Skip to main content
sharethis
 
 
 
"งบส่วนนี้เกินไปจากความเป็นจริงไม่น้อยกว่า30% ถ้าเราคิดระนาบของการก่อสร้างประมาณครึ่งหนึ่งของ8 หมื่นล้านคือ 4 หมื่นล้าน 30% ก็ 1.2 หมื่นล้าน ก็ตีซะ 1 หมื่นล้าน ฉะนั้นถ้าเราสามารถที่จะช่วยกันปรับเปลี่ยนตรงนี้มันก็จะประหยัดเงินได้ประมาณหมื่นล้าน แล้วเอาตรงนี้มาเติมในส่วนที่ขาดแคลน"
 
ประธานชมรมแพทย์ชนบทขาเก่าเล่ายี่ห้อของไทยโพสต์แทบลอยด์เพิ่งออกมาเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลของโครงการแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555
 
อันที่จริงสาระสำคัญที่เขาพยายามสื่อต่อสังคมมีด้วยกัน 2 ประเด็นคือความไม่ชอบมาพากลในการตั้งงบกลางจัดซื้อจัดจ้างกับการแบ่งสัดส่วนงบประมาณอย่างผิดทิศทาง แทนที่จะลงสู่ชนบทสู่ภาคปฐมภูมิ กลับทุ่มให้โรงพยาบาลขนาดใหญ่
 
แต่ดูเหมือนสังคมจะเข้าใจ เข้าถึง เฉพาะประเด็นแรกเท่านั้น ซึ่งน่าเสียดาย
 
การจัดสรรเงินกู้ตามโครงการไทยเข้มแข็งในส่วนกระทรวงสาธารณสุข 86,000 ล้าน ยังเห็นได้ชัดเจนว่าต้องการใช้เงินให้มากที่สุด เร็วที่สุด เพื่อกระตุ้นการก่อสร้าง หรือจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ โดยไม่คำนึงถึงความคุ้มค่าหรือภาระผูกพันที่จะตามมาเช่น การซื้อรถยนต์ซื้ออุปกรณ์ราคาแพงให้โรงพยา
บาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล การให้งบ 5 แสนบาททำเสาธงชาติ อย่างเกินความจำเป็น
 
โครงการเหล่านี้ไม่ว่าจะทุจริตหรือไม่แต่สะท้อนได้ว่านี่คือการเอาเงินกู้8 แสนล้านที่จะเป็นภาระของลูกหลานในภายหน้ามากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร้เป้าหมาย สักแต่ให้มีการก่อสร้างและจับจ่าย ซึ่งชวนให้ตั้งคำถามว่า กระทรวงสาธารณสุขที่ข้าราชการเข้มแข็งยังเป็นอย่างนี้ แล้วกระทรวงอื่นจะเป็นอย่างไร
 
รพ.ใหญ่กวาดเงิน
ในฐานะที่แพทย์ชนบทต่อสู้เรื่องกระจายงบประมาณมาตั้งแต่ยุค น.พ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ผู้ริเริ่มโครงการ30 บาท หมอเกรียงศักดิ์บอกว่าประเด็นแรกที่สุดคือ การจัดสรรเงินกู้ครั้งนี้ผิดทิศทางที่เคยวางกันไว้
 
ในเชิงทิศทางก็คือทำงานไม่ได้ ไม่ได้แก้ปัญหาของประเทศ แบ่งสัดส่วนการลงทุนไม่ถูก พูดง่ายๆ รู้ทั้งรู้ว่าคนขาดแคลนคือในชนบทที่ต้องลงทุนเรื่องครุภัณฑ์ สิ่งก่อสร้าง และระบบบริการ แต่ปรากฏว่าสัดส่วนเม็ดเงินจาก86,000 ล้านลงในชนบทแค่13,000 ล้านและใน13,000 ล้านก็เป็นการสร้างโรงพยาบาลใหม่เสีย58 แห่ง ราว 3,000 ล้าน เหลือลงทุนให้โรงพยาบาล 730 แห่ง แค่ 10,000 ล้าน ขณะที่ไปพัฒนาโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีแค่ 94 แห่ง ประมาณ 30,000 ล้าน"
 
"ส่วนที่เหลือก็เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล10,000 กว่าล้านและไปเติมระบบบริหารซึ่งมันไม่ได้ขาดแคลนขนาดนั้นเช่นไปสร้างสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดใหม่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอใหม่ซึ่งเป็นหน่วยออฟฟิศที่ไม่ได้ให้บริการชาวบ้าน"
 
"มันก็โยงไปประเด็นที่สองที่ผมพูดว่าถ้ามองในแง่ดีคือทำไม่เป็นผิดทิศผิดทางแต่ถ้ามองในแง่ร้ายเอ๊ะมีเจตนาหรือเปล่าเพราะคุณไปทุ่มกับการลงทุนอันนี้และก็ไปเพิ่มราคากลางผมเทียบเคียงราคากลางแฟลตพยาบาลก็เห็นชัดเจนว่าเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า30% ถ้ามองย้อนการเพิ่มตึกเพิ่มอะไรต่างๆถ้าราคากลางเพิ่ม30% มันจะเป็นเท่าไหร่อย่าไปหลงทางเป็นเรื่อง UV fan มันไม่กี่ตังค์หรอก32 ล้านเอง แต่ตัว 86,000 ล้านถ้าคูณ 30% เป็นกี่หมื่นล้าน ถ้ามองทั้งระบบมันไม่ใช่แค่เครื่องมือแพทย์ UV fan ที่เราเห็น แต่จะมีตัวอื่นตามมาอีกเยอะแยะ"
 
กลับไปที่เรื่องของทิศทางก่อน ประธานชมรมแพทย์ชนบทชี้ว่า ทิศทางที่ประเทศไทยวางไว้ตั้งแต่ น.พ.สงวนริเริ่มโครงการ30 บาทก็คือการพัฒนาระบบปฐมภูมิจึงกระจายงบประมาณลงสู่โรงพยาบาลชุมชนตามประชากรรายหัว เน้นการป้องกันและการรักษาขั้นต้น ไม่ให้เกิดโรคเรื้อรัง ไม่ใช่รอให้เจ็บป่วยหนักแล้วจึงส่งเข้าโรงพยาบาลใหญ่
 
แต่ทิศทางการกระจายเงินครั้งนี้ไม่ได้เป็นไปตามแนวทางที่จะพัฒนาระบบปฐมภูมิเลย
 
"เงินทั้งหมดในกระทรวงสาธารณสุขใน2-3 ปีที่กำลังจะเกิดขึ้น 86,000 ล้าน ถ้าเราไปทุ่มเทสัดส่วนในการลงทุนไม่ถูกต้อง มันก็จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาของประเทศในระยะยาว เพราะสัดส่วนของเงินก้อนนี้ประมาณเกือบ3 หมื่นล้านหรือ1 ใน3 กลับไปลงทุนในระบบบริการชั้นสูง หรือตติยภูมิ excellent center พูดง่ายๆ ว่าโรงพยาบาลขนาดใหญ่ โรงพยาบาลศูนย์ เน้นอะไร ก็เน้นเครื่องมือแพทย์ราคาแพงๆ เน้นยาราคาแพงๆ เน้นแพทย์เฉพาะทางชั้นสูง"
 
"ที่ผ่านมา แพทย์ชนบทจะบอกอยู่ตลอดว่าในชนบทขาดแคลนหมอ ปัจจุบันเรามีหมอทั่วประเทศเกือบ 40,000 แต่มีหมอในโรงพยาบาลชุมชน 700 กว่าแห่ง แค่ 3,000 กว่าคน ไม่ถึง 10% ระบบอย่างนี้เป็นระบบที่เลียนแบบอเมริการะบบบริการสุขภาพในโลกมีอยู่2 แบบ คืออเมริกากับยุโรป ระบบในอเมริกาตอนนี้กำลังถูกท้าทายใครที่เคยดูหนังผู้กำกับไมเคิล มัวร์ เขาทำสารคดีเรื่อง Sicko แล้วก็มีอีกคนทำเรื่องคล้ายๆ กันคือ Sick Around the World คนอเมริกันเริ่มตื่นตัวว่าระบบสุขภาพของเขามันแย่เหมือนบ้านเราในอดีตก่อนคุณหมอสงวนจะทำหลักประกันสุขภาพทั่วหน้าคือมันมีช่องว่างระหว่างคนจนคนรวยสูงมากทำให้คนจนไม่สามารถเข้าถึงบริการหลายคนต้องล้มละลายเพราะการเจ็บป่วย บางคนสร้างคุณูปการให้กับประเทศแต่ไม่สามารถเข้าถึงบริการได้ ผู้หญิงคนหนึ่งเป็นอาสาสมัครช่วยคนในเหตุการณ์9/11 สูดผงฝุ่นเข้าไป จนกลายเป็นโรคปอดเรื้อรัง พอเกษียณต้องจ่ายเงินเองในการรักษาพยาบาล"
 
"อเมริกาเน้นเรื่องแพทย์เฉพาะทางแบบลึกๆแซวกันว่าถ้าไปหาหมอหูในอเมริกาต้องระบุด้วยว่าหูข้างซ้ายหรือข้างขวาเพราะไม่อย่างนั้นมันทำไม่ได้ยิ่งเน้นทางลึกก็ไปเข้าระบบที่หมอวิชัย(โชควิวัฒน์)เขียนคือธุรกิจยา การครอบงำของบริษัทยา พอเป็นอย่างนี้ก็ไปถึงทรัพย์สินทางปัญญา มันก็จะมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นพอแพงชาวบ้านก็มีความคาดหวังสูงก็เกิดการฟ้องร้องแล้วก็เป็นวงจรอุบาทว์ หมอก็ป้องกันตัวเองก็ต้องทำประกันก็ไปเก็บกับชาวบ้านมากขึ้นสุดท้ายคนข้างล่างตายหมดช่องว่างระหว่างคนจนคนรวยสูงมาก"
 
