Skip to main content
sharethis

16 ต.ค. 52 น.ส.ศรีประภา ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 ต.ค.ที่ผ่านมา ให้เป็นผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

โดยนางสาวศรีประภา เพชรมีศรี อาจารย์ประจำศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงการได้รับตำแหน่งผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน โดยมีวาระการทำงาน 3 ปี ซึ่งเป็นไปตามกฎบัตรอาเซียนในการจัดตั้งกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียน และในฐานะที่ไทยเป็นเจ้าภาพและเหลือเวลาเพียง 2 เดือน ก่อนจะส่งไม้ต่อไปยังประเทศเวียดนาม จึงค่อนข้างหนักใจเพราะเวลาค่อนข้างน้อยมากและเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ แต่มีสิ่งที่ตั้งใจจะทำใน 2 เรื่อง ประกอบด้วยการจัดประชุมเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนในช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียนอยู่ โดยจัดในรูปแบบไม่เป็นทางการระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน

ส่วนที่ 2 คือการวางพื้นฐานการทำงานของกรรมาธิการชุดนี้ เพราะอยากทำความเข้าใจระหว่างสมาชิกกรรมาธิการด้วยกัน เนื่องจากวิธีคิดของบางประเทศในอาเซียนยังรู้สึกว่า กลไกนี้ต้องปกป้องรัฐบาลด้วย แต่ถ้าอย่างน้อยได้ปรับความเข้าใจร่วมกันในระดับหนึ่งก็ถือว่าน่าพอใจ
 
นอกจากนี้ ในการสื่อสารกับภาคประชาสังคม น่าจะมีกรรมาธิการเป็นตัวเชื่อมโยงรัฐกับประชาชน และเป็นช่องทางสะท้อนเสียงประชาชนมากขึ้น เปิดการพูดคุยพบปะกับประชาชนให้มากที่สุด
 
น.ส.ศรีประภา กล่าวด้วยว่า ในระหว่างที่ทำหน้าที่กรรมาธิการ คาดหวังว่าจะเห็นความก้าวหน้าและพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคอาเซียน สามารถที่จะไปดูแลปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศสมาชิก รวมถึงการรับเรื่องร้องเรียน เพราะการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องสำคัญ
 
เมื่อถามว่า เห็นว่าปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนมีเรื่องใดสำคัญ น.ส.ศรีประภา กล่าวว่า มีหลายเรื่อง แต่เรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นก็เป็นปัญหาสำคัญในอาเซียน รวมทั้งปัญหาเศรษฐกิจสังคม เช่น คนไม่มีงานทำ คนต้องออกจากงาน รวมทั้งปัญหาภัยธรรมชาติ ที่กระทบสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่เพียงการประท้วงบนถนน งานสิทธิมนุษยชนไม่สามารถจัดลำดับว่า เรื่องใดสำคัญมากหรือแย่มากกว่าเรื่องอื่นเพราะทุกเรื่องสำคัญเท่ากันหมด
 
เมื่อถามว่าจะมีการนิยามคำว่าสิทธิมนุษยชนหรือไม่ น.ส.ศรีประภา กล่าวว่า จะพยายามไม่นิยาม เพราะถ้าเริ่มต้นนิยาม ในที่สุดจะตกหลุมคำนิยาม และอาจจะไม่สอดคล้องกับความเข้าใจในระดับสากล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net