Skip to main content
sharethis

ประมวลภาพการชุมนุม

 

วานนี้ (5 ต.ค.52) ขณะที่การเจรจาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกครั้งสำคัญที่กรุงเทพฯ หรือ Bangkok Climate Talk ระหว่างวันที่ 28 ก.ย. - 9 ต.ค.52 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ เพื่อจัดทำกติกาโลกในการแก้ไขปัญหาโลกร้อนตามแผนปฏิบัติการบาหลีภายใต้ “อนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC)” ได้ดำเนินมาเป็นวันที่ 8

เมื่อเวลาประมาณ 9.00 น. คณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม ร่วมกับ 5 เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนไทย ประกอบด้วย เครือข่ายพลังงาน เครือข่ายประมงพื้นบ้านภาคใต้ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายป่าไม้และที่ดิน และเครือข่ายชนพื้นเมือง พร้อมด้วยพันธมิตรจากประเทศทั้งในและนอกอาเซียน อาทิ อินเดีย ศรีลังกา และปากีสถาน กว่า 1,500 คน เดินเท้าทางจากบริเวณสวนสันติชัยปราการสู่สถานที่เจรจาโลกร้อน UNESCAP เพื่อแสดงพลังและเรียกร้องให้เสียงนอกเวทีเจรจาถูกนำไปพิจารณาดำเนินการในข้อตกลงโลกร้อนกรุงเทพและโคเปนเฮเกน หลังจากเมื่อวันที่ 3 – 4 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการจัดเวทีคู่ขนานการเจรจาโลกร้อนของภาคประชาชน และจัดทำข้อเสนอต่อรัฐบาลไทยและเวทีเจรจาโลกร้อนสหประชาชาติ

ประเด็นหลักที่มีการพูดคุยกันของภาคประชาชน ประกอบด้วยเรื่องความไม่เป็นธรรมของกลไกโลกร้อนที่กระทบเมืองไทย เน้นที่ภาคพลังงาน อุตสาหกรรม และทางเลือกที่เป็นข้อเสนอของภาคประชาชน รวมทั้งมีการเสนอกรณีปัญหาและแนวทางการแก้ไขของชาวบ้านจากทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโลกร้อน

ทั้งนี้ ในการชุมนุมได้มีการปราศัยยืนยันถึงจุดยืนที่เรียกร้องให้เวทีการหารือแก้ไข ปัญหาโลกร้อนยูเอ็น  มีมาตรการในการแก้ไขปัญหาโลกร้อนอย่างเป็นธรรม และเรียกร้องให้ประเทศที่พัฒนาแล้วรับผิดชอบ ต้องชดใช้เต็มจำนวนต่อ “หนี้นิเวศน์” ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศกำลังพัฒนาด้วย

 

 

 “ชาวสลัม-คนจนเมือง” เคลื่อน “วันที่อยู่อาศัยสากล” ร้อง “ยูเอ็น” แก้ไขปัญหาให้เห็นจริง

ในวันเดียวกันนี้ ตัวแทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค และเครือข่ายสิทธิที่อยู่อาศัยของคนจนเมืองในเอเชีย (LOCOA) จำนวนกว่า 1,800 คน จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันที่อยู่อาศัยสากล (World Habitat Day) ซึ่ง องค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปีเป็นวันที่อยู่อาศัยสากล เพื่อเป็นสัญลักษณ์กระตุ้นเตือนให้ประชาชาติต่างๆ ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาผู้ไร้ที่อยู่อาศัยหรืออยู่อาศัยในสภาพการตั้งถิ่นฐานที่ไม่เหมาะสม

กลุ่มผู้ชุมนุมเริ่มต้นเดินเท้าจากลานพระบรมรูปทรงม้า ถึงทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 11.00 น. เพื่อยื่นหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เสนอแนะการแก้ปัญหาชุมชนแออัด เนื่องในวันที่อยู่อาศัยสากล ปี 2552 โดยมีนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนนายกรัฐมนตรี รับหนังสือ

หนังสือดังกล่าวระบุข้อเสนอ 5 ข้อ ดังนี้ 1.ปัญหาการไล่รื้อคนจนไปนอกเมือง ขอให้รัฐบาลยกเลิกวิสัยทัศน์ในการย้ายสลัมออกนอกเมือง แต่ขอให้ปรับปรุงและพัฒนาชุมชนแออัดในพื้นที่เดิม ให้พ้นจากความเป็นสลัม 2.ปัญหางบประมาณในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย ขอให้รัฐบาลจัดหางบเพิ่มเติมอีก 2,000 ล้านบาท ในปี 2552 นี้ เพื่อให้เพียงพอแก่ความต้องการของชุมชน โดยเฉพาะกรณีเงินให้เปล่าแก่ พอช.หรือสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เพื่อเป็นกองทุนหมุนเวียนด้านสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสำหรับชุมชนแออัด 3.ปัญหาเรื่องกฎระเบียบในการปลูกสร้างอาคาร ขอให้รัฐบาลสั่งการกระทรวงมหาดไทย ปรับปรุงเพิ่มเติมให้ครอบคลุมข้อเสนอของเครือข่ายสลัม 4 ภาค เร่งรัดดำเนินการ ออกกฎกระทรวง เพื่อผ่อนปรนการปลูกสร้างอาคาร บ้านเรือน ในโครงการบ้านมั่นคง ให้แล้วเสร็จภายในปี 2552

4.ปัญหาการถือครองที่ดินที่ไม่เป็นธรรม ขอให้รัฐบาลเร่งรัดออกกฎหมายที่ดินในอัตราก้าวหน้า ดำเนินการตามนโยบายโฉนดชุมชน จัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดิน 5.ผลักดันรูปธรรมนำร่องตามนโยบายโฉนดชุมชนในพื้นที่สาธารณะ เพื่อที่อยู่อาศัยในเมือง โดยขอให้นายกรัฐมนตรีเร่งรัดให้ดำเนินการเพื่อให้ชุมชนเพชรคลองจั่น เขตบึงกุ่ม ชุมชนโรงหวาย เขตสวนหลวง ชุมชนหลวงวิจิตร เขตคันนายาว เป็นชุมชนนำร่องในเขตเมืองเรื่องที่อยู่อาศัย โดยใช้นโยบายโฉนดชุมชนในการแก้ปัญหา

จากนั้นได้เคลื่อนขบวนรณรงค์ต่อไปยังหน้าอาคารสหประชาชาติ ซึ่งคณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม และ 5 เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนไทยได้จัดการชุมนุมกันอยู่ก่อหน้า เพื่อยื่นหนังสือและพูดคุยกับ Dr.Noleen HeyZer เลขาธิการคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิกแห่งองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสแคป)

นายสังเวียน นุชเวียน คณะกรรมการบริหาร LOCOA (Leaders and Organizers of Community Organization in Asia) ประเทศไทย กล่าวว่าวันที่อยู่อาศัยสากลถือเป็นวันสำคัญของคนจน การที่ยูเอ็นมีนโยบาย “เมืองที่ปราศจากสลัม” ที่จะพัฒนาสลัมให้อยู่ในเมืองได้ เป็นสิ่งที่ดี แต่กลับไม่มีการนำเอาไปปฎิบัติ ทำให้ภาพของยูเอ็นกลายเป็นเพียงกระบอกเสียงโฆษณาที่ไม่ทำตามในสิ่งที่ได้ประกาศไว้ ดังนั้นความต้องการของประชาชนจึงไม่ใช่แค่นโยบายที่สวยหรู แต่รัฐบาลของประเทศสมาชิกต้องปฎิบัติจริง เพื่อให้คนจนทั้งที่อยู่ในเมืองและชนบทมีสิทธิอยู่อาศัย

