Skip to main content
sharethis

เสวนา "เดิมพันอาเซียน: ประเด็นท้าทายต่อสังคมไทย" ที่จุฬาฯ “อนุช อาภาภิรม” ชี้ก่อนหน้านี้อาเซียนอยู่ในช่วงขาขึ้นทั่วโลกจับตาดูว่าจะพัฒนาการรวมกลุ่มเหมือนสหภาพยุโรปหรือไม่ แต่หลังจากไทยเกิดความขัดแย้งภายในจึงทำให้อาเซียนอยู่ในภาวะขาลง ระบุประชาคมอาเซียนจะเป็นปึกแผ่นได้ต้องอาศัยแกนอย่างไทย-เวียดนาม-อินโดนีเซีย

 

 
เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม สถาบันวิจัยสังคม สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะทำงานมหกรรมประชาชนอาเซียน จัดการเสวนาเรื่อง "เดิมพันอาเซียน: ประเด็นท้าทายต่อสังคมไทย" ที่ห้องจุมภฎ พันธุ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาฯ
 
อนุช อาภาภิรม นักวิชาการ ปาฐกถานำในหัวข้อ "การประชุมสุดยอดอาเซียนและประเทศคู่เจรจาในบริบทวิกฤตเศรษฐกิจโลก: โอกาสและความรับผิดชอบของประเทศไทยต่อภูมิภาค" ว่า การเดิมพันในประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยและต่อเนื่อง ยิ่งสังคมซับซ้อนมากขึ้น มีประชากรเพิ่มมากขึ้น มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ขึ้น และอำนาจเทคโนโลยีสูงขึ้น การเดิมพันก็จะยิ่งสูงขึ้นและบ่อยขึ้นอีก
 
เขากล่าวว่า จากแนวโน้มของประวัติศาสตร์ เกมการเดิมพันมีแนวโน้มจะกดดันมากขึ้น โดยการเดิมพันนั้นสรุปได้เป็นสามแบบ คือ หนึ่ง ได้-ได้ เช่น เกิดการรวมกลุ่มอาเซียน สอง ได้-เสีย สาม เสีย-เสมอตัว ที่เดิมพันเป็นแบบนี้เป็นเพราะ มีวิกฤตทับซ้อน เช่น พลังงาน น้ำ อาหาร ที่บริโภคกันจนใกล้จะหมดไป และจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการเอาตัวรอด แย่งชิงกัน ซึ่งทำให้การกระทบกระทั่งกันในประชาชาติเกิดขึ้นได้ง่าย ซึ่งตอนนี้ทั่วทั้งโลก ผลรวมเป็นลบ
 
ทั้งนี้ เมื่อมองกลับมาที่อาเซียน เขาเล่าว่า ก่อนหน้านี้ อาเซียนอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยหลังจบสงครามอินโดจีน เมื่อไม่มีคอมมิวนิสต์ที่จะต้องสู้ อาเซียนก็หันไปสนใจเรื่องทางเศรษฐกิจ ตั้งแต่สมัยชาติชาย ชุณหะวัณเป็นต้นมา มีการเปลี่ยนสนามรบเป็นตลาดการค้า เปิดเศรษฐกิจเสรีอาเซียน มีอาเซียนบวกสาม ตอนนั้นทั่วโลกจับตาดูอาเซียนว่าจะเป็นเหมือนสหภาพยุโรปได้หรือไม่
 
อย่างไรก็ตาม หลังปี 2549 เป็นต้นมา ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศร่วมก่อตั้งอาเซียน เกิดความขัดแย้งภายใน จนไม่อาจแก้ได้ด้วยวิธีอื่นในสายตาของคนจำนวนไม่น้อย และเกิดรัฐประหาร ซึ่งจนถึงวันนี้ก็พบว่ารัฐประหารไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอย่างที่คิด ปัญหาภายในทำให้อาเซียนถึงขาลง ตอนนี้ไม่มีข่าวไหนที่ตั้งคำถามว่า อาเซียนจะเป็นสหภาพยุโรปได้หรือไม่แล้ว มิหนำซ้ำ หลังรัฐประหารยังมีการพูดกันถึงแนวคิดเรื่องการปิดประเทศ และเกิดสามก๊กยุคใหม่ คือ เสื้อเหลือง เสื้อแดง และเสื้อน้ำเงิน
 
อนุชตั้งคำถามว่า ไทยจะกลายเป็นประเทศคนป่วยแห่งเอเชียอาคเนย์หรือไม่ เหมือนที่สมัยสิ้นสงครามโลกครั้งที่สองไม่นาน อิตาลีถูกเรียกเป็นประเทศคนป่วยแห่งยุโรป เพราะรัฐบาลสามวันดีสี่วันไข้ บริหารไม่ได้ รัฐบาลไทยก็ขาดเสถียรภาพเช่นกัน
 
