Skip to main content
sharethis

เครือข่ายภาคประชาชนไทยประกาศจัดเวทีคู่ขนานการเจรจาโลกร้อนกรุงเทพฯ

(29 ก.ย.52) ขณะที่ภายในห้องเจรจายูเอ็น เริ่มการเจรจารายประเด็น การลดโลกร้อน การปรับตัวต่อผลกระทบโลกร้อน การให้ความช่วยเหลือด้านการเงินและการให้ความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยี เคียงคู่การเจรจาหาข้อตกลงหลังพิธีสารเกียวโตหมดระยะบังคับใช้ (ปี 2555)

กิ่งกร นริทรกุล ผู้ประสานงานคณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรมไทย นำทีมเครือข่ายภาคประชาชนแถลงหน้าตึกยูเอ็น เรียกร้องมาตรการที่เป็นธรรม 8 ข้อจากเวทีเจราโลกร้อนกรุงเทพ โดยเป็นการแถลงในนาม “สมานฉันท์ประชาชนอาเซียนเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม” ร่วมกับ ผู้แทนภาคประชาชนเอเชีย Farjana Akter (จากองค์กร Voice บังคลาเทศ หนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบโลกร้อนมากที่สุดของเอเชีย) และ ผู้แทนภาคประชาชนจากนอกเอเชียชาวเคนยา Njoki Njehu (จากองค์กร Jubilee South Africa)

Farjana Akter เป็นผู้อ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้อง ดังรายละเอียดด้านล่าง
 

 
 
แถลงการณ์ สมานฉันท์ประชาชนอาเซียนเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม
29 กันยายน 2552
 
พวกเรา สมานฉันท์ประชาชนอาเซียนเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม” มารวมตัวกันวันนี้ที่กรุงเทพฯ เพื่อที่จะประกาศจุดยืนต่อความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ ความขัดแย้งเรื่องทรัพยากรที่ถูกขับเคลื่อนโดยภาคธุรกิจหน้าเลือดและการบริโภคนิยมแบบทาส อันส่งผลให้เกิดระบบควบคุมเบ็ดเสร็จที่จะให้ผลกำไรทางธุรกิจสำคัญกว่าผลประโยชน์สาธารณะ
 
ผลพวงสำคัญประการหนึ่งจากความขัดแย้งนี้คือ การเกิดภาวะโลกร้อนซึ่งก่อผลกระทบต่อโลกอย่างหนักหน่วงเหนือความคาดหมาย ทั้งการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล การถูกบีบให้อพยพเพื่อเอาตัวรอดจากภัยแล้งและความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศของประชาชนจำนวนมหาศาลในหลายพื้นที่ ไม่นับการทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจล้มละลาย คนตกงานและผลกระทบต่อการดำรงชีวิตปกติของประชาชน ซึ่งล้วนเกิดจากอาการป่วยไข้ของโลกจากความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมที่เรากำลังเผชิญกันปัจจุบันอันมีผลมหาศาลต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก
 
หากไม่มีการเรียกร้องถึงความเป็นธรรมและความเท่าเทียมต่อความขัดแย้งนี้ เราก็จะยังคงต้องประสบกับชะตากรรมที่ย่ำแย่ยิ่งขึ้นตามลำดับ ทั้งด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนในระดับโลกและการทำลายระบบนิเวศน์อันมีค่า
 
พวกเรา สมานฉันท์ประชาชนอาเซียนเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม” เชื่อว่าการแก้วิกฤตโลกครั้งนี้ต้องการการปฏิรูประบบเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและการเมืองโลก เพื่อสร้างทางออก หาทางป้องกันและลดผลกระทบมหันตภัยจากวิบัติภัยโลกร้อนครั้งนี้ และส่วนหนึ่งของกระบวนการปฏิรูปดังกล่าวคือ การเรียกร้องให้ภาครัฐลงมือสร้างความเป็นธรรมในการลดโลกร้อน
 
นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องรวมตัวกันที่กรุงเทพวันนี้
 
พวกเรา สมานฉันท์ประชาชนอาเซียนเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม” เป็นการรวมตัวกันของภาคประชาสังคมอาเซียน รวมถึงชุมชนรากหญ้า กลุ่มคนชายขอบที่เป็นเหยื่อโลกร้อน อาทิกลุ่มชนเผ่า ชาวประมง ชาวนา ชาวเขา แรงงาน ผู้อพยพจากวิกฤตโลกร้อน กลุ่มเยาวชน และคนในเมือง
 
พวกเราตัดสินใจที่จะจัดการเดินขบวนใหญ่ตามท้องถนนในวันที่ 5 ตุลาคม ที่จะถึงนี้เพื่อที่จะประกาศข้อเรียกร้องของเราดังนี้
 
1. ประเทศพัฒนาแล้วต้องชดใช้เต็มจำนวนต่อ “หนี้นิเวศน์” ที่พวกเขาก่อขึ้นและส่งผลกระทบต่อประเทศกำลังพัฒนา โดยการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินอย่างไม่มีเงื่อนไขและเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับการจัดการรับมือและลดโลกร้อน รวมถึงการขจัดความยุ่งยากและอำนวยความสะดวกในการใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นโดยไม่ต้องกำลังเรื่องทรัพย์สินทางปัญหาที่มีอยู่
 
2. ประเทศพัฒนาแล้วต้องกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนเป็นธรรมและดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศตนเองทันที
 
3. ประเทศกำลังพัฒนาจะดำเนินการลดโลกร้อนในฐานะมาตรการเสริม บนพื้นฐานการมีสิทธิที่จะพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการพื้นฐานของประชากรตัวเองอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความเป็นธรรม เป็นประชาธิปไตยและไม่ใช่อยู่ในวงจรอาณานิคมสมัยใหม่
 
4. การให้ความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีต้องไม่มีการกำหนดประเภทเทคโนโลยีเฉพาะเจาะจง ที่สำคัญต้องเป็นเทคโนโลยีที่ไม่นำไปสู่ทิศทางที่ผิดและไม่ยั่งยืน อาทิ
- การละเมิดสิทธิมนุษยชนของชนเผ่ากลุ่มผุ้หญิงและกลุ่มคนชายขอบอื่นๆ
- การทำลายสมดุลระบบนิเวศน์ หรือการนำไปรวมเป็นเครดิตก๊าซเรือนกระจกที่ประเทศพัฒนาแล้วต้องลด
- การเปิดโอกาสให้รัฐบาลประเทศพัฒนาแล้วใช้กลไกความช่วยเหลือไปเป็นเครื่องมือทำกำไรให้แก่ภาคเอกชนของตน หรือเครื่องมือการครอบงำการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชาติกำลังพัฒนา
- ยุติการเมือง การดำเนินการและโครงการภายใต้ IFIs ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการแก้ปัญหาโลกร้อน รวมถึงการยุติบทบาทของธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาในภูมิภาคต่าง ๆ ที่มักจะถือโอกาสเข้ามาจัดการปัญหาระดับนานาชาติอย่างวิกฤตโลกร้อน
- ยกเลิกหนี้ที่ไม่เป็นธรรมที่ประเทศกำลังพัฒนาเรียกร้อง เพื่อใช้เป็นก้าวแรกในการช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาเหล่านั้นสามารถรับมือกับวิกฤตโลกร้อน
- ยุติข้อตกลงการค้าและข้อตกลงที่เกี่ยวข้องที่จะนำไปสู่การทำลายระบบสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคมท้องถิ่น ที่ขัดแย้งกับหลักการลดโลกร้อนอย่างเป็นธรรม รวมถึงข้อตกลงที่จะทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากโลกร้อนมากขึ้น
- ยอมรับสิทธิพื้นฐานชนกลุ่มชนเผ่า แรงงาน ชาวนา ชาวเล ชาวเขา ผู้หญิง เยาวชนและกลุ่มคนชายขอบ ในกระบวนการแก้ปัญหาวิกฤตโลกร้อน
 
