Skip to main content
sharethis

เครือข่ายพลเมืองเชียงใหม่ ร่วมกับสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะ (ส.ส.ท.) จัดเวทีพลเมืองเชียงใหม่กับวิสัยทัศน์ผู้สมัครฯ  “เปลี่ยนเชียงใหม่ด้วยพลังพลเมือง” ในวันจันทร์ที่ 28 ก.ย. เวลา 18.00 – 21.00 น. โดยมีผู้สมัครนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ 7 คน จากทั้งหมด 10 คน เข้าร่วม โดยมี ร.อ.หญิง เดือนเต็มดวง ณ เชียงใหม่ (หมายเลข 1) นายทัศนัย บูรณุปกรณ์ (หมายเลข 2) นายวัลลภ แซ่เตี๋ยว (หมายเลข4) นายวิชัย วงศ์ไชย (หมายเลข 5) นายพรชัย จิตรนวเสถียร (หมายเลข 6) นางวิภาวัลย์ วรพุฒิพงค์ (หมายเลข 7) และ นายเทพโยธินฐ์ ไชยรัตน์ (หมายเลข 10) และมีเครือข่ายพลเมืองเชียงใหม่เข้าร่วมรับฟัง กว่า 300 คน โดยมีการบันทึกเทปเพื่อนำไปออกอากาศในวันพุธที่ 30 ก.ย. 2552 เวลา 21.00 น. ในรายการเปลี่ยนประเทศไทย ทางสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย

ภายในงานได้มีการฉายวีดีทัศน์ความเห็นของชาวเชียงใหม่ต่อการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีครั้งโดยความเห็นส่วนใหญ่ตรงกันว่าไม่แน่ใจว่านโยบายที่ได้มีการเสนอนั้นสามารถทำได้จริงหรือไม่  ซึ่ง น.ส.นาตยา แวววีรคุปต์ ผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย (TPBS) ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ได้นำคำถามดังกล่าวถามกับผู้สมัครทั้ง 7 คนที่เข้าร่วมเวที และถามว่าผู้สมัครแต่ละท่านนั้นสามารถเป็นคำตอบสำหรับเมืองเชียงใหม่ได้หรือไม่

ซึ่งผู้สมัครแต่ละท่านก็ได้แสดงวิสัยทัศน์ต่อการจัดการเมืองเชียงใหม่ หลังจากนั้นเป็นเวทีของทางตัวแทนภาคประชาชน “นโยบายพลเมืองเชียงใหม่ สู่วิสัยทัศน์นายกเทศมนตรี” โดยตัวแทนจากมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุได้เล่าถึงปัญหาโครงสร้างเมืองที่ไม่รองรับกับประชากรผู้สูงอายุ ซึ่งเมืองเชียงใหม่นั้นยังรองรับทั้งนักท่องเที่ยวที่สูงอายุรวมถึงกลุ่มคนที่มาใช้ชีวิตบั้นปลายที่เชียงใหม่ ฉะนั้นการจัดการปัญหานี้จึงมีความสำคัญมาก โดยในภาคประชาชนเองก็ได้ดำเนินการไปแล้วแต่ต้องได้รับความร่วมมือจากภารรัฐด้วย

ทางตัวแทนจากชมรมช่วยผู้พิการเชียงใหม่ซึ่งได้เคลื่อนไหวเรียกร้องให้รักษาสิทธิผู้พิการจนเกิดผลในระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ว่าจริงๆ แล้วเรื่องดังกล่าวจำเป็นที่จะต้องพัฒนาไปสู่เทศบัญญัติเมือง ขณะที่ตัวแทนจากกลุ่มศิลปวัฒนธรรมโฮะโซะได้แสดงความคิดเห็นว่าไม่อยากให้ศิลปวัฒนธรรมนั้นมีคุณค่าต่อเมื่อถูกนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์เท่านั้น เพราะอยากให้ดำรงไว้เป็นของคนเชียงใหม่มากกว่า ส่วนตัวแทนจากชมรมจักรยานวันอาทิตย์คิดว่าทางเทศบาลต้องจัดการลดปริมาณรถบนท้องถนนอย่างจริงจัง และเสนอว่าเมืองเชียงใหม่มีความเหมาะสมในการใช้จักรยานในการเดินทาง เนื่องจากแต่ละพื้นที่ไม่ได้ไกลกันมาก ด้านตัวแทนจากกลุ่มรักษ์บ้านรักษ์เมืองเสนอว่าการพัฒนาเชียงใหม่ที่ผ่านมานั้นหากทำให้ฝ่ายหนึ่งได้ ฝ่ายหนึ่งเสียนั้น คนโบราณเขาแก้โดยใช้วิธีเอาใจเขามาใส่ใจเรา

ผู้สมัครโชว์วิสัยทัศน์แก้ปัญหาเร่งด่วน 3 เรื่อง

ต่อด้วยการแสดงวิสัยทัศน์ของผู้สมัครต่อประเด็นปัญหาที่จำเป็นต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนที่สุด 3 เรื่อง โดย นางวิภาวัลย์ วรพุฒิพงศ์ ผู้สมัครเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่หมายเลข 7 ได้เสนอเรื่องการสร้างเมืองท่องเที่ยวของเชียงใหม่ว่าจะจัดให้มีกิจกรรมตลอดทั้งปีเพื่อ และสร้างถนนคนเดินให้เป็นถนนคนเดินระดับโลก ส่วนประเด็นเรื่องทางเท้านั้นที่มีปัญหานั้นจะต้องได้รับการจัดการใหม่ทั้งหมด และจะเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บขยะ รวมถึงมลพิษทางน้ำและอากาศ ซึ่งจะต้องมีการเพิ่มพื้นที่สีเขียว

นายเทพโยธินฐ์ ไชยรัตน์ ผู้สมัครเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ หมายเลข 10 ได้เสนอเรื่องการรักษาศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวเชียงใหม่ โดยที่ผ่านมาตนได้ดำเนินการจัดตั้งมูลนิธิสล่าล้านนาไปแล้ว สำหรับเมืองเชียงใหม่นั้นสิ่งที่สำคัญคือการเชื่อมโยงเครือข่ายชุมชนให้เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ

ด้าน ร.อ.หญิง เดือนเต็มดวง ณ เชียงใหม่ ผู้สมัครเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ หมายเลข 1 ได้เสนอเรื่องการออกเทศบัญญัติผังเมืองเชียงใหม่ และจัดการระบบขนส่งมวลชนให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงการจัดเก็บขยะแบบเดิมนั้นจะหมดสัญญาในปลายปีนี้ หากตนได้รับเลือกการจัดการขยะนั้นจะต้องแยกและรีไซเคิลให้ได้มากกว่าเดิม

นายทัศนัย บูรณุปกรณ์ ผู้สมัครเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ หมายเลข 2 ได้เสนอเรื่องการจัดการขยะโดยยกตัวอย่างหลอดไฟที่การแยกขยะจัดการเพียงแค่ชิ้นส่วนที่สามารถนำไปขายต่อได้แต่สารเคมีต่างนั้นไม่ได้ถูกกำจัดซึ่งก็กลับเข้าสู่สิ่งแวดล้อมและส่งผลต่อสุขภาพของคนเชียงใหม่ นอกจากนี้เรื่องอาหารจะต้องทำให้เป็นอาหารปลอดสารพิษอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตามต้องสร้างสติและวินัยให้เกิดขึ้นในพื้นที่เขตเทศบาล

นายวัลลภ แซ่เตี๋ยว ผู้สมัครเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ หมายเลข 4 เสนอเรื่องการสร้างเชียงใหม่เป็นนครแห่งโอกาสและความเสมอภาค และต้องให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกำหนดนโยบายของเมือง ส่วนปัญหาต่างๆ ที่เคยค้างคาไม่ว่าจะเป็นสายไฟฟ้าที่บดบังภูมิทัศน์เมืองซึ่งเป็นปัญหายืดเยื้อที่บริเวณถนนท่าแพ หรือปัญหาน้ำท่วม ปัญหาเหล่านี้จะต้องได้รับการแก้ไข

นายวิชัย วงศ์ไชย ผู้สมัครเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ หมายเลข 5 ได้เสนอว่าจะสร้างเมืองเชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของโลก เนื่องจากเมืองเชียงใหม่มีศักยภาพอีกมาก

นายพรชัย จิตรนวเสถียร ผู้สมัครเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ หมายเลข 6 ได้เสนอเรื่องการจัดการระบบขนส่งมวลชนให้ใช้ได้จริง รวมถึงเส้นทางจักรยานที่ใช้งานได้ ต่อมาเรื่องความปลอดภัยของเมืองนั้นจะต้องมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดโดยเฉพาะในพื้นที่เล็กๆ ซึ่งเสี่ยงอันตราย นอกจากนี้จะต้องทำให้เมืองเชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยวทั้งปี และต้องยกระดับถนนคนเดิน


พลเมืองถามผู้สมัคร

หลังจากนั้นได้มีการเปิดโอกาสให้ผู้สมัครทุกท่านได้แสดงวิสัยทัศน์ถึงภารกิจที่จะดำเนินการหากได้รับเลือกให้เป็นนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ และได้มีการร่วมอ่านปรากฏการณ์ “เปลี่ยนเชียงใหม่ด้วยพลังพลเมือง” โดย ผศ.ชาตรี เรืองเดชณรงค์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวว่าปัญหาสำคัญคือการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ โดยยกตัวอย่างผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ที่ได้หมดอายุไปแต่ไม่มีกฎหมายควบคุมบังคับใช้เป็นเวลากว่าสองปี นอกจากนี้วิสัยทัศน์บางด้านที่ผู้สมัครเสนอมาอาจสวนทางกับความต้องการของชาวเชียงใหม่

ผศ.ดร.อรทัย ก๊กผล ผู้อำนวยการวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่าการเมืองภาคประชาชนของเชียงใหม่นั้นล้ำหน้าการเมืองแบบเลือกตั้งไปมาก และอยากให้เวทีนี้เป็นโอกาสที่จะทำให้การเมืองแบบเลือกตั้งนั้นสามารถตามทันกับการเมืองภาคประชาชนที่เป็นอยู่ ซึ่งจะต้องมีการแบ่งอำนาจจึงจะสามารถการสร้างการมีส่วนร่วมได้ เพราะแค่การเปิดเวทีรับฟังไม่ใช่การมีส่วนร่วม

คุณเบญจวรรณ คมกฤส  ตัวแทนพลเมืองเปลี่ยนกรุงเทพฯ ได้กล่าวว่าเชียงใหม่กับกรุงเทพเหมือนกันที่เป็นเมืองใหญ่ที่พัฒนาอย่างไร้ทิศทาง โดยขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงทำให้การพัฒนาไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการของของผู้อยู่อาศัยในเมือง ซึ่งการเมืองภาคประชาชนนั้นเป็นความยิ่งใหญ่ที่จะเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยได้

ด้าน ทพ.อุทัยวรรณ กาญจนกามล ผู้อำนวยการสถาบันเสริมสร้างพลังชุมชนได้กล่าวว่าเวทีการเปลี่ยนเชียงใหม่ในวันนี้จะไม่มีความหมายเลย ถ้าไม่ได้เกิดจากพลังพลเมือง ฉะนั้นต้องไปถึงขั้นประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและชะตาของเมือง และเทศบาลเองต้องรู้สึกว่าพลังพลเมืองมีคุณค่ายิ่งใหญ่ เสนอต่อผู้สมัครทุกท่านว่าหากได้เป็นนายกเทศมนตรีฯ แล้วควรจัดทำธรรมนูญพลเมือง ซึ่งจะต้องครอบคลุมในหลายๆ  ประเด็น เพื่อเป็นแนวทางของเมืองเชียงใหม่

ทั้งนี้เครือข่ายพลเมืองเชียงใหม่ ประกอบด้วยกลุ่มรักษ์บ้านรักษ์เมือง, องค์กรชุมชนเมือง, ล้านนา Watch, ภาคีฮักเมืองเจียงใหม่, มูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ, ชมรมช่วยเพื่อคนพิการเชียงใหม่, กลุ่มเยาวชนโฮะโซะ, เครือข่ายจักรยานวันอาทิตย์และเครือข่ายชมรมจักรยาน, เครือข่ายพัฒนาศักยภาพเยาวชน, มูลนิธิ TYAP, เครือข่ายแรงงาน, มูลนิธิเพื่อผู้สูงอายุ, ชมรมผู้สูงอายุเชียงใหม่ และประชาชนที่สนใจในประเด็นนโยบายสาธารณะ เพื่อร่วมสะท้อนสถานการณ์ เจาะลึกปัญหา ทำความเข้าใจและร่วมกันหาทางออกทั้งการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและการขับเคลื่อนสังคม รวมทั้งกำหนดนโยบายสาธารณะด้วยกระบวนการการมีส่วนร่วม
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net