เขามองว่า ในอนาคตหากไทยปิดประเทศหรือเป็นประเทศสมาชิกที่ไม่เอาการเอางาน แนวโน้มซึ่งน่าจะเกิดขึ้นตามธรรมชาติคือเกิดกลุ่มย่อยสองกลุ่ม หนึ่ง คือ กลุ่มประเทศมุสลิมนำโดยอินโดนีเซีย แกนที่สอง คือ กลุ่มสามประเทศอินโดจีนมีเวียดนามเป็นแกน โดยจะเป็นกลุ่มที่มีประวัติศาสตร์ร่วมกัน เป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสเหมือนกัน โดยพม่าอาจไปรวมกับกลุ่มนี้เพราะมีลักษณะการปกครองคล้ายกัน ขณะที่ฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นเหมือนแรงงานของเอเชียอาคเนย์ อาจไปร่วมกับเอเชียตะวันออก ด้านสิงคโปร์ก็ไปร่วมกับใครก็ได้ เพราะมีเงินลงทุน ขณะที่ประเทศไทยค่อนข้างโดดเดี่ยว และเป็นไปได้ที่อาเซียนจะทิ้งไทยไป เพราะเขามีแกนอยู่แล้ว และความโดดเดี่ยวนี้จะทำให้ความขัดแย้งในประเทศมากขึ้น อุตสาหกรรมจะย้ายไปลงทุนในที่อื่นๆ และยิ่งมีความมั่งคั่งน้อยในประเทศจะยิ่งทะเลาะกัน
 
อนุช กล่าวต่อว่า เวียดนามเหนือกับใต้รบกันมาสิบปียังรวมกันได้ เขมรฆ่ากันเยอะมาก ในที่สุดก็รวมกันได้ ไทยเพิ่งแตกกันมาสามปีก็น่าจะรวมกันได้ น่าจะจัดระเบียบตัวเองได้ แต่คำถามก็คือ ใครจะเป็นคนรวม และรวมอย่างไร
 
เขากล่าวว่า เมื่อเทียบกับสหภาพยุโรป สหภาพประชาชาติอเมริกาใต้ ต่างก็ตั้งขึ้นโดยอาศัยความคล้ายคลึงทางประวัติศาสตร์ ภูมิภาค และวัฒนธรรม น้อยมากที่รวมกันด้วยความต่างมากเท่ากับของอาเซียน ที่มีทุกศาสนาใหญ่ๆ ประวัติศาสตร์ก็ต่างกัน ดังนั้นต้องเกิดความเข้าใจอย่างสูง จึงจะก้าวไปสู่ประชาคมอาเซียนได้
 
อนุช กล่าวเสริมว่า การไปมาหาสู่เพื่อทำความเข้าใจกันนั้นเป็นเรื่องสำคัญ สมาคมอาเซียนจะเป็นไปได้ต้องมีแกนสามชาติ คือ อินโดนีเซีย เวียดนาม ไทย โดยแกนนี้ไม่ใช่หมายถึงนายใหญ่ แต่หมายถึงการทำหน้าที่ช่วยเหลือประเทศอื่นๆ ซึ่งด้วยสภาพภูมิศาสตร์แล้ว ไทยจะเชื่อมเหนือใต้ออกตกได้ ถ้าสร้างแกนนี้ได้ก็น่าจะทำให้ประชาคมอาเซียนเป็นปึกแผ่น นอกจากนี้ ขณะที่อาเซียนพัฒนาตลาดเดียว เราก็ต้องพยายามนำเอาแนวทางพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของที่ต่างๆ เป็นตัวตั้ง เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจกันมากขึ้นด้วย
 
เดิมพันอาเซียน มีเครื่องกีดขวางสองอัน หนึ่ง ทำอย่างไรให้เข้าใจว่าอาเซียนสำคัญกับประเทศสมาชิก และสำคัญกับประชาชนไทย ซึ่งถ้าทุกประเทศต้องประกาศภาวะฉุกเฉินทุกครั้งที่มีการประชุมอาเซียน ก็สะท้อนว่า คนยังมองไม่เห็นว่าอาเซียนสำคัญอย่าง ไร สอง ตอนนี้กระแสโลกตะวันตกอ่อนลง ตะวันออกแข็งขึ้น ที่ผ่านมา ไทยพึ่งพิงตะวันตกมาร้อยกว่าปี ตอนนี้คงต้องหันไปมองจีน อินเดีย ญี่ปุ่น และประเทศในอาเซียนมากขึ้น
 
อนุช ตั้งคำถามว่า ในเดิมพันนี้ มนุษย์ต้องพิสูจน์ตัวเองว่าฉลาดกว่ายีสต์หรือไม่ เป็นสัตว์สังคมที่ดีไหม ที่สร้างเศรษฐกิจให้ คนร้อยละ 20 เท่านั้นที่จะอยู่สบาย อย่างนี้ไม่ใช่สัตว์สังคมที่ดี เพราะทิ้งคนทุกข์ยากไว้มากไป นอกจากนี้ ความสูงส่งของอารยธรรมมนุษย์มีจริงหรือไม่ จะก้าวพ้นความเป็นเชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อซึ่งจะทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกัน แต่กลับแบ่งแยกออกไป ได้หรือไม่

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net