35 ปี แนวร่วมศิลปินฯ เปิดตัวนิทรรศการคัทเอาท์การเมืองเดือนตุลาฯ

สถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดงานเปิดตัวนิทรรศการคัทเอาท์การเมืองเดือนตุลาฯ วาระครบรอบ 35 ปี แนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย มีการฉายวิดิทัศน์และการเสวนาที่กล่าวถึงบทบาทของศิลปินกับศิลปะเพื่อสังคม ที่ถูกหน้าประวัติศาสตร์ลบเลือน และทัศนะของคนรุ่นต่อมาที่ได้เรียนรู้ศิลปะสมัย 14 ตุลาฯ ถึง 6 ตุลาฯ

 
 
 
 
 
 
 
 
 
เมื่อวันที่ 3 ต.ค. สถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้เปิดงานนิทรรศการ ภาพคัทเอาท์การเมืองเดือนตุลาฯ ในวาระครบรอบ 35 ปี แนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย พร้อมทั้งมีการเสวนาเรื่อง “มองย้อน-ร่องรอยศิลปะกับการเมืองเดือนตุลา ในทัศนะของคนต่างรุ่น”
 
เปิดงานด้วยการจัดฉายวิดิทัศน์ สร้างสาน ตำนานศิลป์ แนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย ซึ่งนำเสนอเกี่ยวกับบทบาทของกลุ่มแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทยในช่วงยุคสมัย 14 ต.ค. 2516 ถึง 6 ต.ค. 2519 ที่มีการรวมกลุ่มสร้างงานศิลปะเพื่อต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ ต่อต้านจักรวรรดินิยมอเมริกา ฯลฯ
 
จากนั้น สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย อดีตผู้ประสานงานแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย 2518 ก็เป็นพิธีกรเชิญ อ.สุรพล ปัญญาวสิโก , อ.เกรียงไกร วชิรสมบัติ , สุชาติ สวัสดิ์ศรี และ คนอื่น ๆ จากชมรมโดมร่วมใจ ชมรมเพื่อนจุฬา ขึ้นกล่าวเปิดงานบนเวที โดย อ.สรพล บอกว่า รู้สึกดีใจที่ยังมีคนสนใจในเรื่องราวทางประวัติศาสตร์แม้จะมีคนพยายามลบออกจากหน้าประวัติศาสตร์ก็ตาม ส่วน อ.เกรียงไกร กล่าวว่า วงจรของสังคมจะดีขึ้นได้หากศิลปินทำหน้าที่ของตัวเอง ขณที่ สุชาติ กล่าวถึงแรงบันดาลใจของศิลปินว่าไม่ว่าศิลปินจะเชื่อในอะไรก็ตาม แต่ศิลปะก็ควรมีชีวิต ควรมีความก้าวหน้าไม่ยึดติดกับ Cliché (รูปแบบซ้ำซากของศิลปะ)
 
 
การเซ็นเซอร์งานศิลปะและแนวทางศิลปะเพื่อสังคมในปัจจุบัน
จากนั้นจึงเป็นการเสวนาในหัวข้อ “มองย้อน-ร่องรอยศิลปะกับการเมืองเดือนตุลา ในทัศนะของคนต่างรุ่น” ในการเสวนา อ.สิทธิเดช โรหิตะสุข จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ออกตัวว่าตนไม่ค่อยทราบเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เดือนตุลาฯ มากเท่าใดนัก บอกว่าตนเกิดปี 2524 ในช่วงที่นักศึกษาที่เข้าป่ากันหลัง 6 ต.ค. พากันออกจากป่าหมดแล้ว เรื่องของเดือนตุลาฯ เป็นเหมือน “เสียงแว่ว” ที่เขาได้ยินในบางช่วงของชีวิต เช่น ตอนช่วงพฤษภาทมิฬ 2535 แม่ของเขาบอกว่าเหตุการณ์นี้ชวนให้นึกถึง 14 ตุลาฯ และได้มีโอกาสสัมผัสกับเรื่องราวของเดือนตุลาฯ อีกครั้งจากวรรณกรรมของคนเดือนตุลาฯ เช่น วัฒน์ วรรยางกูล และช่วงที่สร้างศิลปะแบบ Installation เกี่ยวกับเรื่องเดือนตุลาฯ ที่หน้า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 
ในช่วงท้ายของการเสวนา อ.สิทธิเดช กล่าวถึงปัญหาของการเซ็นเซอร์งานศิลปะว่ามันเกิดมาจากการ “ทำลายล้าง” จากอำนาจรัฐ และจากการ “ทำลายทิ้ง” ของตัวศิลปินเอง อ.สิทธิเดช ยังได้บอกอีกว่า ศิลปะเพื่อสังคมในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องของฝ่ายซ้าย-ฝ่ายขวา แต่เป็นศิลปะที่พูดเรื่องสันติภาพ มีความเกี่ยวข้องกับชุมชน หรือให้โอกาสกับคนตัวเล็ก ๆ
 
