Skip to main content
sharethis
3 ต.ค. 52 - สืบเนื่องจากการเจรจาโลกร้อนให้กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดยประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมแก้ไขปัญหาโลกร้อนที่ศูนย์ประชุมองค์การสหประชาชาติ ซึ่งมีประเด็นที่อาจจะมีกลไกควบคุมเรื่องโลกร้อนนี้กับประเทศกำลังพัฒนาและภาคเกษตร แทนที่จะเป็นกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมและประเทศพัฒนาเพียงกลุ่มเดียว ภาคประชาชนไทยจึงมีสียงสะท้อนดังนี้
เพ็ญโฉม ตั้ง ผู้ประสานงานคณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม กล่าวว่า จากทิศทางการเจรจาโลกร้อนที่ดำเนินอยู่เป็นไปได้สูงมากว่าผลที่ออกมา กลไกการแก้ไขวิกฤตโลกร้อนจะส่งผลต่อสังคมไทยในระดับพื้นที่ต่าง ๆ ในแง่ที่จะเพิ่มความรุนแรงของการละเมิดสิทธิชาวบ้าน ชุมชนและสิ่งแวดล้อมให้สูงขึ้นจากระดับที่เป็นอยู่ โดยอ้างว่าเพื่อเหตุผลลดโลกร้อนตามข้อตกลงระดับนานาชาติ
“การพัฒนาที่ผ่านมามักจะส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิคนไทยอยู่แล้ว โดยเฉพาะกลุ่มคนรากหญ้า คนเล็กคนน้อย คนชายขอบซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ข้อตกลงโลกร้อนมีโอกาสเพิ่มความรุนแรงการละเมิดนี้สูง หากพิจารณาจากกลไกการพัฒนาบ้านเราที่เป็นอยู่”
“โดยภาพรวม การลดก๊าซเรือนกระจกควรทำในประเทศพัฒนาแล้วในภาคพลังงานและอุตสาหกรรมเป็นหลัก การเจรจาที่เป็นอยู่กลับมีแนวโน้มให้ผลตรงกันข้าม คือมีกลไกที่จะส่อเน้นในประเทศกำลังพัฒนาและภาคเกษตร” เพ็ญโฉมกล่าว
ดร. อาภา หวังเกียรติ อาจารย์วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่าแนวโน้มที่น่ากังวลสำหรับประเทศไทยคือ การโอนย้ายอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากประเทศพัฒนาแล้วเข้ามาสู่ประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทย เพื่อทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศตนเองลดลงตามพันธะสัญญาโลกร้อน
“อุตสาหกรรมถลุงเหล็กอันดับต้น ๆ ของโลกในญี่ปุ่น ยุโรปถูกกดดันให้ลดการปล่อยก๊าซ กำลังย้ายฐานมาไทย ตัวเลขล่าสุดระบุว่าจะมีการตั้งโรงถลุงเหล็กขั้นต้นในบ้านเรามากถึงปีละ 50-60 ตัน จากตอนนี้ซึ่งยังไม่มีอุตสาหกรรมนี้เลย ที่มีอยู่ก็เป็นขั้นกลางซึ่งก็มีปัญหากับชุมชนและสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือการกดดันให้ไทยต้องมีการป้อนพลังงานมหาศาลให้อุตสาหกรรมประเภทนี้ ซึ่งเพิ่มอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย และที่สำคัญ ผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมก็จะหนักขึ้น การละเมิดสิทธิก็มีแนวโน้มหนักหนาขึ้น” ดร.อาภา กล่าว
สุพจน์ ส่งเสียง แกนนำชาวบ้าน กลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง อ.บางสะพาน ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งคัดค้านโครงการถลุงเหล็ก (ขั้นกลาง) สหวิริยา ในพื้นที่กล่าวว่า ชาวบ้านบางสะพานปัจจุบันก็ถูกรัฐไทยละเมิดสิทธิอยู่แล้วผ่านการบังคับให้ต้องเป็นพื้นที่รองรับอุตสาหกรรมเหล็ก โดยไม่ถามเคยแจ้งหรือถามความเห็นชาวบ้าน ไม่มีการให้ชาวบ้านเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่
“เราถูกละเมิดสิทธิผ่านกฎหมายและกลไกรัฐเท่าที่มีปัจจุบันอยู่แล้ว เรามีกฎหมายสิ่งแวดล้อม กระบวนการอีไอเอ แต่หน่วยงานรัฐเองเป็นฝ่ายไม่ยอมทำตามและบิดเบือนกฎหมายที่ยอมรับสิทธิชุมชน ซึ่งเราก็พยายามต่อสู้ในเรื่องนี้ คำถามคือการตกลงเรื่องโลกร้อนที่เป็นระดับต่างประเทศนั้น อาจจะฟังดูดี แต่พอมาถึงบ้านเรา ชุมชนเรา มันจะถูกใช้แบบบิดเบือนแบบกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ของเราไหม” สุพจน์กล่าว
สันติ โชคชัยชำนาญกิจ แห่งเครือข่ายจับตานิวเคลียร์ กล่าวว่า อีกรูปแบบของการละเมิดสิทธิในพื้นที่ชุมชนไทยจะเกิดผ่านกระบวนการผลักดันโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของรัฐบาล ซึ่งตอนนี้เริ่มเกิดขึ้นแล้วในหลายพื้นที่
“มีการเข้าไปขุดเจาะและเอาคอนกรีตเทในที่นาชาวบ้านในชัยนาทโดยไม่ได้รับอนุญาต ที่นครสวรรค์ก็มีการเข้าไปสำรวจโดยบริษัที่ถูกจ้างด้วยงบรัฐบาล 174 ล้านบาท แค่เริ่มต้นสำรวจก็ละเมิดสิทธิชุมชนแล้ว”
“นิวเคลียร์ถูกอ้างว่าเป็นพลังงานช่วยลดโลกร้อน ซึ่งในความเป็นจริงไม่ใช่หากมองตั้งแต่กระบวนการได้เชื้อเพลิงนิวเคลียร์อย่างครบวงจรนิวเคลียร์ไม่ได้เป็นแหล่งพลังงานลดโลกร้อนอย่างที่กล่าวอ้าง ตรงนี้มีข้อมูลวิชาการรองรับชัดเจน”
“ข้อเท็จจริงคือคนไทยทั้งประเทศใช้พลังงานแค่ 20% เท่านั้น ที่เหลือส่วนใหญ่ใช้สำหรับภาคอุตสาหกรรม ความไม่เป็นธรรมคือ เรากำลังใช้ต้นทุนประเทศเพื่อหาพลังงานเพิ่มและจะใช้นิวเคลียร์เพื่อตอบสนองความต้องการอุตสาหกรรมกลุ่มหนึ่งเท่านั้น” สันติกล่าว
วนัน เพิ่มพิบูลย์ จากมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่าความไม่เป็นธรรมของกลไก Clean Development Mechanism (CDM) เป็นอีกเรื่องที่ต้องพิจารณา เพราะในทางปฏิบัติแล้ว CDM ทำให้ประเทศพัฒนาแล้วได้เครดิตโดยไม่ต้องลดก๊าซเรือนกระจกที่บ้านตัวเอง ขณะที่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องก็ได้กำไร และประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทยที่สุดแล้วไม่ได้อะไรเลย และมีแนวโน้มเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนด้วย
“แม้ตัวการทำ CDM เองจะไม่มีปัญหา แต่มันก็อยู่ในโครงการที่มีปัญหาอย่างเช่นโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลซึ่งมีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชน มลพิษฝุ่นต่าง ๆ ที่สำคัญมันเป็นการสนับสนุนทางอ้อมที่จะให้ประเทศพัฒนาแล้วไม่ต้องลดก๊าซฯ ที่บ้านตัวเอง”
ภาคประชาสังคมเสนอทางออกด้วยการพัฒนาที่เน้นฐานทรัพยากรและศักยภาพพื้นที่ พึ่งตัวเองอย่างพอเพียงเป็นทางออก ที่จะลดก๊าซเรือนกระจกและตั้งรับต่อผลกระทบวิกฤตโลกร้อนอย่างยั่งยืน
ศุภกิจ นันทะวรการ จากสถาบันวิจัยมูลนิธินโยบายสุขภาวะ เสนอให้การทบทวนทิศทางพัฒนาพลังงานผ่านแผนพัฒนาพลังงาน (PDP) ที่มีอยู่เป็นรูปธรรมของทางออก สู่การพัฒนาพลังงานเพื่อลดโลกร้อนอย่างยั่งยืน
“แผนพลังงานฯ 2550 ที่เรามีอยู่มีทิศทางชัดเจนที่จะเน้นแหล่งพลังงานที่เพิ่มวิกฤตโลกร้อน ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นมาก ตั้งบนวิธีคิดคล้ายกับนโยบายสหรัฐฯ สมัยบุชที่ผ่านมาที่โอ๋ธุรกิจพลังงานจนโดนโลกประนามว่าไม่ร่วมมือแก้ไขปัญหาโลกร้อน เรากำลังอยู่บนทิศทางนั้น ซึ่งต้องระวังผลที่จะตามมา”
“ทางออกที่เหมาะสมและเป็นไปได้คือทบทวนแผนดังกล่าว ปรับเปลี่ยนสู่ทิศทางการพัฒนาพลังงานที่เน้นพลังงานหมุนเวียนที่ดำเนินการโดยชุมชน สำหรับภาคอุตสาหกรรมเรามีพลังงานสำรองตอนนี้เหลือเฟือพอที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมให้ยั่งยืน แต่ต้องไม่อ้าแขนรับอุตสาหกรรมประเภทที่ใช้พลังงานเข้มข้นอย่างอุตสาหกรรมเหล็กที่มีแนวโน้มว่าจะโอนถ่ายมาเพื่อลดการปล่อยก๊าซโลกร้อนในประเทศพัฒนาแล้วอย่างที่เป็นอยู่ ด้วยทิศทางใหม่จะเกิดการพัฒนาพลังงานที่พอเพียง พึ่งตัวเองและยั่งยืนแท้จริง” ศุภกิจกล่าว
ศยามล ไกรยูรวงศ์ โครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยากล่าวเสริมว่า เป็นไปได้สูงว่าไทยจะสามารถเติบโตทางเศรษฐกิจได้โดยที่เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมที่อยู่บนฐานทรัพยากร ฐานความรู้และศักยภาพของแต่ละพื้นที่เอง ซึ่งไม่ใช่ทิศทางพัฒนาอุตสาหกรรมแบบที่เป็นอยู่
“ด้วยทิศทางพัฒนาอุตสาหกรรมแบบใหม่นี้ เราจะสามารถไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมที่สามารถลดโลกร้อนอย่างยั่งยืน ไม่ว่าผลการเจรจาระดับโลกจะเป็นอย่างไร” ศยามลกล่าว
ข้อเสนอและความเห็นของภาคประชาสังคมข้างต้นนี้นำเสนอในการประชุมคู่ขนานการเจรจาโลกร้อนกรุงเทพที่ดำเนินการอยู่ โดยการประชุมภาคประชาชนนี้จะดำเนินต่อเนื่องถึงวันอาทิตย์ที่ 4 ต.ค.
โดยในวันนี้ (3 ต.ค.) ได้มีวิทยาการจากต่างประเทศร่วมด้วย คือ Larry Lohmann ซึ่งนำเสนอว่าเวทีเจรจาโลกร้อนมีแนวโน้มสูงที่จะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมโดยเฉพาะกับในประเทศกำลังพัฒนา Tea Soentoro จาก NGO Forum on ADB เน้นว่าการแก้วิกฤตโลกร้อนต้องตระหนักเรื่องความเท่าเทียมทางเพศและมิติหญิงชายด้วย ขณะที่ Lidy Nacpil จากกลุ่ม Jubilee South /APMDD กล่าวถึงความไม่เป็นธรรมต่อสิ่งแวดล้อมในมิติ “หนี้นิเวศ”
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net