Skip to main content
sharethis

ภาคประชาชนเตรียมจัดงาน "มหกรรมประชาชนอาเซียนครั้งที่ 2" ที่ชะอำ โดยมีรูปแบบเวทีเสวนาร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐผู้ปฏิบัติงานโดยตรงจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาค หวังได้พบปะ-เสนอข้อเสนอต่อผู้นำอาเซียนในวันพิธีเปิดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 15 เพื่อให้อาเซียนมีประชาชนเป็นศูนย์กลางจริงๆ

มื่อวันที่ 7 ตุลาคม ที่ห้องจุมภฎ-พันธุ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะทำงานได้ร่วมแถลงข่าวการจัดงานมหกรรมประชาชนอาเซียน ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 18-20 ต.ค.ที่จะถึงนี้

สุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) กล่าวถึงการจัดงานมหกรรมประชาชนอาเซียนครั้งที่ 2 ที่โรงแรมรีเจนท์ บีช ชะอำ จ.เพชรบุรี ที่จัดโดยภาคประชาชนไทยว่า รูปแบบครั้งนี้จะไม่ได้เป็นเวทีคู่ขนานดังเช่นที่เคยทำมา แต่จะเป็น “เวทีเสวนาร่วม” ที่จะมีการพูดคุยในมุมมองที่แตกต่าง และตอบข้อซักถามกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานโดยตรงจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน ดังนั้นหน่วยงานรัฐของอาเซียนจะไม่สามารถทำเป็นไม่รับรู้ข้อคิดเห็นของภาคประชาชนได้ อย่างไรก็ตาม ภาคประชาชนยินดีที่ภาครัฐในภูมิภาคอาเซียนและประชาชนจะมาอยู่ร่วมในเวทีเดียวกัน เพื่อเสวนาร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น
 
สุนทรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้าที่จะมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนในงานมหกรรมประชาชนอาเซียนครั้งที่ 2 ในวันที่ 18-20 ตุลาคมนี้ จะมีการจัดเวทีพูดคุยระหว่างรัฐบาลและภาคประชาชนไทย ในวันที่ 12 ตุลาคม ที่ห้องจุมภฎ-พันธุ์ทิพย์ ส่วนในวันที่ 23 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันพิธีเปิดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 15 ภาคประชาชนมีกำหนดการจะเข้าพบและเสนอข้อเสนอต่อผู้นำอาเซียน ซึ่งหวังว่าครั้งนี้ผู้นำประเทศอาเซียนทุกประเทศและภาคประชาชนจะได้พบปะกัน หลังจากที่ในปีที่แล้วมีประสบการณ์ที่ผู้นำประเทศพม่าและประเทศกัมพูชาไม่ให้เข้าพบ ไม่เช่นนั้น อาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางคงไม่เกิดขึ้นจริง
 
“สิ่งที่ยังเป็นเรื่องท้าทายคือการมีส่วนร่วม และเป็นศูนย์กลางของประชาชนในอาเซียนจะเป็นจริงได้อย่างไร ตามที่มีบัญญัติสวยหรูในกฎบัตรอาเซียน” สุนทรีกล่าว
 
ชนิดา จรรยาเพศ แบมฟอร์ด โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (FOCUS on the Global South) ในฐานะคณะทำงานมหกรรมประชาชนอาเซียน กล่าวว่า มหกรรมประชาชนอาเซียนจัดขึ้นเพื่อสร้างบทสนทนากับภาครัฐว่าข้อเสนอต่ออาเซียนที่ภาคประชาชนเคยเสนอไปได้ดำเนินการอย่างไร มีอุปสรรคอย่างไร และประชาชนจะร่วมมือช่วยเหลือได้อย่างไรบ้าง โดยในวันที่ 19 ต.ค. ซึ่งจะเป็นวันที่สองของการประชุม จะมีการเปิดเวทีพูดคุยกับภาครัฐ โดยได้เชิญทั้งเจ้าหน้าที่ระดับวางแผนและระดับปฏิบัติการ ตั้งแต่ระดับรัฐมนตรีถึงอธิบดีของแทบทุกประเทศ เพื่อถามถึงการดำเนินการนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะกับรัฐบาลเวียดนามที่จะเป็นประธานอาเซียนในปีต่อไป ว่าจะทำให้อาเซียนมีประชาชนเป็นศูนย์กลางได้อย่างไร
 
ชนิดา กล่าวว่า จากประสบการณ์ อาเซียนเป็นการรวมตัวของประเทศต่างๆ ที่มีความหลากหลายสูงมาก ตั้งแต่ศาสนา วัฒนธรรม จนถึงรูปแบบการปกครองที่มีตั้งแต่สังคมนิยมไปจนถึงสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพราะฉะนั้น ประเด็นที่มีช่องว่างมากคือการยอมรับความคิดเห็นของประชาชน ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ตั้งประเด็นเรื่องการให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ภาคประชาชนเองก็เห็นด้วยและจะพยายามทำให้การสนทนาราบลื่นและสร้างสรรค์มากที่สุด แต่ประเทศอื่นจะเห็นด้วยกับประเด็นนี้เพียงใด ก็เป็นประเด็นที่จะนำไปสนทนาในงานครั้งนี้เช่นกัน
 
กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา ตัวแทน FTA Watch ในฐานะคณะทำงานมหกรรมประชาชนอาเซียน ด้านเศรษฐกิจว่า จากการจับตาความเคลื่อนไหวของการประชุมผู้นำอาเซียนประเด็นสำคัญในขณะนี้คือการเจรจาเปิดเสรีการลงทุนอาเซียน (ACIA) ยกเลิกข้อสงวนในสาขาเกษตร การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และทำสวนป่าปลูก ที่คาดว่าเป็นประเด็นสำคัญที่จะมีการนำมาพูดคุยในการประชุมอาเซียนที่จะถึงนี้ ภาคประชาชนเองมีความห่วงใยว่าหากมีการเห็นชอบในข้อตกลงดังกล่าว ต่อไปการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติอาจไม่ต้องใช้นอมินีดังที่เป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบัน โดยเริ่มต้นจากกลุ่มทุนในภูมิภาคอาเซียน และต่อไปก็จะเป็นกลุ่มทุนจากประเทศนอกอาเซียนที่ทำธุรกิจในอาเซียนที่จะสามารถเข้ามาใช้สิทธิดังกล่าว ซึ่งตรงนี้จะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางกับวีถีชีวิตและอาชีพของประชาชนจำนวนมาก ซึ่งเรื่องสำคัญคือ การดำเนินการดังกล่าวไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน
 
“นโยบายของรัฐบาลไทยที่บอกว่าสร้างอาชีพสร้างรายได้ หากมีการเห็นชอบให้ยกเลิกข้อสงวนแล้วจะมีอะไรให้ทำสำหรับอาชีพในภาคเกษตรที่เป็นอาชีพพื้นฐานของคนในสังคม เป็นฐานการผลิต เป็นความมั่นคงทางอาหารของประเทศ” กิ่งกรกล่าว
 
สุริชัย หวันแก้ว อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธานคณะทำงานมหกรรมประชาชนอาเซียนกล่าวว่า เมื่อคิดเรื่องอาเซียน คนมักจะคิดกันแต่เรื่องผลประโยชน์แห่งชาติ ว่าจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง แต่ตั้งคำถามว่า ประเทศอื่นๆ จะให้ความไว้วางใจหรือไม่ การมองโลกแบบเอาประโยชน์เฉพาะตัวไม่อาจพาเราไปสู่อนาคตได้ เราอาจจัดประชุมอย่างเสแสร้งได้แต่อาจไม่ประสบความสำเร็จ ในการประชุมที่ล้มเหลวเมื่อเมษายนที่ผ่านมา อาจลองถามตัวเองว่า ทำให้มีคนยากลำบากขึ้นเท่าใด มติบางอย่างถ้าลงนามไปอาจเป็นผลดีก็ได้ แต่บางเรื่องก็อาจเป็นผลดีที่เลื่อนไป ดังนั้น การจัดครั้งนี้จึงมีความหมายมากกว่าการจัดให้เสร็จๆ ไป แต่จะทำให้เราได้คิดมากขึ้นว่า การจัดนี้เพื่ออะไร เพื่อผลประโยชน์ของใคร

สุริชัย กล่าวเสริมว่า ในภาวะที่มีความขัดแย้งเรื่องชายแดน 4.6 ตร.กม. หรือที่มีการเปิดเสรี เซ็นสัญญา ข้อตกลงบางอย่าง เช่น การขยายพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์เสรี พันธุ์พืชพื้นเมือง หรือเรื่องจีเอ็มโอ ซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของสังคมและชุมชน สถาบันการศึกษาจะต้องเรียนรู้จากการจัดงานครั้งนี้ และอยากให้เกิดประเด็นวิจัยจากงานประชุมครั้งนี้ เพื่อหาทางออกให้กับสังคมด้วย

 
ศักดิ์สินี เอมะศิริ ธนะกุลมาส ตัวแทนเครือข่ายเยาวชนอาเซียน (ASEAN Youth Movement) กล่าวว่าการมีส่วนร่วมของเยาวชนอาเซียนสืบเนื่องจากปีที่แล้วซึ่งมีการประชุมเยาวชนลุ่มน้ำโขง จนมาถึงการประชุมเยาวชนอาเซียน ที่เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำข้อเสนอ ร่วมพูดคุยในเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และจัดกิจกรรมรณรงค์ในประเด็นของเยาวชนในภูมิภาคอาเซียน ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนในการประชุมมหกรรมประชาชนอาเซียน และในปีนี้เยาวชนก็ได้เข้าร่วมเป็นครั้งที่ 2 ทั้งนี้ ในส่วนเยาวชนเองมีพลัง และมีความสนใจที่จะทำงานดีๆ ให้กับสังคม เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
 
“ที่ผ่านมาเยาวชนในอาเซียนได้มาเรียนรู้ร่วมกัน ทำความเข้าใจซึ่งกันและกันในแต่ละประเทศ จนเกิดความคิดเชื่อมโยงที่ว่า เราอยู่ด้วยตัวเองไม่ได้ และโดยนโยบายรัฐที่มีการสร้างความร่วมมือต่อกันในขอบเขตของอาเซียนซึ่งก็ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งดีและร้าย ในส่วนเยาวชนมองว่าคุณค่าของอาเซียนไม่ได้มีคุณค่าแค่เรื่องเศรษฐกิจตามที่รัฐบาลประเทศอาเซียนมอง แต่เรามีทรัพยากร มีวัฒนธรรม มีความหลากหลาย ที่มีคุณค่ามากกว่าเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ” ตัวแทนเครือข่ายเยาวชนอาเซียนกล่าว
 
ศักดิ์สินี กล่าวด้วยว่าการพูดคุยของเยาวชนไทยก่อนหน้านี้ ประเด็นที่เยาวชนให้ความสนใจคือเรื่องสิทธิการศึกษาซึ่งที่ผ่านมามักมีการถูกพูดถึงอย่างลอยๆ ไม่ได้รับการส่งเสริมอย่างแท้จริง และในเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะถูกนำไปพูดคุยแปลกเปลี่ยนความคิดในเวที “เครือข่ายเยาวชนอาเซียน” กับเพื่อเยาวชนจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนที่จะมีขึ้นในวันที่ 14-17 ตุลาคมนี้ เพื่อนำเสนอประเด็นที่อยากขับเคลื่อนร่วมกัน รวมทั้งร่วมจัดทำข้อเสนอ
 
“ในมุมมองของเยาวชน การที่เห็นผู้ใหญ่ทะเลาะกันมา เราไม่ต้องการสานต่อความเกลียดชังเหล่านี้ คนรุ่นใหม่มีพลังที่จะก้าวข้ามความขัดแย้งเหล่านี้มุ่งไปข้างหน้า ทำสิ่งที่ดีขึ้น” ศักดิ์สินีกล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net