Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ดร.โสภณ พรโชคชัย 1>
 
วันที่ 6 ตุลาคม 2519 คือวันแห่งการทำลายล้างระบอบประชาธิปไตย โดยการป้ายสีว่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้แสดงละครหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งต่อมาได้รับการพิสูจน์ว่า ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด แต่นับแต่วันนั้นประชาธิปไตย ก็ถูกทำลายล้างไประยะหนึ่ง
 
 
คือแผนการล้อมปราบ
เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 อาจมองได้ในหลายแง่มุมจากจุดยืนที่แตกต่างกัน หรือมองจากคนอยู่ในเหตุการณ์หรือแบบคนนอก แต่ที่แน่นอนก็คือเหตุการณ์นี้คือปรากฏการณ์รวบยอดของการล้อมปราบฝ่ายนิยมประชาธิปไตย อันเป็นภัยต่อความมั่นคงของสถาบันเผด็จการ ด้วยการป้ายสีว่ามีการแสดงละครหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในการชุมนุมวันที่ 4 ตุลาคม 2519 ในวันนั้นผมดูการแสดงดังกล่าวอยู่ด้วย ไม่มีใครคิดเลยว่าเป็นการหมิ่นฯ ละครดังกล่าวทำขึ้นเพื่อประท้วงกรณีที่ประชาชน 2 คนถูกฆ่าและแขวนคอขณะออกแจกใบปลิวต่อต้านจอมพลถนอมต่างหาก
 
ผมเชื่อว่าการปลุกระดมนี้ไม่ได้มุ่งหวังให้ประชาชนทั่วไปคลั่งเพื่อฆ่าฟันประชาชนอีกกลุ่มหนึ่ง แต่เพื่อการปรามไม่ให้ประชาชนทั่วไปสนับสนุนหรือเข้าร่วมกับกลุ่มประชาชนที่ชุมนุมอยู่ และเมื่อสถานการณ์สุกงอม เผด็จการจึงสามารถส่ง “หน่วยพิฆาต” ไปแสดงละครแห่งความโหดเหี้ยมจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก นี่แสดงถึงภัยร้ายของการใช้สื่อสารมวลชนเพื่อโหมปลุกระดมสร้างเงื่อนไขปราบปรามประชาชน
 
เหตุการณ์ในลักษณะนี้ได้ถูกนำมาใช้อีกครั้งหนึ่งกับกรณีการล้อมปราบประชาชนฝ่ายเสื้อแดง เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2552  โดยรัฐบาลใช้สื่อของรัฐและสื่อมวลชนต่าง ๆ ปูพรมสร้างภาพให้คนเสื้อแดง กลายเป็นโจรร้ายในสายตาของประชาชน เพื่อสร้างเงื่อนไขในการล้อมปราบ ผมก็ไม่เคยไปร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดง แต่เหตุการณ์ 13 เมษายน 2552 ก็คือกลเม็ดเดียวกับที่ใช้กับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งคนที่ใช้ก็คงเป็นเผด็จการกลุ่มเดียวกัน
 
 
ทำไมจึงทำลายล้างประชาธิปไตย
บางท่านอาจเห็นว่าในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เผด็จการต้องการปราบปรามแนวคิดสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ ไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่คอมมิวนิสต์ก็คือกลุ่มประชาธิปไตยเช่นเดียวกัน เพราะคอมมิวนิสต์หมายถึงเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ ซึ่งก็หมายถึงเสียงส่วนใหญ่ของประเทศที่เป็นคนระดับล่างนั่นเอง 3> ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า ฝ่ายเผด็จการต้องการปราบปรามผู้นิยมในประชาธิปไตยที่ขัดขวางการกุมอำนาจและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของเผด็จการเป็นสำคัญ
 
คำว่าประชาธิปไตยตามบัญญัติของราชบัณฑิตยสถานหมายถึง “ระบอบการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่, การถือเสียงข้างมากเป็นใหญ่” 4> ถ้าเรายึดถือตามนี้ ก็แสดงว่า เสียงส่วนใหญ่มีความสำคัญกว่าเสียงของคนมีอภิสิทธิ์ เช่น ผู้มีสกุลรุนชาติ คนมีการศึกษา หรือคนมีฐานะดีซึ่งเป็นคนส่วนน้อย ในประเทศไทย บุคคลผู้มีอภิสิทธิ์เหล่านี้ทำใจไม่ได้ที่จะให้ประชาชนส่วนใหญ่มีสิทธิมีเสียงเท่าตน จึงเข้าทำการปราบปรามเพื่อรักษาอภิสิทธิ์ของสถาบันเผด็จการหรือกลุ่มของตนเองไว้
 
 
สถาบันเผด็จการ
บางคนงงว่า ทำไมเผด็จการมีมากมาย ไม่สูญพันธุ์ ตั้งแต่เผด็จการจอมพลแปลก เผด็จการจอมพลถนอม – จอมพลประภาส เผด็จการ รสช. เผด็จการ คมช. เป็นต้น แสดงว่ายังไง ๆ เราก็ไม่อาจปราบเผด็จการให้หมดสิ้นไปจากแผ่นดินไทยหรือไร ความจริงที่น่าสนใจอย่างหนึ่งก็คือ เผด็จการนั้นมีสถานะเป็นสถาบัน ไม่ใช่ตัวบุคคล ถ้าเราคงเงื่อนไขของสถาบันเผด็จการไว้ เผด็จการก็ยังอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนตัวละครหรือม้าใช้ที่อยู่หน้าฉากเท่านั้น
 
เงื่อนไขของสถาบันเผด็จการก็คือ การมีอภิสิทธิ์เหนือประชาชนทั่วไป การกอบโกยทรัพยากรของชาติสำหรับประโยชน์เฉพาะกลุ่ม การเอื้อประโยชน์ด้วยระบบอุปถัมภ์-ผลประโยชน์ต่างตอบแทน การขาดการตรวจสอบจากองค์กรอิสระของรัฐหรือจากสังคมทั่วไป และการมีบุคคลผู้ทรงอิทธิพลหนุนหลังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายได้โดยที่ประชาชนไม่อาจขัดขืนหรือถูกโฆษณาชวนเชื่อให้ไม่ขัดขวางไว้ล่วงหน้าแล้ว
 
 
ทำไมจึงต้องขจัดเผด็จการ
เผด็จการคือผู้ละเมิดกฎหมาย ทำลายหลักกฎหมายด้วยการก่อรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญ และมุ่งสืบทอดอำนาจ (เป็นช่วงที่กลายสภาพเป็นทรราช) ซึ่งมีให้เห็นอยู่ทั่วไปในประวัติศาสตร์ สาเหตุที่จำเป็นต้องต่อสู้กับเผด็จการก็เพราะส่วนมากเผด็จการไม่ยินดีลงจากอำนาจด้วยความเต็มใจ ซึ่งคงเป็นเพราะความเคยชินกับการได้เปรียบประชาชนส่วนรวม
 
โดยที่เผด็จการสามารถปล้นชิงงบประมาณแผ่นดินมาให้อามิสลาภยศต่อผู้ที่ยอมเป็นเครื่องมือของตน ดังนั้นผู้ที่คิดจะต่อสู้กับเผด็จการ จึงต้องไม่เห็นแก่สิ่งเหล่านี้ อย่างไรก็ตามก็จะยังมีผู้พร้อม “พายเรือให้โจรนั่ง” หรือหวังว่าตนเองจะสามารถสร้างสรรค์สิ่งดีงามบางประการใต้เงาเผด็จการได้ ดังนั้นการสมประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่ายเช่นนี้ จึงทำให้สถาบันเผด็จการยืดอายุขัยของตนออกไปได้เรื่อย ๆ และอยู่ขูดรีดประชาชนมาหลายสิบปีจนถึงวันนี้
 
ประเทศเผด็จการนั้นมักไม่เจริญ ดูอย่างพม่าที่มีทรัพยากรมหาศาลไม่แพ้ไทย กลับเสื่อมทรุด ประชาชนอดอยาก ความจริงประชาชนพม่ากับประชาชนไทยคงทำงานได้ผลผลิตไม่ต่างกันนัก แต่ถูกเผด็จการขูดรีดไปมากกว่า ในยุคต้นของเผด็จการอาจดูคล้ายเจริญขึ้นในระดับหนึ่ง ด้วยมีอำนาจเบ็ดเสร็จ สั่งการได้รวดเร็ว แต่พอนาน ๆ เข้า ด้วยอำนาจที่ไร้การตรวจสอบ การฉ้อราษฎร์บังหลวงก็พอกพูน ทำให้ประเทศเสื่อมทรุด ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าเกาหลีใต้หลังยุคปักจุงฮี ฟิลิปปินส์หลังยุคมากอส ไทยหลังยุคจอมพลถนอม จึงเจริญรุ่งเรืองกว่าแต่ก่อน
 
 
ถอดชนวนเผด็จการ
เราอาจเรียนรู้จากเพื่อนบ้าน ที่อินเดียและศรีลังกา เขา “ขุน” ทหารไว้ป้องกันประเทศ ทหารจะได้รับการดูแลอย่างดี ไม่ต้องแสวงหาลาภยศทางอื่น ทหารแทบไม่เคยถูกเรียกใช้ในทางอื่น ยกเว้นกรณีพิบัติภัย เขายังไม่มีการเกณฑ์ทหาร จึงไม่มี “ไอ้เณร” ไว้ให้ใช้ตรึงกำลังระหว่างทำรัฐประหาร ทหารเป็นอาชีพอย่างหนึ่งเหมือนข้าราชการอื่น จะสังเกตได้ว่าในแวดวงใดหากมีการ “เกณฑ์” หรือรับ “อาสาสมัคร” ก็จะเกิดเป็นกองทัพได้ เช่น กองทัพทหารพราน กองกำลังเจ้าหน้าที่ป่าไม้ นวพล หรือลูกเสือชาวบ้านที่สามารถนำมาใช้เพื่อการต่อรองทางการเมือง 5>
 
ทหารในประเทศทั้งสองนี้ อยู่ภายใต้นักการเมืองหรือรัฐบาล หากฝ่าฝืนนโยบายของรัฐบาล ทหารก็มีโอกาสถูกปลดหรือย้ายได้ง่าย ๆ เช่นข้าราชการทั่วไป การที่นักการเมืองคุมกองทัพได้ ก็เพราะพรรคการเมืองมีความเข้มแข็ง ได้รับการสนับสนุนหรือมีฐานเสียงจากประชาชนอย่างหนาแน่น อาจกล่าวได้ว่าประชาธิปไตยได้รับการปลูกฝังกันมาตั้งแต่ระดับนักเรียน ระดับหมู่บ้าน มีการให้การศึกษาต่อเนื่อง ทหารจึงแทบไม่มีบทบาททางการเมือง
 
 
อย่าหลงกลอนาธิปไตย
เมื่อเราไม่เอาเผด็จการ เราก็ไม่ควรติดกับอนาธิปไตย 6> ซึ่งแสดงออกด้วยการไม่เคารพในกติกาสังคม เช่น การเคลื่อนไหวให้มี “นายกรัฐมนตรีพระราชทาน” อันเป็นการบิดเบือนนัยของมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งไม่เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย ผู้นิยมประชาธิปไตยจะใช้กฎหมู่ละเมิดกฎหมายไม่ได้ ในไต้หวันและฟิลิปปินส์เมื่อปีที่แล้ว มีการเรียกร้องให้ประธานาธิบดีลาออกแทบไม่เว้นวัน แต่ท่านถือตนว่าได้รับการเลือกตั้งมาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ก็ไม่ยอมลาออก ผู้เรียกร้อง (ซึ่งแม้มีเสียงเอ็ดอึงแต่เป็นคนส่วนน้อย) ก็ต้องยอมรับและอดทนรอเลือกตั้งใหม่ จะสร้างเงื่อนไขให้เกิดรัฐประหารย่อมไม่ได้
 
ในทุกวันนี้มีความพยายามสร้างอนาธิปไตยขึ้นในประเทศไทย เช่น กรณีการเสนอให้มีสภาองค์กรชุมชนที่ซ้ำซ้อนกับการปกครองส่วนท้องถิ่นแทนที่จะแก้ไขข้อบกพร่องของการปกครองดังกล่าว ซึ่งก็ปรากฏว่าได้กลายเป็นกฎหมายไปเสียแล้ว 7> หรือการพยายามให้ประชาชนยึดทรัพยากรธรรมชาติของชาติให้เป็นของเฉพาะกลุ่มตน เช่น กรณีป่าชุมชนกับชาวเขา 8> หรือกรณีทรัพยากรทางทะเลกับการใช้ประโยชน์เฉพาะกลุ่ม 9> ซึ่งทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศที่อยู่ห่างไกลจากทรัพยากรเหล่านี้ กลายเป็นผู้ด้อยโอกาสไป
 
ผู้มีจิตใจที่เป็นประชาธิปไตยจะยอมให้คนส่วนน้อยที่อยู่ใกล้ทรัพยากรยึดไปใช้สอยเองเลียนแบบเผด็จการไม่ได้ เราต้องเชื่อมั่นว่าในการตัดสินใจของประชาชนส่วนใหญ่ แน่นอนว่าในเรื่องวิชาการหรือเทคโนโลยี ผู้รอบรู้ส่วนน้อยย่อมรู้แท้จริงกว่าคนส่วนใหญ่ แต่ในทางการเมือง เสียงส่วนใหญ่ย่อมถูกต้อง ตามหลักการที่ว่า “เสียงของประชาชนคือเสียงสวรรค์” แม้คนส่วนน้อยไม่เห็นด้วย ก็ต้องปฏิบัติตาม ไม่เช่นนั้นสังคมก็คงวุ่นวายไม่สิ้นสุด เราต้องส่งเสริมประชาธิปไตยให้ถูกทาง หาไม่ประเทศไทยก็จะติดกับดักอนาธิปไตยในอีกทางหนึ่ง
 
 
การสืบทอดเจตนารมณ์ 6 ตุลา
เจตนารมณ์ของวีรชน 6 ตุลาคม 2519 ก็คือ การพิทักษ์ประชาธิปไตย และการต่อสู้กับเผด็จการ ดังนั้นภารกิจของผู้อยู่หลังก็คือ การส่งเสริมประชาธิปไตย ซึ่งย่อมหมายถึงการให้สิทธิการนำของคนส่วนใหญ่ ถ้าเราศรัทธาในหลักประชาธิปไตย ก็แสดงว่าเราเห็นความสำคัญของคนเล็กคนน้อยเท่ากับเรา เราก็จะยึดมั่นในสิทธิมนุษยชน ทรัพยากรที่เคยถูกเผด็จการตักตวงไปก็จะถูกแบ่งปันไปยังประชาชนทั่วไปมากขึ้น ความผาสุกของบ้านเมืองก็จะเกิดขึ้น เราจึงควรส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตยให้กว้างขวาง ลึกซึ้งในทุกหมู่เหล่าตั้งแต่เด็กถึงคนชรา ตั้งแต่ในวงวิชาชีพถึงวงกาแฟ เป็นต้น
 
อย่าให้ความตายของเหล่าวีรชนประชาธิปไตย สูญเปล่า ประชาชนชาวไทยต้องร่วมกันสถาปนาประชาธิปไตยที่เคารพในเสียงส่วนใหญ่ ประชาชนไทยคือเจ้าของประเทศนี้ คือผู้ตัดสินอนาคตของตนเองใช่ใครอื่นสมดังคำพูดอมตะที่ว่า ประชาชนต้องเป็นใหญ่ในแผ่นดิน
 
หมายเหตุ
1>      ดร.โสภณ พรโชคชัย เป็นนักศึกษาปี 1 ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2519 และร่วมอยู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ด้วย แต่รอดกลับบ้านได้ด้วยการว่ายน้ำและได้รับความช่วยเหลือจากชาวบ้านแถวท่ามหาราช ปัจจุบันเป็นประธานกรรมการ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย และกรรมการสภาที่ปรึกษา Appraisal Foundation ซึ่งก่อตั้งโดยสภาคองเกรสเพื่อการควบคุมการประเมินค่าทรัพย์สินในสหรัฐอเมริกา Email: sopon@thaiappraisal.org
2>      โปรดอ่านรายละเอียดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C_6_%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B8%A5%E0%B8%B2
3>      เผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ: The “dictatorship of the proletariat” is a term employed by Marxists that refers to a temporary state between the capitalist society and the classless and stateless communist society; during this transition period, “the state can be nothing but the revolutionary dictatorship of the proletariat.” The term does not refer to a concentration of power by a dictator, but to a situation where the proletariat (working class) would hold power and replace the current political system controlled by the bourgeoisie (propertied class). ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Dictatorship_of_the_proletariat
4>      โปรดดูใน http://rirs3.royin.go.th/word25/word-25-a2.asp
5>      ความส่วนนี้มาจากบทความของ ดร.โสภณ พรโชคชัย เรื่อง ทำอย่างไรจึงจะปลอดรัฐประหาร เผยแพร่ในประชาไท 21 กรกฎาคม 2550 ที่ http://www.prachatai.com/journal/2007/07/13537
6>      อนาธิปไตย (Anarchy) โปรดดูคำจำกัดความที่ http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%9B%E0%B9%84%E0%B8%95%E0%B8%A2 (ภาษาไทย) และ http://en.wikipedia.org/wiki/Anarchy (ภาษาอังกฤษ)
7>      โปรดอ่าน สภาองค์กรชุมชน: ควรมีไหม? เผยแพร่ในประชาไท http://www.prachatai.com/journal/2007/06/13106 (16 มิถุนายน 2550)
8>      โปรดอ่าน อสังหาริมทรัพย์กับชาวเขา ในบิลเดอร์นิวส์ ปักษ์แรก เดือนมีนาคม 2549 หน้า 28 หรือที่ http://www.thaiappraisal.org/Thai/Market/Market104.htm
9>      โปรดอ่านคำวิจารณ์แนวคิด “รักท้องถิ่น” ของคุณกรณ์อุมา พงษ์น้อย กลุ่มชาวบ้านบ่อนอก ที่ http://www.prachatai.com/journal/2007/07/23592

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net