ทั้งหมดเพื่อให้พวกเรา ประชากรโลก ทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาสามารถร่วมกันฝ่าฟันวิกฤตโลกร้อนร่วมกันอย่างมีประสิทธิผล
 
 

 

“นี่เป็นครั้งแรกและครั้งประวัติศาสตร์ที่ประชาชนอาเซียนลุกขึ้นมาแสดงตัวตนเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาวิกฤตโลกร้อนอย่างเป็นธรรม เคารพสิทธิมนุษยชน และต้องไม่ซ้ำเติมชะตากรรมเหยื่อการพัฒนาที่เป็นอยู่” กิ่งกรกล่าว

“ภาคประชาชนโลกตอนนี้ตื่นตัวและลุกขึ้นมาจับตาการแก้ปัญหาโลกร้อนเพิ่มขึ้นตามลำดับ สิ่งที่ต้องการร่วมกันชัดเจนคือการลงมือแก้วิกฤตอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม” Njehu กล่าว

กิ่งกรเปิดเผยด้วยว่า หลังจากการแถลงท่าทีวันนี้ จะมีการจัดเวทีสาธารณะโลกร้อนภาคประชาชน คู่ขนานกับการเจรจาโลกร้อนในช่วงวันที่ 3-4 ต.ค.นี้ ที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร โดยมีชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโลกร้อนมาร่วมกว่า 500 คนทั่วประเทศ ไม่รวมผู้แทนจากอาเซียนและนอกอาเซียนอีกจำนวนหนึ่ง ในเวทีจะมีการนำเสนอความเดือดร้อน แลกเปลี่ยนความเห็นและจัดทำเป็นข้อเสนอภาคประชาชนให้แก่ทั้งภาครัฐไทยและเวทีเจรจา

 

เครือข่ายเอ็นจีโอโลกด้านโลกร้อนจี้สหรัฐและชาติก่อโลกร้อนแสดงความรับผิดชอบเป็นรูปธรรมในการเจรจาโลกร้อนกรุงเทพ
 
14.00 น. วันเดียวกัน ผู้แทนแนวร่วมองค์กรพัฒนาเอกชน นำโดยไดน่า ฟันเตสฟิน่า ผู้ประสานงานโครงการรณรงค์ลดโลกร้อน tcktcktck เอเชียแปซิฟิก ประมาณ 50 คนได้พากันรวมตัวและโบกธงประจำชาติเดินขบวนจากสวนลุมพินีไปยังบริเวณด้านหน้าสถานทูตสหรัฐอเมริกา ถ.วิทยุ เพื่อยื่น “หมายศาล” เรียกตัวผู้แทนสหรัฐและชาติพัฒนาแล้วที่เป็นจำเลยคดีก่อโลกร้อนดังกล่าว ให้ไปขึ้นศาลภาคประชาชนที่กำลังจะจัดขึ้นสัปดาห์หน้า ในกรุงเทพฯ

“สหรัฐอเมริกาต้องแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองต่อวิกฤตโลกร้อนที่ตัวเองก่อมาหลายทศวรรษที่ผ่านมา หากต้องการหลีกเลี่ยงที่ประสบชะตากรรมจากภัยพิบัติโลกร้อนเช่นกรณีเฮอร์ริเคนแคทรีนาที่ผ่านมา” นางไดน่ากล่าว

“เรายังไม่เห็นความพยายามแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมจากสหรัฐเลย ท่ามกลางผลกระทบจากภัยพิบัตโลกร้อนที่กระหน่ำทั่วโลกตอนนี้ เป็นเรื่องที่ไม่ว่าใครก็ยากจะรับได้” นางไดน่ากล่าว

