปลง ถนนหรือเส้นทางในภูมิภาคก็เป็นตัวแบบของการเปลี่ยนแปลง อาชญากรรมก็ข้ามเส้นพรมแดนรัฐเหมือนกับการอพยพย้ายถิ่นของคน
 
อีกอันเราทำเรื่องการควบคุมชายแดน หรือ border control ชายแดนไม่ใช่พื้นที่ทางภูมิศาสตร์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงสนามบินระหว่างประเทศในประเทศไทย สุวรรณภูมิ รวมถึงท่าเรือ ล้วนแต่เป็นอะไรที่ต้องคิดใหม่
 
แต่ขณะเดียวกันกับที่เราเริ่มคิดใหม่ ปัญหาเก่าก็ไม่ได้หายไปไหน คือความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาที่ว่าด้วยเส้นเขตแดนเดิม เป็นอะไรที่เป็นชุดเก่าที่สุด พูดง่ายๆ คือ เรื่องของชายแดนมีทั้งโลกที่เปลี่ยนแปลงใหม่และโลกเก่าที่ดำรงอยู่
 
พื้นที่ทับซ้อนนี้เป็นพื้นที่ทับซ้อนทางกาลเวลาด้วย
สุรชาติ ถูกต้องเลย เป็นพื้นที่ทับซ้อนทั้งทางประวัติศาสตร์ การเมือง แล้วมีมิติเวลาไปซ้อนให้เป็นปัญหาของโลกปัจจุบัน พูดง่ายๆ เส้นเขตแดนหรือภูมิศาสตร์นั้นเป็นอะไรที่ถูกกำหนดโดยสถานการณ์ หรือถูกมองผ่านวิชั่นของคนแต่ละคนที่เห็นในแต่ละช่วงเวลา
 
อย่างนั้นก็เท่ากับว่าคนที่ขึ้นไปอ่านแถลงการณ์ที่ผามออีแดงก็เป็นความพยายามดำรงอยู่ในโลกเก่า
สุรชาติ ผมคิดว่าปัญหาความขัดแย้งชายแดน ต้องยอมรับว่า รากของปัญหานั้นเป็นวิธีคิดของศตวรรษที่ 19 เพราะมันมากับยุคอาณานิคม เป็นประวัติศาสตร์ของการสร้างชาติในยุคอาณานิคมซึ่งต้องการการขับเคลื่อนด้วยลัทธิชาตินิยม ในลัทธิชาตินิยมจะมีวลีหนึ่ง “เราเสียดินแดนไม่ได้แม้แต่ตารางนิ้วเดียว” นี่เป็นวาทกรรมที่ชัดเจนที่สุด มันผูกโยงเส้นเขตแดนของรัฐเข้ากับศูนย์กลางของอารมณ์คน คู่ขนานกับศูนย์กลางของอำนาจรัฐ เมื่อเป็นอย่างนี้เราก็ลืมไปว่า อารมณ์ที่ผูกอยู่กับเส้นเขตแดนนั้นเป็นของเวลาเก่า ของประวัติศาสตร์เก่าซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ที่จบแล้ว
 
เส้นเขตแดนไทยนับจากจังหวัดเชียงรายไปจนถึงจังหวัดตราด ในปี 1904 และ 1907 ที่มีการทำอนุสัญญาทั้งสองฉบับนั้นมีการปักปันเขตแดนซึ่งดำเนินการโดยคณะกรรมการผสม ต้องย้ำว่าคณะกรรมการผสม เพราะการปักปันไม่ได้เกิดอย่างที่คนบางกลุ่มพยายามบอกว่า เกิดจากเจ้ามหาอำนาจอาณานิคมแต่เพียงฝ่ายเดียว รัฐบาลไทยในยุคนั้นไม่ได้ล้าหลังหรือไม่รู้จนปฏิเสธเรื่องการปักปันเขตแดน ในหลวงรัชกาลที่ 5 ได้จ้างนายทหารอังกฤษมาสอนวิชา survey ในประเทศไทย หรือพูดง่ายๆ คือ วิชาแผนที่ นั่นคือจุดที่เรามีคณะกรรมการผสม
 
แผนที่เหนือสุดที่เชียงรายถึงจังหวัดตราด เราถูกตัดออกเป็นแผนที่ 11 ส่วนหรือ 11 ระวาง ใน 11 ส่วนเป็นแผนที่ที่ถูกกำหนดจากอนุสัญญา 1904 และ 1907 ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ได้รับการให้สัตยาบันแล้ว หรือถ้าใช้ในภาษาที่เป็นรายละเอียดคือ เส้นเขตแดนไทยจากเชียงรายถึงตราด ในกรณีความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับฝรั่งเศส เป็นเส้นเขตแดนที่ให้สัตยาบันแล้ว ระหว่างกษัตริย์สยามกับประธานาธิบดีของฝรั่งเศส
 
พูดง่ายๆ คือ โดยมิติของเวลาปัญหาตรงนี้ถือว่าได้จบลงแล้ว
 
ฉะนั้น พอมันเกิดปัญหาในโลกสมัยใหม่ มันกลายเป็นปัญหาคนละบริบทของเวลา หลังเหตุการณ์ที่ฝรั่งเศสเริ่มมีความเพลี้ยงพล้ำแต่จริงๆ แล้วมันก่อน ผมคิดว่าต้นรากของการเรียกร้องปราสาทเขาพระวิหารคืนผมเรียกคนพวกนี้ว่า ลูกหลานของลัทธิอำมาตย์ชาตินิยม 2484
 
หลัง 2475 เวลาเราเรียนการเมืองไทย เราลืมไปนิดหนึ่งว่า มันมีกระแสขวาอีกชุดหนึ่งที่เกิดขึ้นหลัง 2475 คือกระแสเรียกร้องดินแดน ตัวอย่างที่นำโดยหลวงวิจิตรวาทการ หรือพันเอกประยูร ภมรมนตรี หรือกลุ่มทหารบางส่วนในกองทัพ แต่ชุดนี้อาจจะสอดรับกับโลกาภิวัตน์ในภาวะนั้น เพราะหลายๆ ที่ก็มีการเรียกร้องดินแดนกัน กระแสชุดนี้วันหนึ่งรัฐบาลจอมพล ป.ทานไม่อยู่ แล้วก็เข้าร่วม แล้วมันก็เกิดความตึงเครียดตามแนวชายแดนไทยด้านตะวันออกระหว่างไทยกับอินโดจีนของฝรั่งเศส
 
สุดท้ายมันเริ่มที่เครื่องบินฝรั่งเศสบินเข้ามาทิ้งระเบิดที่นครพนม แล้วหลังจากนั้นกองทัพของสยามก็รุกเข้าไปยึดพื้นที่ในอินโดจีนของฝรั่งเศส โดยมีญี่ปุ่นเข้ามาเป็นผู้ไกล่เกลี่ย ซึ่งก็ตอบง่ายว่า ยังไงญี่ปุ่นก็ต้องไกล่เกลี่ยแบบเอาใจสยาม อย่าลืมว่า ตอนนั้นรัฐบาลฝรั่งเศสที่ปารีสแตกแล้ว เรากำลังพูดถึงเหตุการณ์ในช่วงปลายปี 2483 จากนั้นต้นปี 2484 ยุติศึก พอยุติศึกญี่ปุ่นก็ขีดเส้นบอกว่าจะมีการไกล่เกลี่ยแล้วได้ดินแดนคืน เราก็ได้ 3 ส่วนคือ พื้นที่ฝั่งขวาแม่น้ำโขงบริเวณหลวงพระบาง ได้จำปาศักดิ์ และมณฑลบูรพาคืน
 
ฉะนั้น เราได้ของใหญ่ 2 ชิ้นโดยเราไม่รู้สึกมากับพื้นที่ 2 ส่วน เราได้ปราสาทเขาพระวิหาร กับปราสาทวัดพู เราเอามาตอนปี 2484 จากนั้น 2486 เราเอากลันตัน ตรังกานู ไทรบุรีและปะริดมา แล้วเอาเชียงตุง ในรัฐฉานมา เส้นเขตแดนสยามจะเปลี่ยนหมด พอปี 2488 สงครามสงบ ปี 2489 ก็คืนหมดเลย ดังนั้นเส้นเขตแดนสยามหลังปี 2489 ก็เท่ากับถอยกลับมาสู่สถานะเดิมของเส้นเขตแดนสยามที่รัชกาลที่ 5 ทำสนธิสัญญาไว้นั้นเอง
 
และตอนเราคืนฝั่งขวาแม่น้ำโขงให้ลาว เราคืนวัดพู แต่สงสัยว่าตอนขึ้นมณฑลบูรพา คือ พระตะบอง เสียมราช ศรีโสภณ ลืมคืนพระวิหารในทัศนะของผู้นำทหารไทย พอลืมคืนพระวิหาร เราก็เลยไปมีความเชื่อว่า ปราสาทพระวิหารเป็นของเราอยู่ ทั้งที่แผนที่ปักปัน ตัวปราสาทพระวิหารมันอยู่ในพื้นที่ฝั่งเขา พูดอย่างนี้ไม่ได้ขายชาติและไม่รักชาติ พูดอย่างนี้เพราะต้องยุติปัญหาตรงนี้ และต้องเชื่อว่าในหลวงรัชกาลที่ 5 ท่านยุติแล้ว
 
ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝรั่งเศสเริ่มอ่อนแอ เราก็ขยายอำนาจเข้าไปในส่วนที่เป็นพื้นที่ของปราสาทพระวิหาร ทีนี้พอฝรั่งเศสพ่ายแพ้ในสงครามอินโดจีน หลังจากนั้น หลังจากการประชุมที่เจนีวา เราเห็นประเทศเกิดใหม่ 4 ประเทศ คือ เวียดนามเหนือ เวียดนามใต้ ลาว และกัมพูชา กรณีของกัมพูชา รัฐบาลกัมพูชาขอปราสาทพระวิหารคืน ก็เริ่มเป็นปัญหาระหองระแหงกัน ค่อยๆ ขยายวงจากประมาณปี 2501, 2502 แล้วก็ไปจบที่ 16 มิ.ย.2505 คือคำตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลก ที่ตัดสินว่า ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในอาณาเขตภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา ผมย้ำนะครับ คำแปล ‘ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในอาณาเขตภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา’ คำตัดสินนี้ชัดว่ากรรมสิทธิ์ของตัวปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา รวมถึงถ้าเราเปิดใจกว้างนิดหนึ่ง ต้องถามว่ามันมีพื้นที่ติดตัวปราสาทไหม หรือมีแต่ตัวปราสาทเฉยๆ อย่างที่ชอบตีความกันแถวสะพานมัฆวาน
 
รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ในปี 2505 ได้ลากเส้นกำกับตัวปราสาทพระวิหาร หรือที่เราเรียกกันในแผนที่ว่า เส้นเขตแดนตามมติ ครม.ปี 05 นั่นหมายความว่า ตัวปราสาทพระวิหารเองก็มีพื้นที่กำกับอยู่ ไม่ใช่ว่ากัมพูชาเป็นเจ้าของแต่ตัวปราสาทเท่านั้น รวมถึงสิ่งที่พูดกันมาก เรื่องการสงวนสิทธิ์ของรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ โดยเฉพาะในคำแถลงของจอมพลสฤษดิ์ รวมถึงคำแถลงของ รมว.ต่างประเทศไทยในขณะนั้น คุณถนัด คอมันตร์ ที่บอกว่า ขอสงวนสิทธิ์ว่า ถ้าได้หลักฐานใหม่ ขอนำขึ้นสู่การพิจารณาของศาลใหม่ แต่การสงวนสิทธิ์ก็มีอายุความ 10 ปี ที่สำคัญมากกว่าการสงวนสิทธิ์คือ รัฐบาลไทยไม่เคยมีท่าทีแย้งหรือใช้สิทธิการสงวนนี้ จึงมีนัยยะเท่ากับว่าการสงวนสิทธินี้สิ้นสุดแล้วตั้งแต่ปี 2515
 
นั่นหมายความว่า 1.เส้นเขตแดนไทยกับกัมพูชา ถ้ามองในประวัติศาสตร์ คือปัญหาที่ยุติแล้วระหว่างราชอาณาจักรสยามกับอินโดจีนของฝรั่งเศส ด้วยอนุสัญญา 1904 และ 1907 ซึ่งมีแผนที่ปักปันประกอบ 2.ยุติแล้วด้วยเงื่อนไขคำตัดสินของศาลระหว่างประเทศ 3.ยุติด้วยการลากเส้นเขตแดนตามมติ ครม.ปี 05 และ 4.คำแย้งข้อสงวนสิทธิ ซึ่งปัจจุบันไม่น่าจะมีผล 
 
ถ้าเราทำใจอย่างนี้ได้ ปัญหาตัวปราสาทพระวิหารไม่ใช่ปัญหาใหญ่ ปัญหาใหญ่อยู่ที่ ‘ใจ’ ถ้าเราทำใจไม่ได้ ปัญหาก็จะกลายเป็นว่า ถึงตัดสินอย่างไรก็ไม่อยากฟัง
 
อันนี้รวมถึงพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตรด้วยหรือเปล่า
สุรชาติ พื้นที่ 4.6 ศาลระหว่างประเทศไม่ชี้ เพราะศาลระหว่างประเทศเมื่อดำเนินการไต่สวนไประยะหนึ่ง กัมพูชาเปลี่ยนคำร้องขอให้มีการชี้แนวเส้นเขตแดนระหว่างไทยกัมพูชาด้วย ศาลรับแต่คำฟ้องส่วนแรกคือ กรรมสิทธิ์ในตัวปราสาท ไม่ใช่เรื่องเส้นเขตแดนไทยกัมพูชา ตรงนั้นจึงกลายเป็นพื้นที่ทับซ้อน ขึ้นอยู่กับว่า เราเชื่อแผนที่หรือเชื่ออะไร นี่เป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อน และวันนี้ผมเชื่อว่า อีกระยะหนึ่งปัญหาจะขยับจากปราสาทพระวิหารไปสู่พื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร ซึ่งอธิบายอย่างไรก็มีความยุ่งยากในการทำความเข้าใจ และคนบางส่วนอาจไม่พร้อมที่จะฟัง
 
ผมว่าวันนี้ต้องเชื่อว่า ปัญหาข้อขัดแย้งเรื่องพรมแดนในโลกโลกาภิวัตน์หรือโลกสมัยใหม่ ต้องถามว่าสงครามชายแดนหรือสงครามเพื่อแย่งชิงดินแดน มันยังควรดำรงอยู่ต่อไปหรือไม่
 
ผมพูดเสมอว่า สงครามในอดีตให้ผลตอบแทน 2 อย่างคือ ‘ดินแดน’ กับ ‘เชลย’ ซึ่งก็คือแรงงาน วันนี้ถ้าทำสงครามโอกาสได้ดินแดนเป็นไปไม่ได้ เพราะประชาคมระหว่างประเทศคงไม่อนุมัติให้สยามในปัจจุบันปรับเส้นเขตแดนของตัวเอง ถ้าทำแล้วดินแดนไม่ได้ถามว่าจะมีความขัดแย้งจนกลายเป็นสงครามทำไม หรือถ้าอยากได้แรงงาน วันนี้ก็ไม่ต้องทำสงคราม เพียงแต่เปิดด่านให้มีการข้ามแดนโดยเสรี แรงงานจากกัมพูชาก็จะทะลักเข้าไทย ฉะนั้น สงครามไม่ใช่คำตอบ
 
แต่ถ้ากังวลกับพื้นที่ 4.6 ในอนาคต คำตอบของผมอาจจะช้าไป ในปี 51 ผมเรียกร้องเสมอว่า ประเทศไทยมีความสำเร็จในการจัดการความขัดแย้งด้านพรมแดนทางภาคใต้ คือการเปลี่ยนพื้นที่ทับซ้อนให้เป็นพื้นที่พัฒนาร่วม หรือที่เราคุ้นกันว่า JDA ไทย-มาเลเซีย นอกจากนี้ เรามีพื้นที่ที่กองทัพเรือไทยลาดตระเวนร่วมกับกองทัพเรือเวียดนาม
 
ฉะนั้น ปัญหาตรงนี้ผมเสนอว่า ให้เปลี่ยนพื้นที่ความขัดแย้งเป็นพื้นที่พัฒนาร่วม แต่ผมขยายความ เรียกพื้นที่ตรงปราสาทพระวิหารในอนาคต รวมทั้งพื้นที่ 4.6 ถ้าพี่น้องสองฝั่งไม่ทะเลาะกัน ผมอยากเห็นมันเป็นพื้นที่พัฒนาร่วมทางวัฒนธรรม หรือ Joint Cultural Development Area หรือถ้าอยากขายทัวร์ก็เป็น Joint Tourism Area ถ้าเราทำได้ เราจะยกฐานะการท่องเที่ยงทางวัฒนธรรมในภาคอีสาน เชื่อมพิมาย พนมรุ้ง นครวัด นครธม ปราสาทเขาพระวิหาร รวมถึงเชื่อมไปในลาวที่ปราสาทวัดพู เราก็จะมีทางท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมเส้นใหญ่ของภูมิภาค สิ่งที่ผมพูด มันอาจจะช้าไปแล้ว และเป็นความฝัน แต่ผมก็อยากจะเห็นมันเป็นจริง
 
เรื่องนี้กองทัพรู้ไหม
สุรชาติ รู้ ตอนนี้กองทัพก็อิหลักอิเหลื่อกับปัญหาปราสาทพระวิหาร ไม่ใช่แต่เพียงทหาร หลายส่วนของหน่วยงานความมั่นคงวันนี้ก็แบกรับปัญหาส่วนที่เราเห็นกันที่จังหวัดสุรินทร์ แล้วไม่ใช่อะไรที่เป็นสิ่งดี เจ้าหน้าที่เองคงอยากเห็นปัญหาตรงนี้ยุติ โดยเฉพาะพี่น้องที่อยู่ตามแนวชายแดนวันนี้ ต้องการชีวิตปกติที่จะประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจข้ามเส้นแดนของรัฐ ขายของให้นักท่องเที่ยวเหมือนเดิม ไม่ว่าจะมาจากฝั่งไหน แต่ผมคิดว่าตั้งแต่มีปัญหาประสาทพระวิหาร เราแทบไม่เคยพูดถึงคนระดับล่างที่อยู่ตามแนวชายแดนจริงๆ ที่ชีวิตขึ้นกับการประกอบธุรกิจเล็กๆ น้อยๆ วันนี้เขาเอาเงินที่ไหนมาเลี้ยงครอบครัว
 
มันทำให้เราเห็นชัดว่า ชายแดนเป็นเรื่องของส่วนกลางที่เข้าไปกำหนด
สุรชาติ แล้วกลายเป็นเอาเรื่องประวัติศาสตร์เก่าแล้วทับซ้อนเรื่องเวลาใหม่ด้วย
 
 
 
 
 
......................................................
หมายเหตุ : บทสัมภาษณ์ รศ.สุรชาติ บำรุงสุข เรื่องเขาพระวิหารนี้ ถอดคำจากรายการ ‘บ้านเมืองไม่ใช่ของเรา’ ตอนที่ 2 (ตอนจบ) สามารถติดตามรับฟังและรับชมรายการทั้งหมดได้ในรายการ ‘บ้านเมืองไม่ใช่ของเรา’

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท