Skip to main content
sharethis

6 สภาองค์การลูกจ้าง ร่วมกับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ผนึกกำลังเรียกร้องให้รัฐรับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ98

วันอาทิตย์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2552 องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) โซลิดาลิตี้เซ็นเตอร์ (Solidarity Center) มูลนิธิฟรีคริค เอแบร์ท และคณะทำงานผลักดันอนุสญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ได้จัดเสวนาเรื่อง “ถึงเวลารัฐไทยต้องให้สัตยาบันอนุสัญญา 87 และ 98” โดยมีผู้เข้าร่วมราว 200 คน

นายยงยุทธ์ เม่นตะเภา ประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย นำเสนอว่า ปัญหาของผู้ใช้แรงงาน ยังมีปัญหาการเลิกจ้าง การกลั่นแกล้ง ให้อยู่นอกโรงงาน ใช้วิธีการต่างๆในการที่จะเลิกจ้างหรือบีบให้ต้องลาออก บางสหภาพแรงงานก็ถูกนายจ้างแทรกแซง ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกิดจากการที่รัฐละเลยในการทำหน้าที่ และนายจ้างเองไม่เคารพสิทธิในการรวมตัว เจรจาต่อรองของลูกจ้าง แนวทางรัฐควรมีการรับรองอนุสัญญา 87 และ 98 เรื่องสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวเจรจาต่อรอง เพื่อให้ลูกจ้างมีสิทธิในการรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงาน มีสิทธิในการเจรจาต่อรองอย่างมีศักดิ์ศรี และได้รับการยอมรับจากนายจ้าง และรัฐอย่างเท่าเทียม เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างนายจ้างลูกจ้าง
 
นายอาทิตย์ อิสโม รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงานได้กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงแรงงานได้มีการแก้ไขกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 หากเมื่อรัฐบาลมีการรับรองอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับนี้เมื่อไหร่ก็สามารถปฏิบัติได้เลย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการนำร่างกฏหมายที่แก้ให้ทางผู้เชี่ยวชาญ ILO ได้ตรวจสอบ เพื่อให้ความสอดคล้อง ไม่ต้องแก้ไข หรือปรับปรุงใหม่เมื่อมีการรับรองอนุสัญญา ILO 87 และ 98 ซึ่งปัจจุบันกระทรวงแรงงานดูแลแรงงานเพียง 9 ล้านคน ที่มีกฎหมายคุ้มครอง อีก 15 ล้านคน เป็นข้าราชการและ 22 ล้านคนเป็นแรงงานอิสระ หรือแรงงานนอกระบบ ซึ่งทางกระทรวงแรงงาน ก็ต้องหาแนวทางในการดูแลและคุ้มครอง ให้สามารถมีสิทธิเสรีภาพตามอนุสัญญา ILO ด้วย ซึ่งอาจมีนายจ้างหรือไม่มีนายจ้าง การเจรจาต่อรองก็ยังต้องดูวัตถุประสงค์ด้วย เพื่อให้ปฏิบัติได้จริง ทั้งนี้แนวทางการรับรองอนุสัญญาจะต้องมีการตกลงกันระหว่างนายจ้าง รัฐ และรัฐบาลต้องนำเข้าสู่คณะรัฐมนตรี เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร และรัฐบาลนำเสนอเพื่อรับรองอนุสัญญา ILO
 
ดร.วีรชัย ถาวรทนต์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงาน เป็นผู้ดำเนินการเตรียมการรับรองอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ โดยต้องอยู่บนหลักการ คือ  1. ต้องทำได้จริง 2. มีประสิทธิภาพ 3. มีประโยชน์ที่ยั่งยืนกับผู้ใช้แรงงานอย่างแท้จริง
 
ตนคิดว่าทางกระทรวงแรงงานคงจะจัดทำแนวทางในการรับอนุสัญญา และแก้ไขกฎหมายแล้วเสร็จในเร็ววันนี้ เพราะในส่วนของรัฐบาลนั้นมีความพร้อมที่จะเสนอให้รับรองอนุสัญญา 87 และ98 เรื่องสิทธิเสรีภาพในการรวมตัว และการเจรจาต่อรอง เนื่องจากรัฐบาลส่งเสริมเรื่องสิทธิ และเสรีภาพ การสร้างระบบประชาธิปไตย
 
การที่ยังไม่มีการรับรองอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ ก็เพื่อให้ทั้งสองฝ่าย คือนายจ้างและลูกจ้างได้พูดคุยทำความเข้าใจกันมากขึ้น และในส่วนของนายจ้างที่กลัวการรวมตัวและเจรจาต่อรองของลูกจ้าง ก็อาจมีความเข้าใจเรื่องสิทธิลูกจ้างมากขึ้น
 
นางศิริวรรณ ร่มฉัตรทอง เลขาธิการสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย นำเสนอว่า ในฐานะนายจ้าง คิดว่าการรับรองอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับนั้นไม่ได้น่ากลัวอะไร ตนคิดว่าการที่ลูกจ้างมีการรวมตัวกันเพื่อต่อรองก็ดี เพราะนายจ้างจะได้ไม่ต้องพูดคุยกับคนงานทีละคน แต่การรวมตัวของลูกจ้างก็ต้องดูด้วยว่าต้องไม่กระทบต่อสิทธิคนอื่น เช่นการเดินขบวนปิดถนน ซึ่งมีคนเดือดร้อนเช่นกัน ในการรับรองนั้นที่เห็นด้วยมากคือฉบับที่ 98 คือสิทธิในการรวมตัวเป็นองค์กร ในส่วนของฉบับที่ 87 นั้น ก็ยังคงเห็นด้วยบ้าง แต่ก็ยังลังเลอยู่ว่า ควรรับเลยหรือไม่ แต่ก็เข้าใจว่าคงถึงเวลาแล้ว
 
นายพง ชุนอาห์น องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) กล่าวว่า การรับรองอนุสัญญามี 3 ข้อ คือ 1. ต้องมีข้อยุติ มีจุดร่วมระหว่างนายจ้างลูกจ้างและรัฐ 2. ขบวนการทางกฎหมาย ว่ามีอุปสรรคปัญหาอยู่ ประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติอยู่จำนวนมาก ที่รัฐไทยยังไม่ให้สิทธิในการรวมตัว ชุมนุมประท้วง และยังมีแรงงานที่อยู่นอกระบบที่ไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายแรงงาน 3. การให้สัตยาบันรัฐบาลต้องมีการรายงานที่ดี และต้องไม่มีปัญหาเรื่องการรวมตัวเจรจาต่อรองของสหภาพแรงงาน กับนายจ้าง
 
ต่อมาได้มีการประชุมวางแผนงานในการเคลื่อนไหวรณรงค์ เพื่อผลักดันให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญา 87 และ98 ในวันที่ 7 ตุลาคม 2552 โดยนัดรวมตัวกันที่สำนักงานสหประชาชาติ ถนนราชดำเนิน เวลา 10.00 น. คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประมาณ 3,000 คน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net