ระหว่างการรวมตัว ผู้แทน tcktcktck ในชุดเจ้าหน้าที่ศาล (เสมียน) ได้ยื่นหมายศาลให้แก่ผู้แทนจากสถานทูต เพื่อให้ไปปรากฏตัวในการพิจารณาคดีที่ศาลประชาชนในวันอังคารที่ 6 ต.ค.2552 เหมือนกระบวนการจริงของกระบวนการพิจารณาคดีระบบศาลยุติธรรม โดยการไต่สวนคาดว่าจะจัดขึ้นที่โรงแรมปรินซ์พาเลซ ใกล้สถานที่จัดการเจรจาโลกร้อน UNESCAP

ในการไต่สวนจะมีพยานสำคัญเป็นชาวบ้านจากชุมชนห่างไกลในภูมิภาคเอเชียรวม 6 คนที่ได้รับผลกระทบจากโลกร้อนมาให้ปากคำเรื่องความเดือดร้อนดังกล่าวว่าสาหัสหนักหนาเพียงใดต่อชีวิต ครอบครัวและชุมชนของพวกเขา

“เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้แทนรัฐบาลสหรัฐจะปรากฏตัวที่ศาลประชาชนเพื่อเผชิญหน้ากับความเป็นจริงของวิกฤตโลกร้อนและเข้าใจสถานการณ์ความเดือดร้อนของชาวบ้านที่เกิดจากการกระทำจากน้ำมือของพวกเขา” นางไดน่ากล่าว

“ตอนนี้ ขณะที่เราคุยกันอยู่ พายุไต้ฝุ่นกฤษณากำลังมุ่งหน้าเข้าเวียดนามด้วยความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นตามลำดับ ยอดผู้เสียชีวิตในฟิลิปปินส์ตอนนี้เป็น 140 คนแล้วและมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นอีก คนหลายร้อยกำลังติดอยู่กลางน้ำท่วมไม่มีที่ซุกหัวนอน ทั้งไต้ฝุ่นกฤษณาและเฮอร์ริเคนแคทรีนา คือข้อเท็จจริงที่สะท้อนภาพให้เห็นว่า หากเราไม่ลงมือแก้ไขวันนี้ อนาคตจะเป็นอย่างไร ซึ่งมันจะรุนแรงกว่านี้หลายเท่า” นางไดน่ากล่าว

ทั้งนี้ เฮอร์ริเคนแคทรีนาเข้าชายฝั่งรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกาในปี 2548 ทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 2000 คนและน้ำท่วมใหญ่ก่อนที่จะเคลื่อนต่อไปสร้างความเสียหายที่ตอนใต้รัฐหลุยส์เซียน่า นับเป็นเฮอร์ริเคนล่าสุด หนึ่งในห้าครั้งที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ ประเทศหนึ่งในไม่กี่ประเทศเศรษฐกิจสำคัญโลกที่ไม่ยอมลงนามพิธีสารเกียวโตเพราะต้องการหลีกเลี่ยงการมีพันธะสัญญาที่จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกับประชาคมโลก
 

เครือข่ายชาวประมงอาเซียนออกแถลงการณ์หนุนการลดโลกร้อนด้วยวิธีการที่เป็นธรรม

ด้านเครือข่ายประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ออกแถลงสนับสนุนการลดโลกร้อนด้วยวิธีการที่เป็นธรรม โดยระบุว่าเครือข่ายประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอ็นจีโอจัดกิจกรรมต่อเนื่องกับองค์กรภาครัฐระดับภูมิภาค เพื่อผลักดันให้เปลี่ยนวิธีแก้ปัญหาโลกร้อนในภูมิภาค

อาร์เซนิโอ ทันชูลิ่ง ผู้ประสานงานภูมิภาค เครือข่ายประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อความยุติธรรม (Southeast ASIA Fish for Justice Network (SEAFish) กล่าวในแถลงการณ์ว่า จะมีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 29 ก.ย. จนถึง 4 ต.ค. นี้ที่กรุงเทพฯ โดยการประชุมประกอบด้วยการพูดคุยกับกองเลขาธิการระดับภูมิภาคว่าด้วยสามเหลี่ยมปะการัง ซึ่งปัจจุบันมีรัฐบาลอินโดนีเซียเป็นผู้แทน องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) สำนักงานประจำภูมิภาค ในเอเชียและแปซิฟิก และการพบปะกันระหว่างกลุ่มชาวประมงและชาวนารายย่อยกับผู้แทนรัฐบาลอาเซียน

ทันชูลิ่ง กล่าวว่า วิธีการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศปัจจุบันอาศัยระบบตลาด เช่น การแลกเปลี่ยนและชดเชยคาร์บอนมากเกินไป

"ในทางกลับกัน การประชุมจะเน้นให้เห็นถึงคุณค่าของหลักความยุติธรรมด้านภูมิอากาศต่อประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากตามประวัติศาสตร์แล้วประเทศที่ร่ำรวยจะต้องรับผิดชอบกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปและผลกระทบที่เกิดกับประเทศยากจน ที่ควรได้รับสิทธิเรียกร้องการซ่อมแซมและชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น" เขากล่าว

ทันชูลิ่งกล่าวด้วยว่า ประมาณการค่าเสียหายขั้นต่ำที่ประเทศร่ำรวยเป็นหนี้ประเทศยากจน ตั้งแต่ปี ค.ศ.1800-2008  เป็นเงินประมาณ 24 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยไม่รวมค่าชดเชยจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของพวกเขาในอนาคต

"ดังนั้น ชาวประมงรายย่อยและพวกเราจะเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศร่ำรวยให้คำมั่นสัญญาว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจังโดยไม่มีเงื่อนไข และไม่พึ่งพิงการค้าขายและชดเชยคาร์บอน รวมถึงระบบตลาดอื่นๆ"

ทันชูลิ่ง กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้สอดคล้องกับความยุติธรรมด้านภูมิอากาศ เงินทุนสำหรับการปรับปรุงและบรรเทาต้องมาจากประเทศร่ำรวยที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในประวัติศาสตร์ และไม่ควรอยู่ในรูปของสินเชื่อเพื่อจ่ายแก่ประเทศที่ยากจน

 

 
 
Press release
 
Southeast Asian fisheries group to push “climate justice” in regional forums
 
A Southeast Asian network of fisherfolk and non-government organizations is spearheading a series of forums with regional government bodies to push for changes in current measures to address climate change in the region.
 
Arsenio Tanchuling, regional coordinator of the Southeast Asia Fish for Justice Network (SEAFish), said in a statement that the series of activities begins on September 29 and will last until October 4 in Bangkok, Thailand. He said the forums include dialogues with the Regional Secretariat of the Coral Triangle Initiative currently represented by the Indonesian government, the Food and Agriculture Organization (FAO) Regional Office in Asia and the Pacific, and an “interface” between small fishers and farmers groups and ASEAN government representatives.
 
Tanchuling said that current measures to address climate change rely too much on market-based approaches such as carbon trading and offsets. “In contrast, the forums will serve to highlight the recognition of the principle of climate justice on the issue of climate change, according to which rich countries have a historical responsibility for climate change and its impacts on poor countries for which the latter have the right to demand reparations and restitution, he explained.
 
Tanchuling said that the minimum estimate of the monetary equivalent of what the rich countries owed the poor countries from 1800 to 2008 is about USD 24 trillion, and does not include the cost of future emissions as they continue to produce most of the greenhouse gasses (GHG) that cause global warming.
 
“Accordingly, small fishers and we will demand that the governments of rich countries to commit to drastic, deeper and unconditional cuts in carbon and GHG emissions without resorting to carbon trading and offsets and other market approaches,” he said.
 
Tanchuling added that in accordance with climate justice, funding for adaptation and mitigation measures should be borne by rich countries that have produced the most emissions historically and should not be in the form of loans to be paid by poor countries.
 
Date: September 29, 2009
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net