เลือกตั้ง อบต. การเมืองที่กินได้

เพิ่งเสร็จสิ้นการเลือกตั้ง อบต.ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ น่าแปลกที่นอกจากข่าวผู้สมัครและหัวคะแนนยิงกัน การเมืองท้องถิ่นก็ไม่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนมากสักเท่าไร ประหนึ่งว่ามันไม่เกี่ยวข้องอะไรกับ “ประชาธิปไตย” หรือ “การเมืองใหม่” ที่กำลังช่วงชิงการนิยามกันอย่างดุเดือดในเวทีการเมืองชาติ

ฉันมีโอกาสไปเที่ยวเล่นที่หมู่บ้านบนดอยแห่งหนึ่งในช่วงสองสัปดาห์ก่อนการเลือกตั้ง อบต. ชุมชนชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงแบบนี้มักถูกมองข้ามเสมอ เมื่อพูดถึง “การมีส่วนร่วม” ทางการเมือง ซ้ำร้ายไปกว่านั้น คนบางกลุ่มยังมองว่าคนที่อยู่ห่างไกลเหล่านี้ไม่มีจิตสำนึกทางการเมืองหรือความเป็นประชาธิปไตยอันเนื่องมาจากความด้อยการศึกษา

แต่ฉันกลับพบว่าการเมืองในชุมชนรากหญ้าแห่งนี้กินได้ จับต้องได้ และเป็นรูปธรรมยิ่งกว่าการเมืองชาติเสียอีก

ขนมจีนเบอร์สาม
วันนั้นเป็นวันอาทิตย์ ชาวบ้านโดยส่วนใหญ่ซึ่งนับถือศาสนาคริสต์หยุดไปไร่ไปนา เข้าโบสถ์ หรือพักผ่อนอยู่กับบ้าน สำหรับวันอาทิตย์ในบางสัปดาห์ก็จะมีกิจกรรมของส่วนรวม เช่น การประชุมหมู่บ้าน การประชุมตามคำสั่งของทางราชการ หรือการแผ้วถางพงหญ้ารอบ ๆ ทางสาธารณะ ฯลฯ

เนื่องจากใกล้เลือกตั้ง วันนั้นมีทีมงานของผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล พากันมาเยี่ยมเยียนชาวบ้านอย่างคับคั่ง มีการแจกจ่ายน้ำแข็งและน้ำอัดลมขนาด 1.5 ลิตรเป็นที่ถูกใจของลูกเล็กเด็กแดง

การแจกของเพื่อติดสินบนสำหรับการเลือกตั้งเป็นไปอย่างโจ๋งครึ่ม แต่มาไม่ถึงบริเวณที่ฉันพักอยู่ หัวคะแนนซึ่งเป็นชาวบ้านในหมู่บ้านเองรู้ดีว่าการแจกแบบนั้นมีความผิด แต่จะผิดก็ต่อเมื่อมีคนร้องเรียน หัวคะแนนของผู้สมัครต่างเบอร์ไม่ร้องเรียนกันดอก เพราะต่างคนต่างแจก ส่วนชาวบ้านก็รับของแจกกันอย่างสนุกสนานไม่สนใจหรอกว่าของใครเป็นของใคร แต่ “คนนอก” อย่างฉันย่อมถูกหัวคะแนนระแวงสงสัยไว้ก่อนว่าอาจจะคิด (ไม่) ซื่อไปร้องเรียนทางการ จึงทำอะไร ๆ ไม่ให้ฉันเห็นแจ่มแจ้งนัก

มื้อเที่ยงวันนั้นหน่อมึ (นามสมมติ) เพื่อนปกากญอของฉันถามว่าอยากกินขนมจีนน้ำเงี้ยวไหมจะไปเอามาให้ “กินสิ” ฉันตอบโดยไม่ต้องคิด ไม่กี่อึดใจ ขนมจีนน้ำเงี้ยวในชามโฟมก็มาวางอยู่ตรงหน้าถึง 3-4 ชาม กินไปก็แซวไปพลางว่า “อ้าวกินกันให้อร่อยขนมจีนเบอร์สาม”

เพื่อนที่ไปด้วยกันจากในเมืองคิดตามไม่ทัน หลงคิดไปว่าเบอร์สาม คือขนาดของเส้นขนมจีน


ส.อบต. สำคัญกว่า นายกฯ
นอกจากหัวคะแนนในหมู่บ้านและเครือญาติของพวกเขาแล้ว ชาวบ้านทั่วไปไม่ให้ความสำคัญกับตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลมากเท่ากับตำแหน่งสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (ส.อบต.) ผู้สมัคร นายกฯ ทั้งหมดเป็นคนเมือง ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่รู้จักและไม่รู้สึกใกล้ชิดกับพวกตน หลายคนไม่รู้กระทั่งว่าในสมัยที่ผ่านมาใครเป็นนายกฯ ไม่ว่าใครจะเป็นนายกฯก็ไม่เห็นว่าชีวิตของพวกเขาจะดีขึ้นอย่างไร 

แต่สำหรับตำแหน่ง ส.อบต. ซึ่งมาจากสมาชิกภายในชุมชนนั้น ชาวบ้านฝากความหวังไว้มาก

หมู่บ้านนี้มีอยู่ด้วยกัน 3 กลุ่มบ้าน มีผู้สมัคร ส.อบต. 5 คนจากสองหย่อมบ้าน คือบ้านโป่ง (นามสมมติ) และบ้านป่าบง (นามสมมติ) ส่วนบ้านคีมู (นามสมมติ) นั้นมีสมาชิกอยู่แค่ 5 ครัวเรือนไม่มีใครสมัครหรือเคยมีตำแหน่งทางการมาก่อน

สมัยที่ผ่านมา ส.อบต.คนหนึ่งอยู่บ้านโป่ง และอีกคนอยู่บ้านป่าบง คนแรก “พะตี่สุก” เป็น ส.อบต.สองสมัยแล้ว เหตุผลส่วนหนึ่งที่ชาวบ้านเลือกเขาเพราะเขามักเป็นตัวแทนของชุมชนไปเข้าร่วมกับเครือข่ายชาวบ้านและองค์กรประชาชนในเชียงใหม่ เมื่อหมู่บ้านเกิดปัญหาอะไร เช่น ชาวบ้านถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้จับกุม น้ำท่วมที่นาเสียหาย ฯลฯ เขาก็สามารถชักนำให้เครือข่ายและองค์กรเอกชนเข้ามาช่วยเหลือชาวบ้านได้ ส่วน “เดช” ส.อบต.อีกคนได้รับเลือกจากคะแนนเสียงของคนป่าบงเพราะเห็นว่าเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาดีกว่าชาวบ้านคนอื่น ๆ (จบ ม.3) และเป็นคนในชุมชนเดียวกัน

สำหรับสมัยนี้ หน่อมึวิเคราะห์ให้ฉันฟังว่าชาวบ้านแต่ละกลุ่มในกลุ่มบ้านป่าบงของเธอมีเหตุผลในการพิจารณาผู้สมัครแต่ละราย ดังนี้

กลุ่มตระกูลคนจนที่สุดในชุมชนพอใจที่จะให้ “พะตี่สุก” ได้เป็น ส.อบต.ต่อไป เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านในกลุ่มนี้เคยถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้จับกุม และได้รับความช่วยเหลืออย่างดีจากพะตี่สุกและเครือข่ายประชาชนที่พะตี่สุกไปเข้าร่วม ขณะที่ชาวบ้านกลุ่มอื่น ๆ ไม่อยากเลือกพะตี่สุกเพราะเห็นว่าเป็นมาสองสมัยแล้ว น่าจะลองเปลี่ยนเป็นคนอื่นดูบ้าง

“กลุ่มอำนาจ” ในหมู่บ้านซึ่งมีฐานะทางเศรษฐกิจดี และมีหลายคนที่ได้รับตำแหน่งสำคัญในหมู่บ้าน เช่น ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน กรรมการชุมชนที่ดูแลกองทุน ฯลฯ สนับสนุนให้ “พนม” ผู้สมัครรายใหม่ได้เป็น ส.อบต. เพราะว่าเป็นคนในกลุ่มของตนนั่นเอง

“กลุ่มตระกูลใหญ่” อีกหนึ่งกลุ่มในชุมชนจะเลือก “โรจน์” ซึ่งเคยเป็น ส.อบต.สมัยก่อนหน้านี้ ชาวบ้านทั่วไปต่างรู้ว่าโรจน์เป็นคนขี้โม้และขี้เมา ไม่มีคุณสมบัติผู้นำที่ดีเอาเสียเลย แต่กลุ่มตระกูลใหญ่มีปัญหาความขัดแย้งกับกลุ่มอำนาจ และเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็เพิ่งเกิดกรณีความขัดแย้งในการสร้างเหมืองฝายและการทำเส้นทางผันน้ำจากฝาย ซึ่งกลุ่มตระกูลใหญ่เสียเปรียบกลุ่มอำนาจ พวกเขาจึงต้องการให้โรจน์ซึ่งเป็นคนโผงผางและพูดมากได้รับตำแหน่งเพื่อจะช่วยดุลอำนาจ และจัดการปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรจน์เองก็เคยมีปัญหากับคนในกลุ่มอำนาจมาก่อนด้วยเช่นกัน

“เดช” เป็น ส.อบต.ในสมัยที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าจะเป็นผู้สมัครคนเดียวจากบ้านป่าบง แต่มันก็ไม่ได้ทำให้เขาได้รับความสนใจจากชาวบ้านป่าบงเลย ชาวบ้านหลายคนเห็นว่าเดชอ่อนประสบการณ์ สมัยที่ผ่านมาไม่ได้มีผลงานหรือความโดดเด่นอะไร ชาวบ้านบางคนยังอยากให้โอกาสเดชอีกสักครั้ง เผื่อว่าประสบการณ์ที่ช่ำชองขึ้นจะทำให้เขาทำงานได้คล่องแคล่วขึ้น แต่สำหรับชาวบ้านส่วนใหญ่มีเหตุผลมากมายที่มีความสำคัญต่อการเลือก ส.อบต.ครั้งนี้มากกว่าเหตุผลที่ว่าเขาเป็น คนในชุมชนเดียวกัน

ผู้สมัคร ส.อบต.อีกคนคือพะตี่ดำ อดีตผู้ใหญ่บ้านที่มีผลงานไม่ประทับใจหน่อมึเพื่อนของฉันเลย หน่อมึบอกว่าพ่อหลวงคนนี้ “เข้าหายาก” “รังเกียจคนจน” และไม่ค่อยกระตือรือร้นที่จะแก้ไขปัญหาของชาวบ้าน เท่าที่ฉันรู้เขาเป็นนายหน้าให้แก่พ่อค้าที่ทำธุรกิจการเกษตรรายหนึ่ง เขาเอาเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดและยาฆ่าหญ้ามาให้ชาวบ้านซื้อเชื่อเพื่อที่จะผูกขาดการรับซื้อผลผลิต หน่อมึบอกว่าชาวบ้านไม่ชอบเขาสักเท่าไร ถ้าเขาจะได้รับการเลือกตั้งก็เป็นเพราะเขาซื้อเสียง 
 

รับเงินแล้วต้องเลือก
ชาวบ้านหลายคนเล่าให้ฉันฟังว่า การซื้อเสียงเป็นเรื่องปกติของหมู่บ้านนี้ ผู้สมัครจะเลือกจ่ายเงินให้แก่กลุ่มตระกูลที่ไม่ใช่เครือญาติของตน ส่วนเครือญาติจะสนับสนุนตนอยู่แล้วโดยไม่ต้องจ่ายเงินหรือมีเงื่อนไขใด ด้วยเหตุนี้เงินที่ใช้ซื้อเสียงจึงคำนวณจากจำนวนคะแนนที่ต้องการเพิ่มเพื่อให้ชนะการเลือกตั้งเท่านั้น ไม่ได้ซื้อหว่านไปเรื่อย สนนราคารายละ 100 บาท เพื่อให้ได้รับตำแหน่งใช้เงิน 10,000-20,000 บาทก็เพียงพอ  

“รับเงินเขาแล้วไม่เลือกไม่ได้หรือ” ฉันถามซื่อ ๆ เหมือนที่เคยได้ยินการณรงค์ไม่ซื้อสิทธิขายทั่วไป

คนหนุ่มในหมู่บ้านแย่งกันตอบเสียงรัวว่า “ไม่ได้หรอก” คนในหมู่บ้านมีน้อย รับเงินเขาแล้วไม่เลือกเขาก็รู้

“งั้นก็ไม่ต้องรับ ถ้าไม่อยากเลือก”

“ไม่ได้ !!” พวกเขาตอบเสียงดัง ถ้าปฏิเสธเงินเขา เขาก็จะรู้แน่ ๆ ว่าเราไม่เลือก เขาจะเกลียดขี้หน้าเราทันที ต่อไปก็จะมองหน้ากันไม่ติด

“ถ้าเขามาจ่ายเงินถึงบ้าน ก็จำเป็นต้องรับและต้องเลือกเขา”
 

การเมืองที่กินได้
สองสัปดาห์หลังจากการเลือกตั้ง อบต. ฉันโทรศัพท์ไปถามผล หน่อมึไม่ได้รายงานว่าใครได้เป็นนายกฯ แต่บอกว่าไม่มีชาวบ้านจากกลุ่มบ้านปางเบาะได้เป็น ส.อบต. พะตีสุกคนที่เธอเชียร์ไม่ได้รับเลือก แต่คนที่ได้คือโรจน์กับพ่อหลวงดำ เธอรายงานจำนวนคะแนนที่แต่ละคนได้ จำนวนบัตรเสีย และจำนวนผู้ไม่ลงคะแนนอย่างแม่นยำ 

การวิเคราะห์ของหน่อมึนั้นไม่ห่างไกลเกินความจริงเลย ดังที่เธอคาดไว้ กลุ่มตระกูลใหญ่ในหมู่บ้านของเธอเทคะแนนให้โรจน์ และกาเพียงเบอร์เดียว ทำให้โรจน์ได้คะแนนมากที่สุดถึงร้อยกว่าคะแนน ส่วนพ่อหลวงดำได้แปดสิบกว่าคะแนน มากกว่าพะตี่สุกไปเพียงไม่กี่คะแนน พนมเองก็ได้คะแนนน้อย ส่วนเดชได้คะแนนน้อยที่สุดเพียงสามสิบกว่าคะแนน

จากการได้รู้จักหมู่บ้านแห่งนี้มาไม่ต่ำกว่าห้าปี เหตุผลของการเลือก ส.อบต. เมื่อ 4 ปีก่อน แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับเหตุผลในปัจจุบัน เพราะสถานการณ์ในหมู่บ้านและความเป็นไปในชีวิตของชาวบ้านเปลี่ยนแปลงทุกวัน  

ในสถานการณ์ที่ชาวบ้านมีความเข้าใจในสิทธิของตนเองมากขึ้น มีความเชื่อมั่น และต่อรองกับเจ้าหน้าที่รัฐด้วยตนเองได้มากขึ้น1 เครือข่ายภาคประชาชนของพะตี่สุกก็ได้รับความสำคัญน้อยลง ขณะที่ความขัดแย้งภายในหมู่บ้านกลับเป็นเงื่อนไขหลักที่ทำให้คนโผงผางอย่างโรจน์ได้รับคะแนนเสียงมาเป็นอันดับหนึ่ง

ความซับซ้อนแยบยลในสนาม “การเมืองท้องถิ่น” ที่เล่ามาทั้งหมดเกิดขึ้นในหมู่บ้านเล็ก ๆ ขนาดเพียงร้อยกว่าหลังคาเรือน เป็นหมู่บ้านปกากญอที่หลายคนมักคิดไปเองว่าเป็นชุมชนที่มีแต่ความสมานฉันท์และสันติสุข

แม้ใครจะมองว่า “การเมือง” ของชาวบ้านเหล่านี้ไปได้ไม่ไกลเกินเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวของพวกเขา แต่ปากท้องของประชาชนคนรากหญ้าเหล่านี้มิใช่หรือที่เป็นเรื่องจริง เป็นชีวิตจริง และเป็นสิ่งที่นักการเมืองชาติมักเอาไปอ้างถึงอยู่เสมอว่าที่พวกเขาทำทุกอย่างก็เพื่อคนเหล่านี้

การเมืองที่กินได้ ไม่ได้หมายถึงเฉพาะขนมจีนเบอร์สาม แต่มีความหมายและความสำคัญที่ลึกซึ้งกว่านั้น ไม่ว่าโรจน์และพ่อหลวงดำจะได้รับตำแหน่ง ส.อบต. ด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ชาวบ้านป่าบงก็มีสิทธิและมีความชอบธรรมที่ใช้จะเหตุผลของตัวเองในการเลือก “ผู้แทน” ของพวกเขา

เป็นการมีสิทธิ มีส่วนร่วมทางการเมืองที่จับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรม และอาจเป็นรูปธรรมมากเสียยิ่งกว่าอุดมคติว่าด้วย “การเมืองใหม่” และ “ประชาธิปไตย” ที่เปิดโอกาสให้คนเพียงไม่กี่คนได้เป็นผู้เล่น โดยที่ประชาชนรากหญ้ามีสิทธิเป็นแค่คนเชียร์อยู่ห่าง ๆ และคอยรับเศษเนื้อที่คนข้างบนโยนมาให้เท่านั้นเอง

 

 

1 ซึ่งเป็นผลมาจากการเรียนรู้เมื่อเข้าร่วมกับเครือข่ายองค์กรชาวบ้านและขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนในช่วงสิบปีที่ผ่านมา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท