Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ไข้ปวดข้อยุงลาย หรือ ‘ชิคุณกุนย่า’ (Chikungunya) เกิดจากเชื้อไวรัส ที่มียุงลายสวนเป็นพาหะ ที่เน้นว่ายุงลายสวน เพราะจะเห็นระบาดมากในบริเวณจังหวัดภาคใต้ที่มีสวนยางจำนวนมาก และมีวิถีชีวิตคือออกไปกรีดยางในสวนแต่เช้ามืดจึงโดนยุงกัดได้ แต่ปัจจุบันพบผู้ป่วยได้ในทุกภาคของประเทศ 55 จังหวัด

รายงานจากสำนักระบาดวิทยาเมื่อต้นเดือนตุลาคม 52 พบว่า ตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา มีผู้ป่วยสะสมรวม 43,238 รายใน 55 จังหวัด ป่วยมากที่สุดที่นราธิวาส ภูเก็ต สงขลา ปัตตานี และยะลา
 
ช่วงแรกของการระบาดไม่มีใครรู้ตัว บางหมู่บ้านป่วยกันทั้งหมู่บ้าน จึงเริ่มมีเสียงเรียกร้องไปยังรัฐบาลว่าไม่ใส่ใจคนป่วยชาวบ้าน นราธิวาส ปัตตานี และสงขลา มีคนป่วยจำนวนมากมาตั้งแต่เดือนมกราคม จากนั้นพบว่ามีคนป่วยมากขึ้นสูงสุดในทุกจังหวัด ระหว่างเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับการพบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในไทยด้วย ภาพที่ปรากฎคือรัฐบาลให้ความสำคัญกับไข้หวัดใหญ่มาก แต่การระบาดของชิคุณกุนย่า ดูจะไม่ได้รับการใส่ใจเท่าที่ควร จึงเป็นเหตุให้มีการเรียกร้องรัฐบาลให้ใส่ใจมากขึ้น
 
การตั้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคไข้ปวดข้อยุงลายภาคใต้ ขึ้น  นับเป็นการตัดสินใจทางนโยบายที่ก้าวหน้ามากในเรื่องการกระจายอำนาจ โดยให้ศูนย์ฯแห่งนี้ดำเนินการเป็นอิสระจากส่วนกลางของกระทรวงสาธารณสุข โดยรัฐมนตรีได้แต่งตั้งให้ผู้ตรวจราชการเป็นประธานและมีองค์ประกอบคณะกรรมการ เป็นเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องใน 14 จังหวัดภาคใต้ และออกยุทธการ 90 วัน ภาคใต้ ร่วมใจต้านภัยไข้ปวดข้อยุงลาย ศูนย์ฯ ตั้งอยู่ที่จังหวัดตรัง และปฏิบัติการได้สำเร็จ ลดอัตราการระบาด และช่วยเหลือเยียวยาผู้ป่วยได้ก่อนการแข่งขันกีฬาแห่งชาติที่จังหวัดตรังในเดือนกันยายนที่ผ่านมา
 
ทั้งนี้ บทเรียนความสำเร็จคือ การกระจายอำนาจ การสร้างการมีส่วนร่วม การใช้ทรัพยากรร่วมกัน ทั้งจากของรัฐส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่น เอกชน และประชาชน ที่สำคัญคือกระจายอำนาจให้ตัดสินใจในระดับพื้นที่ การได้รับงบเฉพาะหน้าแก้ปัญหาอย่างรวดเร็วเป็นเม็ดเงินจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในระดับเขต(สปสช.เขต) หากรองบส่วนกลางอาจยังไม่ได้ทำอะไร และไม่มีงบเป็นเม็ดเงิน มีแต่ของที่ซื้อไว้เช่น น้ำยาพ่นยุง
นอกจากนี้ ยังมาจากการค้นหาวิธีการควบคุมการระบาดที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในการดำรงชีวิตของชาวบ้านในสวนยาง จากการเน้นการพ่นยากำจัดยุง การกำจัดลูกน้ำในแหล่งน้ำขัง ไปสู่การค้นหาผู้ป่วยให้เร็ว และป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัดอันจะส่งผลให้แพร่ไปยังคนอื่นๆ ด้วยการให้โลชั่นกันยุง มุ้งชุบน้ำยากันยุง และรณรงค์ให้ผู้ป่วยอยู่กับบ้านระหว่างที่ป่วย ทั้งนี้เพราะการพ่นยาเท่าไรก็กำจัดยุงไม่หมดในสวนที่กว้างใหญ่ เป็นการใช้งบที่มีอยู่อย่างไม่คุ้มทุน
 
เรื่องนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่สวน น่าจะมีบทเรียนว่า ควรซื้อโลชันกันยุงมากกว่าน้ำยาพ่น ขณะเดียวกัน
 
 การลดผลกระทบของผู้ป่วยและครอบครัวก็เป็นสิ่งที่การดำเนินการให้ความสำคัญ นั่นคือไม่ทำให้ผู้ป่วยถูกตีตรา แต่ให้อาสาสมัคร สถานีอนามัย โรงพยาบาล ร่วมมือกันออกเยี่ยมผู้ป่วย และไม่แสดงอาการรังเกียจ รวมถึงรักษาอาการให้เร็ว แม้หลายคนจะหายไข้แล้ว แต่อาการปวดข้ออย่างรุนแรงยังเกิดต่อเนื่องอีกหลายเดือนก็ต้องติดตามให้การดูแล
 
ปัจจุบันศูนย์ปฏิบัติการฯ ได้ปิดตัวเองไปแล้ว แต่ได้ให้บทเรียนการควบคุมโรคระบาดให้ได้ศึกษาและนำไปปรับใช้
 
ส่วนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ เริ่มต้นด้วยการตั้งคณะกรรมการระดับชาติ มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และเข้าสู่ช่วงของความสับสนอลหม่านของการเสนอข่าว ข้อมูลจากผู้รู้จำนวนมากทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านไข้หวัดใหญ่ ด้านโรคติดเชื้อ ด้านวัคซีน ด้านระบาดวิทยา ข้อมูลแต่ละวันจะเปลี่ยนแปลงไปตามจุดเน้นของผู้เชี่ยวชาญแต่ละราย ขึ้นกับว่าสื่อจะเอาไมค์ไปจ่อสัมภาษณ์ใคร
 
การรายงานช่วงแรกก็โชว์ภาพเครื่องเทอร์โมสแกนที่สนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ และสนามบินอื่นๆเช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต หาดใหญ่ เชียงราย แต่ที่สุดก็กั้นไม่อยู่ การรายงานตัวเลขผู้ป่วยเพื่อเน้นให้กลัว ตระหนัก ในการแพร่ระบาดยิ่งทำให้สังคมตื่นตระหนกไปตามๆ กัน จนล่าสุดหยุดรายงานตัวเลขคนตายแล้ว และดูจะเงียบๆ ไปในความหวือหวาของข่าว
 
ในท่ามกลางความเงียบนี้ เกิดอะไรขึ้นบ้าง คณะกรรมการฯระดับชาติมีการประชุมกันบ่อยแค่ไหน มียุทธศาสตร์หลักอย่างไร มีการบูรณาการทรัพยากรจากทุกภาคส่วนอย่างไร และมีผู้บัญชาการหลักที่เป็นอิสระในการควบคุมการระบาดอย่างไร คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณไปครั้งหนึ่ง 450 ล้านบาท ไม่รู้ว่านำไปทำอะไรบ้าง คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) อนุมัติเงินไป 850 ล้านบาท ให้ซื้อยาต้านไวรัส กับสั่งจองซื้อวัคซีนจากต่างประเทศ นอกนั้นไม่เห็นความก้าวหน้าใดๆ ที่จะรายงานให้ประชาชนรับทราบและมีส่วนร่วมได้ รวมถึงองค์การเภสัชกรรมก็สร้างข่าวรายวันว่า จะสามารถผลิตวัคซีนได้เองภายในกันยายน จนขณะนี้ก็ไม่ได้เรื่องอะไร
 
คำถามคือ การจัดการเรื่องการระบาดไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ของไทยมีประสิทธิภาพเพียงใด ทั้งการควบคุมการระบาด การสร้างระบบป้องกันตนเองของประชาชน การมีวิสัยทัศน์ว่าด้วยการเกิดขึ้นของโรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำอื่นๆ ที่จะเกี่ยวพันกันกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น ไข้หวัดนก โรคเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
 
รัฐบาลน่าจะต้องสรุปบทเรียนและวางแผนการจัดการการระบาดของโรคที่ชัดเจน และสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ดังเช่น ที่กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ออกมาทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์การป้องกันได้ดีทีเดียว (ถึงเวลาคนไทยใส่หน้ากากเข้าหากัน) และปล่อยให้ธุรกิจเอกชนอาศัยแอบโฆษณาแฝงสินค้าของตนด้วยข้อความเกี่ยวกับการป้องกันไข้หวัดใหญ่ฯมานาน ควรอาศัยทรัพยากรเอกชนมาช่วยได้มากกว่านี้
 
รวมถึงการให้ข้อมูลที่ถูกต้องในการป้องกัน กรณีการใส่หน้ากากนั้นควรเป็นเมื่อไรบ้าง ไม่ใช่ใส่ไปเรื่อยเปื่อยซึ่งไม่ช่วยป้องกัน ยังสร้างการตีตราและกีดกันเหมือนที่เป็นข่าวคนขับรถตู้ไล่ผู้โดยสารลงจากรถเหตุเพราะใส่หน้ากาก กว่าความเข้าใจที่ถูกต้องในการใส่หน้ากากจะเผยแพร่สาธารณะ คนก็ถูกตีตราไปแล้ว
 
การตัดสินใจเรื่องการรู้เร็ว รักษาเร็ว ก็ดำเนินการช้ามาก อันเนื่องมาจากความเชี่ยวชาญนั่นเอง ที่กลัวว่าจะเกิดการดื้อยา ระยะแรกการรักษาช้ามาก คนป่วยไปถึงโรงพยาบาลแล้วยังไม่ได้รับการรักษาด้วยยา เพราะต้องรอผลแลป ทำให้เกิดกรณีตายในคนที่ไม่น่าจะตายได้
 
ซึ่งกรณีนี้สำคัญตรงที่ว่า ใครควรเป็นผู้ร่วมตัดสินใจนโยบายการรักษาบ้าง และการกระจายข้อมูลข่าวสารให้หมอในโรงพยาบาลให้ตระหนักและพัฒนาศักยภาพในการวินิจฉัยให้เร็ว การออกแนวทางปฏิบัติโดยเร็ว เหล่านี้เป็นเรื่องต้องคำนึง แม้ว่าโรคอุบัติใหม่นี้ เราไม่มีองค์ความรู้อยู่เดิมมากนัก ต้องเผชิญไปแก้ปัญหาไปก็ตาม
 
ถึงเวลาหรือยังที่จะต้องมีการตั้งหน่วยงานอิสระเพื่อการเผชิญภาวะโรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ ที่เป็นความร่วมมือบูรณาการจากหลายหน่วยงาน และมีอำนาจดำเนินการได้อย่างอิสระ รวดเร็ว พร้อมทั้งมีงบประมาณสำรองมากเพียงพอในการดำเนินการ ดังเช่น ชิคุณกุนยา ที่ดำเนินการเป็นต้นแบบมาแล้ว
 
การกระจายอำนาจการบริหารจัดการควบคุมโรคในระดับพื้นที่ก็เป็นสิ่งที่น่าดำเนินการ กรณีนี้ไข้หวัดใหญ่ฯ กำลังระบาดในเมืองใหญ่ๆ ทั่วประเทศ และขยายเข้าสู่พื้นที่ชนบทมากขึ้น
 
รายงานล่าสุดเมื่อ 14 ตุลา 52 จังหวัดที่มีอัตราป่วยสะสมต่อประชากรแสนคนนั้น เป็นจังหวัดใหญ่และเป็นจังหวัดแหล่งท่องเที่ยว เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต กระบี่ ขอนแก่น เชียงราย ลำพูน สงขลา นครนายก เป็นข้อสังเกตหนึ่งที่ได้ฟังรองสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่พูดว่า เชียงใหม่อัตราป่วยสูงขึ้นทุกครั้งหลังจากเทศกาลวันหยุดยาว เพราะเชื้อไข้หวัดใหญ่ทั่วประเทศหลั่งไหลไปเยี่ยมหลินปิง นี่ก็หน้าหนาวแล้ว ไข้หวัดนกก็ระบาดอีก
 
ไข้หวัดคนกับไข้หวัดสัตว์ จะเจอกันแถวสวนสัตว์เชียงใหม่ไหมหนอ ไม่กล้าแม้จะคิด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net