เชฟรอนเปิดเวทีฟังความเห็น มีเสียงติงซ้ำรอยลุ่มน้ำปากพนัง หวั่นนักวิชาการเอียงข้างบริษัท

 
เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2552 เวลา 08.30 น. ที่ห้องประชุมศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น เพื่อกำหนดขอบเขตการศึกษารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ (EIA) โครงการก่อสร้างศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด โดยมีนายภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานการประชุม มีตัวแทนส่วนราชการ นักวิชาการและภาคประชาสังคมในจังหวัดนครศรีธรรมราชเข้าร่วมประมาณ 30 คน
 
นางศุภรัตน์ โชติสกุลรัตน์ ผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อม บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ได้นำเสนอขอบเขตการศึกษารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการดังกล่าวว่า ขอบเขตที่บริษัทที่ปรึกษากำหนดให้มีการศึกษา มีประเด็นผลกระทบสำคัญที่ต้องศึกษาในรายละเอียด ครอบคลุมทั้งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม สังคมและสุขภาพ
 
นางศุภรัตน์ ชี้แจงต่อไปว่า ภายใต้กรอบดังกล่าว ประเด็ที่ต้องศึกษา จึงประกอบด้วย ผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยาบนบกและในทะเล พื้นที่อ่อนไหวและเขตอนุรักษ์ตามกฎหมาย ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งและการทับถมของตะกอน การเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นทะเล ผลกระทบต่อคุณภาพน้ำและสิ่งมีชีวิตในน้ำ ทรัพยากรประมง การทำประมงและการเดินเรือ การเพิ่มปริมาณการสัญจรทางน้ำ การเปลี่ยนแปลงลักษณะทางสังคม และการโยกย้ายที่อยู่ของครัวเรือน การเพิ่มขึ้นของยานพาหนะ เสียงดังและการเปลี่ยนแปลงของคุณภาพอากาศระหว่างการก่อสร้างและระยะดำเนินงาน การเพิ่มความต้องการระบบสาธารณูปโภค และการเปลี่ยนแปลงปัจจัยกำหนดผลกระทบด้านสุขภาพ
 
นางศุภรัตน์ ชี้แจงอีกว่า สำหรับที่ตั้งโครงการบริเวณชายฝังบ้านบางสาร ตำบลกลาย อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ในขณะที่องค์ประกอบของโครงการประกอบด้วย ที่อยู่บนบกได้แก่ พื้นที่พัฒนาโครงการ 105 ไร่ เพื่อสร้างอาคารสำนักงาน อาคารเก็บวัสดุและลานกองวัสดุ พื้นที่ก่อสร้างถนนเข้าโครงการ 36 ไร่ และพื้นที่ว่างเปล่าซึ่งจัดให้เป็นพื้นที่สีเขียว 254 ไร่ รวม 395 ไร่ ส่วนองค์ประกอบที่อยู่ในทะเล ได้แก่ ท่าเทียบเรือรูปตัว L ห่างจากฝั่งประมาณ 400 - 600 เมตร โดยก่อสร้างสะพานยกระดับเชื่อมท่าเรือกับพื้นที่โครงการบนบก กำแพงกันคลื่น และร่องน้ำทางเข้าออกท่าเรือโดยการขุดลอกร่องน้ำลึก 8.5 กิโลเมตร ยาว 2.5 กิโลเมตรและแอ่งกลับเรือกว้างประมาณ 60 เมตร โดยตะกอนจากการขุดลอกจะนำไปทิ้งในทะเลห่างจากฝั่งประมาณ 10 - 25 กิโลเมตร ลึก 15 เมตร
 
จากนั้น ได้เปิดให้ผู้เข้าร่วมได้ถามและแสดงความคิดเห็น โดยผู้เข้าร่วมได้แสดงความคิดเห็นเห็นกันอย่างกว้างขวางถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการก่อสร้างท่าเรือ โดยเฉพาะผลกระทบจากการขุดลอกร่องน้ำและการทิ้งตะกอน ผลประโยชน์ที่ท้องถิ่นจะได้รับ การบริหารองค์กรแบบธรรมาภิบาล และการดำเนินธุรกิจเพื่อชุมชน หรือซีเอสอาร์ (CSR)
 
นายมานะ ภัทรพาณิช ที่ปรึกษาด้านการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม กล่าวว่า การศึกษาความเหมาะสมในเรื่องการขุดลอกร่องน้ำยังไม่แล้วสร็จ คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 2552 โดยเหตุที่กำหนดพื้นที่ดังกล่สวในการทิ้งตะกอน เนื่องจากเห็นว่าอยู่ห่างจากพื้นที่อ่อนไหว คือ แนวปะการังเทียมประมาณ 5 กิโลเมตร เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ประมาณ 2 ตารางกิโลเมตร เพราะหากที่มีการถมตะกอนปริมาณ 1 ล้านคิว จะทำให้พื้นทะเลสูงขึ้น ไม่เกิน 1 เมตร ส่วนศึกษาเรื่องการฟุ้งกระจายของตะกอนขณะก่อสร้างยังไม่ได้ข้อสรุป แต่พบกระแสน้ำพัดเป็นแนวเหนือใต้ จึงไม่น่าจะพัดพาตะก่อนาเข้าหาฝั่ง
 
นายสมหมาย คชนูด อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย(มทร.) อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวต่อที่ประชุมว่า การศึกษาเรื่องผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำและการกัดเซาะชายฝั่งยังไม่ชัดเจน การที่บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด แจกสิ่งของให้กับองค์กรต่างๆ ในจังหวัดนครศรีธรรมราช เช่น การมอบคอมพิวเตอร์ให้โรงเรียน เป็นการซื้อคน ไม่ต่างจากการซื้อเสียงของนักการเมือง และขอให้นักวิชาการแสดงบทบาทให้ชัดเจนว่ามีความเป็นกลางและเป็นอิสระ ไม่ใช่เดินคร่อมเลนทำงานให้บริษัทไปด้วยเป็นนักวิชาการไปด้วย ซึ่งชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชได้รับบทเรียนมาแล้วจากนักวิชาการที่เข้าไปศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้กับโครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่วันนี้ยังมีปัญหาความคัดแย้งกับชาวบ้านอยู่ เหตุใดจึงศึกษาผลกระทบทีละโครงการ เพราะหากรวมจากทุกโครงการแล้ว เชื่อว่าจะมีผลกระทบมหาศาล ทำไมจึงไม่ศึกษาผลกระทบในภาพรวม ทั้งที่ชาวบ้านต้องอยู่กับโครงการตลอดไป ส่วนที่ปรึกษาโครงการทำเสร็จแล้วก็ไป
 
นางสาวดุษชฎา เลี้ยงบุญเลิศชัย ผู้จัดการฝ่ายสร้างเสริมการมีส่วนร่วมชุมชน บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า บริษัท เชฟรอน ดำเนินงานอยู่ทั่วโลก ทำถูกต้องทั้งกฎหมายและจริยธรรมมากที่สุด ตอบยากว่าชาวบ้านจะได้เท่าไหร่กี่เปอร์เซ็นต์ แต่ให้โดยถามความต้องการของชาวบ้าน พอใจกันทั้งผู้ให้และผู้รับศักดิ์ศรีจึงเท่ากัน
 
นางวิลาสินี อนุมัติศิริ อาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ปรึกษาการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพ กล่าวว่า พื้นฐานของการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ต้องให้มีการมีส่วนร่วมด้วย ถ้านักวิชาการไม่ทำอะไรเลยที่เป็นการสร้างการมีส่วนร่วม มหาวิทยาลัยคงไม่ยอม เพราะนักวิชาการมีความรู้และการดำเนินโครงการใหญ่คงไม่สามารถทำได้โดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างเดียว เจตนารมณ์คือสร้างธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม สามารถชี้นำสังคมได้ แต่ก็ต้องเป็นอิสระ ไม่มีใครบังคับให้ต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่งได้ และไม่ได้มีเจตนาร้ายกับชาวนครศรีธรรมราช

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท