Skip to main content
sharethis

ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี รุดเข้ายื่นหนังสือผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ค้านประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมขัดรัฐธรรมนูญ หวั่นเปิดทางโครงการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนดำเนินการโดยไม่ต้องฟังเสียงประชาชนในพื้นที่

เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2552 เวลา 10.30 น. ที่ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ คัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี จำนวน 12 คน รุดเข้ายื่นหนังสือผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ผ่านไปถึงรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม (นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง) เพื่อคัดค้านประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง โครงการหรือกิจกรรมเกี่ยวกับการอุตสาหกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 14 กันยายน 2552 ที่ผ่านมา
 
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติในคราวประชุมเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2552 ให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการจัดทำบัญชีรายชื่อประเภทกิจการที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงตามหลักการมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งได้บัญญัติว่า ...การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชานในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์กรอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว...

ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้จัดทำบัญชีรายชื่อประเภทกิจกรรมที่มีผลกระทบต่อประชาชนอย่างรุนแรงตามหลักการในมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อประโยชน์ในการบริหารงาน และป้องกันผลกระทบต่อประชาชน รวมทั้งอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประสงค์จะประกอบการอุตสาหกรรม และให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีที่ประชุมไปเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2552 ที่มอบให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการจัดทำบัญชีรายชื่อประเภทกิจการที่รุนแรงตามมาตรา 67 ดังกล่าว

กลุ่มอนุรักษ์ฯ ยื่นหนังสือคัดค้านดังกล่าวโดยนายกิตติคุณ บุตรคุณ ผู้ช่วยป้องกันจังหวัด ได้รับเรื่องของกลุ่มชาวบ้านไว้เพื่อนำเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัด และจะได้ดำเนินการต่อไปยังรัฐมนตรีอุตสาหกรรมตามลำดับ

โดยนายถาวร มะโนศิลป์ แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดอุดรธานี กล่าวว่า ประกาศกระทรวงฉบับนี้มีเนื้อหาที่หมกเม็ดในหลายประเด็น ซึ่งสังเกตได้จากการที่คณะรัฐมนตรีมีมติในคราวประชุมเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2552 ให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการจัดทำบัญชีรายชื่อประเภทกิจการที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงตามหลักการมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแล้ว กระทรวงอุตสาหกรรม ก็รับลูกทันที เร่งรีบดำเนินการออกประกาศฯ ในวันที่ 14 กันยายน ที่ผ่านมา โดยใช้เวลาไม่ถึง 1 เดือน“พวกเราเป็นกลุ่มชาวบ้านผู้ที่มีส่วนได้เสียกับประกาศฯ จะขอคัดค้านจนถึงที่สุด เนื่องจากว่าประกาศฯ ดังกล่าวเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อนายทุน ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม แต่ไม่เคยรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านเลย ซึ่งถือว่าขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน และขัดต่อรัฐธรรมนูญ” นายถาวรกล่าว
 
นายถาวรต่อว่า “ยกตัวอย่าง ตามบัญชีรายชื่อประเภทกิจการที่มีผลกระทบอย่างรุนแรง แนบท้ายประกาศฯ ข้อ1.ระบุว่าประเภทโครงการหรือกิจกรรมที่กำหนดเป็นกิจการรุนแรง ได้จำกัดเอาไว้เพียงการทำเหมืองใต้ดินเฉพาะวิธีออกแบบให้โครงสร้างยุบตัวภายหลังการทำเหมือง โดยไม่มีค้ำยันและไม่มีการใส่วัสดุทดแทนเพื่อป้องกันการยุบตัว ทั้งๆที่การทำเหมืองด้วยวิธีการแบบนี้มีโอกาสดำเนินการได้น้อย และแทบเป็นไปไม่ได้ในเมืองไทย และที่เหมืองโปแตชตามโครงการระบุว่ามีเสาค้ำยัน นั่นแสดงว่าโครงการนี้ไม่ต้องทำรายงานสิ่งแวดล้อม และสุขภาพเลยก็ได้หรืออย่างไร นี่ก็คือรัฐกำลังตีความกฎหมายให้นายทุนปล้นชาวบ้าน” นายถาวรกล่าวสำทับ
 
ด้านนายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ ภาคอีสาน เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า “ต้องดูให้ดีว่าประกาศกระทรวงในครั้งนี้ผลประโยชน์จะตกไปอยู่ที่ใคร นายทุน นักการเมือง หรือชาวบ้าน ซึ่งปัจจุบันกรณี มาตรา 67 ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปี2550 ถือว่าเป็นมาตราเดียวที่ให้ชาวบ้านมีสิทธิในการปกป้องชุมชน แต่กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง เมื่อวันที่ 14 กันยายน ที่ผ่านมา โดยใช้ประกาศกระทรวงเป็นเครื่องมือ” นายสุวิทย์กล่าว
 
นายสุวิทย์กล่าวต่อว่า “อยากจะถามกระทรวงอุตสาหกรรมกลับว่า ถ้าคิดว่าโครงการเหมืองแร่โปแตชดีจริง ไม่เกิดผลกระทบอะไร ทำไมไม่เปิดโอกาสให้มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างรอบด้านและการออกประกาศกระทรวงในครั้งนี้ถ้ามีกลุ่มชาวบ้านออกมาชุมนุมคัดค้าน ก็จะนำไปสู่ความขัดแย้งและความรุนแรง แล้วถ้าชาวบ้านถูกจำกัดสิทธิไม่ให้ชุมนุมในการปกป้องสิทธิของชุมชน  หากจะใช้วิธีการอย่างอื่น จะว่าอย่างไร และใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบ อีกทั้งองค์กรอิสระต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)  ควรจะมีบทบาทในการสร้างการมีส่วนร่วมให้ประชาชนเกิดการรับรู้ในกรณีมาตรา 67 ได้อย่างไร” นายสุวิทย์กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net