"บ้านเรากำลังจะเป็นแบบนี้ในเชิงระบบมันมีทางการแพทย์กับทางสาธารณสุข ทางสาธารณสุขก็เหมือนการควบคุมป้องกันโรคแต่ทางการแพทย์คือทางทุนนิยมที่ชาวบ้านรู้ว่าเจ็บป่วยต้องไปหาหมอแต่เขาจะไม่คิดถึงการป้องกันไม่สูบบุหรี่หมอต้องไปส่งเสริมดูแลชาวบ้านเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารไม่ให้อ้วนไม่ให้เป็นโรคหัวใจมันเป็นคนละระบบ ในยุโรปเขาทำแบบนี้ แต่อเมริกาจะพึ่งพาทางยามากใครที่จบมาจากอเมริกาก็จะถูกหล่อหลอมเรื่องทุนนิยมมากและระบบการแพทย์บ้านเราโรงเรียนแพทย์ส่วนใหญ่ กรรมการแพทยสภา จบมาจากอเมริกา เขาก็จะหล่อหลอมวัฒนธรรมแบบอเมริกา"
 
"ผมเห็นตัวอย่างจากที่ประเทศไทยทำเรื่องบัญชียาแห่งชาติที่คุณหมอสุวิทย์ (วิบุลย์ผลประเสริฐ) เป็นประธานเราเปิดประชาพิจารณ์คนที่ต่อต้านเรามากที่สุดก็คืออาจารย์โรงเรียนแพทย์ผมไปเจอหมอวินเขาอยู่อังกฤษเขามีความสุขกับการเป็นหมอประจำครอบครัวประเทศเขาร้อยละ 55 เป็นแพทย์ประจำครอบครัวร้อยละ45 เฉพาะทาง แต่ในอเมริกาประมาณร้อยละ 90 เป็นแพทย์เฉพาะทางเมืองไทยเราตอนนี้แพทย์เฉพาะทางมีกว่าร้อยละ70 หมอทุกคนพอทำงานครบ 3 ปีปุ๊บรู้สึกว่ามันด้อยศักดิ์ศรีมันยากจน ต้องไปเรียนต่อ แล้วอะไรเกิดขึ้น ระบบรัฐบ้านเราดูแลราชการได้ไม่ดี รายได้แตกต่างกันมากเกินไป พวกนี้ก็ไปอยู่กับเอกชน กรรมการแพทยสภาส่วนใหญ่ก็มาจากเอกชน"
 
"พวกนี้พูดแม้กระทั่งว่าโรงพยาบาลชุมชนในประเทศไทยควรงยกเลิกไปได้แล้วไม่ควรจะเอาหมอไปอยู่มีแต่พยาบาลกับรถพยาบาลก็พอคนพวกนี้ไม่เคยรู้ว่าประเทศไทยมันมีบึงขงหลงที่ห่างจากจังหวัด230 กม.เขาบอกว่าเหมือนสิงคโปร์ไงหมออยู่แต่ในเมือง เขาก็ไปปลูกฝังประชานิยมในหมู่แพทย์ผมเป็นผู้ใหญ่สมัครกรรมการแพทย์สภาบอกเลือกผมผมไม่ให้คุณอยู่ลำบากหรอก ไม่ให้คุณยากจน ผมจะทำให้คุณกลับมาอยู่ในเมือง อยู่เอกชนกับผม กลายเป็นว่าใช้ทรัพยากรของรัฐฟรี คุณไม่ต้องจ่ายเงินในการผลิตหมอ จบหมอมาก็ลาออก"
 
หมอเกรียงศักดิ์บอกว่านี่คือความคิดที่สวนทางกันระหว่างการพัฒนาแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวกับแพทย์เฉพาะทางระหว่างการป้องกัน กับการใช้ยาใช้เทคโนโลยี และการใช้งบประมาณด้านปฐมภูมิ กับด้านตติยภูมิ ซึ่งผลที่ออกมากระทรวงสาธารณสุขไปทุ่มงบประมาณให้กับด้านการแพทย์ชั้นสูงมากกว่า นอกจากนี้ยังจัดงบประมาณอย่างไม่มีระบบด้วย
 
"ผมดูจากครั้งนี้เป็นลักษณะมือใครยาวสาวได้สาวเอา บางคนสมควรได้แต่ไม่เชื่อว่าจะมีงบก้อนนี้ เลยไม่ได้ขอแต่บางคนไม่รู้ละ-ไม่คิดว่าได้แต่ขอไว้ก่อน หรือขอแบบ luxury ไปเลย ไม่มีความจำเป็นเลย"
 
"คุณหมอเทียม อังสาชน ผอ.โรงพยาบาลสระบุรี แกบอกว่าวันก่อนมีหมอท่านหนึ่งมาขอเครื่องมือราคา11 ล้าน มันไม่มีความจำเป็นขนาดนั้น แกก็ต้องบล็อกไว้ เพราะเขาคิดว่าเงินเหลือ แต่ลืมคิดว่ามันเป็นเงินภาษีและไปเบียดในส่วนที่ขาดแคลน"
 
หมอเกรียงศักดิ์ยกตัวอย่างพร้อมตั้งคำถามว่า ถ้าหัวหน้าหน่วยงานไม่ใช่คนดีอย่างคุณหมอเทียมล่ะ
 
"โรงพยาบาลชุมชนของผม โรงพยาบาลไกลๆ อุ้มผาง ศรีสังวาลย์ จะต้องสร้างอีกเยอะเลยเพื่อให้มีระบบบริการที่มีคุณภาพและมาตรฐานเพราะเงินก้อนนี้อย่าลืมว่าเป็นเงินอนาคต 86,000 ล้าน ผมเชื่อว่าเมื่อใช้เงินก้อนนี้หมดอีกสามชาติก็ไม่มีมาพัฒนาแล้วรัฐบาลต้องพิจารณาตรงนี้ให้ดีมันจะเป็นการเอาไปใช้ในสิ่งไม่จำเป็นขณะที่ในส่วนที่จำเป็นก็ยังขาดอยู่เพราะฉะนั้นคุณก็พัฒนาระบบไม่ได้ สุดท้ายคุณก็ล้มเหลว"
 
"นี่มองในเชิงบวกกันก่อนว่า ในเชิงทฤษฎี ผมว่ามาผิดทาง คุณทำแบบเร่งรีบเกินไป และก็ไม่มีระบบการจัดการที่ดีที่จะวิเคราะห์ว่าจุดไหนขาดจุดไหนเหลือมันกลายเป็นบางที่ด้วยความอยากได้จะสร้างตึก700-800 ล้านก็เลยต้องไปรื้อตึกเก่าทิ้งเพราะพื้นที่ไม่มี บางแห่งเพิ่งสร้างไม่กี่ปี เพราะต้องการได้ตึกใหม่นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกเสียดายแต่ผมต้องออกตัวแทนกระทรวงสาธารณสุขก่อนนะว่าเงินก้อนนี้จำเป็น หลายคนกังวลใจว่าผมออกมาแล้วรัฐบาลจะยกเลิกโครงการ สำนักงบประมาณจะไม่ให้ไม่ใช่เราต้องพูดตามความเป็นจริงว่าทั้งประเทศยังขาดแคลนเราอยากเห็นประเทศพัฒนาไปในทางที่ดี ไม่เข้ากระเป๋าใคร ไม่ควรจะบริหารจัดการแบบไม่มีสติ"
 
หมอเกรียงศักดิ์บอกว่านี่คือมองโดยยังไม่เอาข้อสงสัยเกี่ยวกับการทุจริตมาคิด
 
"ถ้ามองในแง่ดีก็คือผิดทิศผิดทาง ลงทุนในระดับของโรงพยาบาลใหญ่มากเกินไป จนกระทั่งพอเห็นว่าเงินเหลือเยอะทุกคนก็อยากจะเอาอะไรที่เกินความจำเป็น จะต้องหาหลักคิดในการดูว่าจริงๆ ขาดเท่าไหร่ผมก็รู้ว่าขาดแต่ผมไม่เชื่อว่าขาดเยอะขนาดนี้ เมื่อเทียบกับสัดส่วน หรือถ้าเงินก้อนนี้ไม่พอก็ต้องแบ่งสัดส่วนให้เหมาะสมเช่นคุณมีอยู่60 เรามีเงินให้ทำได้แค่ 80 คุณก็เติมแค่ 20 ส่วนโรงพยาบาลชุมชนระดับล่างมันมีอยู่แค่30 แต่ต้องการได้ 80 คุณก็เติม 50 มันต้องหาหลักคิดข้อหนึ่งให้ได้ก่อน ทุกคนทราบใช่ไหมว่าเรากำลังปรับให้เป็นแบบยุโรปเราก็ต้องมาปรับฐานแบบยุโรปเพราะฉะนั้นก็ต้องพัฒนาข้างล่างให้เข้มแข็งพอสมควร"
 
ก่อสร้างสุดเว่อร์
หมอเกรียงศักดิ์ยกตัวอย่างให้ฟังอีกว่าสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบางจังหวัดก็ได้งบประมาณ 70-80 ล้านไปสร้างสำนักงานใหม่ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ 30-40 ล้าน ซึ่งก็อาจจำเป็น แต่มีสิ่งที่จำเป็นกว่าหรือไม่
 
การจัดสรรเงินไม่ได้เปิดประชุมทั้งประเทศเพื่อตกลงกันก่อนหรือ
"เขามีนะแต่เขาไปคิดในวงของเขาไม่ได้มีลักษณะที่ว่า หนึ่งต้องมาพิจารณาสัดส่วนก่อน ดูข้อมูลพื้นฐานก่อนว่าที่ไหนขาดมากที่ไหนขาดน้อย มันต้องมีธงนำก่อน แล้วค่อยปรับรายละเอียด แต่ผมเข้าใจว่าต่างคนต่างทำกลุ่มโรงพยาบาลใหญ่รู้เรื่องมากอยากได้ชิ้นใหญ่ก็ขอมาแบบ luxury เลย ส่วนนี่ไกลปืนเที่ยงไม่รู้เรื่องเจ้านายก็ไม่ได้บอกอะไรมากมายบอกแต่ว่าเอ็งอย่าขอเยอะนะพวกนี้ขอมาก็ถูกตัดหมด มีวงเงินอยู่จำกัด ขณะที่อีกวงเงินหนึ่งเปิดได้เต็มที่"
 
ที่ประหลาดคือไม่ได้ขอก็ยังได้งบ
"ยกตัวอย่างจังหวัดขอนแก่นโรงพยาบาลสิรินธรเขาบอกมีหลายรายการที่ไม่ได้ขอเขาก็ได้ พวกตึกอะไรต่างๆขณะที่โรงพยาบาลชุมแพไม่ได้เลย นี่คือตัวอย่าง เครื่องไม้เครื่องมือสิรินธรก็ได้หมด ทั้งที่จริงเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็กกว่าชุมแพเยอะ"
 
"คือขอนแก่นมีโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่นและโรงพยาบาลจังหวัดสิรินธร อยู่ติดกัน แต่เล็กกว่าชุมแพเยอะมันเป็นตัวอย่างว่าทิศทางนโยบายขาดการจัดการที่ดี จะทำให้มีปัญหาในภายหลัง ผมเลยคิดว่าถ้าเราจะพูดในเชิงแก้ไขเงินก้อนนี้ถ้าเราลองแบ่งลดจากโรงพยาบาลขนาดใหญ่มาสัก 10,000ล้าน มาคืนให้โรงพยาบาลชุมชน10,000 ล้านลองแค่นี้ง่ายๆ แล้วก็ไปดูสิว่าโรงพยาบาลไหนไม่ต้องการเครื่องมือที่ฟุ่มเฟือยมากขนาดนั้น และไม่ได้ขาดแคลนมาก ตึกเก่ายังพอใช้ได้ ไม่ต้องทุบทิ้งหรอก"
 
ในส่วนของโรงพยาบาลใหญ่ หมอเกรียงศักดิ์บอกว่า ราวๆ ครึ่งหนึ่งน่าจะเป็นการก่อสร้าง อีกครึ่งเป็นเครื่องมือแพทย์
 
"94 โรงพยาบาลก็มีเครื่องมือแพทย์ส่วนหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่ไปลงที่ตัวตึก เอาง่ายๆ ประมาณ 50% ของทั้งหมดเพราะฉะนั้น94 โรงพยาบาลลงทุนไปเกือบ 30,000 ล้าน 50% ก็หมื่นกว่าล้าน ยกตัวอย่างง่ายๆโรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา 2,000 กว่าล้านสร้างตึกรวมเครื่องมือแพทย์ ในขณะที่บางโรงพยาบาลไม่ได้เลย"
 
นอกจากการจัดสรรเงินอย่างผิดทิศทางประธานชมรมแพทย์ชนบทบอกว่าการก่อสร้างหลายๆส่วนก็แพงและฟุ่มเฟือยเกินไปอย่างเช่นการก่อสร้างโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง 58 โรงทั่วประเทศ ซึ่งเขาได้เห็นรายการเพราะรพ.ภูกระดึงดูแลอ.หนองหินที่เดิมเป็นกิ่งอำเภอด้วยตอนนี้กำลังจะสร้าง รพ.หนองหินขึ้นใหม่
 
"ผมดูแลอำเภอหนองหินด้วยปีนี้ก็ได้รับยกฐานะสร้างโรงพยาบาลเขาก็แพคเกจมาให้ ทั้งหมด 14 รายการ48.655 ล้านบาทผมดูทีละรายการปรากฏว่าเสาธงสูง20 เมตร ราคาเสาละ 495,000 บาท"
 
หมอบอกว่านี่เขาดูเพียงคร่าวๆยังไม่ได้ดูรายละเอียด แต่ก็สะดุดใจกับการทำเสาธงราคาเกือบ 5 แสนบาทว่ามีความจำเป็นอะไร"ลักษณะแบบนี้ผมกำลังจะบอกว่าด้วยความที่รีบเร่งจนเกินไป ด้วยความรู้สึกว่าไม่ใช่เงินของตัวเอง เมื่อเขาให้มาก็ใช้ๆๆ ไป ขาดการคิดแบบประสิทธิภาพ"
 
อีกตัวคือถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก แห่งละ 3,641,000 บาท
 
"บอกว่าเท่านี้แต่ไม่บอกว่ากี่ตารางเมตรตอนหลังเราก็ไปเช็คข้อมูลมาว่าเขาคิดตารางเมตรละพันกว่าบาท ที่จริงมันทำได้แค่ 300-400 บาท ราคากลางเดิมก็อยู่ที่ 700-800 บาท แต่ปัจจุบันกลับเพิ่มราคากลางสูงขึ้น 30-40%"
 
"ปีที่แล้วผมเพิ่งจัดซื้อไปในสเปคเดียวกันเลย ผมได้ประมาณ 380 บาทต่อตารางเมตร ซึ่งก่อนหน้านี้เขากำหนดราคากลางไว้ที่760 บาท แต่ผมไม่เคยซื้อถึง ผมเคยซื้อได้ต่ำถึง 268 บาท เพราะถนนบางอันเราไม่ต้องบดอัดเช่นถนนที่รื้อไปมันแข็งอัดแน่นรถใช้มานานถ้าเรารู้ทันระบบผู้รับเหมา เราก็สามารถใช้ของได้สมประโยชน์ผมกำลังจะบอกว่ามันขาดการดูแลผมก็ไม่รู้ว่ามีเจตนาดีเจตนาร้ายในการเพิ่มวงเงินของราคาสิ่งก่อสร้างที่สูงมากเกินไปและก็มีการกำหนดitem ในสิ่งที่ไม่มีความจำเป้นมากจนเกินไป จนเหมือนกับ luxury"
 
"ผมไม่เคยเจอเสาธง 5 แสน สมัยปี 2547-2548 ผมโดนหมอวัลลภย้าย แล้วภรรยาผมขับรถไปชนเสาไฟฟ้าอ.ปากช่อง สูง 20 เมตรได้มั้ง ชนขาดเลย กรมทางหลวงเรียกเก็บค่าปรับทำเสาไฟฟ้าต้นใหม่ 25,000 บาท"
 
เขาบอกว่านี่เป็นแค่ 2 ใน 14 รายการที่อยากยกมาให้ช่วยกันตรวจสอบ เพราะส่วนที่เหลือก็ไม่สามารถจะรู้ได้หมด
 
นี่คือประเด็นที่สองที่เกี่ยวกับราคาก่อสร้างและเครื่องมือแพทย์ที่ไม่ชอบมาพากลซึ่งเท่าที่เช็กข้อมูลได้ หมอเกรียงศักดิ์บอกว่ามีอยู่ 5-6 รายการ
 
"แฟลตพยาบาล24 ห้อง เป็นแบบเดียวกันทั้งประเทศ เรือนพักพยาบาล 24 ห้อง 3 ชั้น อันนี้เป็นงบที่ใช้ในปี2553 ฉะนั้นราคากลางที่คำนวณมาก็ต้องเป็นราคาที่ทำในปี 2552 อันนี้ถือว่าจำเป็นนะ ควรจะต้องได้เพราะบ้านพักไม่ค่อยพอ แต่ที่กำหนดราคากลางมาให้เรา 9,570,000 บาท"
 
"นี่คือหลักฐานจริงที่โรงพยาบาลภูกระดึงของผมเองได้งบประมาณมาก่อสร้างผมเริ่มทำด้วยวิธีอีออคชั่นเมื่อ ต.ค.2551 ก็คือต้นปีงบประมาณ 2552 เราได้ราคากลาง 6,800,000 และผมก็มีผู้มาประมูล3 ราย ประมูลเสร็จก็ได้ราคาอยู่ที่ 6,550,000 ผมกำลังบอกว่าราคากลางที่มีอยู่เดิมขณะนี้ทำได้สบาย ไม่ใช่มาปรับกลายเป็น 9,500,000"
 
หมอเกรียงศักดิ์บอกว่าแบบเดียวกันเป๊ะ 24 ห้อง เพิ่งอนุมัติโครงการเมื่อ 21 พ.ย.2551 นี่เอง แล้วทำไมราคากลางถึงกระโดดไปร่วม 50% จากของเดิม
 
กระทรวงอาจจะบอกว่าก็แล้วแต่ ผอ.ที่จัดประมูล ถ้าทำโปร่งใสก็อาจไม่ถึง 9.5 ล้าน
 
"เงินที่ผมทำเป็นเหมือนเงินบำรุงความรู้สึกของผมพอเป็นเงินผม ผมก็ต้องประมูลให้ต่ำที่สุด ยกเว้นคนแสวงหากำไรนะเพราะเงินที่เหลือก็เหลืออยู่กับโรงพยาบาลผมก็ต้องต่อรองกับผู้รับเหมาให้มากที่สุดแต่ถ้าวิสัยทั่วๆไปหรือถ้าถูกบีบบังคับส่วนหนึ่งหรืออาจจะแสวงหากำไรส่วนหนึ่ง เราได้มา 9.5 ล้าน ทำไมไม่ซื้อให้มันครบล่ะ เช่นผู้รับเหมาอาจจะมาบอก"
 
"ในแง่ปฏิบัติจะมีสักกี่คนที่ทานแรงกระแสสิ่งยั่วยวนตรงนี้ได้หรือสมมติผมเป็นหมอบ้านนอกเป็น สสจ.บ้านนอกไม่เคยรู้เรื่องก่อสร้างเลยก็เข้าใจว่านี่คือราคากลางในตลาดจริงๆเพราะฉะนั้นเวลามาประมูลบริษัทมันฮั้วกันเขาบอกเขาทำได้ 9.5 ล้าน คุณจะรู้ไหม"
 
"มันแยบยลมากเลยในการอัพราคาผมไปแอบดูในรายการอื่นๆวิธีการทำราคากลาง โดยหลักการคร่าวๆเช่นตึกลักษณะนี้ คำนวณออกมาว่าพื้นที่ใช้สอยเท่าไหร่ คูณด้วยกี่บาทต่อตารางเมตร เช่น 8,000 ต่อตารางเมตร แต่ถ้าอาคารโรงพยาบาลต้องมีห้องซับซ้อน ผนังพิเศษ ต้องใช้วัสดุพิเศษ อาจจะ 12,000 ต่อตารางเมตรผมเลยไปดูประมาณการในexcel ปรากฏว่าเขาคูณในระนาบสัดส่วนอย่างนี้หมดเลย ทั้งที่จริงๆ มันควรจะเป็น 8,000 ผมเลยถามว่า up ขึ้นมามาจากอะไร ก็มีผู้มาตอบว่ามันมีค่าวัสดุ เงินเฟ้อ เลยทำเผื่อไว้ มันต้องเผื่อถึง 50% หรือ ราคาก่อสร้างไม่ได้สูงขนาดนั้น"
 
พวกแฟลตเสาธง เหล่านี้ เขาอาจจะบอกว่าหมอแต่ละโรงพยาบาลจัดการเอง นักการเมืองไม่เกี่ยว
 