โดย ข้อเสนอของทางเครือข่ายคือ 1.ยูเอ็นต้องทำนโยบายที่เสนอไว้มาปฎิบัติจริง 2.สิทธิที่จะอยู่อาศัยเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ที่รัฐบาลประเทศสมาชิกของยูเอ็นควรต้องให้การดูแล หยุดการใช้ความรุนแรงในการไล่รื้อที่อยู่อาศัยของประชาชนทั้งโดยกฎหมายและการใช้กำลัง

ที่ผ่านมาประเทศต่างๆ ในเอเชียมีการใช้ความรุนแรงในการไล่รื้อสลัม ยกตัวอย่างเช่นใน กัมพูชามีการเผาเพื่อไล่ที่ ที่อินเดียมีการไล่รือโดยใช้รถแบคโฮไถ และที่ฟิลิปปินส์มีกรณีที่รัฐบาลดำเนินการขุดขยายคลองที่ทำลายที่ตั้งชุมชนโดยไม่ฟังเสียงเรียกร้องของชาวบ้าน อีกทั้งไม่มีการจ่ายค่าชดเชยใดๆ ส่วนในไทยเองก็มีการใช้ความรุนแรงและอิทธิพลในการไล่รื้อ เช่นในกรณีชุมชนกระทุ่งเดียว ในเขตห้วยขวาง ชุมชนซอยยาดอง ซอยเอกมัย 13 และชุมชนในพื้นที่ จ.นนทบุรี ทั้งนี้กรณีต่างๆ ที่เกิดขึ้นรัฐบาลไม่สามารถเข้าไปแก้ปัญหาได้แม้จะเป็นที่ดินของรัฐ  

คณะกรรมการบริหาร LOCOA กล่าวด้วยว่า การเคลื่อนไหวของคนจนเมืองเพื่อสิทธิในที่อยู่อาศัยในครั้งนี้ไม่ได้ขับเคลื่อนเฉพาะในกลุ่มสลัม 4 ภาค หรือในประเทศไทย แต่ยังมีสมาชิกของ LOCOA ซึ่งเป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียเข้าร่วมด้วย อาทิ ประเทศอินเดีย กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้ เข้าร่วมด้วย

“คนจนไม่ช่วยกันก็ไม่มีใครจะมาช่วยเรา” นายสังเวียนกล่าว

การชุมนุมดำเนินไปจนกระทั่งเวลาประมาณ 13.00 น. นายจักรชัย โฉมทองดี ผู้ประสานงานคณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม ได้เป็นตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนทีเคลื่อนไหว “ลดโลกร้อน ต้องทำอย่างเป็นธรรม” ขึ้นแลกธงของเครือข่ายฯ กับธงของเครือข่ายคนจนเมืองและชาวสลัม โดยมีนายจิตติ เชิดชู ประธานเครือข่ายสลัมสี่ภาคเป็นผู้รับมอบ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

“การต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม ไม่ว่าใครก็เป็นพี่น้องกัน” ผู้ประสานงานคณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรมกล่าว อีกทั้งยังได้พูดกับผู้ชุมนุมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโลกร้อนต่อป่า ภาคการเกษตร และเมือง ซึ่งทำให้ประชาชนต้องลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวต่อสู้

จากนั้น Dr.Noeleen HeyZer ได้ขึ้นอ่านคำแถลง โดยกล่าวถึงสารของนายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ เนื่องในวันที่อยู่อาศัยสากล และความพยายามในการแก้ปัญหา ต่อมาจึงเป็นการอ่านแถลงการณ์ของผู้ชุมนุมในภาษาอังกฤษโดย Fides Bagasao ผู้ประสานงาน LOCOA ต่อด้วยการอ่านแถลงการณ์ภาษาไทยโดยนายจิตติ เชิดชู ประธานเครือข่ายสลัมสี่ภาค

แถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า การรณรงค์เรียกร้องเรื่องสิทธิในที่อยู่อาศัยแม้จะมีการดำเนินการมานาน แต่การขาดความมั่นคงในที่อยู่อาศัยของคนจนเมืองก็ยังเป็นปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งในทั่วเอเชีย และการไล่รื้ออย่างรุนแรงก็มีเกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศ ขณะที่มีคำพูดสวยหรูในการแก้ปัญหาจากผู้แทนยูเอ็นจำนวนมาก ทั้งนี้ทางเครือข่ายเชื่อว่ายูเอ็นยังมีบทบาทน้อยเกินไปในการพยายามแก้ปัญหาให้เห็นเป็นรูปธรรม อีกทั้งวิศัยทัศน์ที่ประกาศเนื่องในวันที่อยู่อาศัยสากล ปี 2001 ที่ว่า “เมืองที่ปราศจากสลัม” ยังรอคอยการปฎิบัติให้บรรลุผล

ส่วนสาระหลักที่ยูเอ็นให้แก่วันที่อยู่อาศัยสากลปีนี้คือ “วางผังเมืองอนาคตของเรา” ทางเครือข่ายมีความเห็นว่าควรมีการทำให้หลักการพื้นฐานที่ว่าคนจนเมืองมีสิทธิในการมีที่ทางที่มั่นคงในเมืองได้รับการยอมรับและรับรู้ โดยฝ่ายการเมืองถือว่าเป็นนโยบายที่จะทำให้เป็นจริงก่อน การวางผังเมืองจึงจะมีผลต่อการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของคนจนเมือง

แถลงการณ์ยังได้เรียกร้องให้ยูเอ็นและหน่วยงานที่เกี่ยวของพยายามอย่างเต็มที่ในการยุติการไล่รื้อด้วยความรุนแรงในทุกแห่ง ลงแรงให้สิทธิในการเช่าที่ การมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง และประกันการจัดหาบริการพื้นฐานสำหรับคนจนเมืองให้เป็นจริงขึ้น 

ส่วน Dr.Noeleen HeyZer กล่าวกับผู้ที่มาชุมนุมว่า ขอบคุณที่มาแสดงพลัง และสัญญาว่าข้อเรียกร้องที่มีจะถูกนำเสนอต่อเลขาธิการสหประชาชาติ เพื่อให้ประเทศสมาชิกในเอเชียได้อยู่อย่างปกติสุขและมีการพัฒนาที่ยั่งยืน 

หลังการมอบหนังสือและพูดคุยกับ Dr.Noeleen HeyZer เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมได้สลายตัวไปอย่างสงบ

ทั้งนี้ ในระหว่างการชุมนุน บริเวณหน้าที่ทำการองค์การสหประชาชาติได้เกิดฝนตกหนักขึ้นทำให้การปราศัยของเครือข่ายคนจนเมืองและชาวสลัมต้องยุติลงชั่วคราว ในขณะที่การชุมนุมของเครือช่ายภาคประชนที่เคลื่อนไหวประเด็น “ลดโลกร้อน ต้องทำอย่างเป็นธรรม” ยังคงปราศัยต่อ และยุติการชุมนุมเมื่อฝนเริ่มซา โดยกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนได้เข้าไปร่วมการชุมนุมกับเครือข่ายคนจนเมืองและชาวสลัม ขณะที่ผู้ชุมนุมเครือข่ายพลังงานกว่า 500 คน ได้เดินทางต่อไปยังกระทวงมหาดไทยเพื่อทวงถามกรณีผังเมืองสีม่วงในพื้นที่ อ.ทับสะแก และทวงถามกรณีคัดค้านที่ดินสาธารณะ 58 แปลง ในพื้นที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์

 

 

 

 

ภาพโดย: อรรถพงศ์ ศักดิ์สงวนมนูญ และคิม ไชยสุขประเสริฐ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net