รายงาน: สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมทางเลือกของแรงงาน

แนวทางการตั้งสหภาพแรงงานในประเทศไทย

การจัดตั้งสหภาพแรงงานในประเทศไทย เป็นการจัดตั้งสหภาพแรงงานแบบประเภท 1 สหภาพ 1 สถานประกอบการ มีระบบเปิดรับสมัครสมาชิกภายในสถานประกอบการที่เป็นนายจ้างเดียวกันที่มีการจัดตั้งของสหภาพแรงงานเท่านั้น จะเป็นสหภาพแรงงานเดี่ยวและขนาดเล็กใหญ่ตามขนาดสถานประกอบการ มีการยื่นข้อเรียกร้องสวัสดิการ ปกป้องสิทธิสวัสดิการสมาชิกภายในสถานประกอบการ หรือแม้นว่าสหภาพแรงงานจะมีการจดทะเบียนเป็นแบบอุตสาหกรรม แต่การบริหารงานก็ยังคงเป็นสถานประกอบกิจการที่มีนายจ้างคนเดียวกัน ปัจจุบันมีสหภาพแรงงาน 1,229 แห่ง (ข้อมูล ณ. 31 มกราคม 2552)

แต่เมื่อวันที่ 4 กันยายน 52 ที่ผ่านมา สหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย ได้จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมในสถานการณ์ปัจจุบัน” โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อต้องการประกาศแนวนโยบายของสหพันธ์แรงงานยานยนต์ฯ ในการจัดตั้งสหภาพแรงงานฯ ในกลุ่มสมาชิก เป็น “สหภาพแรงงานประเภทอุตสาหกรรมยานยนต์” และ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆ ว่ามีความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร โดยในงานนี้ มีผู้เข้าร่วมสัมมนากว่า 40 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้นำแรงงานในกลุ่มสหภาพแรงงานที่เป็นสมาชิกสหพันธ์ฯ ทั้งผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ และผู้ประกอบรถยนต์จากค่ายต่างๆ นอกจากนั้นยังมีประธานสหพันธ์แรงงานปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์แห่งประเทศไทย เข้าร่วมด้วย

   
มุมมองของผู้ร่วมเสวนาต่อประเด็นจัดตั้งสหภาพแรงงาน

นายปณิธิ ศิริเขต ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการแรงงานสภาผู้แทนราษฏร กล่าวนำว่า สหภาพแรงงานในประเทศไทย กฎหมายกำหนดให้จัดตั้งได้ 2 แบบ คือ ประเภทที่มีนายจ้างคนเดียวกัน และประเภทกิจการเดียวกัน ในปัจจุบันสหภาพแรงงานที่จดทะเบียนส่วนใหญ่ จะจดทะเบียนเป็นประเภทกิจการเดียวกัน แต่ในการดำเนินกิจการส่วนใหญ่เกือบทั้งหมด จะรับสมาชิกเฉพาะในบริษัทฯ ของตนเองเท่านั้น เนื่องจากถูกครอบงำจากนายจ้างของตนเองว่า ไม่ควรไปยุ่งเรื่องของคนอื่นและไม่ควรให้คนอื่นมายุ่งเรื่องของเรา ทุกวันนี้จึงยังไม่ค่อยมีการดำเนินการตามที่จดทะเบียนไว้เป็นส่วนมาก ส่งผลให้เกิดความอ่อนแอในกระบวนการต่อสู้ของผู้ใช้แรงงาน

ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ นักวิชาการแรงงานอาวุโสกล่าวว่า สหภาพแรงงานประเภทอุตสาหกรรมหรือที่เรียกอีกอย่างคือประเภทกิจการเดียวกันนั้น ควรจะมีมาตั้งนานแล้ว โดยในยุคเริ่มแรกของการรวมตัวของคนงานในยุโรปนั้น เกิดจากการที่คนที่มีอาชีพอย่างเดียวกันรวมตัวกันกำหนดค่าจ้างการทำงานของตนเองต่อผู้ว่าจ้าง ซึ่งก็คือจุดเริ่มต้นของสหภาพแรงงานนั่นเอง หมายความว่าการรวมตัวกันของผู้ใช้แรงงานในยุคแรกๆนั้น เริ่มมาจากการรวมกันตามสาขาอาชีพนั่นเอง ซึ่งก็เป็นความหมายเดียวกับ สหภาพแรงงานประเภทอุตสาหกรรมในปัจจุบัน

