รายงาน: อำนาจรัฐกับการชุมนุมสาธารณะ


 
บทเรียนจากเหตุการณ์เดือนตุลาคมปี 2516 ปี 2519 และพฤษภาคม 2535 สอนให้สังคมไทยรู้ว่า การที่รัฐใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามการชุมนุมของประชาชนเป็นการกระทำที่ยอมรับไม่ได้ และจะนำไปสู่การสูญเสียความชอบธรรมของผู้ใช้อำนาจปกครองบ้านเมืองแต่ความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา กลายเป็นแบบทดสอบทางความคิดที่ไม่ง่ายต่อสังคมไทยนัก เมื่อมีความคิดเห็นทางอุดมการณ์การเมืองที่หลากหลาย มีการชุมนุมประท้วงจากหลากหลายฝ่าย ที่ทั้งเพิ่มความถี่ และเพิ่มระดับความเข้มข้นมากขึ้น
 
หลายคนในสังคมมองเห็นว่า สังคมในปัจจุบันกำลังอยู่ในความแตกแยก เพราะเพียงแค่เลือกพรรคการเมืองที่แตกต่างกัน หรือมีรสนิยมทางการเมืองที่แตกต่างกัน ถูกนิยามกลายเป็นเรื่องดี ชั่ว และผลกระทบก็คือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นถูกละเลย การออกมาชุมนุมแต่ละครั้งมีทั้งความชอบธรรมและความเกลียดชัง
 
คนในสังคมไทยส่วนหนึ่งที่เคยเชื่อในเรื่องเสรีภาพการแสดงออก เคยมีจุดยืนที่แน่วแน่ว่าการที่รัฐใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามการชุมนุมเป็นการกระทำที่ยอมรับไม่ได้ มาวันนี้ความหนักแน่นในแนวคิดเหล่านั้นกลับอ่อนกำลังลง และเริ่มรู้สึกยินดีที่เจ้าหน้าที่ใช้กำลังเข้าปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมบ้าง เพื่อให้บ้านเมืองกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
 
หรือความขัดแย้งในการเมืองไทย สร้างมาตรฐานใหม่ให้การชุมนุมในที่สาธารณะไปเสียแล้ว ว่าเป็นเรื่องที่ไม่ได้มีแค่มาตรฐานเดียว
 
ที่ผ่านมาพบว่า การชุมนุมของประชาชนหลายครั้งต้องเผชิญกับปลายทาง ด้วยการใช้ความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ และความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของคนทั่วไป ที่ให้ไฟเขียวต่อการปราบปรามการชุมนุม ดังเช่น
 
เหตุการณ์วันที่ 22 กรกฎาคม 2550 เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้แก๊สน้ำตายิงเข้าใส่กลุ่มผู้ชุมนุม แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) และใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมบริเวณหน้าบ้านพักสี่เสาเทเวศร์ ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
 
เหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาคม 2551 เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้แก๊สน้ำตายิงเข้าใส่ผู้ชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อเปิดทางเข้าออกบริเวณหน้ารัฐสภา
 
เหตุการณ์วันที่ 13 เมษายน 2552 เจ้าหน้าที่ทหารใช้กำลังเข้าปราบปรามการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง บริเวณแยกสามเหลี่ยมดินแดง อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและบริเวณใกล้เคียงหลายจุด มีการใช้อาวุธปืนเอ็ม16ยิงขู่ และใช้กระสุนกระดาษยิงเข้าใส่กลุ่มผู้ชุมนุม เพื่อสลายการชุมนุม
 
และระยะหลังนี้ ไม่ต้องรอให้เกิดสถานการณ์การชุมนุม แต่ก็มีกรณีที่รัฐบาลชิงประกาศล่วงหน้าว่า เตรียมใช้เครื่อง LRAD หรือเครื่องขยายเสียงระยะไกล ในช่วงก่อนการนัดชุมนุมใหญ่ครบรอบ 3 ปีการรัฐประหาร ที่แย่ไปกว่านั้น ก่อนจะถึงวันชุมนุมดังกล่าว ในวันที่ 27 สิงหาคม ที่ผ่านมา เครื่อง LRAD นี้ก็ได้แสดงพลังของมัน โดยตำรวจนำมาใช้ในการชุมนุมของกลุ่มสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ที่ถูกเลิกจ้าง บริเวณหน้ารัฐสภา เพื่อสลายการชุมนุม
 
ประสบการณ์เหล่านี้แสดงให้สังคมรู้สึกว่า แนวโน้มการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่รัฐ ดูจะเน้นที่การนำอาวุธมาใช้จัดการกับกลุ่มผู้ชุมนุม มากกว่าการประสานเจรจา การใช้ความอดทนและเข้าใจบนฐานของการเคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก
 
ประเด็นที่สาธารณะชนให้ความสนใจมากขึ้น จึงมีทั้งเรื่องอาวุธที่อยู่ในมือรัฐ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจรัฐและวิธีการที่เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติ และประเด็นที่สำคัญที่สุด คือ วิธีการแบบใดที่สามารถกระทำได้
 
เครื่องมือหรืออาวุธของเจ้าหน้าที่ที่นำมาใช้กับกลุ่มผู้ชุมนุม
 
แก๊สน้ำตา เป็นอาวุธที่พบเห็นบ่อยในการใช้สลายการชุมนุม แก๊สน้ำตามีหลายประเภท ผู้ที่ถูกแก๊สน้ำตาจะมีอาการน้ำตาไหล น้ำมูกไหล มองไม่ชัด ระคายเคือง อาเจียน ถ้าสัมผัสปริมาณมาก อาจถึงขั้นตาบอดได้ คนทั่วไปไม่สามารถทนอยู่ในบริเวณที่มีแก๊สน้ำตาได้ โดยทั่วไป เมื่อออกมาจากบริเวณที่มีแก๊สน้ำตา ประมาณ 1 ชั่วโมง อาการก็จะหายไปเอง จึงมองได้ว่าเป็นอาวุธที่มีประสิทธิภาพแต่ไม่ส่งผลกระทบร้ายแรง เป็นเครื่องมือสลายการชุมนุมที่ใช้ทั่วไปในต่างประเทศ ในปัจจุบันมีทั้งแบบยิง และแบบขว้าง ซึ่งในประเทศไทยก็นำมาใช้ทั้งสองแบบ
 
สเปรย์พริกไทย นอกจากจะเป็นอุปกรณ์ป้องกันตัวแล้ว สเปรย์พริกไทยยังถูกนำมาใช้ในการควบคุมการชุมนุมด้วย แท้จริงแล้ว สเปรย์พริกไทยเป็นสารสกัดจากพริก ไม่ใช่พริกไทย ผลกระทบค่อนข้างรุนแรง ทำให้ตาปิดและมองไม่เห็นเป็นเวลา 30-45 นาที แสบตา ทำให้หายใจยาก พูดยาก ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต หลังจากถูกสเปรย์พริกไทยประมาณ 45 นาทีถึงหนึ่งชั่วโมงอาการจะหายไปเช่นกัน
 
กระสุนยาง เป็นอาวุธควบคุมการชุมนุมอีกชนิดหนึ่งที่เป็นส่วนหนึ่งของเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยมานาน แต่ไม่ค่อยเป็นข่าวมากนัก กระสุนยางใช้ยิงผ่านปืนบางชนิด ถ้ายิงโดนบริเวณท้องหรือลำตัวจะทำให้จุก ถ้าโดนบริเวณกระดูกอาจถึงขั้นกระดูกหัก และถ้าโดนกะโหลกศีรษะอาจทำให้กะโหลกศีรษะร้าวและอันตรายถึงชีวิตได้ เป็นอาวุธอีกชนิดหนึ่งที่หลายประเทศใช้ในการปราบจราจล
 
เครื่อง LRAD เครื่องขยายเสียงระยะไกล เป็นอาวุธสงครามที่สหรัฐอเมริกาผลิตขึ้น ใช้ป้องกันเรือรบจากการโจมตีของเรือเล็ก ต่อมานำมาใช้เพื่อป้องกันการโจมตีของโจรสลัด และสหรัฐเคยนำมาใช้กับการควบคุมฝูงชนในอิรักด้วย LRAD มีลักษณะเป็นเครื่องขยายเสียง ใช้ในการประกาศ สื่อสารกับผู้ชุมนุม สามารถกำหนดทิศทางของเสียงได้ และสามารถส่งเสียงดังได้ถึง 151 เดซิเบล ซึ่งเป็นความดังที่ประสาทหูของคนทั่วไปจะรับไม่ได้ ผู้ที่อยู่ในระยะของเสียงจะเกิดอาการปวดแก้วหู คลื่นไส้ อาเจียน ทนไม่ไหว ต้องหลบให้พ้นจากแนวเสียง หากทนอยู่นานๆ อาจสูญเสียประสาทการได้ยินเป็นการชั่วคราวหรือถาวรได้
 
นอกจากที่กล่าวมา ในต่างประเทศยังมีอาวุธและอุปกรณ์อีกหลายชนิดที่คิดค้นขึ้นมาสำหรับการควบคุมการชุมนุม เช่น ปืนไฟฟ้า ปืนถุงถั่ว ระเบิดกลิ่นเหม็น (Stink bomb) ระเบิดเสียง ปืนตาข่าย (Net gun) โฟมกาว (Gooey foam) สุนัขตำรวจ บางชนิดก็ได้รับการยอมรับให้ใช้ในการสลายการชุมนุมได้ บางชนิดก็ยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ถึงผลกระทบว่าอาจจะรุนแรงเกินไป ซึ่งหากสถานการณ์การชุมนุมของไทยยังคงเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้ เราอาจจะได้เห็นเครื่องมือชนิดใหม่ๆ ในประเทศไทยอีกก็เป็นได้
 
 
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ “การเข้าสลาย” การชุมนุม
 
ที่ผ่านมา มีการพูดถึงการจัดการการชุมนุม โดยหลายฝ่ายเคยอยากเสนอให้มีการออกเป็นพระราชบัญญัติการชุมนุมในที่สาธารณะ อย่างไรก็ดี ด้วยกฎหมายที่มีอยู่ทุกวันนี้ มีกลไกกฎหมายที่ให้อำนาจรัฐจัดการต่อการชุมนุมได้อยู่แล้ว ได้แก่
 
 
ประมวลกฎหมายอาญา
          มาตรา 215 ผู้ใดมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
        ถ้าผู้กระทำความผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ บรรดาผู้ที่กระทำความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นหัวหน้า หรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิดนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
          มาตรา 216 เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมเพื่อกระทำความผิดตามมาตรา 215ให้เลิกไป ผู้ใดไม่เลิก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้ง
ปรับ
 
 
ในประมวลกฎหมายอาญา ได้ระบุความผิดฐานมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และความผิดฐานมั่วสุมกันแล้วเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิกรัฐบาลมักระบุว่าผู้ชุมนุมมีความผิดตามกฎหมายมาตรานี้ จึงต้องใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม ซึ่งใช้ได้กับการชุมนุมแทบทุกรูปแบบ
 
พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2551
          มาตรา 108 ห้ามมิให้ผู้ใดเดินแถว เดินเป็นขบวนแห่ หรือเดินเป็นขบวนใดๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร เว้นแต่
        (๑) เป็นแถวทหารหรือตำรวจ ที่มีผู้ควบคุมตามระเบียบแบบแผน
        (๒) แถวหรือขบวนแห่หรือขบวนใดๆ ที่เจ้าพนักงานจราจรได้อนุญาตและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานจราจรกำหนด
          มาตรา 109 ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ บนทางเท้าหรือทางใดๆ ซึ่งจัดไว้สำหรับคนเดินเท้าในลักษณะที่เป็นการกีดขวางผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควร
 
 
พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดเดินแถว เดินขบวนกีดขวางการจราจร และห้ามผู้ใดทำด้วยประการใดๆ ที่เป็นการกีดขวางทางเท้า แต่จะเห็นว่า การชุมนุมตามท้องถนนแทบทุกกรณีก็เข้าข่ายการกีดขวางการจราจร หรืออย่างน้อยก็เป็นการกีดขวางทางเท้า เรียกได้ว่าเป็นกฎหมายที่มีโทษเบาแต่เจ้าหน้าที่อาจใช้อ้างได้เสมอเพื่อการเข้าสลายการชุมนุม
 
พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551
          มาตรา ๑๘ เพื่อประโยชน์ในการป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง และแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ภายในพื้นที่  ตามมาตรา ๑๕ ให้ผู้อำนวยการโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจออกข้อกำหนด ดังต่อไปนี้
        (๒) ห้ามเข้าหรือให้ออกจากบริเวณพื้นที่ อาคาร หรือสถานที่ที่กำหนดในห้วงเวลาที่ปฏิบัติการ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับการยกเว้น
        (๓) ห้ามออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนด
 
 
เป็นกฎหมายที่รัฐบาลชุดนี้นำมาประกาศใช้ก่อนมีการชุมนุมครั้งใหญ่ หรือมีเหตุการณ์ที่เสี่ยงต่อการเกิดการชุมนุม เมื่อรัฐบาลประกาศใช้ในท้องที่ใดมีผลให้อำนาจในการตัดสินใจ การควบคุมดูแลการชุมนุมของทุกองค์กรโอนมาเป็นของผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (ผอ.รมน.) ซึ่งก็คือนายกรัฐมนตรี โดยมีหน่วยงานของทหารอยู่ในอำนาจการบริหารงาน และมีอำนาจออกข้อกำหนดต่างๆ เพื่อควบคุมการชุมนุม
 
พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
          มาตรา 9 ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงได้โดยเร็ว หรือป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกข้อกำหนด ดังต่อไปนี้
        (๒) ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย
นายกรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศใช้กฎหมายนี้ในท้องที่ที่มีเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงหรือความสงบเรียบร้อย ปัจจุบันประกาศใช้อยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้อำนาจการแก้ไขสถานการณ์เป็นของนายกรัฐมนตรีผู้เดียวและนายกรัฐมนตรีมีอำนาจหลายประการที่เพิ่มขึ้นจากกฎหมายในยามปกติ และอาจออกข้อกำหนดมาควบคุมการชุมนุมต่างๆ ตลอดจนข้อกำหนดอื่นๆ ที่อาจเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพได้
 
หากว่าการชุมนุมครั้งใดเข้าข่ายผิดกฎหมายบทอื่นอีก เช่น มีการบุกรุกสถานที่ราชการ ทำลายทรัพย์สิน ส่งเสียงดังรบกวน หมิ่นประมาทบุคคล หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เจ้าหน้าที่ของรัฐก็จะมีเหตุผลมากขึ้นในการเข้าสลายการชุมนุม แม้แต่ข้อหากบฎ ก็ยังเคยนำมาใช้
 
 
หลักสากลในการสลายการชุมนุม
 
กฎหมายต่างๆ ที่ยกมานี้ ทำให้ต้องตั้งคำถามต่อไปว่า ทุกครั้งที่มีความพยายามออกกฎหมายการชุมนุม โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจมักบอกว่า เจ้าหน้าที่รัฐจำเป็นต้องออกกฎหมายใหม่ เพื่อให้มี “เครื่องมือ” ในการบริหารจัดการผู้ชุมนุม นั้น มีความจำเป็นจริงหรือ กฎหมายเท่าที่มีอยู่นี้ยังไม่เพียงพอจะเป็น “เครื่องมือ” ให้เจ้าหน้าที่ได้หรือ
 
แทนที่จะมองการออกกฎหมายการชุมนุมในที่สาธารณะ ที่เป็นการมองจากฟากของรัฐว่าจะจัดการประชาชนอย่างไร ในทางตรงกันข้าม ฟากประชาชนต่างหากที่ต้องเป็นฝ่ายหาเครื่องมือในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม และตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐที่จะมาควบคุมการชุมนุมให้มีมาตรฐาน
 
ในทางสากล แม้เรื่องนี้จะไม่ได้มีหลักสากลระหว่างประเทศที่ไทยมีพันธะร่วม แต่ก็พอจะมีมาตรฐานของวิธีการที่นานาประเทศนำมาใช้และเป็นที่ยอมรับกัน
 
กล่าวโดยสรุป เจ้าหน้าที่จะดำเนินการสลายการชุมนุมได้ ขั้นแรกต้องเริ่มจากการเจรจาหาทางออกก่อน หากไม่สำเร็จเจ้าหน้าที่ต้องประกาศให้ผู้ชุมนุมปฏิบัติตามคำสั่ง หรือเตือนก่อนว่าจะสลายการชุมนุม จากนั้นต้องแสดงพลังเพื่อส่งสัญญาณ เช่น การกระแทกกระบองกับโล่ให้เกิดเสียง ถ้าผู้ชุมนุมไม่ยอมสลายตัวต้องประกาศเตือนอีกครั้งแล้วจึงสามารถเข้าสลายการชุมนุมได้ โดยต้องเริ่มจากมาตรการเบาก่อนแล้วค่อยๆ หนักขึ้น คือ ใช้รถฉีดน้ำก่อน ถ้าไม่สำเร็จผลค่อยใช้แก๊สน้ำตา ไม่มีข้อกำหนดให้ใช้อาวุธหนัก หรืออาวุธสงครามได้และหลังจากการสลายการชุมนุมเจ้าหน้าที่ต้องเข้าเคลียร์พื้นที่ ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ และเยียวยาความเสียหายด้วย
 
การชุมนุมสาธารณะ เป็นวิธีการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ และแทบจะเป็นเครื่องมือชิ้นเดียวที่ผู้มีอำนาจน้อยกว่าสามารถหยิบมาใช้ได้อย่างเสมอภาคกัน ขณะเดียวกันการแสดงออกผ่านการชุมนุมก็จำเป็นที่จะต้องไม่กระทบกระเทือนสิทธิของบุคคลอื่น และไม่ละเมิดต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองด้วย
 
การสลายการชุมนุมหลายครั้งที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่รัฐใช้วิธีการ อาวุธ เหตุผล และอาศัยกฎหมายที่ให้อำนาจแตกต่างกันไป ในแง่หนึ่งก็เป็นการกระทบสิทธิของผู้ชุมนุมเพราะไม่อาจทราบได้ว่าจะต้องพบกับการสลายการชุมนุมเมื่อไร อย่างไร และเพราะอะไร ซึ่งบรรยากาศความไม่มั่นคงเช่นนี้ บั่นทอนการแสดงความคิดเห็นในสังคมประชาธิปไตยอย่างรุนแรง
 
เพราะฉะนั้นแล้ว การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ ควรมีกรอบแนวทางหรือไม่และอย่างไร เพื่อคุ้มครองกลุ่มผู้ชุมนุมเองและคุ้มครองความสงบสุขของสังคม เงื่อนไขเช่นไรที่เจ้าหน้าที่สามารถใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมได้ อาวุธอะไรที่จะนำมาใช้ได้ในแต่ละสถานการณ์ จะมีมาตรการใดที่ทำให้ผู้ที่เสียเปรียบอยู่แล้วไม่กลายเป็นผู้ถูกกระทำซ้ำอีก
 
 
 
 
อ้างอิง
http://news.mcot.net/politic/inside.php?value=bmlkPTIyMTE4Jm50eXBlPWNsaXA=

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท