Skip to main content
sharethis

 

 
“เสียงครวญของมวลกรรมกร       ใช่เสียงอ้อนวอนขอความปราณี
แต่เป็นเสียงเพื่อสิทธิ์เสรี             ที่ถูกย้ำยีกดขี่มานานฯ...
 
 
 
ลูกจ้างบริษัทผลิตและส่งออกรองเท้าชั้นนำเบี้ยวจ่ายค่าจ้างลูกจ้าง จนลูกจ้างทนไม่ไหวต้องลาออกจำนวนมาก และคนที่ยังไม่ออกยังคงปิดล้อมโรงงานเพื่อกดดันให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายและจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกจ้างที่บริษัทฯ เลิกจ้างโดยไม่มีความผิด
 
บริษัทรามา ชูส์ อินดัสตรีส์ จำกัด ตั้งอยู่ที่เลขที่ 81 หมู่ 8 ซอยแม่มาลัยทอง ต.นาป่า อ.เมือง จ.ชลบุรี ไม่จ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างตามกำหนด ปกติจ่ายทุกวันที่ 20 ของทุกเดือน แต่เดือนนี้เลื่อนการจ่ายมาหลายครั้งตอนแรกขอเลื่อนมาเป็นวันที่ ๒๕ กันยายน เมื่อถึงกำหนดก็ขอเลื่อนไปเป็นวันที่ 29 กันยายน แต่เมื่อถึงวันที่ 29 กันยายน 2552 บริษัทก็ได้ออกประกาศขอเลื่อนจ่ายค่าจ้างให้กับพนักงานทราบ โดยในประกาศระบุว่า พนักงานรายวันซึ่งมีลูกจ้างประมาณ 2,000 คน จะจ่ายค่าจ้างให้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2552 และพนักงานรายเดือนประมาณ 300 คน นายจ้างจะจ่ายค่าจ้างให้ในวันที่ 2 ตุลาคม 2552
 
เหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นกับลูกจ้างของบริษัทรามาชูส์ อินดัสตรีส์ จำกัด เป็นครั้งแรกแต่ได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาหลายครั้งแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อปลายปี 2551 และต้นปี 2552 บริษัทเหมาช่วง ที่ผลิตชิ้นส่วนรองเท้าส่งให้กับบริษัท รามาชูส์ฯ ได้ปิดกิจการและลอยแพลูกจ้างหลายสถานประกอบการ เช่น เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2552 บริษัท เคทูเทค (ประเทศไทย) จำกัด ได้เลิกจ้างลูกจ้างกว่า 400 คนและลอยแพลูกจ้างโดยค้างจ่ายค่าจ้าง 2 งวด และไม่ไม่มีใครได้รับค่าชดเชยใดๆ เลย และตัวนายจ้างเองก็ได้หนีออกนอกประเทศไปแล้ว ลูกจ้างเหล่านั้นก็ได้รับเพียงเงินช่วยเหลือจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างเพียงบางส่วนเท่านั้น และยังมีบริษัทเหมาช่วงของบริษัทรามาชูส์ฯ อีกหลายบริษัทในจังหวัดชลบุรีได้ปิดตัวลงโดยที่ลูกจ้างไม่มีโอกาสได้ออกมาเรียกร้องสิทธิตามกฏหมายของตนเองเลยด้วยซ้ำ
 
และในวันเดียวกัน (29 กันยายน 2552) ที่จังหวัดขอนแก่น บริษัทฟุตแวร์ คอมโพเน็นทส์ จำกัด มีพนักงานประมาณ 400 คน ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท รามาชูส์ อินดัสตรีส์ จำกัด ก็ได้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันคือ คือนายจ้างเบี้ยวการจ่ายค่าจ้างมาแล้วกว่า 3 เดือน โดยอ้างว่าบริษัทแม่ (บริษัทรามาชูส์ อินดัสตรีส์ จำกัด ชลบุรี)ไม่โอนเงินมาให้โดยอ้างว่าผลิตงานไม่ได้คุณภาพ พนักงานจึงต้องออกมาปิดถนนฝั่งขาเข้าเมืองขอนแก่น และเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะได้รับค่าจ้างที่นายจ้างค้างจ่ายเมื่อไร
 
จากปัญหาที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่าภาครัฐไม่ได้มีมาตรการใดๆ ในการป้องกันปัญหาเหล่านี้เลย เพราะก่อนที่จะเกิดปัญหานี้ขึ้นได้มีสัญญาณเตือนหลายอย่างจากปัญหาที่เกิดขึ้นในสถานประกอบการเอง เช่น การจ่ายค่าจ้างไม่ตรงเวลามีการเลื่อนการจ่ายค่าจ้างออกไปเรื่อยๆ ปัญหาการไม่นำส่งเงินสะสมและเงินสมทบให้กับกองทุนประกันสังคม ซึ่งปัญหาต่างๆ เหล่านี้เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องรู้และรับทราบเป็นอย่างดี แต่กลับไม่มีการดำเนินการใดๆ เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขและป้องกันปัญหา เมื่อลูกจ้างถูกลอยแพและออกมาปิดถนนแล้วนั่นแหละเจ้าหน้าที่รัฐจึงออกมาแสดงตัวในฐานะผู้ไกล่เกลี่ยและแก้ไขปัญหา
 
ขณะที่ลูกจ้างผู้ได้รับผลกระทบไม่เคยมีใครมาให้การช่วยเหลือต้องดิ้นรนต่อสู้เพียงลำพังด้วยตัวของเขาเอง เมื่อโทรไปขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่แรงงานก็อ้างว่าไม่มีอำนาจเพราะเหตุการณ์ยังไม่เกิดขึ้น จนเมื่อลูกจ้างทนไม่ไหวต้องออกมาปิดถนน หรือจับตัวนายจ้างเป็นตัวประกันนั่นแหละจึงมีคนเริ่มให้ความสนใจ และคนที่เป็นผู้ร้ายในสายตาของประชาชนทั่วไปหรือสังคมก็ คือ “ลูกจ้างหรือสหภาพแรงงานฯ” ต้องกลายเป็นจำเลยของสังคมเพราะไปปิดถนนทำให้ประชาชนเดือดร้อน แล้วเจ้าหน้าที่ของรัฐก็เข้ามาในฐานะผู้ไกล่เกลี่ยซื้อเวลาให้ลูกจ้างเลิกปิดถนนและหลอกให้ลูกจ้างกลับไปรอรับเงินอยู่ที่บ้าน คนที่ได้ผลงานเต็มๆ ก็คือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทำให้ปัญหาการปิดถนนหรือปิดหน้าโรงงานยุติลงได้
 
จึงมีคำถามเกิดขึ้นในใจเสมอทุกครั้งที่ได้ยินข่าวปัญหาของผู้ใช้แรงงานถูกเลิกจ้างหรือถูกลอยแพ ทำไมเจ้าหน้าที่รัฐ จึงไม่ดำเนินการอย่างใดเลยทั้งๆที่รู้ว่าจะช้าหรือเร็วสถานประกอบการก็จะปิดตัวลงอย่างแน่นอนล่วงหน้าแล้ว ได้แต่เฝ้ารอดูไปเรื่อยๆก่อน อย่างเช่นปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับพนักงานบริษัทรามาชูส์ อินดัสตรีส์ จำกัด ในขณะนี้ ปัญหาการจ่ายค่าจ้างไม่ตรงเวลาเกิดขึ้นติดต่อกันมาแล้วหลายเดือน นายจ้างไม่นำส่งเงินสะสมและสมทบให้กับสำนักงานประกันสังคมมาแล้วหลายเดือน นี่คือสัญญาณอันตรายว่านายจ้างจะต้องปิดกิจการลอยแพลูกจ้างแน่นอนในอนาคต จากในอดีตที่ บริษัทรามาชูส์ อินดัสตรีส์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตรองเท้ามีชื่อเสียงส่งออกให้กับต่างประเทศ และมีราคาแพงเงินเดือนของพนักงานอย่างพวกเราต้องใช้ค่าแรงจากการทำงานทั้งเดือนถึงจะสามารถซื้อรองเท้าใส่ได้ เคยมีลูกจ้างไม่ต่ำกว่า 8,000 คน แต่ในวันนี้เหลือลูกจ้างเพียงประมาณ 2,000 กว่าคนเท่านั้น เพราะหลายคนทนแบกรับกับปัญหาค่าครองชีพไม่ไหวเพราะนายจ้างผิดนัดจ่ายค่าจ้างเรื่อยมาทำให้ลูกจ้างรู้สึกว่าเกิดความไม่มั่นคงในอาชีพ และรายได้ส่วนหนึ่งที่เคยได้จากการทำงานล่วงเวลาต้องหายไป ทำให้ลูกจ้างจำนวนมากต้องลาออกจากงานเองไม่สามารถแบกรับปัญหารายจ่ายที่มากกว่ารายได้ หลายคนต้องหันหน้าออกไปหางานใหม่ที่มีรายได้ที่ดีกว่าและมีจำนวนไม่น้อยได้หันหน้ากลับสู่บ้านเกิดที่ชนบท ถือโอกาสเป็นการพักผ่อนจากการตรากตรำงานหนักเพื่อรับใช้นายทุนหลายปีผ่านมา รอไห้เศรษฐกิจดีขึ้นค่อยกลับขึ้นมาหางานทำใหม่ เขาเหล่านั้นได้แต่หวังลมๆ แล้งๆ ว่าวันข้างหน้าอนาคตคงดีกว่าวันที่ผ่านมา
           
“มาจากไหน ก็คน ไม่ใช่หรือ        สองมือ สองขา สองตาเห็น
          มีชีวิตก็อยากสู้ อยากอยู่เย็น        แบกทุกข์ แบกลำเค็ญ มาขายแรง
          แรงใคร ก็แรงงาน ใช่ไหมเล่า       ขอกันกิน เปล่าๆ เสียที่ไหน
          ไทยอีสาน ก็คน อย่าจนใจ           เลือกเกิดได้ ไม่เลือกจน คนขายแรง”
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net