"ขั้นตอนการจัดซื้อสมมติคุณไปโยนให้ข้างล่าง เขาไม่รู้ราคากลางจริงๆว่าเท่าไหร่ เพราะเขาคิดว่าราคานี้เป็นราคาของประเทศอีกคนทำได้6 ล้านกว่า อีกคนทำได้ 9 ล้านกว่า คราวนี้ใครตาย ข้างล่างตายผมจึงตัดสินใจออกมาครั้งนี้เราจะซาดิสม์ไหมคือปล่อยให้เกิดทุจริตไปแล้วอย่าง 1,400 ล้านแล้วคาดหวังว่าจะท่องนะโมและจับคนทำผิดได้อย่างกรณีคุณรักเกียรติซึ่งครั้งนั้น สสจ.ถูกลงโทษไล่ออกไปไม่น้อยกว่า5 รายเจ้าหน้าที่อีกกี่คน หลายคนมาบอกผมว่าใจแข็งหน่อยอย่าเพิ่งออกมาพูดรอขุดบ่อล่อปลาออกมาให้ตะครุบเหยื่อผมก็มานั่งคิดว่าหนึ่งขุดบ่อล่อปลาก็ไม่ได้หมายความคุณจะได้ปลานะเพราะบางทีปลามันอาจจะรอดไปได้สองคนตายกลายเป็นปลาตัวน้อยๆ สามเงินที่หายไป2-3 หมื่นล้านจะได้กลับคืนไหม สี่ ระบบที่มันควรจะสร้างต่อไปในอนาคต โรงพยาบาลเล็กๆที่ควรจะต้องได้ที่ควรจะเหลือเงินก้อนนั้นมาทำอีกกี่ชาติจะได้มาคุ้มไหม ผมว่าออกมาอย่างนี้ดีกว่า เสียหายน้อยที่สุด"
 
"ราคาสิ่งก่อสร้างที่ผมยกมาคือผมเห็นได้ชัดบังเอิญมันมีหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นช่วงเดียวกัน และจัดซื้อได้จริงไม่มีใครเชื่อว่าเงินเฟ้อจะขึ้น40-50% เพราะฉะนั้นถือเป็นราคาที่ไม่สมเหตุสมผล และจากการเอาตัวนี้มาเป็นตัวอย่างและนำร่องไปดูตัวอื่น ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ว่ามันน่าจะสูงเกินไปไม่น้อยกว่า 30%"
 
หมอเกรียงศักดิ์บอกว่าราคาหอพักพยาบาลแต่ละที่ก็ไม่เท่ากัน ขึ้นกับสภาพ
 
"เช่นภาคใต้ราคากลางอาจจะไม่ใช่6.8 ล้านแถวชุมพรอาจจะ 7 ล้านต้นๆ ไม่ว่ากันในแง่ของความเป็นจริง3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็อาจจะ8-9 ล้าน แต่เขาก็ขึ้นเป้นระนาบเดียวกันหมดเลยนะโรงพยาบาลใน 3 จังหวัดภาคใต้ได้ 11 ล้านกว่า ขณะที่ของผมได้ 9 ล้าน จากที่ทำจริง 6.5 ล้านโรงพยาบาลชุมพวงโคราช เพื่อนผมมันทำได้ถูกกว่าผมอีก มันทำได้แค่ 5.8 ล้าน"
 
"เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่างบส่วนนี้เกินไปจากความเป็นจริงไม่น้อยกว่า30% ถ้าเราคิดระนาบของการก่อสร้างประมาณครึ่งหนึ่งของ 8 หมื่นล้านคือ 4 หมื่นล้าน 30% ก็ 1.2 หมื่นล้าน ก็ตีซะ 1 หมื่นล้านฉะนั้นถ้าเราสามารถที่จะช่วยกันปรับเปลี่ยนตรงนี้มันก็จะประหยัดเงินได้ประมาณหมื่นล้าน แล้วเอาตรงนี้มาเติมในส่วนที่ขาดแคลน เช่น โรงพยาบาลชุมชน เครื่องมือแพทย์"
 
"นั่นคือการตั้งราคาเกินความจำเป็น สอง พอเห็นว่ามีเงินซื้อ ก็ทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสม เช่น เสาธง ซึ่งผมก็ยังไม่แน่ใจว่าอย่างอื่นมีอย่างนีอีกหรือไม่ เพราะเรายังไม่ได้ดูในรายละเอียด เช่นสร้างสำนักงานสาธารณสุข 31 ล้าน"
 
ประธานชมรมแพทย์ชนบทกล่าวอีกว่า งบประมาณก่อสร้างโรงพยาบาลใหญ่ๆ เขายังไม่ได้ดู ไม่ทราบจะมีอะไรเกินจริงหรือไม่ ซึ่งส่วนนี้ก็ต้องจับตา เพราะการก่อสร้างมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท อำนาจอนุมัติการประมูลเป็นของรัฐมนตรี
 
 
ไม่ได้ขอก็ให้ซื้อ
 อีกส่วนที่ไม่ชอบมาพากลเช่นกันคือการจัดซื้อครุภัณฑ์การแพทย์
"ผมแบ่งประเภทต่างๆไว้ ประเภทที่ไม่ได้สั่งข้างล่างไม่ได้ขอ แต่ข้างบนจัดมาให้ ซึ่งเขาก็สารภาพแล้วว่าข้างล่างไม่ได้สั่ง เขาจัดมาให้ เขากำลังตอบคณะกรรมการอยู่ ก็คือ 2 ตัวนี้ UV fan กับเครื่องตรวจสารชีวเคมีในเลือด"
 
"เครื่อง UV fan เป็นเครื่องทำลายฆ่าเชื้อโรคด้วยระบบแสงอัลตราไวโอเลต เหมือนกับพัดลมดูดอากาศออกไปข้างนอกห้องที่มีผู้ป่วย มีไข้หวัดใหญ่ 2009 ไข้หวัดนก มันลอยในอากาศ เขาก็กลัวว่าหมอที่เข้ามาหรือคนมาติดต่อจะมีแต่ห้องที่อบอวลไปด้วยเชื้อโรคพวกนี้เขาก็ต้องมีพัดลมที่ดูดเอาเชื้อพวกนี้ออกไปเขาเลยสร้างตรงนี้เป็นพัดลมแล้วมีกล่องดักไว้ เป็นแผ่นกรอง แล้วแต่ว่าจะกรองได้กี่ไมครอน แล้วก็จะมีแสงเข้าไปฆ่าเชื้อ"
 
"ถามว่าหวังดีไหม ก็หวังดีแต่ถามว่าโรงพยาบาลแห่งหนึ่งมีกี่ห้อง และอย่าลืมว่ามันมีสเปคของมัน ถ้าจำไม่ผิดสเปคตัวนี้ใช้ได้กับขนาดห้อง 20 กว่าตร.ม. เพราะฉะนั้นห้องตรวจโรคทั้งโรงพยาบาลมีห้องผู้ป่วยในกี่ห้อง ห้องเจ้าหน้าที่กี่ห้องอาจจะต้องใช้ 40-50 ตัวเหมือนที่มีข่าวโรงพยาบาลจังหวัดมหาสารคามสั่งไป45 ตัว โรงพยาบาลร้อยเอ็ดสั่งไป 50 ตัว ซึ่งตอนนี้กำลังมีการถกเถียงทางวิชาการว่ามันทำได้อย่างนั้นจริงไหมเนื่องจากเป็นตัวใหม่มาก เรามีความจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องลงทุนขนาดนั้น"
 
UV fan จัดซื้อให้แบบไม่ต้องขอที่หมอเกรียงศักดิ์เรียกว่าของแถมให้มาแค่แห่งละ1 ตัว ซึ่งถ้าใช้จริงก็ไม่พอ
 
"ราคานี้มันมี something wrong อยู่ เริ่มมาตั้งแต่กรมควบคุมโรคซื้อไปตัวละ 4 หมื่นเท่ากัน โรงพยาบาลมหาสารคามซื้อไป 45 ตัวก็ตัวละ 4 หมื่น โรงพยาบาลร้อยเอ็ดก็ 4 หมื่น ข้อมูลภายในก็คือมันมีระดับสูงคนหนึ่งโทรไปสั่งให้ช่วยซื้อหน่อยและก็เอาลงมาอยู่ในแผนการของ SP2 อันนั้นซื้อด้วยเงินบำรุงแล้วก็มาส่งตัวนี้กระจายไปทั่วประเทศอย่างน้อยโรงพยาบาลละ 1 ตัว แต่บางจังหวัดเช่นสุรินทร์ โคราชได้โรงพยาบาลละ2 ตัว ปรากฏการณ์อย่างนี้ไม่ปกติหรอก นี่คือประเภทหนึ่งของการที่พื้นที่ไม่ได้สั่ง เขาจัดมาให้"
 
"เครื่องนี้ผมเคยเห็นมติชนลงว่าเป็นนวัตกรรมของนักประดิษฐ์ไทยน่าจะเป็นโรงพยาบาลโรคทรวงอกเขาสามารถผลิตเครื่องแบบนี้ในราคาต้นทุนเพียง 5,000 บาท เอาละมันไม่ใช่ว่าเราจะใช้ราคาต้นทุน แต่ถ้าตัวละ 1-2 หมื่นก็พอรับได้ ตรงนี้ก็น่าสนใจว่าราคาตั้ง 4 หมื่นแล้วปูพรมแจกทั่วประเทศโดยที่เขาไม่ได้ร้องขอให้มาทำไมเงิน30 กว่าล้าน เอาไปสร้างโรงพยาบาลหรือเครื่องมือแพทย์ที่เขาต้องการ อย่างอัลตราซาวน์ได้ตั้งกี่ตัว"
 
"ตัวที่สองคือเครื่องตรวจสารชีวเคมีในเลือดAuto mate ใช้ในระบบตรวจเลือดเพื่อวินิจฉัยโรค ก็เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้งาน แต่ว่าเทคโนโลยีการจัดการในปัจจุบัน เนื่องจากเครื่องมีราคาแพงมากทั้งตัวเครื่องและน้ำยา บริษัทเขาก็พบว่าถ้าให้โรงพยาบาลซื้อเครื่องแล้วขายน้ำยาเป็นเรื่องยากเพราะโรงพยาบาลไม่มีเงินซื้อ บริษัทต้องการขายน้ำยาเป็นหลัก เขาจึงเอาเครื่องมาลงให้ฟรีแล้วโรงพยาบาลก็ซื้อน้ำยากับเขาซึ่งโรงพยาบาลส่วนใหญ่ชอบวิธีนี้ เพราะได้เครื่องใช้ทันที สอง เวลาเครื่องมีปัญหาเขาจะเอาเครื่องใหม่มาเปลี่ยนให้เลย เพราะเขาต้องการขายน้ำยา"
 
เหมือนเครื่องถ่ายเอกสารที่ทำกันทุกวันนี้ เครื่องนี้ราคาเท่าไหร่
"2-3 ล้านแต่เราอาจจะต่อรองได้ อย่างถ้าเขาลงเครื่องฟรี สมมติราคาน้ำยาจาก 10 บาท ก็เพิ่มเป็น11-12 บาทเราคำนวณส่วนต่างระยะยาวมันคุ้มทุนไหมส่วนใหญ่โรงพยาบาลเอาหมด เพราะถ้าเบื่อยี่ห้อนี้ก็เปลี่ยนบริษัทอื่นได้แต่ถ้าลงทุนซื้อเครื่อง3 ล้านบาทผมเป็นทาสคุณตลอดชาติเลยนะ"
 
หมอเกรียงศักดิ์บอกว่าระบบนี้ใช้กันอยู่ใน รพ.ทั่วไป ทั้ง รพ.อำเภอ รพ.ศูนย์ ที่ภูกระดึงก็มี
"รุ่นพี่ผมอยู่โรงพยาบาลมัญจาคีรีขอนแก่นคนนี้เขาเก่งในการดูสเปคเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือ สสจ.เลยมอบหมายเขาว่าขอนแก่นจู่ๆ ได้มา 4 ตัว และถามทั้ง 4 โรงพยาบาลก็ไม่ได้ขอ สสจ.ก็ให้ช่วยไปดูสเปคให้หน่อย ในราคา 3 ล้าน ภายใต้ความสงสัยว่า 4 โรงพยาบาลนี้ก็ไม่ได้ขอสักหน่อย เขาเลยโทรติดต่อกับบริษัทที่ขาย3-4 ราย ให้มาเสนอสเปคเพื่อจะกำหนดสเปคร่วมกัน ก็ปรากฏว่ามีบริษัทหนึ่งโทรมาคุณหมอคะทำไมคุณหมอต้องทำสเปคเองทำไมไม่รอให้ส่วนกลางทำสเปคให้คุณหมอรู้ไหมอีกจังหวัดหนึ่งที่หมอเขาทำสเปคแล้วเขากำลังจะถูกย้าย"
 
ขนาดนั้นเลยหรือ
"ผมกำลังจะบอกว่าเป็นไปไม่ได้ ที่บริษัทปกติจะง้อโรงพยาบาลกลับกล้าข่มขู่ ถ้าไม่มีใครอยู่เบื้องหลัง ทำให้คุณกล้าขนาดนี้"
 
"เขายังบอกต่อว่าปีนี้คุณหมอได้ 4 ตัว ปีหน้าจะได้ 7 ตัว มันมีอย่างนี้จริงๆ และเขาก็ไปขู่จังหวัดอื่นว่าถ้าคุณหมอจะทำสเปค คุณหมอก็ไปเอาสเปคที่ร้อยเอ็ดกับมหาสารคามสิ เขาทำเสร็จแล้ว พอโทรไปถามสสจ.สองจังหวัดนี้ เขาบอกโดนมันหลอกแล้ว เขายังไม่ได้ทำ แต่ล่าสุดมีคนทำสเปคของบริษัทนี้ออกมาแล้วคือสสจ.จังหวัดหนึ่ง ซึ่งประกาศขึ้นเว็บแล้ว เป็นสเปคที่เอื้อให้กับบริษัทนี้เป๊ะ ผมถึงบอกว่ามันน่าจะมีขบวนการ"
 
"นี่คือpart แรกที่เราพูดถึงเครื่องมือที่ไม่ได้ขอ ซึ่งควรจะต้องไปสืบค้นต่อว่ามีนอกเหนือจาก 2 ตัวนี้ไหม และใครอยู่เบื้องหลัง"
 
อีกอย่างที่ไม่ได้ขอแต่ลอยมาเลยคือ รถพยาบาล ซึ่งเคยเป็นเรื่องเป็นราวอื้อฉาวมาแล้ว
 
"รถพยาบาลต้องท้าวความเมื่อปี 2547-2548 เงินกองสลากให้รถพยาบาลมา 232 คัน คันละ ล้านบาท ในรถพยาบาลจะประกอบด้วยตัวรถยนต์ อยู่ที่ 9 แสน-1.1 ล้าน สอง เครื่องมือแพทย์มี 2 ตัวใหญ่ๆคือเครื่องกระตุกหัวใจและเครื่องช่วยหายใจ ซึ่ง 2 ตัวนี้ยี่ห้ออย่างดีราคาตัวละ 1.5 แสน สองรายการก็3 แสนบาท เพราะฉะนั้นถ้าเราแยก 2 รายการนี้ออกไปมันก็จะเหลือตัวรถบวกกับค่าบุภายในรถบวกกับอุปกรณ์ 20 กว่ารายการ รวมแล้ว 1.7 ล้าน"
 
"ปรากฏการณ์ปี2547 ที่ถึงขั้นต้องย้ายปลัดกระทั่งจาก1.7 ล้านสามารถต่อรองเหลือราคากลาง1.46 ล้าน พูดง่ายๆ ว่าทีมงานชุดที่ 2 พิสูจน์ได้ว่าราคากลาง 1.7 ล้านแพงเกินไปประมาณ 2 แสนกว่าบาท"
 
หมอเกรียงศักดิ์บอกว่าหลังจากนั้นก็จะใช้ราคา 1.46 ล้าน บวกเครื่องกระตุกหัวใจหรือเครื่องช่วยหายใจ อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่เอาทั้งสองตัว ราคาก็จะตกประมาณ 1.6 ล้าน ใช้ราคานี้กันมาตลอด
 
"หลังจากนั้นเมื่อมีการจัดสรรงบ ไม่ว่าจะโครงการใด เราก็จะขอในราคา 1.6 ล้าน โดยจะมีตัวรถบวกอุปกรณ์เล็กๆ รวมกันและเครื่องมือแพทย์อย่างใดอย่างหนึ่ง ต่อมาตอนหลังราคารถกับอุปกรณ์มันเพิ่มขึ้น จนปีที่แล้วไม่สามารถจะขายในราคานี้ได้ ก็ขายในราคา 1.7 ล้าน"
 
"มาครั้งนี้เราก็งงว่าทำไมราคารถพยาบาลที่จัดสรรมาให้มันกลายเป็น1.8 ล้าน ก็ปรากฏว่าเป็นความโชคดีที่เมื่อมีการทะเลาะกันในครั้งนั้น ทำให้2 บริษัทมันcrack กันมาก มันเหมือนกับสายน้ำที่ไม่สามารถรวมกันได้เลย ตอนหลังเราก็ได้ข่าวจากทั้ง2 บริษัทมาเล่าให้ฟังว่ามีกลไกที่มีนักการเมืองนัดกันไปเจรจากับ 2 บริษัท ที่เซ็นทรัลปิ่นเกล้า เมื่อ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยพยายามตกลงผลประโยชน์กันให้ลงตัวโดยบอกว่าถ้ามาขาย800 กว่าคันในเวลานี้มันก็จะต้องมีคนได้คนเสีย ร้องเรียนกันอีกแล้วก็ขายไม่ได้เหมือนครั้งที่แล้วก็มาจัดสรรปันส่วนกันดีไหม แทนที่จะกระจาย 800 กว่าแห่งก็ไปรวมศูนย์เป็นเขตดีไหมก็เอามากำหนดสเปคว่าเขตนี้ใครจะเอา เขตนั้นใครจะเอา ก็มีการเสนอผลประโยชน์กันว่าเอาคันละ1 แสนบาท มันก็ตรงกับส่วนต่างที่จาก 1.7 ล้าน มาเป็น 1.8 ล้าน นี่คือที่มา และก็เป็นโชคดีของประเทศไทยที่สองคู่แข่งนี้มันตกลงกันไม่ได้ ต่างคนต่างก็มาเล่าให้เราฟังว่ามันไม่แฮปปี้เลย ผมเข้าใจว่าต่างคนต่างไม่ยอมแบ่งครึ่งกัน"
 
ตรงนี้ที่หมอบอกชื่อย่อ ม.กับ ต. แต่จะสอบสาวกันต่ออย่างไรก็ไปว่ากัน
 
เครื่องแพงล็อคสเปค
"เรื่องต่อมาคือเครื่องช่วยหายใจซึ่งโดยทั่วไปจะมี3 ประเภทหลักๆ เครื่องช่วยหายใจที่ใช้กับรถยนต์ชนิดที่1 ราคา1.5 แสนบาท เขาเรียกว่า pressure respirator แต่ถ้าโรงพยาบาลขนาดใหญ่เขาอาจจะอยากได้ดีกว่านี้เรียกว่าvolume respirator ราคา 5 แสนและเคลื่อนย้ายได้ด้วยอีกประเภทหนึ่งอยู่ในห้องไอซียูก็จะมี 2 ประเภท คือใช้เดี่ยวๆ เช่นใช้กับเด็กหรือผู้ใหญ่ แต่ทั้ง2 รายการจะใช้แยกกันราคาตัวละ7.5 แสน โดยส่วนใหญ่ใช้แบบนี้ กับอีกชนิดหนึ่งคือเป็นเครื่องเดียวแต่ใช้ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ซึ่งโรงพยาบาลใหญ่ๆเขาไม่ค่อยใช้หรอก เพราะไม่มีความจำเป็นอยู่แผนกเด็กก็ไม่เอาผู้ใหญ่มานอนอยู่แล้วเขาแยกแผนกกันอยู่แล้วแต่มันก็จะมีผลิตไว้เผื่อบางแห่งต้องใช้เหมือนเอา2 เครื่องมารวมไว้ด้วยกันแต่เวลาใช้ใช้ได้ทีละคนเขาเรียกว่า full option ราคาไม่เกิน 1.2 ล้าน"
 
"แต่ปรากฏว่าเมื่อพื้นที่ขอไปเช่น จ.สกลนคร เขามีไอซียู เครื่องช่วยหายใจจะใช้กับ 6 เตียง เขาเลยต้องการ6 ตัว ตัวละ 7.5 แสน แต่ปรากฏว่าจัดสรรลงมา ใบแจ้งมาให้ตัว full option แต่ให้ตัวละ1.5 ล้าน3 ตัวเขาก็งง เขาต้องการใช้กับ 6 เตียง แต่ทำมาอย่างนี้ก็ใช้ได้แค่ 3 เตียงสิก็มีการโวยวายกันพอสมควร ก็มีการเช็คข้อมูลกันออกมา เลยทำให้ทราบว่ามันกำหนดไว้ด้วยว่า ตอนเขียนแทนที่จะเขียนfull option ธรรมดา มันเขียนทำให้เห็นว่าราคานี้สำหรับล็อคสเปคยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่ง"
 
หมอเกรียงศักดิ์ชี้ให้ดูเอกสารตัวนี้ที่บอกเลยว่า เครื่องช่วยหายใจชนิดควบคุมปริมาตรความดันและเวลาพร้อมระบบวัดความจุปอดVital capacity
 
"ในแวดวงของคนใช้บริการระบบนี้หรือบริษัทที่ขายด้วยกัน เขาจะรู้เลยว่านี่คือการล็อค ข้อมูลพวกนี้ก็ได้จากบริษัทที่เข้าไม่ได้เขาก็เช็คข้อมูลมาให้เขาทำตัวสีแดงมาให้เลยว่าล็อคสเปคตัวไหน จ่ายมา1.5 ล้านเท่ากันหมดโรงพยาบาลเล็กโรงพยาบาลใหญ่ทั้งที่โรงพยาบาลชุมชนไม่ต้องการขนาดนี้หรอก ได้ 7.5 แสนก็ดีใจตายแล้ว"
 
สเปคที่เขียนอย่างนี้มีบริษัทเดียวที่ขายได้
"ผมถึงบอกว่าอาชญากรรมมันทิ้งร่องรอยเสมอและตอนหลังก็มาเปลี่ยนโรงพยาบาลชุมชนบางแห่งได้ 1.2 ล้าน และเปลี่ยนเป็นพร้อมระบบหย่าเครื่องอัตโนมัติ เลยกลายเป็นมี 2 ระบบ"
 
หมอบอกว่าระบบนี้ก็ล็อกอีกเหมือนกัน มีบริษัทเดียวที่ขายได้
ทั้งหมดทั่วประเทศมีกี่เครื่อง เขาบอกว่ายังไม่ได้นับ แต่น่าจะมากกว่า 300
"เช่นโรงพยาบาลศูนย์ลำปางที่เดียวก็10 เครื่องแล้วโรงพยาบาลนครพิงค์เชียงใหม่9 เครื่องโรงพยาบาลหัวหิน9 เครื่อง โรงพยาบาลราชบุรี 6 เครื่อง โรงพยาบาลสกลนครเขาอยากได้ 6 ให้เขามาแค่ 3 ตัว"
 
"ถ้าคุณซื้อเครื่องแบบนี้ อันที่จริงไม่มีความจำเป็นต้องใช้เพราะมันแยกแผนกอยู่แล้ว และที่สำคัญคือไม่ควรจะถึง1.5 ล้าน เพราะสูงสุดท้องตลาดแค่ 1.2 ล้าน และยิ่งซื้อมากกว่า 1 ตัวจะยิ่งถูกใช่ไหม โรงพยาบาลศูนย์โรคหัวใจภาคตะวันออกเฉียงเหนือของศรีนครินทร์นี่เขาก็โรงเรียนแพทย์เหมือนกัน ต้องซื้อประมาณ 8-9 เครื่อง เขาก็ตั้งวงเงินสูงสุดไว้ 1 ล้าน แต่เขาได้ยี่ห้อหนึ่ง 8 แสนกว่า"
 
"ยังมีใบเสร็จอีกใบหนึ่ง จำได้ใช่ไหมช่วงเกิดไข้หวัด 2009 รัฐบาลของบกลางพิเศษเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาพยาบาลก็เลยไปซื้อเครื่องช่วยหายใจมาช่วยโรงพยาบาลจังหวัดต่างๆเขาเรียกโรงพยาบาลทั่วไปคือโรงพยาบาลจังหวัดขนาดเล็กให้แห่งละ 2 ตัว ให้โรงพยาบาลศูนย์ 3 ตัว ราคาวงเงินให้ตัวละไม่เกิน 8 แสนบาท และมีการจัดซื้อเสร็จแล้ว เพราะต้องให้เสร็จก่อน 30 ก.ย."
 
"แต่เวลานี้ทำไมให้1.2 ล้านกับ 1.5 ล้าน ลองดูว่าส่วนต่างเท่าไหร่ และยิ่งมีการล็อคไว้บางส่วน ทิ้งร่องรอยไว้พอสมควร"
 
"อีกรายการที่เราเจอก็คือ เครื่องดมยาสลบ ในโรงเรียนแพทย์ที่เขาใช้อย่างดีเลย ราคาไม่เกิน 2.4 ล้านแต่ที่จัดสรรมาให้ราคา2.5 ล้านกับ3 ล้านและมีการล็อกอีกเช่น พร้อมระบบ Electronic charting ซึ่งอันนี้ผมก็ถามบริษัทที่ไม่มีสิทธิ์เข้าเขาล็อกด้วยตัวไหนอย่างในตัว 2 ล้านใช้คำว่าBIS monitor ซึ่งผมไม่ทราบว่าคืออะไร เหล่านี้คือตัวที่เขาล็อคเอาไว้เรียบร้อยแล้วในระบบต่างๆ"
 
"รวมทั้งอีกตัวหนึ่งที่เรียกว่าเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบรวมศูนย์central monitor ก็มีการล็อคต่างๆหลากหลายมากมันสะท้อนว่ามีการทั้งล็อคสเปคและเพิ่มราคา ซึ่งเรารู้เพราะโรงพยาบาลต่างๆโวยวายว่าเขาไม่ได้ขอสักหน่อย อย่างขอนแก่น สิรินธรได้ไปเยอะแยะ เขาก็ไม่ได้ขอ ให้เขามาทำไม ทั้งๆ ที่ ผอ.โรงพยาบาลอื่นเขาก็น้อยใจว่าทำไมผมขอไปผมไม่ได้"
 
รพ.สต. นโยบาย ปชป.
"เรื่องสุดท้ายก็เป็นเรื่องโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลที่ฝ่ายค้านกำลังเอามาพูดถึง สำหรับผมกรณีนี้ผมไม่ได้ซีเรียสมากนักที่มีปรากฏการณ์ว่าไปล็อครายการ 20 รายการ ตอนหลังมาเปลี่ยนเป็น46 รายการผมเข้าใจว่าไม่น่าจะเกี่ยวโยงกับการทุจริตอะไรมากมายอันนี้ต้องแฟร์กับเขา เพราะเราดูรายการต่อหน่วยไม่ค่อยสูงไม่เว่อร์จนเกินไปแต่น่าจะเป็นลักษณะแบบเดียวกับข้อหนึ่งคือรายละเอียดที่ลงไปยกตัวอย่างให้ราคาครุภัณฑ์ที่เขาไปจัดซื้อจัดจ้างได้ในวงเงินสถานีอนามัยละ8.5 แสนแต่กำหนดว่าให้เลือกได้ตามนี้หนึ่งใน 8.5 แสนคือราคารถยนต์ 5.6 แสน เพราะฉะนั้นเงินจะเหลือแค่2 แสนกว่าบาทก็ซื้อเครื่องมืออื่นลำบาก และปรากฏว่ามีบางรายการที่ถูกโจมตีว่ามีเครื่องตรวจคลื่นหัวใจ ซึ่งถ้าไม่ใช่แพทย์ก็ทำงานไม่ได้"
 
เครื่องนี้จำเป็นไหม
"ไม่จำเป็นต้องใช้กับทุกที่แต่ถ้าเราต้องการพัฒนา เช่นตอนที่ผมดูแลโรงพยาบาลหนองหิน ที่เป็นสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติในปัจจุบัน ผมก็เอาหมอไปอยู่ ถามว่าอยากให้มีไหม ถ้ามีก็ดี แต่ก็ไม่เหมาะในการที่จะมีทุกตำบล เกินความจำเป็น"
 
"อย่างโคราชเขามีรายการถูกกำหนดว่าจะมีโรงพยาบาลส่งเสริมเขาเรียก รพ.สต. 78 แห่ง ในจำนวนนี้มีรายการครุภัณฑ์46 รายการรวมเม็ดเงินต่อแห่ง8.5 แสน หลักๆ ก็มีอัลตราซาวน์ รถพยาบาล5 แสนกว่าบาทเขาก็บอกให้ไปเลือก อันไหนมีแล้วก็ไม่ต้องเอา อย่างนี้เขาก็บอกว่ามันไปล็อครายละเอียดสิ่งที่เขาต้องการก็ซื้อไม่ได้ หรือถ้าเขาซื้อรถยนต์ทั้งหมด ค่าบำรุงรักษาค่าซ่อมเท่าไหร่แล้วบางแห่งอยู่ห่างจากโรงพยาบาลชุมชน 3-4 กม. มีความจำเป็นไหม เพราะฉะนั้นมันก็จะเป็นภาระของประเทศในระยะยาวแต่ผมไม่ค่อยซีเรียสมากสำหรับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เพียงแต่ใช้ให้มันถูกทิศถูกทางเท่านั้น ที่ผมดูไม่ค่อยเป็นประเด็นเรื่องทุจริต"
 
โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลคอนเซ็ปต์มันคืออะไร
"ก็เป็นนโยบายใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์ที่ต้องการสร้างระบบบริการพื้นฐานให้ดีขึ้นในระดับหนึ่ง โดยยอมรับความจริงว่ากำลังคนที่จะมีแพทย์ไปอยู่ในชนบทยากมากเขาเลยเน้นเรื่องการส่งเสริมสุขภาพมากกว่าโดยเขาคิดว่าน่าจะเป็นนโยบายไฮไลท์ที่มาสู้กับนโยบาย30 บาทรักษาทุกโรคได้ โดยการพัฒนาให้สถานีอนามัยที่เคยมีแต่แค่การปฐมพยาบาลยกระดับขึ้น เช่นอาจจะพัฒนาเจ้าหน้าที่พยาบาลให้สามารถที่จะดูแลประชาชน ตรวจรักษาพยาบาลได้ดีขึ้น สมมติอาจจะตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเป็น แนะนำการรักษาพยาบาล หรืออาจจะมีเครื่องมือทันตกรรม ถอนฟัน อุดฟันได้ โดยที่ประชาชนไม่ต้องเดินทางไปถึงโรงพยาบาล"
 
"ถามว่าเป็นนโยบายที่ดีไหมก็ดีเพียงแต่ว่าสิ่งที่กำลังถูกท้วงติงคือดูเหมือนจะพัฒนาในปริมาณที่มากจนเกินไปจนเกรงว่าอาจจะเกิดอนุสาวรีย์ในบางพื้นที่ เพราะมีแต่ของไปแต่คนไม่มีตามไป อย่างที่ผมบอกตั้งแต่แรกเราอยากจะพัฒนาข้างล่างแต่เรากลับไปให้ทรัพยากรข้างบนมากชาวบ้านก็จะคิดถึงแต่ภาพตรงนั้นเขาจะไม่คิดถึงระบบส่งเสริมสุขภาพหรอกฉะนั้นเป็นเรื่องยากมากอยู่แล้วในการทำเรื่องส่งเสริมสุขภาพ"
 
เครื่องอัลตราซาวน์ เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจมันจำเป็นไหม กับ รพ.สต.
"อันนี้ก้ำกึ่งสมมติผมจะพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลผมอาจจะไม่ได้ให้หมอไปอยู่เต็มเวลาอย่างarea ผมอยู่ตรงนี้มีสถานีอนามัยรอบๆกระจาย ผมอาจจะทำสถานีอนามัยหนึ่งเป็น center ขึ้นมาแล้วให้หมอไปอาทิตย์ละ 2 วัน เกิดจำเป็นต้องตรวจคลื่นหัวใจ ถามว่ามีความจำเป็นไหม ก็มีส่วนหนึ่ง แต่ควรจะต้องมีหมอมาดูนะ หรือยูนิตทำฟันราคา 3-4 แสน ถ้าไม่มีทันตแพทย์มาช่วยทำก็ไม่มีประโยชน์"
 
หมอเกรียงศักดิ์บอกว่าประเด็นสำคัญคือ แทนที่จะทำอำเภอละ 1-2 แห่งก่อน กลับทำเยอะมาก
"อ.ภูกระดึงเล็กๆแต่ถูกกำหนดมา 3 แห่ง ทั้งๆ ที่ไม่ต้องมีก็ได้เพราะผมทำหนองหินก็รองรับอยู่ ผมเอาหมอไปประจำอยู่ทุกวัน"
 
 
 

ภาคผนวก
 
สู้รอบใหม่ใน 30 บาท
 
 
เขาไปขยายเม็ดเงินของเงินก้อนรักษาพยาบาลผู้ป่วยในเพิ่มขึ้น ผมกำลังจะตายอยู่แล้ว กำลังซ่องสุมเก็บข้อมูลเพื่อสู้ครั้งใหญ่ เพราะว่าต้องใช้ฐานข้อมูลสู้กันเขาใช้ทีเผลอไปเปลี่ยนระบบการเงิน โรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็กเดือดร้อนกันหมด ผมติดลบ ในช่วงปีสองปีมานี้
 
หมอเกรียงศักดิ์เล่าว่า หลังจากนโยบาย 30 บาทประสบผลสำเร็จใน 8 ปีที่ผ่านมา จนงบประมาณกระจายลง รพ.ชุมชนมากขึ้น ตอนนี้ก็ถูกเล่นทีเผลอ เล่นกลทางการเงิน จนทำให้ ร.พ.ชุมชนกลับไปย่ำแย่ ได้งบประมาณน้อยลง
 
เรื่องนี้คนวงนอกอาจจะไม่รู้ อาจเข้าใจยาก แต่เท่าที่หมออธิบายคือ รัฐบาลให้ค่ารักษาพยาบาลต่อหัว โดยแบ่งสัดส่วนเป็น 3 ส่วนคือ ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยใน ค่าบริการปฐมภูมิ หรือ OPD และงานส่งเสริมสุขภาพ P&P
 
ซึ่งในหลักการของการประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะต้องเน้นงานส่งเสริมสุขภาพและบริการปฐมภูมิ เพื่อให้ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยในลดลง มีคนเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงโรคเรื้อรังน้อยลง
 
สมมติคุณเป็นไข้หวัด2009 มาโรงพยาบาลผม เป็นผู้ป่วยนอก ผมก็ให้ยาไป ค่ายา 200 บาท แต่ถ้าคุณเข้าถึงบริการผมได้ยาก หรือไม่มียาตัวนี้ กลายเป็นปอดอักเสบก็ไปนอนไอซียู เสียค่ารักษา 50,000 บาท มันกี่เท่าล่ะ
 
นี่ที่เขาบอกว่ามองคนละระบบ ระบบอเมริกาจะให้พื้นที่กับงาน P&P และ OPD น้อยมาก ไปเน้นที่การรักษา แต่อังกฤษเน้น P&P และ OPD มากกว่า การใช้เงินเพื่อรักษาพยาบาลประชาชนทั้งระบบจึงถูกกว่า
 
และเมื่อรัฐให้เงินรายหัวมา ถ้า ผอ.รพ.ชุมชนบริหารเป็น ก็จะยิ่งประหยัดค่าใช้จ่าย
 
สมมติให้ผม 2,000 บาทต่อหัวถ้าผมวางยุทธศาสตร์เป็น 2 พันคูณด้วย 1 แสนคน เท่ากับผมมีเงินในระบบ 200 ล้าน ผมวางระบบบริการ คนไข้ที่อยู่ไกลๆ ผมเอาหมอไปอยู่ พอถึงเวลาเจ็บป่วยก็มารักษาโดยเร็ว เพราะฉะนั้นโรคที่จะต้องนอนโรงพยาบาลลดลงไหมลดลงถ้าผมไปขยาย OPD ไปแนะนำว่าอย่าสูบบุหรี่ อย่ากินของมัน ผมยอมลงทุนเอาหมอไปตรวจถึงบ้าน เสียค่าใช้จ่าย 200 บาท 50 ครั้ง แต่ทำให้เขาไม่ต้องมานอนโรงพยาบาล ผมก็ประหยัดเงิน 2 เท่า
 
แต่ปัญหาตอนนี้ ที่หมอเกรียงศักดิ์บอกก็คือ แทนที่ประชากรในเขตเขาเข้ามาเป็นผู้ป่วยในน้อยลง แล้ว ร.พ.ภูกระดึงจะมีงบประมาณเหลือมากขึ้น กลับกลายเป็นเบิกเงินได้น้อยลง เงินหายไปจากปีก่อนหน้า 10 กว่าล้านบาท
 
ที่เป็นเช่นนี้เพราะมีการเพิ่มสัดส่วนเงินค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยในมากขึ้น ตามที่โรงเรียนแพทย์คิดมา
 
ผมเล่าพัฒนาการนะ เม็ดเงินต่อหัว 2544-2545 เราได้ 1,202 บาทต่อหัวประชากร ในก้อนนี้แบ่งเงินรักษาพยาบาลที่เห็นชัดๆ คือผู้ป่วยในที่โยงกับโรงพยาบาลขนาดใหญ่ขณะนั้นต่อหัวคือ 365 บาท แต่ตัวเลขนี้มันขยายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปี 2551 เงินต่อหัวเพิ่มขึ้นมาเป็น 2,202 บาท แต่เม็ดเงิน 365 บาทกลายเป็น 1,080 บาท
 
นั่นในขณะที่เงิน P&P เพิ่มมาเป็นราว 280 บาท เงิน OPD เพิ่มมาเป็น 730 บาท สัดส่วนการเพิ่มของเงิน 2 ด้านนี้ ถูกเบียดโดยเงินค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยใน ที่เพิ่มร่วม 3 เท่า
 
ประธานชมรมแพทย์ชนบทอธิบายให้ฟังว่า สปสช.จะส่งเงินให้ ร.พ.ตามรายหัวประชากร เป็นเงิน P&P บวกกับเงิน OPD แล้วหักลบด้วยเงินเดือนบุคลากร เหลือเท่าไหร่ก็คือเงินที่จะใช้บริหารงานผู้ป่วยนอกและส่งเสริมสุขภาพ
 
ส่วนเงินรักษาพยาบาลผู้ป่วยใน 1,080 บาท เอาไปกองรวมกันทั้งประเทศ เป็นเงินก้อนใหญ่ แล้วใครให้บริการไปเท่าไหร่ ก็มาเบิกตามสัดส่วน ทั้งผู้ป่วยในของตัวเอง และผู้ป่วยในที่ส่งต่อไปนอนตาม ร.พ.จังหวัด ร.พ.ศูนย์ หรือ ร.พ.มหาวิทยาลัย
 
เขาเอาทั้ง 47 ล้านคนทั้งประเทศ คูณด้วย1,080 บาท มากองไว้เป็นก้อนใหญ่ก้อนหนึ่ง แล้วบอกว่าเอ็งให้บริการไปเท่าไหร่ก็มาหารตามสัดส่วนเช่นสมมติคำนวนเป็นยูนิตทั้งหมด 4.7 หมื่นล้าน ทั้งประเทศรักษาพยาบาลไปทั้งหมดเท่าไหร่ เป็นผู้ป่วยใน ก็มาคิดยูนิตให้ มีคนนอนทั้งประเทศ 5 ล้านวันนอน เขาก็เอา 5 ล้านวันนอนไปหาร 4.7 หมื่นล้าน แล้วเขาก็มาดูผม ผมให้บริการคนไข้กี่วันนอน เขาก็มาคูณด้วยจำนวนยูนิตตรงนี้
 
ระบบนี้ทำให้ ร.พ.ไหนมีผู้ป่วยในเยอะ ก็เบิกเงินไปได้เยอะ แต่ถ้า ร.พ.ไหนดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ของตัวเองดี ออกตรวจสม่ำเสมอ มีคนป่วยน้อย ผลลัพธ์ที่ได้คือขาดทุน
 
คนของผมแสนคน ถ้าผมทำให้จากที่ควรจะ 100 วันนอน มานอนแค่ 40 วันนอน แต่อีก 60 วันนอนเอาไปให้คนอื่น แล้วอย่างนี้ผมจะอยากทำส่งเสริมสุขภาพไหม นี่คือทำให้ผมขาดทุน อยู่ดีๆ ปีที่แล้วเงินหายไป 10 กว่าล้าน ถ้าผมคิดว่าอย่างนั้นเอาคนมานอนให้เต็มเลย ประเทศชาติไม่ล่มจมหรือ
 
มิน่า ถึงได้มีข่าว ร.พ.โกงตัวเลขอ้างจำนวนผู้ป่วยปลอม
 
ระบบนี้ใช้เมื่อปี 2547 จากเดิมที่ส่งเงินไปให้ ร.พ.ชุมชนเกือบทั้งหมด เพราะมีการโวยกันว่า ร.พ.ชุมชนไม่ยอมส่งตัวผู้ป่วย
 
เขาก็หาตัวเลขมาโวยวายว่าพอเงินก้อนนี้ไปอยู่กับ ร.พ.ชุมชนแล้วต้องไปตามจ่าย ก็ไม่ยอมส่งเขาเรียกว่าเก็บกักผู้ป่วยคือเห็นคนป่วยหนักก็ไม่ยอมให้ไปเพราะกลัวจะต้องตามไปจ่าย เขาเลยขอมารวมศูนย์แบบนี้ตอนนั้นผมยอมเพราะสัดส่วนเม็ดเงินลงทุนมันถูกต้อง ค่ารักษาผู้ป่วยในมันไม่ได้เยอะเกิน ถ้าพยายามเอาคนนอนเยอะๆ คุณก็ไม่มีกำไรหรอก
 
แต่ตอนนี้ต่างไป เพราะค่ารักษาผู้ป่วยในพุ่งขึ้นจาก 365 ใน 1,202 บาท มาเป็น 1,080 บาทใน 2,202 บาท
 
ประธานชมรมแพทย์ชนบทเรียกว่านี่เป็นการ ส่อทุจริตเชิงนโยบาย โดยนักวิชาการจากโรงเรียนแพทย์ ซึ่งเข้ามาเปลี่ยนหลักคิดค่ารักษาผู้ป่วยใน โดยไม่ได้คิดจากต้นทุนที่แท้จริง แต่คิดจากราคาชาร์จหรือราคาเรียกเก็บ
 
หมออธิบายว่าหลักการคิดคือต้องหาราคากลางของแต่ละกลุ่มโรค สมมติว่ามีประมาณ 1,000 กลุ่มโรค ต้องหาราคากลางว่าเป็นเท่าไหร่ เพราะแต่ละโรงพยาบาลคิดไม่เท่ากัน แต่วิธีการที่ใช้กันทุกวันนี้คือ ไปถามตามโรงพยาบาลว่าคิดราคาเท่าไหร่แล้วเอามาเฉลี่ย ซึ่งผลที่ออกมาไม่ตรงตามความจริง
 
คุณไปถามทุกโรงพยาบาลว่าโรคกรุ๊ปที่หนึ่งแบบเดียวกัน คิดเท่าไหร่ สมมติโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งแรกบอก25,000 แห่งที่สอง 18,000 แห่งที่สาม 22,000 โรงพยาบาลภูกระดึง 6,000 ระบบนี้เอามาใช้กับสวัสดิการข้าราชการ แทนที่จะไปศึกษาต้นทุนจริงๆ ว่าเป็นเท่าไหร่ ก็ปรากฏว่าเอ้าโรงพยาบาลนี้ 3 ปีที่ผ่านมาเคยคิดเท่าไหร่ 3 ปีเคยคิด 25,000 เพราะฉะนั้นครั้งต่อไปเบิกโรคนี้คุณก็ได้ 25,000 โรงพยาบาลนี้เคยคิด18,000 ครั้งต่อไปก็ได้ 18,000 โรงพยาบาลนี้เคยคิด 6,000 ครั้งต่อไปก็ได้ 6,000”
 
นี่คือระบบที่กรมบัญชีกลางใช้อยู่ ข้าราชการไปรักษาที่รามา ศิริราช จุฬา ฯลฯ แต่ละ รพ.จะเบิกได้ไม่เท่ากัน เพราะใช้ฐานว่า 3 ปีที่ผ่านมา ราคาเฉลี่ยเป็นเท่าไหร่
 
หมอเกรียงศักดิ์กล่าวติดตลกว่า ถ้า ร.พ.ที่เคยคิด 6,000 จะคิด 18,000 บ้างก็ต้องถูกหาว่าโกง แต่ ร.พ.ที่คิด 25,000 ก็เบิกได้ 25,000 ต่อไปไม่มีใครแตะต้อง คนโกงในอดีตได้รับการปกป้อง
 
การคิดราคากลางของ สปสช.ก็มีฐานมาจากราคาที่ถูกบิดเบือนดังกล่าว เพราะการคิดค่ารักษาแต่ละกลุ่มโรค ใช้วิชาสถิติคำนวณว่าโรคกลุ่มนี้ แต่ละ ร.พ.คิดค่ารักษาเท่าไหร่ ให้การรักษาไปจำนวนมากน้อยเพียงใด แล้วเอามาเฉลี่ย
 
ในโรคที่รักษาได้ง่าย ราคากลางก็จะออกมาต่ำ
 
ยกตัวอย่างอุจจาระร่วง แล้วต้องนอนโรงพยาบาล คิดง่ายๆ ใน 100 รายป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วง นอนโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย 5 ราย แต่ไปนอนโรงพยาบาลชุมชน 95 ราย โรงพยาบาลชุมชนมันคิดถูก ต่อหน่วยน้ำหนักคือ 5,000 บาท แต่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยสมมติ 20,000 บาทต่อหน่วยน้ำหนัก เขาก็เอา 20,000 คูณ กับ 95 คูณ 5,000 มาบวกกันแล้วหารด้วยจำนวน 100 ค่าเฉลี่ยมันก็ต้องอยู่กลุ่มใหญ่ใช่ไหมสมมติน้ำหนักโรคนี้0.1 ราคากลางก็อาจจะราวๆ 700-800 บาท
 
แต่โรคยากๆ สมมติผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ ทั้งประเทศมี 100 ราย แต่มีรักษาในโรงพยาบาลชุมชน ราย น้ำหนักชาร์จด้วย 5,000 บาท อีก 95 ราย นอนโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย คิดแพงเป็น20,000 บาท เอาตรงนี้ไปคูณ น้ำหนักมันก็จะเทไป
 
เรื่องนี้อาจเข้าใจยาก แต่พอสรุปได้ว่า ค่ารักษาพยาบาลโรคที่รักษายาก โรคที่ต้องรักษาใน ร.พ.ศูนย์หรือ ร.พ.มหาวิทยาลัย ถูกดีดตัวเลขสูงขึ้นเกินต้นทุนที่แท้จริง เพราะไม่มีตัวเลขของ ร.พ.ชุมชนเปรียบเทียบ
 
เงินเทไปที่โรคยาก ถ้าคิดแบบสมเหตุสมผลก็ไม่ว่าอะไร แต่นี่คิดจากราคาชาร์จชาร์จมาก ชาร์จต่างกัน 5 เท่าตัว เงินเลยไปกองอยู่ที่โน่นหมด ที่พวกผมตายก็เพราะอันนี้ไง
 
นอกจากทำให้ไม่สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ทั้งสวัสดิการข้าราชการ และโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ยังทำให้ทิศทางของระบบบริการสาธารณสุขไม่เป็นไปตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ ซึ่งจะต้องเน้น P&P และ OPD เป็นอันดับแรก
 
ระบบนี้ก็เลยไม่สอดคล้องกับทิศทางที่คุณหมอสงวนอยากจะเห็นตอนที่วางนโยบายทำยุทธศาสตร์เรื่องนี้ เราอยากเห็นระบบบริการสุขภาพบ้านเรามีใน 3 มิติใหญ่ๆ คือความเสมอภาค ที่ไหนขาดต้องไปเพิ่ม แทนที่คนยะลาจะต้องมาผ่าเปลี่ยนลิ้นหัวใจที่กรุงเทพฯก็พัฒนาให้โรงพยาบาลศูนย์ยะลาผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจได้ไหม ถ้าปฐมภูมิมันควรจะพัฒนาก็ทำให้พัฒนาแบบในอังกฤษได้ไหม จะได้ไม่ล้มเหลวแบบอเมริกา มิติที่สองคือคุณภาพเราก็ไม่อยากเห็นบริการกระจอกชั้นสอง ชาวบ้านก็พอใจอยากมารับบริการและมิติที่สามประสิทธิภาพ สมัยก่อนที่จะมี 30 บาท โรงพยาบาลของรัฐจะถือเงินและก็ถือบริการ
เพราะฉะนั้นชาวบ้านเรียกร้องคุณภาพได้ไหมไม่ได้ เพราะคนรับคนจ่ายคนเดียวกัน เราเลยต้องแยกบทบาทให้ สปสช.มาถือเงินแทน แบบเดียวกับสำนักงานประกันสังคมถือเงินแทนผู้ประกันตนกรมบัญชีกลางถือเงินแทนสวัสดิการข้าราชการ แล้วก็ไปต่อรองกับผู้ให้บริการ อันนี้ก็เป็นระบบที่พัฒนามา และสมัยคุณหมอสงวนก็คิดว่าในมิติประสิทธิภาพจะต้องไปสร้างยุทธศาสตร์อีกข้อคือพัฒนาบริการปฐมภูมิ ก็คือทำให้ระบบส่งเสริมสุขภาพมันก่อกำเนิดเติบโตขึ้นมา แต่ปรากฏว่าทิศทางตรงนี้เปลี่ยนหมดเลย ในช่วงนี้ ปี 2545 งบ 1,202 บาท เงิน P&P จำไม่ผิด 180 บาทต่อหัว แต่ตอนนี้เพิ่มขึ้นมาราว 280 บาท เพิ่มขึ้น 100 บาทต่อหัว ขณะที่ค่ารักษาเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว
 
................................
หมายเหตุ
ภาคผนวกนี้ไม่ได้ตีพิมพ์ในไทยโพสต์ เนื่องจากเรียบเรียงไม่ทัน และเป็นประเด็นแยก ไม่เกี่ยวกับโครงการไทยเข้มแข็ง แต่เห็นว่ามีสาระสำคัญเกี่ยวกับการใช้งบประมาณในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือ 30 บาท ที่แพทย์ชนบทต่อสู้ผลักดันมาตลอด จึงเรียบเรียงเพิ่มเติมมาเผยแพร่
...............................
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net