“ภาคประชาชนไทย” พบ “หน่วยงานรัฐ” แจงข้อเสนอ 3 (+1) เสาหลัก “อาเซียน”

คณะทำงานมหกรรมประชาชนอาเซียนไทย-ภูมิภาค และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีเสวนา “ภาครัฐและประชาชนไทยในการพัฒนาประชาคมอาเซียน” เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ที่ผ่านมา ที่ห้องจุมภฎ-พันธุ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาฯ โดย ฉันทนา บรรพศิริโชติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า แม้อาเซียนจะก่อตั้งขึ้นมาด้วยประเด็นความมั่นคง โดยเน้นความเป็นรัฐชาติ แต่ทุกวันนี้ สิ่งที่อาเซียนเจอร่วมกันคือ ภัยและความเสี่ยงภัยจากโลกาภิวัตน์ทั้งหลาย ความไม่แน่นอนของการเปลี่ยนแปลงบรรยากาศ และการขยายตัวของโรคติดต่อ ซึ่งทั้งหมดจะป้องกันได้โดยการทำงานร่วมกันมากขึ้น

ฉันทนา กล่าวว่า ความเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียนจะเกิดขึ้นได้ต้องมีโครงสร้างอื่นนอกจากโครงสร้างรัฐชาติ ประชาชนต้องได้รับการคุ้มครองสองชั้น เช่นเดียวกับโมเดลของสหภาพยุโรปที่ประชาชนได้รับการคุ้มครองทั้งในฐานะพลเมืองของประเทศและของภูมิภาค โดยอาเซียนต้องสร้างประชาคมเพื่อความมั่นคงของมนุษย์ ให้คนในภูมิภาคอยู่โดยปราศจากความกลัว ความหิว และความยากไร้ เป็นสำคัญ

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เสนอว่า ความเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียนทำได้โดย หนึ่ง ฝ่าข้ามกรอบความคิดเรื่องความมั่นคงแห่งรัฐแบบเดิมๆ เนื่องจากที่ผ่านมา แม้มีการตั้งประเด็นอาเซียนกันใหม่แล้ว แต่หลายประเทศก็ยังมี พ.ร.บ.ความมั่นคง พ.ร.บ.ต่อต้านการก่อการร้าย ที่ดึงเอาประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนออกไป ดังนั้นจะต้องปฏิรูปหน่วยงานด้านความมั่นคง เพื่อให้ตอบโจทย์ความมั่นคงใหม่ๆ ได้ รวมถึงต้องสร้างบรรทัดฐานการดูแลชนกลุ่มน้อยเชิงภูมิภาคด้วย

ฉันทนา กล่าวต่อว่า สอง อาเซียนต้องสร้างกลไกการจัดการในระดับภูมิภาค อาทิ นโยบายต่อแรงงานข้ามชาติ ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ การขยายตัวของโรคใหม่ๆ โดยที่กลไกนี้ควรมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายในแต่ละประเทศด้วย สาม อาเซียนควรพัฒนานวัตกรรมทางนโยบายเกี่ยวกับกาารบริหารจัดการข้ามชาติ อาทิ แนวคิดใหม่ๆ เกี่ยวกับสวัสดิการสังคมของประชาชนอาเซียน เช่น รัฐสามารถร่วมกันดูแลพลเมืองของตัวเองได้ไม่ว่าอยู่ที่ประเทศไหน

 

ชี้ “เปิดเสรีการลงทุน” ส่งผลกระทบรุนแรงยิ่งกว่า “เปิดการค้าเสรีเขตเศรษฐกิจ”

ในประเด็นเรื่องเศรษฐกิจ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA WATCH) กล่าวว่า เร็วๆ นี้จะมีการเปิดเสรีการลงทุนในการปลูกป่า การประมงเฉพาะการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการเพาะและขยายพันธุ์พืช ให้กับนักลงทุนนอกอาเซียน ซึ่งเป็นไปตามมติของคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่อ้างว่าเป็นฉันทานุมัติจากประชาชน อย่างไรก็ตาม ปรากฎว่า ประชาชนที่จะได้รับผลกระทบไม่เคยทราบเรื่องมาก่อน และมีการเชิญอุตสาหกรรมที่ไปลงทุนในต่างชาติบางแห่งเท่านั้นเข้าร่วมประชุม
 
วิฑูรย์ กล่าวเสริมว่า การเปิดเสรีดังกล่าวจะมีขอบเขตที่กว้างขวาง เพราะเกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ ทรัพยากรพันธุกรรม การเกษตร และเกี่ยวข้องกัลวิถีชีวิตของประชาชนในท้องถิ่น ครอบคลุมถึงการเปิดเสรีการอำนวยความสะดวก การส่งเสริมและการคุ้มครองการลงทุน โดยการเปิดเสรีครั้งนี้จะส่งผลกระทบรุนแรงยิ่งกว่าการเปิดการค้าเสรีเขตเศรษฐกิจที่ผ่านมาเสียอีก เพราะเปิดให้ลงทุนในทรัพยากรถึงแผ่นดินของเราเอง โดยผู้ที่ผลักดันเรื่องนี้ครั้งหนึ่งก็เคยวิจารณ์รัฐบาลทักษิณว่าไม่โปร่งใส ไม่ทำตามรัฐธรรมนูญ คราวนี้จึงต้องจับตาว่า เขาเหล่านั้นได้ทำตามที่วิจารณ์รัฐบาลที่แล้วหรือไม่

 

เสนอเพิ่มเรื่อง “สิ่งแวดล้อม” เป็นเสาหลักที่ 4 ของอาเซียน

เปรมฤดี ดาวเรือง โครงการฟื้นฟูนิเวศวิทยาในภูมิภาคอินโดจีนและพม่า (TERRA) มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ กล่าวว่า อยากเสนอให้อาเซียนมีเสายุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างกรอบและมาตรฐานเพื่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของคนในภูมิภาค และให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางของกระบวนการตัดสินใจ

เปรมฤดี ระบุว่า ขณะนี้ประเด็นสิ่งแวดล้อมที่ต้องจับตา ได้แก่ หนึ่ง โครงการพัฒนาพลังงานขนาดใหญ่ของอาเซียน อาทิ เขื่อนขนาดใหญ่บนแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาละวิน และอุตสาหกรรมขุดเจาะทรัพยากรเหมืองแร่ ก๊าซและน้ำมัน ที่ยังไม่มีมาตรการป้องกันไม่ให้การสร้างโครงการกระทบกับประชาชนและทรัพยากรธรรมชาติ สอง สถานการณ์โลกร้อน ซึ่งต้องให้ความสำคัญกับความเป็นธรรมและการพัฒนาที่ไม่ส่งผลร้ายต่อภูมิอากาศ เหมาะสมกับระดับการพัฒนาของรัฐสมาชิกอาเซียน และในขณะเดียวกัน ก็ให้ความคุ้มครองสิทธิกลุ่มชนเผ่าและชุมชนท้องถิ่นด้วย สาม ความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งรวมถึงสิ่งมีชีวิตตัดแต่งพันธุกรรม หรือจีเอ็มโอ มีคำถามว่า ประชาชนจะเข้าไปมีส่วนร่วมตัดสินในการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางพันธุกรรมและการจดสิทธิบัตรพันธุกรรมอย่างไร โดยไม่ถูกผูกขาดจากธุรกิจขนาดใหญ่

 

ตัวแทน พม.เสนอ ความคืบหน้า “คณะกรรมาธิการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและเด็ก”

ปัชญาณี พราหมพันธ์ ตัวแทน สำนักนโยบบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวถึงความคืบหน้าของการจัดทำข้อตกลงจัดตั้ง (TOR) คณะกรรมาธิการอาเซียนในด้านส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและเด็ก (ASEAN Commission on the Promotion and Protection of Rights of Women and Children: ACWC) เพื่อเป็นกลไกคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงและเด็กว่า  ที่ผ่านมา พม.และภาคประชานชนมีความเห็นตรงกันว่า ACWC จะต้องเขี้ยวเล็บพอสมควร ที่จะทำหน้าที่ส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองสิทธิสตรีและเด็กในภูมิภาคอาเซียนได้อย่างแท้จริง มีกลไกรับเรื่องร้องเรียน และสามารถสืบสวนได้เมื่อมีกรณี ด้วยความโปร่งใส โดยมีกรรมการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเข้ามาดูแล

ขณะนี้ TOR ได้รับการเห็นชอบแล้ว และมีการให้รัฐมนตรีอาเซียนในสวัสดิการสังคมและการพัฒนาของแต่ละประเทศให้การรับรองโดยให้มีหนังสือแจ้งยืนยันภายใน 16 ต.ค.นี้ ซึ่งหากมีหนังสือแจ้งครบ 10 ประเทศ สำนักเลขาธิการอาเซียนจะนำเสนอต่อผู้นำเพื่อให้มีการประกาศอย่างเป็นทางการในช่วงประชุมการสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 15 นี้

ด้านพิมพ์ธรรม เอื้อเฟื้อ ผู้แทนองค์กรสตรี กล่าวว่าในส่วนคณะกรรมการเด็กและสตรี ได้มีการระดมความเห็นเพื่อการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาในเรื่องเด็กและสตรีอย่างเป็นรูปธรรม โดยตจ้องการให้มีการส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิอย่างจริงจัง ยึดมั่นในมาตรฐานสากล เช่น อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฎิบัติต่อสตรี และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก รัฐในอาเซียนควรให้ความคุ้มครอง โดยเฉพาะคนชายขอบ ชนเผ่า คนพิการ มีมาตรการพิเศษที่จะให้ผู้ที่อยู่ในสถานภาพลำบากได้รับการคุ้มครองอย่างเท่าเทียม ออกกฎหมายเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ ไม่ใช่แค่หญิง ชาย แต่รวมเกย์ เลสเบี้ยน ส่วนอนุสัญญาสิทธิเด็กที่ลงนามแล้ว ทำอย่างไรให้ขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ กลไก TOR ควรให้มีการส่วนร่วมของประชาชน

 

เผยการขยายตัวของ “ลัทธิทหาร” เป็นหนึ่งในรากเง้าสร้างความไม่มั่นคง

ราณี หัสสรังสี ตัวแทนภาคประชาชน กล่าวถึงการสร้างความมมั่นคงและสันติภาพ ว่าประเด็นท้าทายสำหรับอาเซียนที่ก่อตั้งมาหลายสิบปี ผ่านการเปลี่ยนแปลงทางสังคมมามากมาย และแนวคิดความมั่นคงก็เปลี่ยนแปลงไม่ใช่แค่รัฐแต่เกี่ยวข้องชีวิตคนธรรมดาทั่วไป ในส่วนของภาคประชาชน ความมั่นคงเกี่ยวข้องใน 3 เรื่อง คือ ความมั่นคงทางอาหาร หรืออธิปไตยอาหาร ความมั่นคงในฐานทรัพยากรซึ่งเป็นเหตุแห่งการผลักดันเสาทรัพยากร หากถูกทำลายชาวบ้านไม่มีอะไรเหลือ มีเงินก็เอาคืนมาไม่ได้ จึงต้องร่วมกันปกปักรักษา และสุดท้ายความมั่นคงของวิธีชีวิต ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม ศาสนธรรม และจิตวิญญาณ

ปัจจุบันแนวความคิดเรื่องความมั่นคงในส่วนภาคประชาชนก้าวไปในเรื่องรายละเอียด ที่เห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้น เพราะความมั่นคงไม่ได้สามารถดำเนินไปได้โดยรัฐเพียงลำพัง ในส่วนการแก้ไขความขัดแย้ง จะไม่ใช้ความรุนแรงหรือกำลังใดๆ เนื่องจากที่ผ่านมาสงครามไม่ได้ก่อประโยชน์อะไรกับประชาชนเลย แต่ประชาชนกลับต้องเป็นคนที่เดือดร้อนที่สุด ทั้งนี้การหยุดความรุนแรง ภาคประชาชนควรเข้ามามีส่วนร่วม สร้างความสมานฉันท์ ระหว่างประชาชนกับประชาชน

ในส่วนการหยุดความขัดแย้งต้องให้ความเป็นธรรมกับคนกลุ่มต่างๆ การแทรกแทรงต้องทำให้ประชาชนเข้มแข็งขึ้นไม่ใช่การใช้กำลัง และไม่ใช่การทำให้ประชาชนไม่เห็นอนาคตของตนเอง แต่ประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตตนเองทั้งนี้แนวโนมประชาธิปไตยของไทยและทั้งโลก มีทหารเข้ามามากขึ้น

ในส่วนข้อเสนอต่อรัฐ ราณี กล่าวว่า กระบวนทรรศน์ในเรื่องความมั่นคงของรัฐต้องมองกว้างมากขึ้น ทั้งนี้รากเง้าความไม่มั่นคงในปัจจุบันประกอบด้วย 1.การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ น้ำท่วม ภัยแล้ง ที่ทำให้คนอดอยากล้มตาย เกิดผลกระทบกับภาคเกษตรและโรคภัย 2.การแย่งชิงทรัพยากร 3.การเบียดขับคนกลุ่มอื่นให้เป็นคชายขอบ และ 4.การขยายตัวของลัทธิทหาร

อย่างไรก็ตาม การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม เด็ก ผู้หญิง คนหนุ่มสาว คนพิการ และคนชายขอบ จะนำสู่พลังในการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในภูมิภาค

 

นักวิชาการชี้ “การมีส่วนร่วม” เป็นแค่ขั้นตอนลดผลกระทบ ปชช.ไม่มีอำนาจต่อรองจริง

พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการประชุมในวันนี้ว่า มีการพูดถึงคู่กรณีที่เข้ามามีส่วนในการพัฒนา รวมถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นหลักๆ 3 คู่ ประกอบด้วย คู่กรณีระหว่างรัฐกับประชาชน ต่อมาคือคู่กรณีระหว่างบรรษัทข้ามชาติกับประชาชนในท้องถิ่น ที่รวมถึงทุนในท้องถิ่น ชาวบ้านที่กระจายอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งเป็นคนที่ไม่มีอำนาจ และเกษตรกรรายย่อย แต่ความสนใจห่วงใยต่อคู่กรณีทุนขนาดใหญ่ที่เป็นทุนไทยกับประชาชนในท้องถิ่นไม่ได้รับความสนใจมากนัก ทั้งที่พบเห็นได้ในหลายกรณี และสุดท้ายคือคู่กรณีระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งในประเด็นเรื่องการค้า การลงทุน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงเรื่องสิ่งแวดล้อมก็จะพูดถึงคู่กรณีนี้

ทั้ง 3 คู่กรณีนี้ ไม่ได้แยกจากกันเด็ดขาด และบางกรณีมีความทับซ้อนกันอยู่ ยกตัวอย่าง คู่กรณีระหว่างรัฐกับประชาชน เพราะรัฐเองไม่ได้เป็นตัวแทนคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน หลายครั้งนโยบายการพัฒนาทางเศรษฐกิจของรัฐตอบสนองกับคนบางกลุ่ม ชนชั้นบางชนชั้น และในบางกรณีรัฐก็ไม่ได้ทำตัวเป็นตัวแทนของประชาชน แต่เป็นตัวแทนให้กลุ่มทุน หรือกลุ่มทุนต่างชาติ ตรงนี้เป็นความขัดแย้งซึ่งทำให้ความพยายามแสวงหาความร่วมมือทำได้ยาก และเป็นประเด็นที่นำมาสู่ความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ของคนกลุ่มต่างๆ ด้วย

ในส่วนข้อเรียกร้อง พวงทองกล่าวว่า เวทีในวันนี้ต้องการผลักดันให้เกิดความร่วมมือกับรัฐ โดยข้อเรียกร้องที่เกิดขึ้นจะพูดว่าประชาชนไม่ได้มีความร่วมมือ หรือไม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจที่เป็นจริง รวมถึงไม่มีโอกาศในการตรวจสอบโครงการต่างๆ ที่ดำเนินอยู่และที่กำลังจะดำเนินต่อไป ตรงนี้กลายเป็นปัญหาใหญ่ ทำให้เห็นได้ว่าในที่สุดแล้วช่วงเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมาของความพยามยามผลักดันให้การมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งได้กลายเป็นอุดมการณ์สำคัญของภาคประชาชนที่พยายามผลักดันให้รัฐยอมรับ แต่ในที่สุดแล้วก็ยังไม่เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริง

ส่วนตัวมองว่า การมีส่วนร่วมในทรรศนของรัฐจะออกมาในรูปของการมารับฟังความคิดเห็น โดยบอกวาจะส่งต่อไปให้ที่ประชุมพิจารณา แล้วถือเป็นความก้าวหน้า แสดงถึงความใจกว้าง ทั้งที่จริงการรับฟังความคิดเห็นไม่ใช่แค่นี้ และหากมองเชิงรัฐศาสตร์ตรงนี้เป็นเรื่องความสัมพันธ์ของอำนาจแล้ว ประชาชนคือคนที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจอย่างแท้จริง แต่หน่วยงานรัฐคือผู้กุมอำนาจอย่างแท้จริงในการตัดสินใจ

“สิ่งที่พบคือโครงการจำนวนมากได้ถูกตัดสินไปแล้วว่าจะต้องดำเนินการ การรับฟังจากประชาชนเป็นแค่ขั้นตอนหนึ่งของการลดผลกระทบเท่านั้น แต่ไม่ใช่การรับฟังว่าจะเอาหรือไม่เอา ทำหรือไม่ทำดี” อาจารย์คณะรัฐศาสตร์วิเคราะห์ถึงสถานการณที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม กลไกของการมีส่วนร่วมและตรวจสอบอย่างแท้จริงยังคงเป็นสิ่งที่ต้องมีการต่อสู้ผลักดันกันต่อไป แม้จะมีความยากลำบากการที่ประชาชนจะเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างเท่าทันสถานการณ์ในการตัดสินในดำเนินโครงการต่างๆ ของรัฐ

พวงทองกล่าวถึงข้อเรียกเรียกร้องต่อมาว่า รัฐต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ในการมองปัญหา ต้องตระหนักว่าภาวะไร้สันติภาพหรือความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั้งในเชิงโครงสร้างและในเชิงกายภาพ หรือความไม่มั่นคงของมนุษย์นั้นเกี่ยวข้องกับปัญหาอื่นๆ ไม่ใช่เพียงเรื่องเฉพาะด้าน เช่น ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในภาคใต้หากมองเพียงว่าเป็นเรื่องของการเมืองจะไม่ช่วยแก้ปัญหา แต่อาจต้องมองถึงการแย่งชิงทรัพยากรในท้องถิ่น หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่าอาจไม่ได้มีเหตุผลจากความต้องการใช้ความรุนแรง แต่มาจากการลงทุนโดยประเทศไทยที่ต้องการแสวงหาความมั่นคงมทางพลังงาน ปัญหาเหล่านี่เกี่ยวพันไปถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนในด้านอื่นๆ

นอกจากนั้น การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ยังเกี่ยวของกับความเป็นมนุษย์ด้วย เพราะขณะที่อาเซียนพยายามสร้างประชาคมอาเซียน เป็นคนที่อยู่ในชุมชนเดียวกัน ส่งเสริมแนวคิดเป็นหนึ่งเดียว แต่ในทางปฎิบัติกลับแบ่งแยกผู้คนออกจากกัน มีการเลือกปฎิบัติต่อแรงงานข้ามชาติ นอกจากนี้ยังเลือกปฎิบัติต่อประชาชนของตนเองด้วย ไม่ว่าจะเป็นคนพิการ ผู้ติดเชื้อ หรือกลุ่มคนที่มีความมหลากหลายทางเพศ
 
ข้อเรียกร้องอีกข้อที่ พวงทอง กล่าวถึง คือ รัฐต้องมองความมั่นคงของมนุษย์ในองค์รวม โดยมนุษย์มีสิทธิเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ สามารถเลือกวิถีการดำเนินชีวิตของตนเองได้ ปราศจากการคุกคามจากรัฐ ได้รับความคุ้มครองสิทธิ หมายความว่าในโครงการใหญๆ ที่เปิดโอกาศให้มีการลงทุนที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการพัฒนามนุษย์ในด้านต่างๆ รัฐในอาเซียนจะต้องกล้าหยุดโครงการการลงทุนเหล่านี้ในประเทศเพื่อนบ้าน และตรงนี้เป็นประเด็นท้าทายสำหรับประเทศไทย เพราะการลงทุนของไทยในขณะนี้อยู่ในฐานะเป็นบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ในภูมิภาพที่เข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท