Skip to main content
sharethis

วงเสวนา "สื่อเก่า-สื่อใหม่กับการพัฒนาประชาธิปไตย" บล็อกเกอร์คนชายขอบเสนอสื่อเก่าต้องปรับตัวมากขึ้น เพราะโลกอินเทอร์เน็ตไม่ต้องกลั่นกรองเนื้อหาก่อนนำเสนอ และไม่ต้องอาศัยความเป็นมืออาชีพ ด้าน ผอ.เว็บ SIU เชื่อถึงยุค 3G ของไทยเมื่อไหร่ สื่อใหม่จะมีอิทธิพลมากขึ้น

เครือข่ายพลเมืองเน็ตจัดเสวนาหัวข้อ "สื่อเก่า สื่อใหม่ กับพัฒนาการประชาธิปไตย" ในโครงการนักศึกษาแกนนำเพื่อพัฒนาสื่อและสังคม ณ ห้อง GM Hall ศศนิเวศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 16 ต.ค. ที่ผ่านมา 

กานต์ ยืนยง ผู้อำนวยการ Siam Intelligence Unit www.siamintelligenceunit.com กล่าวว่า ขณะนี้สื่อใหม่ยังไม่ใช่พลังหลักที่จะขับเคลื่อนสังคมให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากสื่อใหม่มีพื้นฐานอยู่บนอินเทอร์เน็ต ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยมีอัตราการเข้าถึงอยู่ไม่เกิน 20% ของประชากรทั้งหมด นั่นคือ เราอาจสร้างเว็บบล็อก รณรงค์ผ่านอินเทอร์เน็ตได้ แต่จะมีคนที่เข้าถึงได้เพียง 20% และส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้ในกรุงเทพฯ เป็นหลัก
 
อย่างไรก็ตาม เขามองว่า สื่อใหม่อาจเป็นพลังรองให้สื่อหลักนำไปเล่นต่อ โดยยกตัวอย่างกรณีมีข้อความจากทวิตเตอร์ของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีโต้กับทักษิณ ชินวัตร ประชาชนจะรู้เรื่องนี้เมื่อสื่อหลักรายงานข่าวซ้ำอีกที ดังนั้น หากจะขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม เขาจะไม่ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นหลัก แต่จะขับเคลื่อนทางสื่อหลักอื่นๆ ไปพร้อมกัน
 
กานต์ กล่าวถึงสถานการณ์ของสื่อกระแสหลักในประเทศที่พัฒนาแล้วว่า มีสื่อสิ่งพิมพ์เริ่มปิดตัวลง อาทิ Far Eastern Economic Review, Business Week เพราะเงินโฆษณาเทไปที่สื่อทางเลือกมากขึ้น และด้วยความที่สื่อทางเลือกมีต้นทุนต่ำ และมีการทำงานแบบนักข่าวพลเมือง ทำให้ต้นทุนยิ่งลดลง ขณะที่รายได้ก็เข้ามามากขึ้น ทำให้สื่อหลักเองอยู่ยากขึ้นทุกวัน
 
อย่างไรก็ตาม เขามองว่า หากในประเทศไทย มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่าง 3G ประสบความสำเร็จ จะทำให้เข้าถึงสื่อใหม่ได้ดีขึ้น อีกทั้งโทรศัพท์มือถือก็เข้าถึงผู้ใช้สูงกว่าคอมพิวเตอร์ ถึงตอนนั้น อิทธิพลของสื่อใหม่จะมีสูงมากขึ้น และสถานการณ์แบบในต่างประเทศก็จะเกิดในประเทศไทยเช่นกัน
 
ขณะที่ สฤณี อาชวานันทกุล บล็อกเกอร์คนชายขอบ fringer.org และคอลัมนิสต์ มองว่า แม้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจะน้อย แต่ข้อเท็จจริงคือ อัตราการเข้าถึงไม่ลดลงแน่นอน นอกจากนี้ จะเห็นว่า ปัจจุบันสื่อหนังสือพิมพ์เริ่มกังวลกับการเติบโตของสื่อทางเลือก แม้ว่าสื่อทางเลือกจะยังไม่โตนัก และเราก็จะเห็นได้ด้วยว่า ขณะนี้การทำข่าวของสื่อหลักปัจจุบันก็ทำข่าวโดยอาศัยข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตมากขึ้น
 
สฤณี กล่าวว่า ในอนาคต เราจะเห็นระบบนิเวศน์แบบใหม่ ซึ่งฟังก์ชั่นของสื่อหลักในอดีตอาจเหมือนเดิม แต่วิธีทำงานและรูปแบบต้องเปลี่ยนไป โดยมีสองเรื่องหลักคือ หนึ่ง การทำหน้าที่เป็นผู้เฝ้าประตู หรือ gatekeeping ของสื่อหลักจะล้าสมัย สื่อหลักมีมายาคติว่า สื่อจะต้องมีการกลั่นกรองข้อมูลก่อนนำเสนอ ว่าอะไรเป็นข่าวไม่เป็นข่าว ไม่เช่นนั้นจะไม่น่าเชื่อถือ แต่ในอินเทอร์เน็ต เวลาที่เราส่งข้อความผ่านทวิตเตอร์ เราไม่ได้คิดแบบนั้น ความหมายของอินเทอร์เน็ตไม่ใช่การถ่ายทอดสด หรือ boardcasting ที่เป็นการสนทนาด้านเดียว แต่เป็นการสื่อสารแบบ private-mass ที่เราไม่ได้พูดให้มวลชนฟัง เราพูดให้กลุ่มเราฟัง แต่ก็มีคนอื่นได้ยินด้วย
 
บล็อกเกอร์คนชายขอบ เล่าว่า จุดนี้เองสื่อหลักก็พยายามปรับตัว เช่น สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น ที่มีกล่องซึ่งลิ้งค์ไปยังเว็บบล็อกที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับข่าวนั้นๆ โดยเลือกจากบล็อกที่มีจำนวนผู้เข้าชมสูง นั่นแปลว่า สื่อหลักก็ยอมรับว่า การเลือกอ่านบล็อกใดๆ ของคนเล่นเน็ต มีสติปัญญา มีความหมายระดับหนึ่ง แม้จะเสี่ยงว่า ข้อมูลในบล็อกนั้นอาจผิด แต่การที่ซีเอ็นเอ็นยอมรับก็ถือเป็นสัญญาณที่ดี
 
สอง คือเรื่องของความเป็นมืออาชีพ สมัยก่อน สื่อหลักบอกว่า ตัวเองมีทักษะในการอ่าน-เขียน-ทำข่าว และกรอง ดังนั้นแล้วต้องมีกฎหมายที่คุ้มครองสื่อ เพราะสังคมให้คุณค่ากับหน้าที่นี้
 
ขณะที่สื่อใหม่นั้นเป็นการคุยกันเอง เช่น ถ้าเขียนบล็อกเรื่องโดราเอมอนลดราคาที่เดอะมอลล์ ถือว่าเป็นข่าวหรือไม่ สำหรับคนที่สนใจ การลดราคานี้ถือว่าเป็นข่าว ถามว่า หากมีคนอ่านสิบคน เป็นข่าวหรือไม่ คำตอบก็คือเป็น แต่แน่นอนเรื่องนี้อาจจะไม่เป็นข่าวสำหรับสื่อหลัก ดังนั้นจะเห็นว่า ความเป็นมืออาชีพถึงจุดหนึ่งมันผูกโยงกับพื้นที่ที่จำกัดและความไม่กระจายของสื่อ รวมถึงความน่าเชื่อที่สะสมผ่านกาลเวลา ขณะที่สื่อใหม่ไม่มีเจตนาเป็นมืออาชีพ แต่เป็น private-mass communication ไม่ได้เขียนเพื่อคนทั่วโลก แต่เขียนให้เพื่อนอ่าน เป็นบทสนทนาส่วนตัว ซึ่งปรากฎในโลกที่คนหกร้อยล้านคนเข้าถึงได้
 
สฤณียกตัวอย่างของบล็อกเกอร์คนไทยที่ใช้ชื่อว่า "gnarlykitty" ซึ่งโดยปกติเขียนเรื่องเกี่ยวกับแฟชั่นลงในบล็อกของเธอที่ blogspot แต่ในวันที่เกิดรัฐประหาร เธอได้เขียนบล็อกเรื่องรัฐประหาร ประกอบกับที่เธอเขียนเป็นภาษาอังกฤษ ทำให้สื่อหลักของต่างประเทศมาเจอเร็วขึ้นและนำไปเผยแพร่ ทั้งยังเป็นช่องทางให้สื่อต่างประเทศเหล่านั้นไปเจอรูปถ่ายรถถังในบล็อกอื่นๆ ด้วย และหลังจากนั้น เธอก็กลับไปเขียนเรื่ื่องแฟชั่นตามเดิม นี่คือธรรมชาติ นั่นคือในเวลาปกติ อาจจะมีคนสนใจแฟชั่นอ่านบล็อกของเธอร้อยคน แต่เมื่อเขียนเรื่องรัฐประหารที่มีคนสนใจมากกว่า คนก็จะหาเรื่องนั้นเจอ ได้รับการเผยแพร่และสื่อหลักเอาไปใช้
 
อย่างไรก็ตาม เธอบอกว่า ส่วนตัวไม่ได้เชื่อว่าอนาคตจะมีแต่สื่อใหม่ แต่จะมีการจัดความสัมพันธ์กันใหม่ จากป่าดงดิบอาจจะเป็นป่าร้อนชื้นที่อากาศดีขึ้นมีต้นไม้หลากหลายกว่าเดิม ต้นไม้ใหญ่อาจจะต้องปรับตัวที่จะอยู่กับต้นไม้เล็กๆ ไม่เช่นนั้นก็จะเน่าไป
 
สฤณี เสนอให้สื่อหลักปรับตัว โดยเมื่อมีคนทำได้ดีกว่า เร็วกว่า อาจต้องปรับตัวไปเป็นบรรณาธิการ หันไปทำข่าวเจาะ ซึ่งไม่ง่ายสำหรับคนธรรมดา เพราะต้องใช้ทักษะ ความสามารถ และการมีเครือข่ายของสื่อกระแสหลัก โดยอาจใช้โมเดลของ propublica.org ซึ่งเป็นสื่อที่มารวมตัวกัน ขอเงินทุนจากแหล่งทุนใหญ่ เพื่อทำข่าวเจาะที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net