Skip to main content
sharethis

คนดังฟิลิปปินส์และอินโดฯ บินมาร่วมขบวนกลุ่มผู้หญิงและชาวประมง เรียกร้องลดโลกร้อนหน้าตึกเวทีเจรจาโลกร้อนที่ยูเอ็นกรุงเทพฯ

ขณะที่ในเวทีเจรจาโลกร้อนกำลังคร่ำเคร่งกับการถกเถียงเรื่อง “ถอดวงเล็บ” ของคำที่ใช้ในเอกสารเจรจาอย่างไม่ค่อยเห็นความคืบหน้าชัดเจนเป็นวันที่ 3 ด้านหน้าสถานที่เจรจาโลกร้อนวันนี้เต็มไปด้วยสีสัน เสียงเพลง และข้อเรียกร้อง เป็นเวลาหลายชั่วโมงจากกิจกรรมเดินขบวนรณรงค์ของกลุ่มผู้หญิงและกลุ่มชาวประมงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

10.30 น เครือข่ายชาวประมงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มต้นการเดินรณรงค์ที่ท่าเรือพระอาทิตย์ แล่นเรือ 4 ลำพร้อมข้อความรณรงค์และผู้แทนเครือข่ายราว 50 คน ขับย้อนไปที่ปากคลองผดุงกรุงเกษม ก่อนจะย้ายไปขึ้นเรืออีก 3 ลำ ในคลองเนื่องจากเรือเดิมไม่สามารถแล่นผ่านประตูควบคุมน้ำได้ และแล่นเรือทั้ง 3 ลำ (โดยได้รับความอนุญาตจาก กทม.) มุ่งไปจอดบริเวณด้านหน้าอาคารสหประชาชาติ ก่อนขึ้นมาทำกิจกรรมบริเวณหน้าตึกด้วยการล้มตัวลงนอนเสมือนตายบนพื้นถนน

“เราต้องการส่งข้อความว่าเรากำลังจะตายจากผลกระทบโลกร้อน โดยเฉพาะกลุ่มประมงริมฝั่งซึึ่งเดือดร้อนหนักต่อระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” Glenn Ymata เลขาธิการเครือข่ายชาวประมงฯ กล่าว

เครือข่ายชาวประมงแถลงการณ์กล่าวโทษกลุ่มประเทศ “เหนือ” (พัฒนาแล้ว) ว่าเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดน้ำท่วมสาหัสในฟิลิปปินส์ เวียดนามและกัมพูชา อันเนื่องมาจากไต้ฝุ่นกฤษณา (Ketsana) ที่โจมตีหนักหน่วงทำให้คนเสียชีวิตนับร้อยและไร้ที่อยู่อาศัยอีกหลายพันตอนนี้

“เราเชื่อว่าเหตุของฝนตกห่าใหญ่อย่างไม่คาดฝันครั้งนี้เกิดจากวิกฤตโลกร้อน” นายปาโบล โรซาเลส ชาวประมงจากฟิลิปปินส์กล่าว (ดูแถลงการณ์ข้างล่างประกอบ)

 

 
 แถลงการณ์ชาวเลโลกร้อน
 
ชาวเลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โทษประเทศ เหนือ ตัวการอุทกภัยหนักในภูมิภาค
วันนี้ (1 ต.ค.52) เครือข่ายชาวประมงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แถลงการณ์กล่าวโทษกลุ่มประเทศ “เหนือ” (พัฒนาแล้ว) ว่าเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดน้ำท่วมสาหัสในฟิลิปปินส์ เวียดนามและกัมพูชา อันเนื่องมาจากไต้ฝุ่นกฤษณา (Ketsana) ที่โจมตีหนักหน่วงทำให้คนเสียชีวิตนับร้อยและไร้ที่อยู่อาศัยอีกหลายพันตอนนี้
 
“เราเชื่อว่าเหตุของฝนตกห่าใหญ่อย่างไม่คาดฝันครั้งนี้เกิดจากวิกฤตโลกร้อน” นายปาโบล โรซาเลส ชาวประมงจากฟิลิปปินส์กล่าว
 
นายโรซาเลสกล่าวว่า ขณะที่รัฐบาลชาติต่างๆ กำลังนั่งเจรจาเรื่องโลกร้อนอยู่ในกรุงเทพฯ ตอนนี้ เขายังไม่เห็นมีการพูดถึงการปรับตัวรับมือกับวิกฤตโลกร้อนสำหรับเหยื่อโลกร้อนที่กำลังเผชิญชะตากรรมแสนสาหัสในชุมชนบริเวณชายฝั่งแต่อย่างใด ประเด็นเจรจาพุ่งไปคุยแต่เรื่องตลาดคาร์บอนเท่านั้น
 
จากรายงานธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ระบุชัดว่ามีปัจจัยสำคัญหลายประการที่บ่งชี้และอธิบายว่าทำไมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึงเป็นภูมิภาคหนึ่งที่ตกอยู่ในชะตากรรมเสี่ยงจากวิกฤตโลกร้อน ประชากรกว่า 563 ล้านคนของภูมิภาคอาศัยอยู่ตามพื้นที่ชายฝั่งและเผชิญวิกฤตจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ขณะเดียวกันชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่พึ่งพาการเกษตรและประมงในการดำรงชีวิตก็จะต้องเผชิญกับภาวะแห้งแล้ง น้ำท่วมและพายุไซโคลน (พายุฤดูร้อน)
 
เวทีเจรจาโลกร้อนกรุงเทพซึ่งเป็นการประชุมครั้งที่ 9 ของ AWG* และครั้งที่ 7 ของ AWG-LCA** นับเป็นการเจรจารอบสำคัญก่อนที่จะนำผลไปดำเนินการเพื่อสรุปและตัดสินใจในการประชุมภาคีสมาชิกอนุสัญญา (COP 15) ที่โคเปนเฮเกน
 
“ขณะที่การเจรจาดำเนินไป เราไม่คาดหวังต่อรัฐบาลโดยเฉพาะรัฐบาลประเทศ “เหนือ” ทั้งหลายว่าจะยอมหันมาเจรจราเรื่องการปรับตัวรับมือโลกร้อน เพราะเรารู้ดีว่าเรื่องเดียวที่เขาเจรจาคือทำอย่างไรจะหาเงินได้จากการค้าคาร์บอน” นายธิฮาราม ผู้นำชาวประมงจากอินโดนีเซียซึ่งเดินทางมาสังเกตการณ์การเจรจาโลกร้อนกรุงเทพ กล่าว
 
นายปาโบล โรซาเลสและนายธิฮารามเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายชาวประมงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อความเป็นธรรม (SEAFIsh for Justice) ซึ่งร่วมขบวนเรือชาวประมงจากแม่น้ำเจ้าพระยาสู่คลองผดุงกรุงเกษมเทียบท่าที่หน้า UN ESCAP สถานที่จัดการเจรจาฯ วันนี้เพื่อสื่อให้ชาวโลกเห็นถึงความไม่แน่นอนของการเจรจาที่กำลังดำเนินอยู่
 
SEAFIsh for Justice เป็นความร่วมมือระดับภูมิภาคระหว่างองค์กรพัฒนาเอกชนในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม กัมพูชา ไทย มาเลเซียและพม่าที่ทำงานด้านประมง
 
หลังจากล่องขบวนเรือถึงยูเอ็น ตัวแทนชาวประมงได้มอบหน่ออ่อนต้นโกงกาง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ป่าชายเลน ให้กับผู้แทนเจรจาของประเทศ “เหนือ” และประเทศพัฒนาแล้ว เพื่อส่งข้อความให้ประเทศเหล่านั้นว่าจะเริ่มดำเนินการฟื้นฟูป่าชายเลนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือจะรอเผชิญกับผลกระทบต่อเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลจากวิกฤตโลกร้อน (เสนอรูปธรรมการปรับตัวรับมือกับโลกร้อน)
 
 
*การประชุมพันธกรณีต่อเนื่องสำหรับประเทศในภาคผนวก 1 ภายใต้พิธีสารเกียวโต (The Ninth session of the Adhoc Working Group (AWG) – Kyoto Protocol)
** ความร่วมมือระยะยาวภายใต้อนุสัญญาสหประชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (The seventh session of the AWG – Long Term Cooperative Action)
 
 
 

ขบวนเครือข่ายผู้หญิงพาเหรดร้องความยุติธรรมธรรมเรื่องโลร้อน แจงผู้หญิงต้องมีส่วนร่วมมากขึ้น เหตุได้รับผลกระทบมากกว่า

ด้านเครือข่ายผู้หญิงได้เริ่มทำกิจกรรมราว 10.30 น.บริเวณสวนสันติชัยปราการ มีการตั้งขบวนเดินตามท้องถนนอย่างมีสีสัน มาจนถึงหน้าบริเวณยูเอ็นราว 11.00 น โดยมีผู้ร่วมขบวนเป็นหญิงชาวเอเชียในชุดแต่งกายชาติตัวเองหลากหลาย ถือป้ายเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศในข้อตกลงการดำเนินการใดๆ ด้านโลกร้อน ด้วยเหตุผล “เพราะผู้หญิงมักจะได้รับผลกระทบมากกว่าเวลาเกิดภัย เช่นกันผลกระทบโลกร้อนก็จะเกิดกับผู้หญิงมากกว่า ดังนั้นการเรียกร้องความเท่าเทียมและเป็นธรรมทางเพศจึงเป็นเรื่องจำเป็นยิ่งในการเจรจาโลกร้อนซึ่งจะมีผลต่อทุกคนบนโลก” (ดูรายละเอียดในแถลงการณ์แนบท้ายประกอบ)

ในขบวนของเครือข่ายผู้หญิงมีคนดัง 3 คนจากฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียเข้าร่วมด้วย คือมีเรียม เควียมเบา ดารานางแบบและรองนางงามจักรวาลอันดับ 1 ปี 1999 มาร์ค เนลสัน นายแบบ พิธีกรชื่อดังและผู้ชนะคนที่สามจากรายการอเมซซิ่งเรซ ฤดูกาลที่สอง และออปปี อันดาราสตา ศิลปินเพลงแร็ปชื่อดังจากอินโดนีเซีีย

“แม้ว่าฉันจะเป็นดารา นางงามแต่ก็เคยทำงานด้านทีวีและมีประสบการณ์เห็นความยากลำบากของชาวฟิลิปปินส์ด้วย ส่วนหนึ่งผ่านการเดินทางและทำงานของฉันเอง เรื่องราวที่ฉันได้ประสบ เหล่านี้เป็นพื้นฐานส่วนตัว พอถูกชวนให้มาร่วมขบวนวันนี้ฉันจึงไม่ลังเลที่จะเข้าร่วม ผลกระทบโลกร้อนมันชัดมาก สองสามวันที่ผ่านมาพายุในฟิลิปปินส์รุนแรง คนเจ็บคนตาย ฉันพยายามช่วยโดยการเป็นอาสาสมัครผ่านรายการทีวี ได้เห็นผลกระทบโลกร้อนตรง ๆ ฉันรู้สึกมากว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่แค่เกิดกับคนจนเท่านั้นแต่สามารถเกิดกับคนใกล้ตัวเรา ทุกคนไม่เว้นรวยจน และเราไม่มีเวลาลังเลอีกต่อไป ฉันได้แต่หวังว่าประเทศพัฒนาแล้วจะตระหนักถึงความเป็นจริงเหล่านี้และตัดสินใจทำให้การเจรจาที่กำลังดำเนินอยู่ออกมาอย่างเป็นธรรมต่อทุกคน” มีเรียม เควียมเบา กล่าว

“นี่เป็นครั้งแรกของผมที่ได้เข้าร่วมการกิจกรรมเช่นนี้ เพราะรู้สึกว่าโลกร้อนเป็นประเด็นที่ใกล้ตัวเราทุกคนมาก ดูอย่างสิ่งที่เกิดในฟิลิปปินส์ตอนนี้เป็นตัวอย่าง เหล่านี้คือประจักษ์พยานความรุนแรงจากธรรมชาติที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเราต้องลงมือแก้ไขเพื่ออนาคตของเรา เพื่อเด็กๆ ของเรา ผมไม่ได้หวังอะไรมาก ผมมาเพราะคิดว่านี่คือส่วนเล็กๆ ที่ผมพอจะทำได้เลยตอนนี้ และหวังว่าเสียงที่ผมร่วมส่งออกไปจะได้ยินถึงในห้องเจรจาแล้วทำให้บรรดาผู้แทนเจรจาจะตัดสินใจในสิ่งที่ถูกต้องและเป็นธรรม” มาร์ค เนลสันกล่าว

ส่วนในห้องเจรจาซึ่งแยกเป็นห้าห้อง วันนี้แต่ละห้องยังคงเจรจาต่อเนื่องและยังไม่มีข้อสรุปชัดเจน คาดว่าพรุ่งนี้จะสามารถสรุปความคืบหน้า 3 วันแรกได้อย่างไม่เป็นทางการ มีรายงานข่าวว่าตอนนี้่คำถามเดียวกันกับที่นักข่าวถามเรื่องความคืบหน้าถูกถามจากรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเช่นกัน เย็นนี้ทางกระทรวงต่างประเทศนัดคุยกับ รมว.อาเซียน คาดว่าพรุ่งนี้จะสามารถถามความคืบหน้าส่วนนี้ด้วย เข้าใจว่าเป็นการพยายามหาจุดยืนร่วมของ รมว.อาเซียนต่อเรืี่องโลกร้อนที่จะประกาศในเวทีโคเปนเฮเกน
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net