Skip to main content
sharethis

 หมายเหตุประชาไท : สถาบันศึกษาพัฒนาประชาธิปไตย เผยแพร่บทความของจาตุรนต์ ฉายแสง ในรูปแบบคำถาม-คำตอบ ในวาระครบรอบ 12 ปีการประกาศใช้ ‘รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540’ ประชาไทจึงได้คัดสรรนำมาเผยแพร่

0 0 0 

เห็นอย่างไรเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็นที่เป็นข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ
ข้อเสนอให้แก้รัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น เป็นข้อเสนอที่ดี ควรสนับสนุน คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ เข้าใจวิกฤตการเมืองไทยดีพอสมควร และเสนอได้ค่อนข้างตรงจุด คือเสนอทางออกเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยแบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะสั้นให้แก้ 6 ประเด็นนี้ แล้วให้ยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วไปกันใหม่ ระยะยาวให้ตั้ง สสร. เพื่อแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

6 ประเด็นที่เสนอคืออะไร

1) แก้ไขมาตรา 111 - 121 โดยให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด

2) แก้ไขมาตรา 237 โดยให้ตัดทิ้งประเด็นการยุบพรรคการเมืองและให้ลงโทษกรรมการบริหารพรรคที่ทุจริตการเลือกตั้งเฉพาะคน ไม่ใช่เหมารวม

3) แก้ไขมาตรา 190 โดยยังคงให้การทำสัญญากับต่างประเทศต้องผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภา แต่กำหนดประเภทของหนังสือสัญญาให้ชัดเจนว่าแบบไหนที่ต้องให้รัฐสภาเห็นชอบ

4) แก้ไขมาตรา 93 - 98 โดยการเลือกตั้ง ส.ส.ให้กลับไปใช้ระบบเขตเดียวคนเดียว (รวมจำนวน ส.ส.เขต 400 คน) และ ส.ส.บัญชีรายชื่ออีก 100 คน

5) แก้ไขมาตรา 266 โดยให้ ส.ส. และ ส.ว. เข้าไปมีบทบาทต่อการบริหารงานของข้าราชการประจำ และงบประมาณในโครงการต่างๆของรัฐเพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ได้

6) แก้ไขมาตรา 265 โดยให้ ส.ส. ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่นเลขานุการรัฐมนตรีได้

จะเห็นว่าใน 6 ประเด็นนี้ ส่วนหนึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่จำเป็น เช่น มาตรา 190 ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของรัฐบาลในด้านการต่างประเทศ ซึ่งมาตรา 190 นี้ เมื่อตีความโดยศาลรัฐธรรมนูญในกรณีแถลงการณ์ร่วมเกี่ยวกับประสาทเขาพระวิหาร ก็ยิ่งทำให้มีเนื้อหาที่เป็นปัญหาเข้าไปใหญ่จึงต้องรีบแก้

นอกจากนั้นเป็นเรื่องเตรียมการสำหรับการเลือกตั้ง ส่วนหนึ่งคือจะแบ่งเขตกันอย่างไร ข้อเสนอให้เป็นเขตเดียวคนเดียว และระบบสัดส่วนให้มีบัญชีเดียวทั้งประเทศ ก็เป็นข้อเสนอที่เท่ากับย้อนไปใช้ระบบเหมือนในรัฐธรรมนูญปี 40ซึ่งดีกว่า เป็นสากลกว่า

เมื่อจะเลือกตั้งกันใหม่ คณะกรรมการสมานฉันท์ฯก็เสนอว่า ให้กำหนดอำนาจหน้าที่ของ ส.ส.เสียใหม่ด้วย เพราะรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ไปจำกัดอำนาจหน้าที่ของ ส.ส.จนทำหน้าที่ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนแทบไม่ได้ การให้สส. เป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีได้ แต่กลับไม่ให้เป็นเลขานุการรัฐมนตรีหรือที่ปรึกษารัฐมนตรี เป็นความลักลั่นไม่เป็นเหตุเป็นผล แต่ที่เป็นอุปสรรคสำคัญ คือการห้ามไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการทำงานของข้าราชการประจำเพื่อประโยชน์ของ “ผู้อื่น” ซึ่งสามารถตีความได้ว่า ส.ส.จะไปร้องทุกข์ร้องเรียน ติดตามตรวจสอบงานของข้าราชการประจำเพื่อ “ประชาชน” ก็ไม่ได้

ประเด็นที่สำคัญที่สุดใน 6 ข้อที่เกี่ยวกับการจะทำให้การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นเป็นที่ยอมรับกันได้ก็คือ ประเด็นเรื่องการยุบพรรคการเมือง ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดให้ยุบพรรคการเมืองทั้งพรรคและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคทุกคนเป็นเวลา 5 ปีจากสาเหตุที่กรรมการบริหารคนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียวกระทำความผิดรู้เห็นเป็นใจหรือปล่อยปละละเลยให้เกิดการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง เป็นการผิดหลักนิติธรรม คือคนๆ เดียวทำผิดต้องรับผิดชอบทั้งหมู่คณะเหมือนกฎหมายประหารชีวิตเจ็ดชั่วโคตรในสมัยโบราณ

ที่ว่าจำเป็นต้องแก้เพื่อให้การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นพอเป็นที่ยอมรับกันได้ ก็เพราะที่ผ่านมามีการยุบพรรคการเมืองหลายพรรค ซึ่งนอกจากขัดต่อหลักนิติธรรมแล้ว ยังเป็นเรื่องที่คนจำนวนมากเขาเห็นว่าเป็นเรื่องสองมาตรฐาน และยังขัดต่อหลักประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง เพราะองค์กรที่ไม่เชื่อมโยงกับประชาชนเลยอย่าง กกต.และศาลรัฐธรรมนูญ สามารถยุบพรรคการเมืองและเพิกถอนสิทธิกรรมการบริหารพรรคการเมือง มีผลกระทบต่อพรรคการเมือง ซึ่งรวมถึงสมาชิกพรรคการเมืองล้านๆ คน และยังมีผลเป็นการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนนับสิบล้านได้ด้วย

ข้อกล่าวหาว่าเป็นการแก้เพื่อนักการเมือง ประชาชนไม่ได้อะไร
ประชาชนได้อะไรหรือไม่ คงไม่ได้ดูที่ว่า การแก้ไขนี้เกี่ยวกับการกำหนดให้แบ่งที่ดินให้ประชาชนคนละกี่ไร่ หรือให้เพิ่มเบี้ยยังชีพคนละกี่บาท เพราะเรื่องแบบนี้ไม่ควรอยู่ในรัฐธรรมนูญ แต่ที่ประชาชนจะได้ประโยชน์จากการแก้รัฐธรรมนูญก็คือ ทำให้รัฐบาลทำงานได้มากขึ้น (ถ้าจะทำ) ส.ส.ทำหน้าที่ของตนเองได้มากขึ้น ใกล้ชิดประชาชนมากขึ้น ทำให้การเลือกตั้งเป็นธรรมมากขึ้น และอำนาจกลับมาเป็นของประชาชนมากขึ้น

และที่สำคัญที่สุด การแก้รัฐธรรมนูญ 6 ประเด็นนี้จะช่วยผ่อนคลายวิกฤตทางการเมือง ทำให้ทุกฝ่ายสามารถแก้ปัญหาประเทศได้ดีขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งประเทศอย่างมาก

มีการวิจารณ์ว่ามาตรา 237 นี้มีไว้เพื่อป้องกันการซื้อเสียง
การจะป้องกันคนทำผิดกฎหมาย ก็ต้องมีการลงโทษคนที่กระทำผิดอย่างเหมาะสม แต่การลงโทษคนที่ไม่ได้กระทำผิดจำนวนมากไปด้วย นอกจากขัดหลักนิติธรรมแล้ว ยังไม่ได้ช่วยป้องกันการกระทำผิดอะไรเลย เมื่อใดที่คนรู้สึกว่าทำผิดหรือไม่ทำผิดก็จะถูกลงโทษเหมือนกัน เมื่อนั้นกฎหมายก็ไม่เป็นกฎหมาย ทำดีหรือทำไม่ดีก็ได้ผลไม่ต่างกัน ก็เท่ากับกำลังทำลายกฎหมายนั้นเอง

เขาว่าต้องการให้กรรมการบริหารพรรคต้องช่วยกันรับผิดชอบดูแลไม่ให้เกิดการทำผิดกฎหมาย
ดูแลก็ควรจะดูและช่วยกันได้บ้าง แต่จะให้มีผลถึงขั้นที่แต่ละคนต้องดูแลไม่ให้คนอื่นทุกคนไปทำผิดกฎหมายเลยย่อมเป็นไปไม่ได้ ในครอบครัวหนึ่งๆ ก็ยังยาก คนหนึ่งทำผิดแล้วจะลงโทษทุกคน จึงผิดหลักอย่างร้ายแรง ความรับผิดชอบที่องค์กรจะต้องมีเมื่อคนในองค์กรไปทำอะไรผิด ก็ควรมี คนของบริษัทไปทำอะไรให้ใครเสียหาย บริษัทก็อาจต้องตามไปชดใช้ แต่เขาก็ไม่ได้ถึงขั้นยุบบริษัททั้งบริษัท และห้ามกรรมการบริษัททุกคนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยไปทำมาหากินอะไรไม่ได้อีกเลย เพราะถ้าทำอย่างนั้น ย่อมไม่ยุติธรรมต่อกรรมการที่ไม่เกี่ยวข้องและต่อทุกคนในบริษัทที่ต้องเสียหายไปด้วย

40 ส.ว.ขู่ว่า จะยื่นถอดถอน ส.ส.และ ส.ว.ที่ลงชื่อสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญด้วยเหตุผลเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน
เป็นความคิดและการกระทำที่ล้าหลังมาก ที่เขาเสนออยู่นั้นเท่ากับบอกว่า รัฐธรรมนูญนี้แก้อะไรไม่ได้เลยนั่นเอง

รัฐธรรมนูญของประเทศไหนก็ต้องว่าด้วยเรื่องรัฐบาลและรัฐสภาเป็นสาระสำคัญอยู่ในนั้นด้วย เมื่อจะแก้ก็หนีไม่พ้นต้องแก้เรื่องเหล่านี้ คำถามคือจะให้ใครแก้ รัฐธรรมนูญก็บัญญัติไว้ว่าให้รัฐสภาแก้ เพราะเป็นผู้แทนปวงชน ก็คือเขากำหนดให้แล้วว่าเรื่องของรัฐบาลหรือรัฐสภาก็ให้รัฐสภานั่นแหละเป็นผู้แก้ ก็เท่ากับให้สมาชิกรัฐสภาเป็นผู้แก้รัฐธรรมนูญในเรื่องของตัวเอง ไม่ให้คนอื่นมาแก้

แต่ถ้าบอกว่าเรื่องของรัฐบาล ห้าม ส.ส.รัฐบาลแก้ เรื่องของรัฐสภาห้ามสมาชิกรัฐสภาแก้ ก็เท่ากับห้ามแก้นั่นเอง

แล้วเขายอมให้ใครร่างรัฐธรรมนูญ คนที่คิดอย่าง 40 ส.ว. เขาเคยชินกับการที่คณะรัฐประหารตั้งคนมาเขียนรัฐธรรมนูญ แต่คนที่มาจากประชาชนเขาไม่ให้แก้ ไม่ให้เขียน

เรื่องถอดถอนจะมีผลไหม
ความจริงต้องถือว่าไร้สาระ เพราะถ้าถอดถอนด้วยเหตุนี้ได้ ก็เท่ากับสรุปหรือตีความว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ไม่ได้แล้ว ก็คือ รักษาสิ่งที่ คมช.ทำไว้ตลอดไป

แต่อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น ทำครัวออกทีวียังถูกถอดถอนได้ เรื่องนี้ก็อาจเป็นเรื่องได้ แต่สมาชิกรัฐสภาต้องไม่กลัวถ้ากลัวก็เท่ากับยอมรับว่า ต้องอยู่ใต้อำนาจเผด็จการ หรือต้องยอมรับระบบเผด็จการนั่นเอง

ทำไมจึงบอกว่าที่แก้ 6 ประเด็นเพื่อเตรียมการเลือกตั้ง ทำไมต้องเลือกตั้ง
คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ คงจับประเด็นได้ว่า สังคมมีความเห็นต่างกันมากในเรื่องความชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรมของรัฐบาลปัจจุบัน จึงควรยุบสภาแล้วให้มีการเลือกตั้งใหม่ที่คนยอมรับกันได้ จะได้มีรัฐบาลที่เป็นที่ยอมรับ ก็จะแก้ปัญหาความยัดแย้งที่เกิดจากความไม่พอใจรัฐบาลไปได้ส่วนหนึ่ง

ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2550 ประชาชนไม่ได้เลือกพรรคประชาธิปัตย์มาเป็นรัฐบาล เขาเลือกพรรคพลังประชาชนแต่รัฐบาลพรรคพลังประชาชนถูกล้มด้วยการเคลื่อนไหวกดดันของกลุ่มพันธมิตรฯและการจัดการของกลไกในรัฐธรรมนูญปัจจุบันแล้วจึงได้รัฐบาลปัจจุบันมา ซึ่งมีคนจำนวนมากเห็นว่า รัฐบาลนี้มาโดยไม่ชอบธรรม จึงมีแรงต่อต้านค่อนข้างมาก และจากที่มาของรัฐบาลนี้เอง ทำให้รัฐบาลนี้อยู่ในสภาพที่ทำอะไรไม่ได้ จึงควรยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่ให้ประชาชนตัดสินกันอีกรอบ

แต่ก็ติดปัญหาว่า ถ้ารัฐธรรมนูญยังไม่ได้แก้เลย เลือกตั้งมาก็อีหรอบเดิม คือถ้าพรรคเพื่อไทยชนะก็คงโดนยุบได้ง่ายๆ อีก เรื่องก็ไม่จบ ถ้าไม่แก้รัฐธรรมนูญให้เป็นธรรมพอสมควรเสียก่อน การยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งจะไม่เป็นการคืนอำนาจให้ประชาชน เพราะอำนาจในการกำหนดว่า ใครเป็นรัฐบาล ยังอยู่ที่ กกต.และศาลรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะรัฐธรรมนูญให้อำนาจเกี่ยวกับการยุบพรรคไว้

แก้แล้วยุบสภาเลือกตั้งใหม่ แล้วปัญหาจะหมดไปหรือ
แก้แล้วยุบสภาเลือกตั้งใหม่ จะช่วยแก้ปัญหาการที่รัฐบาลไม่เป็นที่ยอมรับและถูกต่อต้านไปได้มากพอสมควร ใครมาเป็นรัฐบาลอาจยังมีแรงต่อต้านอีกก็ได้ แต่สังคมส่วนใหญ่คงไม่ร่วมด้วย เพราะถือว่าประชาชนตัดสินมาแล้ว

แต่ปัญหายังไม่หมดแน่ ปัญหาการเมืองยังมีอีกมาก เนื่องจากกติกาที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่เป็นธรรมเพราะฉะนั้นยังจะต้องแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับกันอีก

แก้เล็ก 6 ประเด็นนี้จะสำเร็จหรือ รัฐบาลมีทีท่าว่า อยากแก้เพียง 2 ประเด็น และยังตกลงกันไม่ได้ว่าจะทำประชามติในขั้นตอนไหน
ก็ขึ้นกับแรงผลักดันของสังคม จากโพลล์สำนักต่างๆ ดูเหมือนประชาชนจะสนับสนุนให้แก้รัฐธรรมนูญ แต่ถ้าไม่มีแรงผลักดันจริงจังก็อาจไม่ได้แก้ เพราะรัฐบาลดูจะไม่ค่อยอยากแก้ หรืออย่างมากก็จะแก้แค่ 2 ประเด็น แกนนำจากพรรคประชาธิปัตย์ ระดับอดีตหัวหน้าพรรค 2 คน ไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ส่วนใหญ่ซึ่งอภิปรายในที่ประชุมรัฐสภาก็คัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญ พรรคประชาธิปัตย์และพรรคร่วมรัฐบาลหารือกันก็เห็นชอบร่วมกันแค่ 2 ประเด็น คือมาตรา 190 และเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง ซึ่งไม่เกี่ยวกับวิกฤตความขัดแย้งที่มีอยู่เลย เป็นเพียงการแก้ปัญหาและอุปสรรคการทำงานของรัฐบาลกับแก้ปัญหาการที่พรรคการเมืองเล็กๆ ที่คิดว่าเสียเปรียบพรรคใหญ่

ถ้าแก้แค่ 2 ประเด็น จะไม่ช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้เลย ไม่ตรงกับข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ

หลังสุดพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดหารือกันว่าจะแก้ 6 ประเด็น โดยแยกเป็น 6 ร่าง และจะให้รัฐสภารับหลักการก่อนแล้วจึงไปทำประชามติ
ยังน่าสับสนอยู่ว่าจะทำอย่างไรแน่ ความคิดที่จะแยกเป็น 6 ร่างแล้วพิจารณาทีละร่าง ก็คือรัฐบาลจะแก้ 2 ประเด็นนั่นเอง เพราะถึงเวลาลงมติ พรรคร่วมรัฐบาลก็จะสนับสนุนแค่ 2 ประเด็น ประเด็นอื่นเป็นอันตกหมด นี่คือเล่นละครต้มประชาชน ไม่ได้แก้ปัญหาวิกฤตอะไร

การลงประชามตินั้นมีข้อถกเถียงกันอยู่ว่า จะทำในขั้นตอนไหน จะให้ลงอย่างไร และจะมีผลอย่างไร
มีปัญหาตั้งแต่ว่า ถ้าแก้แค่ 6 ประเด็นเท่านั้น จำเป็นต้องลงประชามติหรือไม่ เพราะต้องเสียเวลาและต้องเสียเงินถึง 2,000 ล้าน ยิ่งรัฐบาลคิดจะแก้แค่ 2 ประเด็นแล้วไปลงประชามติ ยิ่งแย่ใหญ่

ถ้าจะทำประชามติ 6 ประเด็น ก็ยังน้อยไป ควรเพิ่มคำถามด้วยว่า ต่อไปควรแก้ทั้งฉบับหรือไม่ และถ้าแก้ทั้งฉบับควรใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 หรือฉบับปี 2550 เป็นหลักดี

ส่วนจะทำในขั้นตอนไหนนั้น คงต้องดูรายละเอียดของกฎหมายประชามติ และต้องเข้าใจก่อนว่า ในรัฐธรรมนูญปัจจุบันไม่ได้กำหนดว่า การแก้รัฐธรรมนูญจะต้องจัดให้มีการลงประชามติเสียก่อน แต่บอกว่าให้รัฐสภาเป็นผู้แก้ ถ้าจะทำประชามติแบบมีผลผูกพันต่อการแก้รัฐธรรมนูญจริงๆ ต้องแก้มาตรา 291 เสียก่อน โดยระบุขั้นตอนการแก้รัฐธรรมนูญเสียใหม่ว่า ต้องมีการทำประชามติในขั้นตอนสุดท้ายด้วย

ถ้าไม่ได้แก้มาตรา 291 แต่ทำประชามติ ก็เท่ากับอาศัยกฎหมายประชามติอย่างเดียว ก็จะเป็นการถามความเห็นประชาชนโดยรัฐบาลเป็นผู้ถาม ถามแล้วรัฐสภาจะเอาตามหรือไม่ก็ได้ ซึ่งก็คาดว่า รัฐสภาคงเอาตาม แต่จะทำประชามติด้วยเหตุผลอะไร เข้าหลักเกณฑ์ตามกฎหมายประชามติหรือไม่ ก็ต้องดูรายละเอียดกัน คงต้องให้เป็นหน้าที่รัฐบาลที่จะชี้แจง

พรรคร่วมรัฐบาลอยากให้รัฐสภารับหลักเสียก่อนแล้วค่อยไปลงประชามติ
ต้องถามว่าจะรับหลักการทั้ง 6 ประเด็นหรือแค่ 2 ประเด็น ดูเหมือนกฤษฎีกาจะเห็นแย้งว่า ควรจะทำประชามติเสียก่อน ประธานวุฒิสภาก็มีความเห็นอย่างเดียวกัน ก็ดูจะมีเหตุผลดีกว่าที่รัฐบาลคิด ถ้าให้ประชาชนลงมติตรงกลางทางก็แปลก ไม่ทราบจะไปถามอย่างไร ทางที่ดีก็ถามเสียก่อนเลยว่า จะแก้ 6 ประเด็นนี้ไหม และถามด้วยว่าจะแก้ทั้งฉบับและใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 หรือฉบับปี 2550

ถามประชาชนทีละประเด็น?
เรื่องนี้ยังมีปัญหาอยู่ เฉพาะ 6 ประเด็นนี้จริงๆ แล้ว ควรถามทั้ง 6 ประเด็นว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯหรือไม่ไปเลย ถ้าจะถามทีละประเด็นก็ได้ เพราะไม่ใช่เรื่องซับซ้อน แต่เกรงว่าจะกลายเป็นบรรทัดฐานว่า ถ้าจะแก้เรื่องไหนก็ให้ถามเรื่องนั้น ปัญหาคือถ้าแก้ทั้งฉบับล่ะ จะถามอย่างไร ถามทีละประเด็นจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะจะเยอะแยะไปหมด และเนื้อหาในแต่ละเรื่อง แต่ละมาตรา ก็อาจจะเชื่อมโยงกัน ถ้าแยกถามทีละประเด็นก็จะมีปัญหาว่า ได้คำตอบมาแบบขัดแย้งกันเอง เข้ากันไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าจะทำประชามติก็ยังอยากให้ถามแบบรวมไปเลยทั้ง 6 ประเด็นมากกว่า แต่ถ้าจะถามทีละประเด็นให้ได้ ก็ควรจะอธิบายหมายเหตุไว้ให้ชัดเจนว่า เป็นเฉพาะครั้งนี้ ไม่ถือเป็นบรรทัดฐานว่าครั้งต่อไปต้องทำอย่างเดียวกัน

ถ้ารัฐบาลยืนยันจะทำประชามติเป็นรายประเด็น ประชาชนผู้ต้องการประชาธิปไตยจะทำอย่างไร
ถ้ารัฐบาลถามแค่ 2 ประเด็นที่รัฐบาลอยากแก้ ก็ไม่ต้องทำอะไรเลย ปล่อยให้รัฐบาลทำไปตามลำพัง แต่ถ้าถามทั้ง 6 ประเด็น คิดว่าควรจะช่วยกันรณรงค์ให้ประชาชนเห็นชอบด้วย เพื่อให้แก้สำเร็จทั้ง 6 ประเด็น และควรถือโอกาสรณรงค์ให้ประชาชนเข้าใจปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตยของบ้านเมืองและปัญหาของรัฐธรรมนูญทั้งฉบับไปพร้อมๆ กัน

พรรคฝ่ายค้านประกาศถอนตัวไม่ร่วมสังฆกรรมแล้ว
ฟังจากข่าวแล้ว เห็นว่าน่าจะไม่ใช่ท่าทีของพรรคฝ่ายค้าน ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยประกาศสนับสนุนข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ แต่การทำประชามตินั้น เขาเห็นว่ามีปัญหาข้อกฎหมาย ไม่จำเป็น และสิ้นเปลือง ถ้าจะทำกันจริงๆ เขาก็เสนอว่า ให้ถามประชาชนด้วยว่า แก้แล้วจะยุบสภาเลยหรือไม่ และควรแก้ทั้งฉบับหรือไม่ และจะใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 หรือ 2550 เป็นหลัก

ถ้ารัฐบาลจะแก้เพียง 2 ประเด็นเท่านั้น พรรคฝ่ายค้านไม่ร่วมสังฆกรรม ก็เป็นเรื่องสมควร

แต่ถ้าเขาตกลงชัดเจนว่าจะแก้ 6 ประเด็น ผมยังคิดว่าควรร่วมมือ เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อการแก้วิกฤต ตามที่ได้เสนอความเห็นไว้แล้ว

ส่วนการลงประชามติ ถ้ารัฐบาลยืนยันจริงๆ ลองนึกภาพดูว่า ถ้าพรรคฝ่ายค้านไม่ทำอะไรเลย ผลออกมาก็อาจกลายเป็นว่า มีประชาชนสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญน้อย เลยไม่ได้แก้ เข้าล็อกรัฐบาลพอดี การเมืองก็กลับมาอยู่ที่เดิม คืออยู่ในวิกฤตต่อไป

ถึงเวลาเลือกตั้ง พรรคฝ่ายค้านอาจรณรงค์ว่าจะแก้ทั้งฉบับ และคนอาจสนับสนุนเข้ามามาก แต่เขาก็ยุบพรรคคุณอีก

ถ้ารัฐบาลประกาศว่าตั้งใจจะแก้ทั้ง 6 ประเด็น และยืนยันทำประชามติจริง ก็ยังอยากเห็นพรรคฝ่ายค้านช่วยรณรงค์ให้ประชาชนสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญ

ดูเหมือนพรรคเพื่อไทยจะย้ำว่า รัฐบาลไม่จริงใจ
เห็นด้วยว่ารัฐบาลไม่จริงใจ ลองให้รัฐบาลเขาเดินหน้าไป ประชาชนก็จะเห็นว่าเขาไม่จริงใจ แต่ถ้าเขาอยู่ในสภาพการณ์ที่ถูกบังคับให้ต้องแก้ เราก็ไม่ควรปล่อยให้โอกาสนั้นผ่านไป

ควรยุบสภาเมื่อไหร่ ?
เมื่อแก้รัฐธรรมนูญเสร็จ ก็ยังต้องแก้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง คือ พ.ร.บ.พรรคการเมือง และ พ.ร.บ.เลือกตั้ง แก้เสร็จแล้วก็ควรยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่

นี่ก็เป็นตามที่นายกรัฐมนตรีเคยแถลงไว้ต่อสภาก่อนที่จะมีการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ

นายกรัฐมนตรีบอกว่า ถ้ารัฐธรรมนูญบัญญัติว่าให้ยุบเมื่อไรก็ยุบเมื่อนั้น
นั่นดูเหมือนจะเป็นการพูดแบบหาทางยืดเวลาออกไปให้นานที่สุดเท่านั้นเอง ความจริงไม่จำเป็นต้องไปบัญญัติอะไรในรัฐธรรมนูญว่าต้องยุบสภาเมื่อไร ถ้านายกรัฐมนตรีจำคำพูดตัวเองได้และเห็นแก่บ้านเมือง ยอมรับว่ามีความขัดแย้งเนื่องจากมีความไม่พอใจ ไม่ยอมรับรัฐบาล และรัฐบาลเองก็ทำงานไม่ค่อยได้ แก้รัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งแล้วก็ควรยุบสภาเสียอย่างที่ท่านพูดของท่านเองก็พอ

มองกันว่า ถึงอย่างไรรัฐบาลนี้ก็ไม่แก้รัฐธรรมนูญ การแก้รัฐธรรมนูญเป็นเพียงเกมซื้อเวลา เพราะฉะนั้นให้ยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน
เขามองอย่างนั้นก็มีเหตุผลอยู่ เพราะดูรัฐบาลไม่ค่อยจริงใจ หรือตั้งใจที่จะแก้รัฐธรรมนูญเลย มีการแบ่งบทกันเล่นโดยเฉพาะในพรรคประชาธิปัตย์ แถมต่อมายังเสนอว่า จะแก้เพียง 2 ประเด็นบ้าง ให้ใช้เวลา 9 เดือนบ้าง ซ้ำยังบอกว่า แก้แล้วก็อาจไม่จำเป็นต้องยุบสภาอีก จึงยิ่งเห็นได้ชัดว่า ที่รัฐบาลต้องการจริงๆ คือ ซื้อเวลาให้รัฐบาลอยู่ไปได้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นได้

แต่กระแสที่บีบให้รัฐบาลต้องแก้รัฐธรรมนูญก็มีอยู่เหมือนกัน และก็ดูจะแรงขึ้นเรื่อยๆ ด้วย โดยเฉพาะในเชิงเหตุผลคือเมื่อเกิดวิกฤตเมื่อครั้งสงกรานต์ มีการอภิปรายกันในสภา ก็ทำให้เห็นเหตุว่า ต้องแก้ที่ต้นเหตุ คือต้องแก้กติกาแล้วก็ยุบสภา เลือกตั้งใหม่จะแก้อะไรบ้าง ให้ตั้งคณะกรรมการขึ้น เขาก็ตั้งแล้ว คณะกรรมการที่สภาตั้งก็เสนอความเห็นมาแล้ว ซึ่งก็มีเหตุผลดีฟังได้ ทั้งหมดก็สอดคล้องกับที่นายกฯรับปากไว้ หรือออกปากไว้ มาตอนนี้จะกลับลำหรือพลิ้วไปเรื่อยก็ยากแล้ว เพราะฉะนั้น หากช่วยกันผลักดันจริงๆ รัฐบาลก็คงจำเป็นต้องร่วมมือในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถซื้อเวลาไปเรื่อยๆ ได้

เวลานี้ดูเหมือนรัฐบาลเองก็ง่อนแง่นเต็มที ไม่รู้จะอยู่ได้นานเท่าใด ดีไม่ดีก็อาจไปก่อนการแก้รัฐธรรมนูญจะเสร็จก็ได้ เลยชักไม่แน่ใจว่า ระหว่างการใช้เรื่องรัฐธรรมนูญมาซื้อเวลาของรัฐบาล กับการที่รัฐบาลจะไปเสียก่อนโดยไม่ทันได้แก้รัฐธรรมนูญ อันไหนน่าเป็นห่วงกว่ากัน แต่สิ่งที่เราพอจะทำได้ก็คือ ต้องเร่งให้มีการแก้รัฐธรรมนูญโดยเร็ว

ถ้าไม่แก้เสียที ปล่อยให้เนิ่นนานไป แล้วรัฐบาลขัดแย้งกันเองจนอยู่ไม่ได้ แล้วเลือกตั้งใหม่ ได้รัฐบาลมาก็ถูกล้มด้วยการยุบพรรคอีก ก็เท่ากับยืดเวลายืดความขัดแย้งให้ยาวออกไปอีกเท่านั้นเอง

การยุบสภาให้เลือกตั้งใหม่นั้น หากยังไม่มีการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นธรรมขึ้นพอสมควร จะไม่เป็นการคืนอำนาจให้ประชาชน เพราะเลือกมาแล้ว เขาก็ยุบพรรคการเมือง ล้มรัฐบาลที่ไม่ขึ้นกับเขาได้อีกอยู่ดี

ที่พูดนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะคัดค้านการเคลื่อนไหวที่ต่อต้านรัฐบาล เพราะก็เข้าใจดีว่า มีคนไม่ยอมรับรัฐบาลนี้มากเหมือนกัน และเขาก็มีสิทธิที่จะต่อต้านรัฐบาลนี้ ขณะเดียวกันก็คิดว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ต่อต้านรัฐบาลนี้หรือไม่ก็ตาม ควรจะต้องร่วมกันผลักดันให้แก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย และเมื่อสถานการณ์เป็นอย่างปัจจุบันคือรัฐบาลไม่ต้องการยุบสภา แต่ต้องการอยู่ให้นานที่สุดแต่ก็ไม่มั่นคง จะไปมิไปแหล่ ระหว่างที่รัฐบาลนี้ยังอยู่ เราก็ควรเรียกร้องให้รัฐบาลนี้ร่วมแก้รัฐธรรมนูญตามที่เขาพูดไว้ 

แก้ทั้งฉบับจะแก้เรื่องอะไร
ก็มีหลายเรื่อง ได้เคยพูดไว้ตอนที่คัดค้านรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 และเขียนไว้ในหนังสือด้วย คุณคณิน บุญสุวรรณ ก็เขียนหนังสือไว้เป็นเล่มว่า ทำไมต้องแก้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 นี้

เรื่องสำคัญที่ต้องมาแก้กันคือ การแบ่งแยกอำนาจที่ถูกบิดเบือนไป บทบาทของฝ่ายตุลาการที่เข้ามาก้าวก่ายจัดการด้านการเมืองมากจนเกินพอดี ความเป็นอำนาจอธิปไตยที่ 4 ขององค์กรอิสระที่มีอำนาจเหนือประชาชนทั้งประเทศ ที่มาขององค์กรอิสระที่ทำให้เราไม่มีองค์กรอิสระอยู่เลย เรามีแต่องค์กรที่มีสังกัด ที่แย่คือ บางองค์กรที่สังกัด คมช.ยังจะทำหน้าที่อยู่ไปอีกนาน ที่มาของ ส.ว. การเขียนรัฐธรรมนูญละเอียดเกินไปโดยเฉพาะในแนวนโยบายแห่งรัฐ ทำให้ประชาชนไม่สามารถกำหนดนโยบายของรัฐบาลผ่านพรรคการเมืองและการเลือกตั้งได้ และการทำให้พรรคการเมืองและระบบพรรคการเมืองอ่อนแอ เป็นต้น

เห็นด้วยหรือไม่กับการตั้ง สสร.3
ถ้าจะแก้ทั้งฉบับก็ควรตั้ง สสร.3 รัฐธรรมนูญกำหนดให้อำนาจในการแก้รัฐธรรมนูญอยู่ที่รัฐสภา ต้องยืนยันข้อนี้เพราะถือว่ารัฐสภามาจากประชาชนมากกว่าองค์กรอื่นใด แต่จะทำให้สมาชิกรัฐสภาแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับกันตามลำพัง ก็คงเป็นที่ยอมรับได้ยาก จะไม่สำเร็จ เพราะฉะนั้นต้องพยายามให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากๆ จึงควรตั้ง สสร.ขึ้น ได้เคยเสนอเรื่องนี้มาตั้งแต่หลังการเลือกตั้งใหม่ๆ แต่คนไม่ค่อยเห็นด้วย จนกระทั่งรัฐบาลสมชาย ก็เคยเสนอให้ตั้ง สสร. แต่ก็ไม่ทันได้ตั้ง เมื่อมี สสร.แล้วให้ สสร.ไปรับฟังความเห็นประชาชน เมื่อร่างเสร็จแล้วก็เสนอต่อรัฐสภา ให้รัฐสภาเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ

แล้วควรให้ประชาชนลงประชามติหรือไม่
ถ้าแก้ทั้งฉบับ จะให้ดีก็คือให้ลงประชามติ จะได้แก้ปัญหาเรื่องการยอมรับหรือไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญที่ สสร.ร่างมา และรัฐสภาเห็นชอบแล้ว มิฉะนั้นก็วิจารณ์กันไม่เลิกว่า รัฐธรรมนูญปี 2550 ผ่านประชามติ แต่ที่แก้ใหม่ไม่ผ่าน ทั้งที่รัฐธรรมนูญ 2550 ผ่านประชามติมาแบบ “มัดมือชก” คือทำประชามติขณะที่ประกาศกฎอัยการศึกในหลายสิบจังหวัด มีการบอกประชาชนว่า ให้ผ่านๆ ไปจะได้มีเลือกตั้ง และถ้าไม่ผ่าน คมช. อาจเอาฉบับที่เลวร้ายกว่านี้มาใช้

ถ้าจะทำประชามติก็ต้องเป็นประชามติแบบเปิดเสรีและเป็นธรรม

การทำประชามติรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ มีข้อดีคือ ทำให้ประชาชนเข้าร่วมและเป็นผู้ตัดสิน จะได้เกิดการเรียนรู้ครั้งใหญ่ และประชาชนจะเห็นพลังของตนเอง แต่ก็มีเงื่อนไขนะ คือต้องเปิดให้ทุกฝ่ายรณรงค์และเสนอความเห็นอย่างเสรีและเท่าๆ กัน

อย่างนี้ต้องใช้เวลานาน?
ก็คงนานพอสมควร รวมการแก้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญด้วยก็คงเป็นปี ซึ่งก็จะช้า เพราะฉะนั้นควรแก้เล็กเสียก่อน เพื่อให้มีเลือกตั้งเร็วๆ แก้ปัญหาเรื่องรัฐบาล

จะแก้รัฐธรรมนูญเพียง 6 ประเด็นยังยาก แล้วจะแก้ทั้งฉบับได้อย่างไร รัฐบาลจะยอมแก้ทั้งฉบับหรือ
ขึ้นกับประชาชนทั่วประเทศจะเอาอย่างไร จริงอยู่รัฐบาลนี้ได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ส.ว.สรรหาจำนวนมากก็เช่นกัน สมาชิกรัฐสภาในส่วนนี้คงไม่อยากให้แก้ จะแก้ทั้งฉบับได้ ต้องอาศัยเสียงในสภาและแรงกดดันจากประชาชน เมื่อมีการเลือกตั้ง ก็ควรเรียกร้องให้พรรคการเมืองเสนอนโยบายเกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญแข่งกัน ถ้าช่วยสนับสนุนพรรคการเมืองที่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยเข้าไปในสภามากๆ ก็มีโอกาสเพิ่มขึ้น ถ้าถึงขั้นได้เสียงของรัฐบาลเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภาก็ยิ่งดี และยังต้องสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนเพื่อให้ช่วยกันผลักดันทั้งผ่านการเลือกตั้งและผ่านการเคลื่อนไหวนอกสภา รวมถึงการแสดงความคิดเห็นหรือการลงประชามติ

ถ้าสังคมเห็นปัญหามากขึ้น ชัดเจนขึ้นว่า รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่เป็นธรรมนี้ทำให้เกิดปัญหาวิกฤตที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ และกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เมื่อประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจ ก็จะช่วยผลักดันให้เกิดการแก้รัฐธรรมนูญได้

แก้รัฐธรรมนูญแล้วจะเป็นประชาธิปไตยได้หรือ
ได้ รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยเต็มที่แล้ว มั่นคงแล้วรัฐธรรมนูญนั้นอาจถูกฉีกอีกเมื่อไรก็ได้ เพราะฉะนั้นที่ต้องทำต่อไปก็คือ ต้องทำให้ประชาชนเข้าใจจนถึงขั้นไม่ยอมให้ใครมาฉีกรัฐธรรมนูญได้อีก ซึ่งก็คือต้องไม่ให้มีใครอยู่เหนือรัฐธรรมนูญได้

สภาพแวดล้อมต่างๆ วัฒนธรรมทางการเมือง ที่คนหรือกลุ่มบุคคลยังอยู่เหนือรัฐธรรมนูญยังอยู่ สิ่งเหล่านี้ก็ต้องแก้ด้วย ต้องอาศัยพลังของประชาชนช่วยกันสร้างวัฒนธรรมใหม่ๆ เช่น ไม่ยอมให้ใครมาทำอะไรนอกเหนือรัฐธรรมนูญอีก

มีความเห็นว่าเมืองไทยเอาแต่สร้างรัฐธรรมนูญ ไม่สร้างประชาธิปไตย
ความเห็นนี้ก็มีส่วนถูก แต่ถูกเพียงบางส่วน จริงๆ แล้วเมืองไทยยังไม่เคยมีรัฐธรรมนูญตามความหมายของรัฐธรรมนูญในอารยประเทศ ที่เรามีรัฐธรรมนูญกันมา 18 ฉบับนั้น ก็แสดงว่าไม่เคยมีรัฐธรรมนูญ เพราะสามารถถูกฉีกได้ตลอดเวลา คนจึงอยู่เหนือกฎหมายรัฐธรรมนูญ

ที่ผ่านมาอาจถือเป็นกฎหมายสูงสุดอยู่ชั่วครู่ชั่วยาม แล้วก็ถูกฉีกทิ้ง ที่มีใช้กันมาส่วนใหญ่จึงเป็นธรรมนูญการปกครองบ้าง รัฐธรรมนูญชั่วคราวบ้าง หรือแม้เรียกว่ารัฐธรรมนูญก็มีเนื้อหาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย คือแค่เอาไว้อ้างกับชาวโลกว่า เรามีรัฐธรรมนูญกับเขาเหมือนกันเท่านั้น ส่วนรัฐธรรมนูญที่ดีๆ ก็อยู่ไม่นาน ถูกฉีกทิ้งหมด ส่วนใหญ่แล้วคนที่ร่างรัฐธรรมนูญ เขาก็ไม่ได้คิดว่า นั่นคือการสร้างความเจริญความดีงามให้กับประเทศ และยิ่งไม่คิดถึงการสร้างประชาธิปไตย

ปัญหาของประเทศไทยจึงไม่ได้อยู่ที่เอาแต่สร้างรัฐธรรมนูญโดยไม่สร้างประชาธิปไตย แต่เป็นปัญหาว่า มักมีคนชอบทำลายประชาธิปไตย ชอบฉีกรัฐธรรมนูญ ที่ยอมให้มีรัฐธรรมนูญบ้างก็เพื่อหลอกชาวโลก

การมีรัฐธรรมนูญ 18ฉบับไม่ได้แสดงว่าเมืองไทยให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญมากเกินไปจนมีหลายฉบับ แต่แสดงว่าเมืองไทยไม่เป็นประชาธิปไตย และยังไม่เคยมีรัฐธรรมนูญตามความหมายที่อารยประเทศเขาเข้าใจกัน

แล้วที่เสนอให้แก้รัฐธรรมนูญอยู่นี้ ต่างจากการสร้างรัฐธรรมนูญในอดีตอย่างไร 
ในแง่เนื้อหาว่ารัฐธรรมนูญที่ดีควรเป็นอย่างไร คงไม่ต่างกันมาก เว้นแต่สภาพของสังคมพัฒนาไป เรื่องราวต่างๆ มีการพัฒนามา เนื้อหาของรัฐธรรมนูญก็ต้องมีพัฒนาการเช่นกัน

แต่ต่างมากๆ คือความเป็นรัฐธรรมนูญ และหลักการเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญนิยม

ก็คือจะแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยแล้วถือว่าจบสิ้นภารกิจเพราะบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยแล้วไม่ได้ ยังต้องทำอะไรต่อไปอีกมาก ที่สำคัญคือ ทำให้รัฐธรรมนูญมีความหมายอย่างรัฐธรรมนูญจริงๆ คือต้องทำให้ได้ถึงขั้นที่ใครจะมาอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ ทำอะไรนอกรัฐธรรมนูญอย่างที่แล้วมาอีกไม่ได้ และจะให้ฉีกกันอีกไม่ได้ ใครไม่พอใจ ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ ก็ควรจะแก้ตามครรลองประชาธิปไตย

ต้องทำให้สังคมไทยยอมรับหลักรัฐธรรมนูญนิยม ซึ่งไม่ได้หมายความว่า “นิยมแต่รัฐธรรมนูญ” แต่หมายถึงเราจะปกครองกันโดยมีรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุด ซึ่งจะต้องเป็นกฎหมายที่เป็นธรรม มีที่มาที่ชอบธรรม คือมาจากประชาชน ทุกคนต้องอยู่ใต้กฎหมายนี้อย่างเท่าเทียมกัน กฎหมายสูงสุดนี้ต้องกำหนดให้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน และต้องเป็นของประชาชนจริงๆ หลักรัฐธรรมนูญนิยมนี้ เมื่อรวมกับหลักนิติรัฐนิติธรรม ก็คือพื้นฐานสำคัญของประชาธิปไตย

มีความเห็นอย่างไรต่อความเห็นที่ว่า ต้องสร้างประชาธิปไตยก่อน ไม่ใช่สร้างรัฐธรรมนูญก่อน
ผมเข้าใจและเห็นด้วย ว่าเราต้องสร้างประชาธิปไตยให้ได้ ไม่ใช่เพียงแค่ให้ได้รัฐธรรมนูญที่ดีมาฉบับหนึ่ง แล้วก็ถูกฉีกหรือถูกละเมิดเมื่อใดก็ได้อย่างที่ผ่านมา แต่ที่เสนอนั้นเป็นการพยายามสร้างประชาธิปไตยในแบบที่ยึดหลักรัฐธรรมนูญนิยมและนิติรัฐนิติธรรม ซึ่งต้องการให้เกิดขึ้นโดยสันติวิธี จะทำให้ได้ประชาธิปไตยมาอย่างไรนั้น เห็นว่าต้องอาศัยพรรคการเมืองกับการเลือกตั้งทางหนึ่ง และอีกทางหนึ่งคือ พลังประชาชนที่ไม่จำกัดอยู่แค่การเลือกตั้งเท่านั้นด้วย จะอาศัยช่องทางเหล่านี้ให้เกิดประชาธิปไตยอย่างแท้จริงได้ ก็หนีไม่พ้นต้องสร้างกติกาที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งควรจะรวมถึงตัวรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และประเพณีปฏิบัติหรือวัฒนธรรมทางการเมืองด้วย จะอาศัยพรรคการเมืองและการเลือกตั้งในระบบรัฐสภาได้อย่างไร ถ้ารัฐธรรมนูญยังเป็นเผด็จการอยู่ ช่องทางนี้ย่อมถูกปิด ก็จะเหลือแค่การต่อสู้นอกสภาอย่างเดียว

นี่ไม่ได้วาดภาพว่า เราจะสร้างประชาธิปไตยก่อนโดยมองว่าจะเกิดพลังประชาชนเข้ายึดอำนาจรัฐมาเป็นของประชาชนอย่างเบ็ดเสร็จเสียก่อนแล้วค่อยเขียนรัฐธรรมนูญกัน อย่างที่เรียกว่าปฏิวัติประชาธิปไตย โดยเฉพาะถ้าหมายถึงการใช้กำลังเข้ายึดอำนาจ ยิ่งไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่อยากเห็นการเปลี่ยนผ่านโดยสันติวิธี

แต่ถ้าเกิดพลังประชาชนเข้มแข็งจนเป็นแรงกดดันให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยโดยสันติวิธีได้ อย่างนั้นก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่เมื่อเป็นอย่างนั้นขึ้นมา เราก็ยังต้องมาคิดกันอีกอยู่ดีไม่ใช่หรือว่า เราจะมีกติกาปกครองบ้านเมืองกันอย่างไร เราก็ต้องมาถามกันว่า เราจะรับหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย คือหลักการรัฐธรรมนูญนิยมและนิติรัฐนิติธรรมกันหรือไม่ ถ้าเรายอมรับหลักการนี้ ก็คิดว่าเรามีจุดที่จะพบกัน คิดตรงกัน และพูดเรื่องเดียวกัน

ความเห็นเรื่องล้มอำมาตย์เสียก่อน อย่างอื่นค่อยว่ากันทีหลัง
ล้มอำมาตย์คืออย่างไร ข้อเสนอนี้ไม่ชัดเจน ให้อำมาตย์บางคนออกไป จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ยังไม่สำคัญเท่ากับว่า ถ้าบางคนออกไปแล้ว จะกลายเป็นประชาธิปไตยกันได้ทันทีหรือ อำมาตย์ยังมีอีกหลายคนไม่ใช่หรือ

ใน 3 ปีมานี้ ประชาชนได้เห็นชัดเจนที่สุดว่า ที่เป็นปัญหาอยู่ เพราะอำมาตย์และการปกครองปัจจุบันซึ่งก็คืออำมาตยาธิปไตย ความคิดล้มหรือต่อต้านอำมาตยาธิปไตยจึงมีเหตุผลอยู่

แต่การจะเปลี่ยนก็ต้องเสนอการปกครองแบบที่ไม่ให้อำมาตย์เป็นใหญ่ แต่ต้องให้ประชาชนเป็นใหญ่ จะทำได้ก็ต้องสร้างวัฒนธรรมการเมืองใหม่ ประชาชนเข้าใจและมีเสียงดังพอที่จะไม่ยอมให้อำมาตย์มีบทบาทนอกรัฐธรรมนูญได้อย่างที่ผ่านมา ในแง่กติกาก็ต้องแก้ คือ บัญญัติเสียว่า อำมาตย์ทำอะไรได้หรือไม่ได้แค่ไหน ลงในรัฐธรรมนูญเสียเลยนั่นแหละถึงจะดี แล้วต้องมีพลังประชาชนคอยกำกับคู่ขนานไปกับการสร้างกติกาด้วย เพราะฉะนั้นสิ่งที่ควรทำก็คือ ต้องจำกัดบทบาทที่ไม่เหมาะสมของอำมาตย์

การแก้รัฐธรรมนูญและการสร้างประชาธิปไตยจึงเป็นเรื่องเดียวกัน

สุดท้ายคิดว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 จะแก้ได้ไหม
6 ประเด็นที่พูดกันอยู่ ยังหวังว่าแก้ได้ อยากให้แก้ได้ แต่ก็ไม่ค่อยแน่ใจ มาถึงวันนี้ดูจะยากเข้าไปทุกที

แต่การแก้ทั้งฉบับ บอกตรงๆ ว่ายาก จะแก้ได้ต่อเมื่อสังคมทั้งสังคม ประชาชนส่วนใหญ่ตระหนักว่าต้องแก้ และฝ่ายผู้มีอำนาจที่ได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญนี้ต้องยอมผ่อนตามบ้าง แต่กว่าจะเกิดสภาพอย่างนั้น บ้านเมืองอาจวิกฤตรุนแรงเกินไปเสียแล้ว ดีไม่ดีผู้มีอำนาจโดยเฉพาะผู้นำกองทัพก็อาจจะหาเหตุฉีกรัฐธรรมนูญนี้เสียก็ได้ และต้องมาเริ่มนับหนึ่งกันใหม่อีก

รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงรอวันฉีกมากกว่าจะได้แก้ และถ้าเป็นอย่างนั้นขึ้นมา ไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะเข้าสู่วงจรที่ราบรื่นเป็นปกติสำหรับผู้ยึดอำนาจอย่างที่ผ่านมา ครั้งนี้อาจรุนแรงหนักหนากว่าที่หลายๆ คน รวมทั้งที่ผู้มีอำนาจทั้งหลายจะคิด เราอาจสูญเสียกันอีกมากกว่าจะได้รัฐธรรมนูญที่ดี และอาจยิ่งต้องสูญเสียมากกว่านั้นกว่าเราจะได้ประชาธิปไตย

ก็ได้แต่พยายามอย่างเต็มที่ ที่จะไม่ให้เหตุการณ์พัฒนาไปอย่างนั้น ต้องช่วยกันหลายๆ ฝ่ายครับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net