Skip to main content
sharethis

ในขณะที่ “ปรากฏการณ์โลกร้อน” ถูกผลักดันให้เห็นเป็นปัญหาร่วมกันของชุมชนโลก ประเทศไทยเองก็ได้เขาไปเกี่ยวข้องปัญหาดังกล่าว แม้จะยังไม่พันธกิจต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ก็มีแนวโน้มในการร่วมปล่อยมลพิษเพิ่มมากขึ้นจากการพัฒนา โดยเฉพาะในภาคพลังงาน ซึ่งการศึกษาที่ผ่านมาถือว่าเป็นภาคการผลิตที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดของไทย

ดังนั้น ทางเลือกด้านพลังงานจึงถูกถูกจับตามองเพื่อใช้เป็นมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดปัญหาโลกร้อน ด้วยนโยบายสนับสนุนการลงทุนด้านพลังงานทดแทน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานทางเลือก รวมทั้งพลังงานหมุนเวียน และลดการใช้พลังงานฟอสซิล หนุนการใช้พลังงานสะอาด

อย่างไรก็ตาม กลไกเพื่อตอบสนองต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกดังกล่าว ยังถูกตั้งคำถามในเรื่อง “ความเป็นธรรม” เมื่อโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ยังต้องเกิด โรงงานขนาดอุตสาหกรรมที่ก่อปัญหามลพิษยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐ อีกทั้งปัญหาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เกิดกับชุมชนในพื้นที่ตั้งโครงการก็ยังไม่ได้รับการคลี่คลาย 

 

ความจริงของ “นิวเคลียร์” พลังงานสะอาด? ลดปัญหาโลกร้อน?

สันติ โชคชัยชำนาญกิจ เครือข่ายจับตานิวเคลียร์ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพปัญหาของ “พลังงานนิวเคลียร์” ในการเสวนา “ความไม่เป็นธรรมของการลดโลกร้อนภาคพลังงานและอุตสาหกรรมไทย” เมื่อวันที่ 3 ต.ค.52 ในเวที “ลดโลกร้อน ต้องทำอย่างเป็นธรรม” ซึ่งเป็นเวทีสาธารณะโลกร้อนภาคประชาชน คู่ขนานกับการเจรจาโลกร้อน กรุงเทพฯ เพื่อนำเสนอความเดือดร้อน แลกเปลี่ยนความเห็น และจัดทำเป็นข้อเสนอภาคประชาชนให้แก่ทั้งภาครัฐไทยและเวทีเจรจาฯ ที่โดยคณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม (TCJ) ร่วมกับเครือข่ายองค์กรประชาชนไทย

เขากล่าวว่า พลังงานนิวเคลียร์ไม่ไช่พลังงานหมุนเวียนเพราะแท่งเชื้อเพลิงที่ใช้ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ มีวัตถุดิบมาจากสินแร่ยูเรเนียมซึ่งมีอยู่น้อยมากในธรรมชาติ และการทำเหมืองแร่ยูเรเนียมใช้เชื่อเพลิงฟอสซิลเป็นจำนวนมาก อีกทั้งหากสินแร่คุณภาพดีหมดไปต้องใช้สินแร่เกรดต่ำที่กระบวนการได้มามีการลงทุนที่แพงมาก ใช้พลังงานมากและต้องมีการปล่อยคาร์บอนเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีเตาปฏิกรณ์อยู่แล้วประมาณ 440 เครื่องทั่วโลก ใช้สินแร่ยูเรเนียมเกรดดี (ที่คุ้มค่าในการลงทุน) ไปได้อีก 40-60 ปี ยิ่งถ้าเพิ่มโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มากขึ้นจะยิ่งหมดเร็วขึ้น และราคาแร่จะแพงขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากนั้นในกระบวนการผลิตของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่นับตั้งแต่การทำเหมืองแร่ยูเรเนียม มีการผ่านกระบวนการต่างๆ จนมาสู่โรงงานประกอบแท่งเชื้อเพลิงเพื่อเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ไปจนถึงกระบวนการจัดการกับเชื้อเพลิงใช้แล้วและกากนิวเคลียร์ที่เป็นอันตรายนั้นไม่ได้ปลอดคาร์บอน โดยเมื่อคำนวนปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) คิดเป็นกรัม/กิโลวัตต์ชั่วโมง จะเท่ากับ 1 ใน 3 ของโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ และจะใกล้เคียงกันถ้าใช้แร่เกรดต่ำ อีกทั้งกระบวนการในโรงงานเสริมสมรรถนะยูเรเนียมเพื่อทำแท่งเชื่อเพลิงยังปล่อยสารซีเอฟซีเป็นจำนวนมากด้วย
 

 
ปริมาณการปล่อย
ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)
 
 
กรัม/กิโลวัตต์ชั่วโมง
 
พลังงานแสงอาทิตย์ ลม และพลังน้ำ
10 - 40
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์
90 - 140
CHP in private houses
220 - 250
โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ
330 - 360
โรงไฟฟ้าถ่านหินที่ทันสมัย
1,000 – 1,100
เท่ากับ 1 ใน 3 ของโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ
(และจะใกล้เคียงกันถ้าใช้แร่เกรดต่ำ)
ที่มา : http://timeforchange.org/co2-emission-nuclear-power-stations-electricity

ตัวแทนเครือข่ายจับตานิวเคลียร์กล่าวด้วยว่า การใช้พลังงานนิวเคลียร์ไม่ใช่การลงทุนราคาถูกเลย เพราะการจัดการกัมมัตภาพรังสีต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง มีบุคลากรที่ชำนาญการและเงินลงทุนมหาศาล อีกทั้งต้องดูแลอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เขาได้ยกตัวอย่างถึง โรงไฟฟ้า Olkiluoto-3 ของประเทศฟินินแลนด์์ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกที่สร้างในยุโรปตะวันตกหลังเหตุเชอร์โนบิล (โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ในรัสเซีย เกิดโศกนาฎกรรมเตาปฏิกรณ์ระเบิด เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2529 ทำให้มีพื้นที่ปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีแผ่ขยายไปทั่วยุโรปกว่า 3.9 ล้านตารางกิโลเมตร)

โดยมีข้ออ้างว่าเป็นเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ก่อสร้างได้รวดเร็วขึ้น ปลอดภัยกว่า และต้นทุนถูกกว่าเดิม แต่ข้อเท็จจริงคือ เริ่มก่อสร้างปี 2548 มีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมใช้งานในเดือนมีนาคม 2552 เพื่อเป้าหมายการลด CO2 ขณะนี้คาดว่าจะล่าช้ากว่ากำหนดไปอีกไม่น้อยกว่า 3 ปี และงบประมาณบานปลายไปเกือบ 2 เท่า จาก 3,200 ล้านยูโร เป็น 5,500 ล้านยูโร อีกทั้งยังตรวจพบข้อบกพร่องกว่า 1,500 จุด

ตัวอย่างในสหรัฐอเมริกา ขอมูลจากการสำรวจของหน่วนงานรัฐสภาสหรัฐฯ มีโรงงานนิวเคลียร์กว่า 134 เครื่อง จากการสำรวจ 75 เครื่อง พบว่าต้นทุนโดยเฉลี่ยแพงกว่าที่ประมาณการถึง 3 เท่า ส่วนที่อินเดีย จากข้อมูลของกรีนพีส โรงงานนิวเคลียร์ 10 เครื่องที่สร้างเสร็จหลังสุดนี้มีต้นทุนแพงกว่าที่ประมาณการราว 3 เท่า เช่นเดียวกัน

ในส่วนพลังงานนิวเคลียร์กับแก้ปัญหาโลกร้อน นายสันติกล่าวว่า ข้อมูลจากรายงานของ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ (U.N. Intergovern mental Panel on Climate Change: IPCC) ปี 2007 ระบุว่าการบรรเทาผลกระทบจากโลกร้อนให้ได้ผลจริงโลกต้องลดก๊าซให้ได้ 80เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2050 ประเทศพัฒนาแล้วต้องลดให้ได้ 40 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2020 ขณะที่รายงานขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ (Energy Technologies Agency: IEA) ปี 2008 ระบุว่าภายในปี 2050 หากเพิ่มการใช้นิวเคลียร์ขึ้นประมาณเกือบ 4 เท่าของปัจจุบัน จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนในภาคพลังงานได้ 6 เปอร์เซ็นต์ หรือ 4 เปอร์เซ็นต์ ของทั้งหมด โดยคำนวณจากการคาดการณ์ความต้องการไฟฟ้าในอนาคต และการลดการปล่อยคาร์บอน เพื่อให้โลกร้อนขึ้นไม่เกิน 2 องศา

ทั้งนี้ เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนด้วยการหันมาใช้พลังงานนิวเคลียร์เพิ่มขึ้นสิ่งที่จะต้องทำก็คือ การก่อสร้างเตาปฏิกรณ์ใหม่ราว 1,400 เครื่อง ในช่วงปี 2010-2050 โดยใช้เงินเกือบ 10 ล้านล้านเหรียญ และใช้เวลาก่อสร้างเฉลี่ยเครื่องละ 10 ปี ดังนั้น จะเริ่มลดการปล่อยก๊าซได้ประมาณหลังปี 2020 เป็นต้นไป ซึ่งถึงตอนนั้นประเทศพัฒนาแล้วควรจะลดให้ได้ถึง 40% แล้ว

นอกจากนั้น สิ่งที่จะตามมาจากการก่อสร้างดังกล่าว คือ เชื้อเพลิงใช้แล้ว 35,000 ตัน/ปี โดยในจำนวนนี้มีพลูโตเนียมอยู่ประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ (350 ตัน/ปี) และพลูโตเนียม 10 กิโลกรัมสามารถใช้ทำระเบิดนิวเคลียร์ได้ 1 ลูก (35,000 ลูก/ปี) ทำให้ต้องหาที่จัดเก็บถาวรขนาดเท่าภูเขาทุกๆ 3-4 ปี พร้อมการนำมาซึ่งความเสี่ยงจากการก่อการร้าย

ปัญหาสำคัญคือมีผลกระทบที่อันตรายเกินไปอันเกิดจากกัมมันตภาพรังสี ยิ่งในสถานการ์โลกร้อน “นิวเคลียร์” ยิ่งน่ากลัว เพราะความเสี่ยงของอุบัติเหตุที่มากขึ้น เพราะภัยธรรมชาติเกิดรุนแรงและถี่ขึ้น
 

 
โลกร้อน... เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ยิ่งอันตราย
 
 
ตัวอย่าง
คลื่นความร้อน (Heat Wave)
ปี 2003
- ฝรั่งเศส เตาปฏิกรณ์ 1 ใน 4 ต้องปิดเครื่องในฤดูร้อน ส่วนที่เหลือต้องลดกำลังผลิตเพื่อป้องกันอันตราย (ต้องซื้อไฟจากประเทศเพื่อนบ้าน)
- เยอรมัน ลดกำลังการผลิตของ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์หลายโรง
ปี 2006
- สเปน ปิดเตาปฏิกรณ์ 4 เครื่องฉุกเฉิน (เกือบเกิดอุบัติเหตุ)
 
 
ภัยแล้ง
ปี 2006
- เตาปฏิกรณ์ในรัฐมิชิแกน สหรัฐฯ ถูกสั่งปิดฉุกเฉิน เพราะน้ำในทะเลสาบมิชิแกนร้อนกว่าปกติ
- โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในรัฐเพนซิลวาเนียตัดการจ่ายไฟครัวเรือน 12,000 หลัง เพื่อลดการทำงานของเตาปฏิกรณ์
- เตาปฏิกรณ์อีกหลายรัฐต้องลดกำลังการผลิต เพราะแหล่งน้ำหล่อเย็นร้อนกว่าปกติ
 
 
น้ำท่วม
ปี 1999
- ฝรั่งเศส โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Blayais site เกิดเหตุฉุกเฉินเพราะน้ำท่วม (เกือบต้องอพยพประชาชนออกจากพื้นที่)
ปี 2004
- อินเดีย โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Kalpakkam เกิดน้ำท่วมจากเหตุการณ์สึนามิ มีรังสีรั่วไหล ต้องอพยพประชาชน
15,000 ครอบครัว
 
 
หมายเหตุ: เตาปฏิกรณ์ส่วนใหญ่อยู่ที่ชายทะเล ปัญหาใหญ่ในอนาคตก็คือ น้ำท่วม
 

“อ้างปล่อยก๊าซทำให้โลกร้อน แต่ปล่อยกัมมันตภาพรังสี อันตรายเร็วกว่าความโลกร้อนเสียอีก” สันติแสดงความคิดเห็น

ทั้งนี้ เขาได้เสนอทางเลือก อาทิ การใช้พลังงานหมุนเวียนลดก๊าซคาร์บอนได้ 21 เปอร์เซ็นต์ การปรับปรุงประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าและการใช้เชื้อเพลิงลดก๊าซคาร์บอนได้ 7 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้าลดก๊าซคาร์บอนได้ 12 เปอร์เซ็นต์ ฯลฯ ซึ่งโลกมีศักยภาพมากกว่านี้หลายเท่าตัว อีกทั้งยังตัวอย่างของประเทศยอรมัน ที่ใช้เวลา 1 ปี เพิ่มพลังงานลมได้ 13 เทราวัตต์ชั่วโมง (TWh) ซึ่งเท่ากับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2 โรง

อย่างไรก็ตาม ตัวแทนเครือข่ายจับตานิวเคลียร์ตั้งข้อสังเกตุในเรื่องพลังงานนิวเคลียร์ รัฐบาลบอกว่ายังไม่มีการตัดสินใจ การดำเนินการที่ผ่านมาเป็นแค่การศึกษา แต่การที่โครการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถูกบรรจุในแผนพีดีพี 2007 (แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า 2007) ทั้งในฉบับแรกและฉบับปรับปรุง โดยลดจาก 4 แห่งเป็น 2 แห่ง อีกทั้งมีการลงงบประมาณไปกับการเตรียมการเพื่อสร้างการยอมรับจากประชาชนในระดับพื้นที่แล้วใน 14 พื้นที่ที่คาดว่าจะมีการก่อสร้าง และยังดูพื้นที่เพิ่มเติมอีก 2 จุด ใน จ.นครสวรรค์ และ จ.ตาก ทำให้เชื่อได้ว่ารัฐบาลมีความต้องการดำเนินโครงการนี้

แผนพีดีพี 2007 ไฟฟ้านี้เพื่อใคร ?

ตัวแทนเครือข่ายจับตานิวเคลียร์กล่าวด้วยว่า แผนพีดีพี 2007 ฉบับปรับปรุงครั้งที่2 คำนวณกำลังไฟฟ้าทั้งหมดไว้ที่ 30,155 เมกะวัตต์ แต่แบ่งสัดส่วนการผลิตให้โรงไฟฟ้าขนาดกลางและขนาดเล็กที่เป็นโคเจเนอเรชัน CHP และพลังงานหมุนเวียนเพียง 2,549 เมกะวัตต์ ทั้งที่ที่มีตัวเลขแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าสะอาดของประเทศมีสูงถึง 56,040 เมกะวัตต์ ซึ่งเรามีทางเลือกแต่ไม่เลือก นอกจากนั้นแม้จะมีการปรับปรุงแผนพีดีพีหลังจากที่พบว่าในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมาการใช้ไฟฟ้าต่ำลงมาก โดยปีแรกต่ำลง 1,400 เมกะวัตต์ และต่ำลงอีกในปีต่อมา ทำให้ขณะนี้มีการคำนวณกำลังไฟฟ้าสำรองในช่วงปี 2552-2564 ไว้ถึง 32-41เปอร์เซ็นต์ จากปกติที่จะอยู่ที่ 15 เปอร์เซ็นต์ ทำให้มีไฟฟ้าเกินความจำเป็นอย่างน้อย 7,581 เมกะวัตต์ ซึ่งในจำนวนนี้สามารถปรับลดการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิเคลียร์ 2,000 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าถ่านหิน 2,800 เมกะวัตต์ ฯลฯ ออกไปได้

การจัดทำแผนพีดีพีโดยเริ่มจากคาดการณ์ว่าในอนาคตจะใช้ไฟฟ้าเท่าไหร่ ทำให้คาดการณ์เกินจริง ขั้นตอนต่อไปก็จัดหากำลังผลิต ตามมาด้วยการสร้างโรงไฟฟ้าเกินความจำเป็นที่จะใช้ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดปัญหา และที่มากไปกว่านั้นคือคำถามที่ว่าไฟฟ้าจำนวนมหาศาลนี้ผลิตให้ใคร เมื่อตัวเลขการใช้ไฟฟ้าปี 2550ของสำนักนโยบายและแผนพลังงานระบุว่า คนส่วนใหญ่ที่เป็นชาวบ้านทั่วไปกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ของประเทศ ใช้ไฟเพียงแค่ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้ไฟทั้งหมด ในขณะที่ภาคอุตสาหรรม และธุรกิจซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อย กลับใช้ไฟฟ้ากว่า 70 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ตาม การพูดว่าจะเลือกผลิตไฟฟ้าจากอะไรนั่นคือปลายเหตุ เพราะตัวต้นของเรื่องนี้คือคำถามที่ว่าจำเป็นไหมที่จะต้องสร้าง หากต้องสร้างเพิ่มขึ้นอยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ เพราะเมื่อมีการเร่งพัฒนามากขึ้น ความจำเป็นต้องใช้พลังงานก็เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งในส่วนนี้คงต้องย้อนมาตั้งคำถามถึงแนวทางการพัฒนาประเทศที่เป็นอยู่ในปัจจุบันว่าเหมาะสม และมีความยั่งยืนมากแค่ไหน

“บริโภคมาก ใช้ทรัพยากรมาก ต่อให้ใช้ทั้งยูเรเนียม น้ำ ลม หมุนเวียน ชีวมวล เอามาใช้ให้หมดยังไม่พอ”
สันติกล่าว พร้อมเสนอใช้ทิศทางพลังงานใหม่ที่เป็นธรรมมากขึ้น ไม่ใช่ใช้แบบก่ออาชญากรรม เช่นทุกวันนี้ที่คนที่ต้องการใช้พลังงานมากคือคนส่วนน้อยที่อยู่ในกรุงเทพฯ คนที่เป็นเจ้าของโรงงานขนาดใหญ่ แต่เมื่อจะต้องมีการสร้างโรงไฟฟ้ากลับโยนไปให้คนต่างจังหวัดต้องเป็นผู้รับผิดชอบต้นทุนความสูญเสียต่างๆ ที่จะตามมา ขณะที่สิ่งที่ถูกทำลายโดยอุตสาหกรรมนั้นก็ไม่สามารถที่จะเรียกคืนกลับมาได้ ซึ่งนั่นคือความไม่ยั่งยืน และไม่เป็นธรรม

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้เครือข่ายภาคประชาชนและชาวบ้านพากันตั้งคำถามอย่างมากมายกับการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ของรัฐและที่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐ นั่นก็เพราะพวกเขาไม่ไว้ใจในความมีธรรมาภิบาลในการดำเนินโครงการ รวมทั้งการแก้ไขความเดือดร้อนที่จะตามมากจากโครงการต่างๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวของ

“โรงไฟฟ้าเขื่อน” ปัญหาที่ทับถมของชาวบ้าน อีกหนึ่งทางเลือกพลังงานสะอาดลดโลกร้อน

เขื่อนปากมูล เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของกรณีปัญหา ที่ในหลายปีที่ผ่านมารายงานทางวิชาการหลายชิ้น ระบุว่า เขื่อนปากมูลไม่ได้มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้า เหมือนที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้เคยโฆษณาไว้เมื่อครั้งก่อสร้างในปี 2535 อีกทั้งไม่ได้มีศักยภาพในด้านการชลประทานและด้านอื่นๆ ดังที่ได้พยายามบอกกล่าวต่อสาธารณะชนเรื่อยมา

แต่ภาพจริง คือ เขื่อนใหญ่ 8 บานประตู ได้ทำลายพื้นที่ทำอยู่ทำกินและวิถีชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ และจากประสบการณ์ที่พวกเขาได้เรียนรู้จากการต่อสู้มานานนับทศวรรต ไม่ว่าจะผ่านมาสักกี่รัฐบาล ปัญหาของพวกเขาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข

แม่สมปอง เวียงจันทร์ ตัวแทนสมัชชาคน จากกรณีปัญหาเขื่อนปากมูล กล่าวถึงปัญหาในพื้นที่อันเกิดจากการก่อสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าว่า ในกรณีของเขื่อนปากมูลชาวบ้านหลายพันคน ต้องประสบความเดือดร้อนมานานหลายสิบปี และแม้ที่ผ่านมาจะมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องกันมา แต่ขณะนี้การแก้ไขปัญหาชาวบ้านต้องรอคอยผู้มีอำนาจมาตัดสินใจให้เป็นรายปีด้วยการสั่งปิดเขื่อนเปิดเขื่อนตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งนั่นไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาที่ชาวบ้านต้องการ

ยิ่งในขณะนี้มีการพูดกันถึงพลังงานจากน้ำ และสนับสนุนให้มีการสร้างเขื่อน ด้วยเหตุผลว่าเป็นพลังงานทางเลือกลดโลกร้อย แม่สมปองแสดงความไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่าการสร้างเขื่อนทำลายป่าไม้ ทำลายแหล่งน้ำธรรมชาติ และวิถีชีวตของคนที่อยู่กับน้ำ ป่า และปลามาแต่อดีต

“ไม่เห็นด้วยกับการที่บอกว่าสร้างเขื่อนลดโลกที่เขายัดเยียดให้เรา” ไทบ้านปากมูลกล่าว

นอกจากนี้แม่สมปองยังกล่าวด้วยว่า ชาวบ้านรู้ว่าพลังงานจำเป็น แต่การจะสร้างต้องคุมทุน โดยทุนที่ว่าหมายถึงไม่เป็นพิษกับคนรอบข้าง ชุมชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด และสามารถอยู่ด้วยกันได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้พลังงานทางเลือกเป็นไปได้ แต่ขึ้นอยู่กับผู้บริหารประเทศที่จะมองลงมา

พื้นที่ชุมน้ำแหล่งกักเก็บคาร์บอน 2 เท่า ที่กำลังถูกรุกไล่ด้วยนโยบายพัฒนามุ่งการบริโภค

ส่วนสุพจน์ ส่งเสียง แกนนำชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง ซึ่งคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงถลุงเหล็กสหวิริยา ในพื้นที่ ต.แม่รำพึง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า โครงการเซาเทิร์นซีบอร์ด (การพัฒนาตามแผนพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้) และอีสเทิร์นซีบอร์ด (แผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก) ที่มุ่งส่งสริมการก่อสร้างโครงการอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ โรงไฟฟ้า ท่าเรือน้ำลึก และนิคมอุตสาหกรรม เกิดเป็นวิกฤติจากการบริโภคเกินความเป็นจริง ทั้งที่โครงการเหล่านี้เขมือบพลังงานมากมายแต่ก็ไม่มีการตรวจสอบ เพราะรัฐเชื่อว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติในเรื่องการจ้างงาน ทำให้การพัฒนาที่เกิดขึ้นมุ่งการผลิตเพื่อส่งออก เพื่อ GDP (ตัวชี้วัดเศรษฐกิจ หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ) แต่ไม่เคยมีการถามคนในประเทศเลยว่าสิ่งที่ผลิตนั้นต้องการจริงหรือไม่

สุพจน์ ยกตัวอย่างอุตสาหกรรมเหล็กว่า ตัวเลขเมื่อปี 2546 ประเทศไทยมีการใช้เหล็ก 6 ล้านตัน ในจำนวนนี้ส่งออก 40 เปอร์เซ็นต์ และเหล็กจำนวนนี้ถูกนำไปใช้ในกระบวนการผลิตในอุตสหกรรมอุปกรณ์ก่อสร้าง บรรจุภัณฑ์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ และอุตสหกรรมยานยนต์ ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้มีการผลิตเพื่อส่งออก ในส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์กว่า 20 บริษัท ผู้ประกอบการรายใหญ่เป็นต่างชาติ และการผลิตกว่า 24 โรงงาน มีการจ้างงานเพียง 2 หมื่นคน เพราะส่วนใหญ่เป็นการใช้เทคโนโลยีสูง

การที่รัฐบาลลดภาษีนำเข้าเหล็กเพื่อนำมาใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อส่งออก และมีการสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ เพื่อส่งเสริมการลงทุนในโครงการที่ใช้ทั้งพื้นที่ น้ำ และไฟฟ้าจำนวนมหาศาล แต่บริษัทเหล่านั้นผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติ ทำให้มองได้ว่าเป็นการส่งเสริมของรัฐเพื่อส่งผลผลิตให้คนต่างชาติและกำไรก็อยู่ที่คนต่างชาติ ในขณะที่การจ้างงานไม่ได้มากอย่างที่คิด อีกทั้งยังส่งผลต่อการแย่งชิงทรัพยากรและการทำลายพื้นที่

เขากล่าวด้วยว่า ในเรื่องโลกร้อน พื้นที่ป่าพรุแม่รำพึง อ.บางสะพาน อันเป็นพื้นที่เป้าหมายในการก่อสร้างโครงการโรงถลุงเหล็กของบริษัทในเครือสหวิทยาได้มีการประกาศเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญในระดับชาติแล้ว โดยพื้นที่ชุมน้ำนั้นถือว่าเป็นพื้นที่ที่สามารถกักเก็บคาร์บอนได้ 2 เท่าของป่าอื่น ในขณะที่โรงถลุงเหล็ก ตามมาด้วยโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ได้รับการส่งเสริมให้ก่อสร้างในพื้นที่นั้นเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ปล่อยก๊าซโลกร้อนออกสู่สิ่งแวดล้อมในปริมาณมากอันดับต้นๆ

หลายประเทศในโลกมีมาตรการคุ้มครองพื้นที่ชุมน้ำยกตัวอย่าง ประเทศในสหภาพยุโรป ที่มีมาตราการเข้มข้นในเรื่องโลกร้อน โดยไม่รับซื้อพืชพลังงานที่มีการถมพื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อทำการเพาะปลูก แต่ประเทศไทยกลับมีการส่งเสริม อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลตระหนักเรื่องโลกร้อนอย่างตรงไปตรงมา ก็ควรให้ยกเลิกโครงการพัฒนาดังกล่าวในพื้นที่

“พื้นที่ชุมน้ำที่เก็บกักคาร์บอนได้ 2 เท่า กำลังจะถูกแทนที่ด้วยแหล่งผลิตคาร์บอนอันดับหนึ่งและอันดับสอง” แกนนำชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงกล่าวถึงสถานการณ์ในพื้นที่

 

หมายเหตุ: ภาพจากข้อมูลนำเสนอของเครือข่ายจับตานิวเคลียร์ และเว็บไซต์ประชาไท
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net