"ไบโอไทย" เตือน "รัฐบาล" เตรียมรับมือผลกระทบจาก "ข้าวแจสแมน"

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวถึงกรณีที่สหรัฐอเมริกาได้ประกาศอย่างเป็นทางการถึงการค้นคว้าและพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ LA2125 มีคุณภาพทัดเทียมกับข้าวหอมมะลิไทยและตั้งชื่อคล้ายกันว่า JAZZMAN (แจสแมน) ว่า "หากประเมินว่าการจดเครื่องหมายการค้าของอุตสาหกรรมข้าวสหรัฐทำให้เกิดความสับสนหรือหลงผิดก็ต้องรีบคัดค้าน เพราะกฎหมายสหรัฐนั้นอนุญาตให้มีการคัดค้านได้ภายในระยะเวลา 5 ปีนับตั้งแต่ยื่นคำขอ และการต่อสู้ในเรื่องนี้แม้จะไม่สำเร็จ แต่จะเป็นโอกาสในการตอกย้ำคุณภาพและชื่อเสียงของข้าวหอมมะลิไทย แปรผลกระทบให้กลายเป็นโอกาสในการประชาสัมพันธ์ความพิเศษของข้าวหอมมะลิ"

"ที่จริงแล้วรัฐบาลไทยต้องยืนยันจุดยืนที่ว่าชื่อของ "จัสมินไรซ์" นั้น คือชื่อของสายพันธุ์ข้าวหอมมะลิของไทย ดังนั้นการที่สำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายค้าของสหรัฐ ถือว่า "จัสมินไรซ์" เป็นชั้นคุณภาพข้าวที่มีเมล็ดยาว และปล่อยให้มีการขายข้าวเมล็ดยาวพันธุ์ใดก็ได้ในนามจัสมินไรซ์เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ประเทศอื่นทั่วโลกล้วนแต่ยอมรับว่าจัสมินไรซ์คือข้าวหอมมะลิของไทย และบัสมาติคือข้าวหอมของอินเดีย แต่อเมริกาซึ่งกล่าวหาประเทศอื่นว่าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา กลับเป็นผู้ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเสียเอง การประชาสัมพันธ์ชื่อ "หอมมะลิไรซ์" ก็ทำไป แต่ต้องไม่ลืมปกป้องชื่อ "จัสมินไรซ์" ให้สหรัฐฉกฉวยไปโดยนั่งดูอยู่เฉยๆ" นายวิฑูรย์กล่าว

ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถียังกล่าวว่า ควรตรวจสอบพันธุกรรมของพันธุ์ข้าวแจสแมนด้วย โดยอย่าเพิ่งปักใจเชื่อว่าเป็นพันธุ์ข้าวที่พัฒนาจากพันธุ์ข้าวหอมของจีน เนื่องจากในระยะยาวหากข้าวหอมพันธุ์ใหม่นี้ ถูกนำไปจดสิทธิบัตร และพบว่าเกี่ยวข้องกับข้าวหอมมะลิของไทยอาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการส่งออกข้าวหอมมะลิ และปัญหาอื่นๆ ที่กระทบสิทธิในพันธุกรรมของชาวนาไทยได้

"ประเด็นที่ควรกังวลคือ อุตสาหกรรมข้าวในสหรัฐอาจนำข้าวแจสแมนไปจดเครื่องหมายการค้า คล้ายกับกรณีที่บริษัทไรซ์เทค จดเครื่องหมายการค้า "จัสมาติ" โดยอ้างว่าเป็นข้าวหอมมะลิที่ปลูกในเท็กซัส ซึ่งจะสร้างความสับสนให้กับผู้บริโภคได้ โดยในกรณีที่อุตสาหกรรมข้าวของสหรัฐนำข้าวแจสแมน ไปจดเครื่องหมายการค้า และอ้างว่าเป็นข้าวหอมมะลินั้นจะส่งผลกระทบยิ่งกว่ากรณีบริษัทไรซ์เทคเสียอีก เพราะข้าวแจสแมนมีลักษณะใกล้เคียงกับข้าวหอมมะลิมากกว่าข้าวของไรซ์เทค และชื่อแจสแมนนั้น เขียนและออกเสียงใกล้เคียงจัสมินยิ่งกว่า จัสมาติ เสียอีก" นายวิฑูรย์กล่าว

ทั้งนี้ แจสแมนเป็นผลการศึกษาและพัฒนาของศูนย์วิจัยและค้นคว้าเกษตรกรรม มหาวิทยาลัยหลุยเซียนา รัฐหลุยเซียนา สหรัฐอเมริกา เริ่มการทดลองผสมพันธุ์ตั้งแต่ปี 2509 โดยระบุว่านำข้าวกลิ่นหอมของจีนสายพันธุ์ 96a-8 มาผสมกับข้าวเมล็ดยาวของรัฐอาร์คันซอใช้เวลาหลายสิบปีจึงเป็นผลสำเร็จ และอ้างว่ามีคุณภาพความหอมและนิ่มทัดเทียมกับข้าวหอมมะลิไทย ที่สำคัญให้ผลผลิตโดยเฉลี่ยประมาณไร่ละ 1,265 กิโลกรัม ขณะที่ข้าวไทยมีผลผลิตประมาณไร่ละ 400 กิโลกรัม โดยชาวนาในหลุยเซียนาจะหันมาปลูกข้าวนี้มากขึ้นและช่วยทดแทนการนำเข้าข้าวหอมมะลิจากไทยได้

ก่อนหน้านี้สหรัฐเคยมีปัญหาเกี่ยวกับการจดทะเบียนข้าวหอมมะลิในหลายครั้ง เช่น การนำข้าวหอมมะลิของไทยไปผสมกับพันธุ์ข้าวต้นเตี้ยของสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ และตั้งชื่อว่า "จัสมิน85" เมื่อปี 2510 และต่อมาในปี 2540 มีการนำพันธุ์ข้าวซึ่งคาดว่าจะเป็นพันธุ์ข้าวเดลล่า (Della) ของอิตาลีหรือไม่ก็ข้าวสายพันธุ์ RT ของสหรัฐเองไปจดเครื่องหมายการค้า "จัสมาติ" แล้วอ้างว่าเป็น "ข้าวหอมมะลิที่ปลูกในเท็กซัส" และก่อนหน้านี้ไม่นานในปี 2545 กลุ่มนักวิจัยของสหรัฐที่นำโดยสถาบันวิจัยข้าวแห่งชาติที่อาร์คันซอส์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยอาร์คันซอส์ และมหาวิทยาลัยฟลอริดา จัดทำโครงการ "Step Wise Program" เพื่อพัฒนาข้าวหอมมะลิให้ปลูกได้ในสหรัฐ จนเกิดการประท้วงของชาวนาไทยเพราะเกรงว่าสหรัฐจะนำข้าวที่ปรับปรุงขึ้นไปจดสิทธิบัตร ซึ่งจะกระทบต่อการส่งออกข้าวของไทย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท