Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ปัจจุบัน การขาดความเป็นธรรม คือปัญหาใหญ่ของสังคมไทย ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยที่ต่างกันราวฟ้ากับดิน นับวันก็ยิ่งห่างกันไปเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าจะมีความพยายามจากหลายภาคส่วนที่พยายามจะทำให้สังคมไทยมีช่องว่างลดน้อยลง แต่ก็ดูเหมือนจะเลือนลางลง การขาดความเป็นธรรมในสังคมไทยจึงกลายเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่รอวันประทุอยู่ทุกเวลาและนาที

ระบบสาธารณสุขก็จะพบว่าไม่ได้แตกต่างจากระบบอื่นๆ เท่าใดนัก สังคมไทยยังมีความเหลื่อมล้ำกันอย่างมหาศาล ทั้งด้านทรัพยากรสาธารณสุข ตั้งแต่งบประมาณ จำนวนหมอ พยาบาล จำนวนโรงพยาบาล ตลอดจนเครื่องมือต่างๆ ที่ทันสมัยก็กระจุกตัวอยู่แต่ในกรุงเทพมหานคร และเมืองใหญ่ๆ ขณะที่คนจนในชนบทยากที่จะเข้าถึงการบริการทีมีคุณภาพได้เช่นเดียวกับคนในเมือง

หากมองเจาะลึกทางด้านระบบประกันสุขภาพของไทยก็เช่นเดียวกัน ที่มีช่องว่างระหว่างระบบและงบประมาณค่าหัวที่รัฐบาลจ่ายให้ต่อปี มีความเหลื่อมล้ำกันอยู่อย่างมหาศาล แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีความพยายามในการสร้างหลักประกันสุขภาพ เพื่อให้คนไทยทุกคนได้เข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นทางด้านสุขภาพ (health needs) อย่างเท่าเทียม โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ ศาสนา การศึกษาและสถานะทางเศรษฐกิจก็ตาม
 
ปัจจุบันประเทศไทยมีระบบประกันสุขภาพที่สำคัญอยู่ 4 ระบบ คือ
1) ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ครอบคลุมผู้มีสิทธิประมาณ 5 ล้านคน
 
2) ระบบประกันสังคม ครอบคลุมผู้มีสิทธิประมาณ 9.8 ล้านคน และกำลังจะเพิ่มขึ้นอีก 5.8 ล้านคน
 
3) ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ครอบคลุมผู้มีสิทธิประมาณ 47.3 ล้านคนและกำลังจะย้ายไปอยู่กับระบบประกันสังคม 5.8 ล้านคน
 
4) ประกันภาคเอกชน ที่ครอบคลุมประชาชนที่ประสงค์จะจ่ายเงินเองอยู่ประมาณ 1-2 ล้านคน
 
โดยจาก 3 ใน 4 ระบบนั้นใช้งบประมาณซึ่งเป็นภาษีราษฎร ยกเว้นประกันสังคมที่ผู้ประกันตน นายจ้างและรัฐบาลร่วมจ่าย และประกันภาคเอกชนเป็นระบบที่ประชาชนสมัครใจที่จะจ่ายเอง
 
หากมองเผินๆ ระบบประกันสุขภาพทั้ง 3 ระบบ (1, 2, และ 3) ที่สนับสนุนโดยรัฐบาลนั้นน่าจะครอบคลุม คนทุกระดับและในทุกสาขาอาชีพ แต่ความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ เรากลับมีระบบประกันสุขภาพอีกประเภทที่ใช้งบประมาณของรัฐบาลซื้อประกันสุขภาพจากบริษัทเอกชน โดยมีสิทธิประโยชน์เหนือกว่าคนไทยโดยทั่วไป และที่สำคัญยังใช้งบประมาณต่อหัวประชากรที่สูงกว่าคนอื่นๆ ซึ่งคนกลุ่มนี้ได้แก่ สตง. ศาลรัฐธรรมนูญ ปปช. สว. และ สส. โดยมีรายละเอียดของสิทธิประโยชน์ ดังตารางที่ 1
 