 
กลวิธีตัดตอนศิลปะของอำนาจรัฐ
ในส่วนของ รศ.ดร. ศุภชัย สิงห์ยะบุศย์ จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้กล่าวถึงการที่ความทรงจำทางประวัติศาสตร์เรื่องของเดือนตุลาฯ ถูกช่วงชิงไปจากหน้าประวัติศาสตร์ ทำให้คนรุ่นต่อ ๆ มาไม่ได้รับรู้ โดย รศ.ดร. ศุภชัย บอกว่าศิลปินในสมัยนั้นยึดถือแนวคิดเรื่องศิลปะเพื่อสังคมของ จิตร ภูมิศักดิ์ จนกลายเป็นคัมภีร์ของศิลปะเพื่อสังคม “และศิลปินเหล่านี้ก็กระหายที่จะให้เสียงของพวกเขาได้สะท้อนก้องออกไป” รศ.ดร. ศุภชัย กล่าว
 
อาจารย์ด้านศิลปะจาก ม.มหาสารคาม กล่าวต่อว่าแต่ศิลปินบางคนก็ไม่สามารถเปิดเผยตนเองได้ เนื่องจากถูกใส่ความว่าเป็นผู้ที่ทำงานแบบโฆษณาชวนเชื่อของคอมมิวนิสท์ ซึ่งเป็นกลวิธีที่อำนาจรัฐในตอนนั้นใช้จัดการกับศิลปิน งานหลายชิ้นต้องถูกเผาเพื่อหนีตำรวจ หรือทหาร
 
 
สปิริตอันทรงพลังของศิลปะเพื่อสังคม
ทางด้าน นงค์ลักษณ์ เหล่าวอ จากสถาบันปรีดี พนมยงค์ บอกว่าในตอนแรกตนก็ไม่รู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของเดือนตุลาฯ มากเท่าใด จนกระทั่งได้ไปศึกษาเรื่องของแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย ทำให้เห็นว่าการเมืองไทยก็มีการเชื่อมโยงกับงานศิลปะ
 
“ไม่ได้มองว่าศิลปะไปรับใช้การเมือง แต่มองว่าศิลปะและการเมืองมันไปด้วยกัน เกื้อหนุนกันได้” นงค์ลักษณ์ กล่าว
 
นงค์ลักษณ์ ได้เล่าต่อถึงภาพคัทเอาท์การเมืองเดือนตุลาฯ บอกว่าในช่วงนั้นมีการต่อสู้กันอย่างรุนแรง บางภาพก็ถูกทำลายไปมีภาพที่เหลือเพียง 13 ภาพที่ได้จัดแสดงไว้ในงานนี้
 
และจากการศึกษาเรื่องของแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย นงค์ลักษณ์บอกว่ามีคำประกาศของแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย ทำให้มองเปรียบเทียบไปถึงกลุ่มคณะราษฎร นึกถึงช่วงอภิวัติ 2475 อาจารย์ปรีดี ทำการอภิวัติเกิดหลัก 6 ประการขึ้นมา และหลังจาก 24 มิถุนาฯ ก็เกิดศิลปะและสถาปัตยกรรมแบบ 2475
 
“ภาพของคัทเอาท์เดือนตุลาฯ มันก็เหมือนกับการเอากลับมารื้อฟื้นใหม่ บูรณะ และเอากลับมาสู่ความทรงจำของคน” นงลักษณ์ กล่าว
 
ตัวแทนจากสถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวอีกว่าการได้ศึกษาประวัติศาสตร์และศิลปะเพื่อสังคม เป็นเหมือนจุดเปลี่ยนของชีวิต ทำให้ความรู้สึกเกี่ยวกับศิลปะเปลี่ยนไป จากเดิมคิดว่าศิลปะเป็นเพียงเรื่องของความสวยงาม แต่การยิ่งได้รู้เบื้องหลัง ความเป็นมา ยิ่งทำให้ทราบถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทราบถึงสปิริตของคนในตอนนั้นซึ่งไม่มีการแบ่งแยก ทำให้รู้สึกว่ามันทรงพลัง
 
“ต่อให้เหตุการณ์บ้านเมืองมันเปลี่ยนแปลงหรือพลิกผันไปมากกว่านี้ หากอนาคตมีเหตุการณ์บ้านเมืองที่รุนแรงขึ้นกว่านี้ มันจะมีการรวมตัวครั้งยิ่งใหญ่แบบนี้หรือเปล่า มันจะมีภาพคัทเอาท์การเมืองที่ออกมาด้วยหัวใจแบบนี้อีกหรือเปล่า โดยที่ทุกคนไม่ได้ตกเป็นเครื่องมือของใคร” นงค์ลักษณ์ กล่าว
 
 
ศิลปะคือการสร้างพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ให้ประชาชน
ดร.บัณฑิต จันทร์โรจน์กิจ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เริ่มต้นโดยการกล่าวว่าการแสดงความเห็นทางการในปัจจุบันมักมีการถูกคลุมไปด้วยแว่นสีต่าง ๆ จะแสดงความเห็นก็ต้องระวังตัว บางอย่างต้องเก็บไว้ข้างใน “ต้องพรางตัว เป็นยุคที่ลับ ลวง พรางจริง ๆ” ดร.บัณฑิตกล่าว
 
ดร.บัณฑิต ตั้งคำถามว่าเราจะเข้าใจภาพโปสเตอร์คัทเอาท์ของเดือนตุลาฯ ในฐานะที่เป็นชิ้นงานศิลปะหรือไม่ โดยดร.บัณฑิต ให้ความเห็นว่า สำหรับในเวลานั้นมันไม่ใช่งานศิลปะ แต่ก็ถือว่ามีชะตากรรมเดียวกับงานศิลปะบางชิ้น ที่ศิลปินทำแล้วถูกมองว่าไม่เป็นศิลปะในขณะนั้น เช่น กรณีที่ศิลปินกินข้าวและขับถ่ายในหอศิลป์ ก็ไม่ถูกนับว่าเป็นศิลปะในขณะนั้น
 
อย่างไรก็ตาม ดร.บัณฑิต พูดต่อว่า ในเวลาต่อมาจึงมี ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะไปศึกษาปฏิบัติการเหล่านี้แล้วนำมาพิจารณาอีกครั้งว่ามันนับรวมเป็นงานศิลปะได้หรือไม่ ดร.บัณฑิต บอกว่างานโปสเตอร์ของเดือนตุลาฯ ไม่ว่ามันจะถูกวาดด้วยสีชนิดใดก็ตามก็ถูกนับรวมเป็นงานศิลปะ
 
ดร.บัณฑิต ได้ให้เหตุผลโดยกล่าวถึง "ทีปกร" ผู้มีอิทธิพลอย่างมากกับศิลปะสมัยนั้นว่า “สิ่งสำคัญที่เป็นภารกิจหลักของศิลปิน คือการสร้างสถานที่ในประวัติศาสตร์แห่งศิลปะให้แก่ประชาชน” จากนั้นจึงกล่าวให้ความเห็นว่า ศิลปินในยุคเดือนตุลาฯ ได้สร้างพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ ในฐานะของแนวร่วมฯ และในฐานะตัวแทนของประชาชนด้วย และการสร้างสรรค์ศิลปะของกลุ่มแนวร่วมศิลปินฯ ก็มีการช่วยเหลือกันและกันในงานแต่ละชิ้น
 
“มันเป็นงานที่เรียกได้ว่าเป็น Collective หรือเรียกได้ว่าเป็นงานสร้างสรรค์ร่วมกัน” ดร.บัณฑิตกล่าว “โปสเตอร์หรือคัทเอาท์การเมืองในถนนราชดำเนินจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการผลิตงานศิลปะ ซึ่งไม่ใช่ผลงานของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นผลงานของกลุ่มชน และเรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกที่มีการติดตั้งในที่สาธารณะ”
 
โดยนิทรรศการคัทเอาท์การเมืองเดือนตุลาฯ จะจัดแสดงที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ ไปจนถึงวันที่ 20 ต.ค. นี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท