Skip to main content
sharethis

 

โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล ดูเหมือนจะไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่เสียแล้ว หลังจากโครงการดังกล่าวพยายามผลักดันให้มีการปรับปรุงขยายท่าเรือน้ำลึก ตั้งแต่ปีพ..2549 มาจนถึงปัจจุบัน เพื่อให้เป็นประตูสู่การค้าฝั่งทะเลอันดามัน และยังเป็นการขนส่งทางเรือไปสู่ประเทศตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรปอีกด้วย ซึ่งโครงการดังกล่าวอยู่ภายใต้แผนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ (Logistics Master Plan) ที่มีเงินลงทุนสูงถึง 3 หมื่นล้านบาท เจ้าของโครงการอภิมหายักษ์นี้ คือกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี กระทรวงคมนาคม

 

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ความคืบหน้าของโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกปากบาราดังกล่าว ทำให้ชาวบ้าน จ.สตูล รู้สึกเป็นกังวลอีกระลอก เมื่อนายสุเมธ ชัยเลิศวณิชกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ออกมาบอกว่า ขณะนี้ทางกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี ได้ทำสัญญาการก่อสร้างกับผู้รับจ้างเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ด้วยงบประมาณการก่อสร้างมากกว่า 371 ล้านบาท โดยโครงการซ่อมแซมและปรับปรุงท่าเทียบเรือท่องเที่ยวปากบาราจะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 2 มิถุนายน 2554 ซึ่งบริเวณการก่อสร้างโครงการดังกล่าว ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล ต่อเนื่องกับท่าเรือปากบาราเดิม ซึ่งแม้จะเป็นโครงการที่ไม่เกี่ยวข้องกับโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า มันจะกลายเป็นโครงการนำร่อง หรือการช่วยปูพื้นให้กับโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราหรือไม่ เพราะโครงการซ่อมแซมปรับปรุงท่าเทียบเรือท่องเที่ยวปากบารา ที่เพิ่งทำสัญญาการก่อสร้างไปสด ๆ ร้อน ๆ นั้น ทุ่มงบประมาณไปไม่น้อยทีเดียว ซึ่งการก่อสร้างบริเวณพื้นที่ท่าเรือนั้น บ่งบอกถึงการเคลื่อนตัวของโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราในอีกรูปแบบหนึ่งก็อาจเป็นได้

 

นายบังหยาด ลัดเลีย เจ้าหน้าที่ภาคสนาม ชมรมชาวประมงพื้นบ้าน อ.ละงู จ.สตูล กล่าวว่า เมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมา เขานำเครื่องจักรกลใหญ่ ขนมาประมาณ 10 ลำ เพื่อเตรียมการก่อสร้าง ตอนนี้ได้มีการขุดลอกคลอง เพื่อขยายพื้นที่ให้เรือใหญ่เข้ามาจอดเทียบท่า ทำให้ส่งผลกระทบต่อพันธุ์ปลาต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ในแถบบริเวณนั้น ซึ่งเมื่อก่อนปลาจะมาอาศัยอยู่เยอะมาก แต่ขณะเดียวกันการขุดลอกคลองทำให้เกิดฝุ่นละออง น้ำขุ่น ปลาจึงย้ายไปอาศัยอยู่ที่อื่น ทำให้ชาวประมงต้องออกไปหาปลาไกลกว่าเดิม.

 

นายบังหยาด กล่าวต่อว่า ขณะนี้ทางผู้ว่าราชการ จ.สตูล ออกมาบอกว่า จะไม่มีการสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราอย่างแน่นอน แต่โครงการที่จะสร้างดังกล่าว เป็นโครงการปรับปรุงซ่อมแซมท่าเทียบเรือ เพื่อเป็นท่าเรือท่องเที่ยว และท่าเรืออเนกประสงค์ แต่เราไม่สามารถรู้ได้ว่า จริง ๆ แล้วมีอะไรแอบแฝงหรือไม่ เพราะทางกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี ออกมาชี้แจงกับชาวบ้านในข้อมูลที่ดีมีประโยชน์เพียงเท่านั้น

 

ด้านนางเสาวนีย์ สำลี ชาวประมงพื้นบ้าน จ.สตูล กล่าวว่า ขณะนี้การสร้างท่าเรืออเนกประสงค์นั้นกำลังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และเริ่มมีการดูดทรายออกเพื่อขยายพื้นที่ มีการทุบสะพานเก่าเพื่อสร้างสะพานใหม่และการตอกเสาเข็มเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่การดูดทรายตอนนี้ สร้างผลกระทบต่อสัตว์น้ำอย่างมาก ทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา เพราะสัตว์น้ำเหล่านี้อยู่ไม่ได้กับสภาพน้ำทะเลที่ขุ่นและมีกลิ่นเหม็น เนื่องจากการดูดทราย ปลามันก็อยู่ไม่ได้ ทำให้ชาวประมงต้องเดินเรือออกไปหาปลาไกลกว่าเดิม และต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย

 

 

นางเสาวนีย์ กล่าวต่ออีกว่า “ตอนนี้ชาวบ้านออกไปหาปลาแถบเกาะตรุเตา ซึ่งต้องเดินเรือไปประมาณชั่วโมงครึ่ง ทำให้ชาวบ้านต้องออกเดินเรือไกลกว่าเดิมและต้องจ่ายค่าน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น จากแต่เดิมใช้น้ำมันเพียง 5 ลิตรเท่านั้น แต่ปัจจุบันต้องเพิ่มเป็น 15 ลิตร และน้ำมันก็มีราคาแพง

 

นอกจากนั้น ชาวบ้านมากกว่า80 เปอร์เซ็น มีอาชีพทำการประมง และแน่นอนปัญหาที่ตามมาคือ การแย่งชิงทรัพยากรเพราะบริเวณเกาะตรุเตาเป็นที่เดียวที่สามารถหาปลาได้ไม่ไกลจากเกาะเดิมมากนัก

ต่อมาพวกเราจึงได้ปรึกษากัน ว่าจะหาปลาอย่างไร โดยไม่ต้องแย่งกัน จึงได้ลงความเห็น ให้มีการจัดเวรผลัดเปลี่ยนกันออกเรือหาปลาเป็นวัน และเวลาตามกลุ่มสมาชิกร่วมกำหนดกัน” นางเสาวนีย์กล่าว

 

 

นางเสาวนีย์ กล่าวต่อไปอีกว่า ก่อนที่จะมีการสร้างท่าเรืออเนกประสงค์นั้น ได้มีเจ้าหน้าของกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี เข้ามาชี้แจงกับชาวบ้านและฉายภาพให้ดู ถึงประโยชน์ในการสร้างท่าเรือดังกล่าว ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง ก็ไม่เดือดร้อน แต่สำหรับชาวประมงที่ได้รับผลกระทบก็ไม่กล้าคัดค้าน เพราะพวกเรามีน้อย ไม่สามารถที่จะเรียกร้องอะไรได้ เพราะทาง อบจ. อบต. และส่วนราชการหรือผู้เกี่ยวข้อง เขาก็เห็นดีเห็นงามกับโครงการดังกล่าวด้วย.

 

อนึ่ง การสร้างท่าเรือท่องเที่ยวปากบารา อาจกลายเป็นอีกหนึ่งโครงการต่อเนื่องของโครงการอภิมหายักษ์นั้นก็อาจเป็นได้ หากชาวบ้าน อ.ละงู จ.สตูล ยังไม่เข้าใจต่อการชี้แจงโดยการใช้คำพูดที่เข้าใจยาก และบอกถึงประโยชน์เพียงด้านเดียว ซึ่งมันน่าขบและคิดว่า อนาคตโครงการสร้างท่าเรือท่องเที่ยวจะกลายเป็นโครงการต่อเนื่องท่าเรือน้ำลึกปากบาราหรือไม่.

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net