                                                           
ตารางที่ 1 ค่าใช้จ่ายต่อหัว และสิทธิประโยชน์ของระบบประกันสุขภาพต่างๆ

หน่วยงาน
สส.
สตง.
ศาลรัฐธรรมนูญ
ปปช.
สว.
ข้าราชการ
ประกันสังคม
สปสช.
ค่าใช้จ่าย/คน/ปี (บาท)
50,000
30,000
38,000
30,000
20,000
10,000-12,000
1,938
2,202
หน่วยงานที่บริหารเงิน
บริษัทเอกชน
บริษัทเอกชน
บริษัทเอกชน
บริษัทเอกชน
บริษัทเอกชน
กรมบัญชีกลาง
สำนักงานประกันสังคม
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ประเภทหน่วยบริการ
ที่ใดก็ได้
ที่ใดก็ได้
ที่ใดก็ได้
ที่ใดก็ได้
ที่ใดก็ได้
รัฐบาลเท่านั้น
รัฐบาลหรือเอกชนที่เลือกลงทะเบียน
รัฐบาลหรือเอกชนที่เลือกลงทะเบียน
ประเภทของยา
ทั้งในและนอกบัญชียาหลักแห่งชาติ
ทั้งในและนอกบัญชียาหลักแห่งชาติ
ทั้งในและนอกบัญชียาหลักแห่งชาติ
ทั้งในและนอกบัญชียาหลักแห่งชาติ
ทั้งในและนอกบัญชียาหลักแห่งชาติ
ทั้งในและนอกบัญชียาหลักแห่งชาติ
ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติเท่านั้น
ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติเท่านั้น
ผู้ป่วยใน
ค่าห้องและอาหาร/วัน
4,000
(31 วัน/ครั้ง)
3,000
(31 วัน/ครั้ง)
6,500
(31 วัน/ครั้ง)
6,500
(31 วัน/ครั้ง)
2,000
(31 วัน/ครั้ง)
600
ไม่มี
ไม่มี
ค่าห้อง ไอ ซี ยู
จ่ายตามจริง
10,000
(7 วัน/ครั้ง)
13,000
(7 วัน/ครั้ง)
10,000
(7 วัน/ครั้ง)
4,000
(15 วัน/ครั้ง)
ตามกลุ่มโรค (DRG)
เหมาจ่ายไปที่โรงพยาบาล
ตามกลุ่มโรค (DRG)
ค่ารักษาทั่วไป/ครั้ง
500,000
80,000
100,000
100,000
30,000
ตามกลุ่มโรค (DRG)
เหมาจ่ายไปที่โรงพยาบาล
ตามกลุ่มโรค (DRG)
ค่าผ่าตัด/ครั้ง
500,000(ตามจริง)
80,000
120,000(ตามจริง)
120,000(ตามจริง)
35,000
จ่ายตามจริง
เหมาจ่ายไปที่โรงพยาบาล
ตามกลุ่มโรค (DRG)
ค่าแพทย์เยี่ยมไข้/วัน
3,000
(31 วัน/ครั้ง)
2,000
(31 วัน/ครั้ง)
2,000
(31 วัน/ครั้ง)
2,000
(31 วัน/ครั้ง)
1,000
(31 วัน/ครั้ง)
ไม่มี
ไม่มี
ไม่มี
ผู้ป่วยนอก
ค่ารักษาพยาบาล
8,000
(วันละ 1 ครั้ง)
3,000
2,000
(วันละ 1 ครั้ง)
2,000
(วันละ 1 ครั้ง)
1,900
(วันละ 1 ครั้ง)
จ่ายตามจริง
จ่ายตามจริง
จ่ายตามจริง
ตรวจสุขภาพประจำปี
16 รายการ(กำหนดให้)
3,000
7,000
3,000
10 รายการ
ตามเงื่อนไขที่กำหนด
ไม่มี
ไม่มี
หมายเหตุ ปัจจุบัน สส.ได้งบประมาณ 20,000 บาท/คน/ปี แต่กำลังขอเพิ่มเป็น 50,000 บาท/คน/ปี

 
 
ข้อมูลทั้งหมดสะท้อนว่า งบประมาณสุขภาพรายหัว รวมทั้งสิทธิประโยชน์ต่างๆระหว่างผู้ทรงเกียรติทั้งหลายและราษฎรไทยเต็มขั้น ต่างกันราวฟ้ากับดิน ระหว่างห้าหมื่นกับสองพัน ระหว่างใช้บริการที่โรงพยาบาลเอกชนสุดหรู กับโรงพยาบาลรัฐที่แสนแออัด รอคิวนาน
 
หากท่านทั้งหลายที่ติดตามข่าวสารอย่างเกี่ยวกับระบบประกันสุขภาพต่อเนื่อง คงจะทราบดีว่าในปัจจุบันภาครัฐกำลังประสบปัญหาอย่างยิ่งในการควบคุมค่าใช้จ่ายของระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจำเป็นต้องหาแนวทางในการลดภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลทุกๆปี แต่ทว่ารัฐบาลเองก็ไม่กล้าทำอะไร เพราะรู้ดีว่าตัวเองก็คือตัวปัญหา เพราะมีสิทธิประโยชน์ในด้านการรักษาพยาบาลที่ดีกว่าข้าราชการและยังมีค่าใช้จ่ายต่อหัวมากกว่าหลายเท่า
 
ในทางตรงกันข้าม เวลาที่กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ของบประมาณจากรัฐบาล ทั้งคณะรัฐบาลและท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติเหล่านี้กลับพยายามที่จะตัดงบประมาณให้เหลือน้อยที่สุด ทั้งๆที่ค่าใช้จ่ายต่อหัวไม่ถึง หนึ่งในสิบ ของงบประมาณที่ท่านทั้งหลายใช้อยู่
 
นี่แหละคือความเป็นจริงของสังคมไทย
 
คำถามที่อยากให้ท่านรัฐมนตรี ท่านสมาชิกสภาผู้ทรงเกียรติ และท่านทั้งหลาย ที่มีระบบประกันสุขภาพที่รัฐจัดให้ซึ่งดีกว่าคนไทยส่วนใหญ่ ช่วยตอบคำถามให้คนไทยทั้งประเทศได้หายข้องใจว่า
1)    ท่านจะทราบความทุกข์ยากเดือดร้อน ของชาวบ้านจากระบบประกันสุขภาพได้อย่างไร ในเมื่อท่านไม่เคยมีประสบการณ์การใช้บริการในระบบประกันสุขภาพ เช่นเดียวกับพี่น้องประชาชน
2)    ท่านจะปฏิรูประบบระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจที่มีค่าใช้จ่ายมหาศาลได้อย่างไร และเพิ่มประสิทธิภาพของระบบประกันสุขภาพได้อย่างไร ในเมื่อระบบสวัสดิการที่ท่านใช้อยู่นั้นใช้งบประมาณแผ่นดินต่อหัวมากมายกว่าข้าราชการเหล่านั้นหลายเท่า
3)    ท่านจะสามารถปรับปรุงการให้บริการของสถานีอนามัย โรงพยาบาลชุมชน หรือโรงพยาบาลรัฐบาลทั้งหลายได้อย่างไร ในเมื่อส่วนใหญ่ท่านทั้งหลายไปใช้บริการในโรงพยาบาลเอกชนหรูหราที่ไหนก็ได้ แต่ไม่เคยมีประสบการณ์ไปใช้บริการในโรงพยาบาลของรัฐ
 
ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหราชอาณาจักร และกลุ่มประเทศแถบทวีปยุโรป ไม่ว่าท่านเป็นใคร จะเป็นรัฐมนตรี สส. ผู้ทรงเกียรติ เป็นพนักงานบริษัทเล็กๆแห่งหนึ่ง หรือแม้กระทั่งเกษตรกร หรือคนว่างงาน สิทธิด้านสุขภาพที่ได้รับจากรัฐมีความเท่าเทียมและเป็นไปอย่างทั่วถึงกัน ไม่แบ่งแยก เพราะทุกคนต่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน
 
ดังนั้น สิ่งที่ควรจะเป็นสำหรับกรณีนี้คือ การทำให้คนไทยทุกคนได้รับหลักประกันสุขภาพจากรัฐอย่างเท่าเทียมกัน โดยมีสิทธิประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน ภายใต้ระบบเดียวกัน เพราะทุกๆระบบก็ใช้งบประมาณของแผ่นดินเหมือนๆ กัน และที่สำคัญเรื่องสุขภาพย่อมไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะ หรือเป็นระบบอภิสิทธิ์ชนใดๆ แต่เป็นสิ่งที่รัฐต้องจัดให้ประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม
 
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราควรจะช่วยกันล้มระบบอภิสิทธิ์ชนเหล่านี้ให้หมดไปจากสังคมไทย วันนี้สังคมไทยต้องการคำตอบครับ
 
 
 
 
.................................................
บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 23 กันยายน 2552
 



ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net