ในสหภาพแรงงานในยุโรป อเมริกาและประเทศส่วนใหญ่ในโลก ก็จะมีแต่สหภาพแรงงานตามสาขาอาชีพเท่านั้น จึงมีอำนาจต่อรองสูง เช่น คนงานทำเหมืองถ่านหินที่นัดหยุดงาน เพื่อเรียกร้องค่าตอบแทนที่เพียงพอ ก็จะหยุดงานพร้อมกันทั่วประเทศทำให้รัฐบาลต้องหันมาเจรจากับคนงาน จะมีเพียงบางประเทศในแถบเอเชีย เช่น ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เป็นต้น ที่มีการตั้งสหภาพแบบนายจ้างคนเดียวกัน สาเหตุเพราะ ประเทศต่างๆ เหล่านี้มีนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น เข้าไปลงทุนทำอุตสาหกรรมมาก จึงนำเอารูปแบบของสหภาพแรงงานแบบญี่ปุ่นมาใช้ ซึ่งญี่ปุ่นนั้นเป็นประเทศผู้นำด้านอุตสาหกรรมระดับต้นของโลกเพียงประเทศเดียว ที่มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานแบบนายจ้างคนเดียวกัน เป็นแห่งแรกของโลก โดยที่คนญี่ปุ่นมีแนวคิดในเรื่องนายจ้างและลูกจ้างว่า คนที่ทำงานในบริษัทฯ เดียวกัน ถือเสมือนเป็นพี่น้องกัน มีปัญหาอะไรก็จะปรึกษาหารือแก้ไขกันเองภายใน เป็นเรื่องของภายในบ้าน และมีการสืบทอดตำแหน่งไปตามระบบอาวุโส พนักงานที่เริ่มงานตั้งแต่คนงานธรรมดา ก็จะสามารถเลื่อนไปจนเป็นผู้บริหารระดับสูงได้เมื่อมีอายุงานมากขึ้นๆ

ระบบการขึ้นเงินเดือนก็จะแบ่งเป็น 2 ระดับคือ ส่วนแรกเป็นการขึ้นตามอายุงาน และอีกส่วนเป็นการขึ้นตามผลงานแต่ละปี คนงานที่มีอายุงานมากๆ ก็จะมีเงินเดือนสูงด้วย และญี่ปุ่นก็มีนโยบายการจ้างงานแบบตลอดชีวิต ซึ่งแตกต่างจากทางของบริษัทฯฝรั่ง ที่จะดูผลงานเป็นหลัก ถ้าผลงานไม่เป็นที่พอใจ อาจเลิกจ้างได้ง่ายๆ แต่ถ้าเป็นของญี่ปุ่นจะไม่ค่อยมี ดังนั้น เมื่อนักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในประเทศไทยก็นำเอาระบบของญี่ปุ่นเข้ามาด้วย แต่เอามาใช้กับคนไทยแค่บางส่วน เราจะไม่พบว่าคนไทยได้มีโอกาสไปเป็นผู้บริหารระดับสูงในบริษัทฯ ญี่ปุ่นเลย การขึ้นเงินเดือนก็ไม่มีการคิดตามระบบอาวุโส เป็นที่น่าคิดว่า ค่าแรงของลูกจ้างในอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทย ต่ำกว่าที่ประเทศญี่ปุ่น และอเมริกามากมาย แต่รถยนต์ที่ส่งออกไปจำหน่ายทั่วโลก ไม่ว่าจะผลิตจากที่ไหน ก็มีราคาเดียวกัน

กล่าวโดยสรุป สหภาพแรงงานประเภทอุตสาหกรรมนั้น เป็นการรวมตัวในรูปแบบที่ถูกต้องตามหลักการ และเป็นที่ยอมรับทั่วโลก ในประเทศไทยก็เคยมีการจัดตั้งกันมาแล้ว เช่น สหภาพแรงงานเหล็กและโลหะฯ, สหภาพแรงงานคนทำยาง เป็นต้น แต่ภายหลังการดำเนินกิจกรรมไม่คืบหน้า เพราะคนงานถูกครอบงำว่าให้อยู่แต่ในบ้านจะดีกว่านั่นเอง ส่วนที่ในประเทศไทยที่มีการดำเนินการรูปแบบสหภาพแรงงานในปัจจุบันส่วนใหญ่ เป็นเพราะเราได้รับรูปแบบมาจากญี่ปุ่น ซึ่งมีเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่เป็นแบบนี้ ดังนั้นถ้าถามว่า สหภาพแรงงานประเภทอุตสาหกรรมถึงเวลานำมาใช้หรือยัง ตอบว่า ควรที่จะมีได้ก่อนหน้านี้นานแล้ว

นายยงยุทธ เม่นตะเภา ประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในประเทศอเมริกา มีสหภาพแรงงานเป็นแบบอุตสาหกรรม โดยในกลุ่มยานยนต์ ใช้ชื่อว่า สหภาพแรงงานรถยนต์ฯ มีสมาชิกจากคนงานในค่ายรถยนต์ใหญ่ๆ เช่น ฟอร์ด จีเอ็ม ไครสเลอร์ เป็นต้น มีสมาชิกรวมกันหลายหมื่นคน มีเงินทุนมาก ทำให้มีความเข้มแข็ง คนงานในอุตสาหกรรมยานยนต์มีค่าจ้างที่สูงมากเฉลี่ยชั่วโมงละ 7.5 us ปัจจุบันการรวมตัวของคนงานในระดับโลกนั้น ยังมีการรวมตัวกันโดยไม่คำนึงประเภทของอุตสาหกรรม เช่น คนงานในกลุ่มโลหะได้รวมกับกลุ่มเคมี ภายใต้เวลานี้ ที่เรากำลังมาพูดเรื่องสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมในขณะที่ต่างประเทศ ได้มีการรวมกันโดยไม่คำนึงถึงเรื่องประเภทของอุตสาหกรรม

เห็นได้ว่า การต่อสู้ของกระบวนการแรงงานในไทยยังมีความแตกแยกกันอยู่ เนื่องจากข้อกฎหมายแรงงานของประเทศไทยที่กำหนดระบบโครงสร้างไว้อย่างสับสน ตั้งแต่สหภาพแรงงานมากกว่า 1 แห่ง รวมกันเป็นสหพันธ์แรงงาน และสหพันธ์แรงงาน 2 สหพันธ์ขึ้นไปสามารถรวมกันเป็นสภาแรงงานได้ แต่สภาแรงงานก็อาจเกิดได้จากการรวมกันของสหภาพแรงงานตั้งแต่ 15 แห่งขึ้นไป โดยไม่ต้องสังกัดสหพันธ์แรงงานใดก็ได้ ดังนั้น จึงเกิดความสับสน และทำให้ในปัจจุบันเรามีสภาแรงงานมากถึง 12 สภา ทำให้แรงงานไม่มีความเป็นเอกภาพ ในการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรม คนงานไทยมีค่าจ้างขั้นต่ำที่ต่ำมาก จนทำให้ส่วนมากต้องเรียกร้องขอทำงานล่วงเวลา เพื่อรายได้ที่เพิ่มขึ้นให้พอเพียงกับรายจ่าย ในการเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัว เป็นเรื่องที่น่าอดสูใจอย่างมาก นอกจากนั้นในการแยกประเภทอุตสาหกรรมตามแนวประกาศของกระทรวงแรงงาน ที่นำมาจากแนวการแบ่งประเภทกิจการของกระทรวงอุตสาหกรรมนั้น ยังทำให้เกิดการแบ่งแยก ลูกจ้างออกจากกันมากขึ้น เพราะนายจ้างบางแห่งเริ่มใช้วิธีแบ่งแยกกิจกรรมการทำงานในกิจการของตนเอง ตั้งเป็นบริษัทฯ ย่อยตามลักษณะงานที่ทำ เช่น การขนส่งรถยนต์ หรือผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ไปส่งในที่ต่างๆก็แยกไปเป็นกิจการขนส่ง เป็นต้น

กล่าวโดยสรุป สหภาพแรงงานประเภทอุตสาหกรรมนั้น จะเป็นทางออกของคนงานไทยที่เหมาะสมที่สุด เห็นได้อย่าง สหภาพแรงงานชิ้นส่วนยานยนต์และโลหะแห่งประเทศไทย (สหภาพแรงงานเอ็น เอช เค สปริงแห่งประเทศไทย) นั้น ก็มีสมาชิกจากหลายสถานประกอบการ บางแห่งก็ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับNHK SPRING (THAILAND) CO.,LTD. ล่าสุดเปิดรับสมาชิกจาก KSK Autoparts co.,ltd. โดยไม่ต้องให้คนงานเหล่านั้นต้องเสี่ยงตั้งสหภาพฯกันเอง วันนี้สามารถเปิดรับเข้ามาเป็นสมาชิกได้เลย ทำให้เขาเริ่มมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ จึงเห็นว่า ถึงเวลาที่ขบวนการแรงงานต้องทำเรื่องสหภาพแรงงานประเภทอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง แต่คงต้องให้ภาครัฐดูแลด้วยว่าการวินิจฉัยประเภทกิจการตามแนวของกระทรวงนั้นเหมาะสมเพียงใด

คุณอภิญญา สุจิตตานันท์ ผู้แทนจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า ข้อมูลของกระทรวงแรงงาน ปัจจุบันพบว่ามีสหภาพแรงงานที่จดทะเบียนประเภทกิจการมากกว่าประเภทนายจ้างเดียวกัน ในอัตราส่วนถึง 2:1 แต่ในการดำเนินกิจกรรมส่วนมากก็จะยังไม่ค่อยมีการรับสมาชิกต่างสถานประกอบการมากนัก และในเรื่องของการที่กฎหมายแรงงานไทย กำหนดให้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานไว้ 2 แบบนั้น เหตุเพราะ ในประเทศไทย มีนักลงทุนจาก 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ จากค่ายยุโรป และญี่ปุ่น ดังนั้นเราจึงปรับให้เหมาะสมกัน และในส่วนของโครงสร้างนั้น เราก็นำมาปรับให้มีรูปแบบที่สอดคล้องด้วย เช่น ในยุโรป มีสหภาพแรงงานตามกลุ่มสาขาอาชีพ ก็จะคล้ายกับประเทศไทยที่อนุญาตให้ลูกจ้างในสาขาอาชีพเดียวกัน รวมกลุ่มกันทำกิจกรรมได้ในรูปของสหพันธ์แรงงาน และสหพันธ์แรงงานก็สามารถไปสังกัดสภาแรงงานใดก็ได้ ส่วนการที่สหภาพแรงงานที่ไม่สังกัดสหพันธ์แรงงานใด แต่ก็สามารถไปสังกัดสภาแรงงานโดยตรงได้ ก็จะคล้ายกับระบบของญี่ปุ่นนั่นเอง และในส่วนของการแบ่งแยกประเภทกิจการตามแนวของกระทรวงอุตสาหกรรมนั้น ได้มีประกาศของกระทรวงมหาดไทย ให้กรมแรงงานนำไปใช้เป็นแนวทางในการวินิจฉัยประเภทของกิจการตั้งแต่ปี พ.ศ.2525 และได้มีการปรับปรุงโดยกระทรวงแรงงานเมื่อปี พ.ศ.2542 โดยนำแนวของกระทรวงพาณิชย์มาปรับใช้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น และใช้มาจนปัจจุบัน

สำหรับเรื่องแนวคิดในการจัดตั้งสหภาพแรงงานประเภทอุตสาหกรรมนี้ ก็สามารถทำได้อยู่แล้ว ตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ แต่ในความเห็นส่วนตัว เห็นว่าในการดำเนินกิจกรรมอาจมีปัญหายุ่งยากพอควร เช่น ในการประชุมใหญ่ การยื่นข้อเรียกร้อง หรืออาจรวมไปถึงการจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิกด้วย เนื่องจากอาจมีสมาชิกจากบางสถานประกอบการที่มีสัดส่วนน้อย กิจกรรมบางอย่างก็อาจเกิดการติดขัดในข้อกฎหมายได้ แต่ก็ยังเห็นด้วยว่าหากจะทำให้แรงงานมีความเข้มแข็ง มีความเป็นเอกภาพได้ ก็น่าจะดำเนินการในเรื่องของสหภาพแรงงานตามประเภทกิจการ อย่างไรก็ตามคงต้องดูปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย

นางสิริวัน ร่มฉัตรทอง เลขาธิการสภาองค์การนายจ้าง แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในฐานะผู้แทนนายจ้าง เห็นว่าไม่ว่าจะเป็นสหภาพแรงงานแบบใด หากมีความเข้าใจกันได้ ก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร โดยส่วนตัวได้ร่วมงานกับทางองค์กรคนงานหลายแห่ง มีความเข้าใจและเห็นใจคนงานพอควร และมองว่า คนงานเป็นส่วนที่สำคัญในการทำธุรกิจ จึงพยายามให้ความสำคัญกับคนงานมาก แต่ก็อยากขอให้เข้าใจฝ่ายนายจ้างด้วย โดยเฉพาะในช่วงที่นายจ้างกำลังลำบากก็อยากขอให้ยอมรับความลำบากไปด้วยกัน เมื่อฝ่ายนายจ้างดีขึ้นแล้ว เราก็กลับมามีความสุขร่วมกันอีก ดังคำที่ว่ามีสุขร่วมเสพย์ มีทุกข์ร่วมกันต้าน ดังนั้นจึงเห็นว่า หากการรวมกันเป็นแบบสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมแล้วทำให้ชีวิตคนงานดีขึ้นและสามารถทำงานร่วมกับนายจ้างอย่างมีความเข้าใจกันได้ ไม่มีความขัดแย้งรุนแรงก็ไม่มีเหตุผลใดที่จะไม่เห็นด้วย

 

แผนงานการจัดตั้งสหภาพแรงงานประเภทอุตสาหกรรมของสหพันธ์แรงงานยานยนต์ฯ

ในช่วงบ่าย เป็นการนำเสนอนโยบาย เป้าหมาย และแผนงานในการดำเนินการจัดตั้งสหภาพแรงงานประเภทอุตสาหกรรมของสหพันธ์แรงงานยานยนต์ฯ โดยผู้แทนจากคณะทำงาน ประกอบไปด้วย คุณวิสุทธิ์ เรืองฤทธิ์,คุณธีรวุฒิ เบญมาตย์และคุณประสงค์ อังสุรัตน์ เป็นผู้นำเสนอ โดยได้นำเสนอข้อมูลเปรียบเทียบข้อแตกต่างระหว่างสหภาพแรงงาน 2 แบบ ซึ่งในภาพรวมแล้ว เห็นว่าสหภาพแรงงานประเภทอุตสาหกรรมนั้น มีข้อดีกว่าประเภทนายจ้างเดียวกันเกือบทุกประเด็น ทั้งในแง่ของตัวสมาชิก ความมั่นคงขององค์กร ผลดีต่อนายจ้างรวมถึงผลดีต่อสังคมด้วย และยังได้ยกประเด็นปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในการดำเนินงานสหภาพแรงงานประเภทอุตสาหกรรมในหลายๆ ประเด็น รวมถึงได้นำเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาไว้ด้วย

จากนั้นจึงได้นำเสนอนโยบายและเป้าหมาย โดยตั้งเป้าหมายที่จะรวมสหภาพแรงงานในกลุ่มยานยนต์เป็นสหภาพแรงงานประเภทอุตสาหกรรมเดียวกันภายในเวลา 10 ปี โดยภายใน 2 ปี จะเริ่มรวมกันให้ได้อย่างน้อย 3 แห่ง ภายใต้นโยบายหลัก 5 ประการ คือ 1.สร้างความเป็นเอกภาพในกระบวนการแรงงานไทย 2.ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ให้เป็นสากล 3.สร้างความสมานฉันท์ในกระบวนการแรงงาน 4.สนับสนุนให้เกิดการรวมตัว และเจรจาต่อรองได้อย่างเสรี 5.เป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง

จากนั้นที่ประชุมได้สรุปให้มีการจัดตั้งคณะทำงานย่อยอีกหนึ่งคณะ เพื่อทำหน้าที่ในการศึกษา และยกร่างข้อบังคับและโครงสร้างของสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยมีผู้แทนจากสหภาพแรงงาน 6 แห่ง เป็นคณะทำงานชุดดังกล่าว ประกอบไปด้วย ผู้แทนจากสหภาพแรงงานชิ้นส่วนยานยนต์และโลหะแห่งประเทศไทย, สหภาพแรงงาน ที ไอ ดี, สหภาพแรงงานเจเทคโตะ, สหภาพแรงงานไดน่าเมททัล, สหภาพแรงงาน ที.ราด และสหภาพแรงงานซันสตาร์ประเทศไทย และให้คณะทำงานชุดนี้ทำงานร่วมกับคณะทำงานชุดเดิม ซึ่งกำหนดให้มีการประชุมร่วมกันครั้งแรก ภายในกลางเดือนกันยายน 52 นี้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท