Skip to main content
sharethis

 

 
 
 
 
18 ต.ค.52 - วันแรกของเวทีมหกรรมประชาชนอาเซียน ครั้งที่ 2 และการประชุมภาคประชาสังคมอาเซียน ครั้งที่ 5 ภายใต้ชื่อ “พัฒนาวาระของอาเซียนภาคประชาชน: สานต่อการหารือร่วมระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน” ระหว่างวันที่ 18-20 ต.ค.52 ณ ห้องประชุมเพชรบุรีแกรนด์ฮอลล์ โรงแรมฮอลลิเดย์อินน์ รีเจนท์ ชะอำ จ.เพชรบุรี
 
เปิดงานด้วยการแสดง “ความเป็นหนึ่งเดียวกันของภูมิภาคอาเซียน” โดยกลุ่มเยาวชนอาเซียน เพื่อแสดงถึงการรวมตัวจากหลากหลายที่มา เปรียบเสมือนสายน้ำที่มีความหลากหลายซึ่งไหลมารวมเป็นแม่น้ำสายเดียวกัน การจับมือของเยาวชนภายใต้โลกาภิวัตน์เป็นพลังเพื่อขับเคลื่อนอาเซียนสู่อนาคต จากนั้นเป็นการเดินขบวนและถือป้ายเรียกร้องในประเด็น ที่เยาวชนต้องการให้ภาครัฐมาช่วยดูแลปัญหา อาทิ การประกาศเขตการค้าเสรี สิทธิมนุษยชน สันติภาพ ชาติพันธุ์และความหลากหลายทางวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม โดยเรียกร้องการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้มีการรับฟังเสียงประชาชน มีความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม และความเท่าเทียมระหว่างหญิงชาย โดยจะติดตามผลงานของอาเซียนต่อไป
 
การประชุมในช่วงเช้า เป็นการรายงานความคืบหน้าล่าสุดของอาเซียนกับภาคประชาสังคม ซึ่งตามกำหนดการมีชื่อของสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน แต่ได้รับแจ้งว่าไม่สามารถมาร่วมเวทีได้
 
คอรินา โลปา จาก South East Asia Committee for Advocacy (SEACA) and Solidarity for Asian People’s Advocacies (SAPA) กล่าวว่า เราจะพยายามตอบคำถามการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เพื่อที่จะให้ประชาสังคมนั้นเป็นศูนย์กลางการพัฒนา ทั้งนี้ ตอนนี้มีปัญหาหลายอย่างเกิดขึ้น โดยที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ภาคประชาชนถูกละเลยมานาน ดังนั้น เราจึงมาจัดทำนโยบายร่วมกับภาคประชาชน โดยสร้างเครือข่ายเอ็นจีโอและเครือข่ายต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการก่อการร้าย การเปิดเขตการค้าเสรี (FTA) การอพยพของประชาชน
 
อย่างไรก็ตาม คอรินา กล่าวย้ำว่า รัฐบาลอาเซียนไม่ใช่ศูนย์กลาง แต่ประชาชนคือศูนย์กลางของอาเซียน ในการดำเนินงานของอาเซียนเองก็ไม่ได้เป็นไปเพื่อมุ่งเรื่องการแข่งขัน แต่จะเป็นการผนึกกำลัง เราจึงพยายามแสวงหาประชาธิปไตยในประเทศอาเซียนและสันติภาพ ทั้งนี้ องค์กรที่ทำงานอยู่นี้ก็พยายามที่จะโอบอุ้มความต้องการต่างๆ ของประชาชน
 
ในเรื่องการตัดสินใจของประเทศ แต่ละประเทศต่างมีข้อจำกัด แต่การทำงานแบบภูมิภาคจำเป็นต้องมีการสร้างแรงจูงใจ ทำงานเชิงรุก มีการเจรจาต่อรอง หน้าที่ของเราต้องทำให้อาเซียนเป็นประชาธิปไตย ประชาชนมีสิทธิมีเสียงในการพัฒนา เราต้องขอเรียกพื้นที่ เรียกสิทธิของเราคืนมา ให้เรามีส่วนร่วม ไม่ใช่ถูกผลักดันออกไป นอกจากนี้ เราต้องผลักดันเรื่องกลไกต่างๆ ที่อาเซียนมีความรับผิดชอบ
 
วันนี้มีประชาสังคม มีภาครัฐบาลที่เห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมของภาคประชาน เราเองก็ต้องรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการทำงานประเด็นต่างๆ เช่นกัน
โดยวันนี้เราได้ทำงานมาถึงระดับที่ทำให้อาเซียนมีกลไก และประเด็นต่างๆ ที่สามารถทำให้เกิดการถกเถียงกันได้ในระดับอาเซียน ในการทำงานของภาคประชาชนร่วมกับอาเซียน ประชาชนต้องมีจุดยืนที่แข็งขัน ต้องผลักดันเพื่อให้ภาครัฐปกป้องคุ้มครองอธิปไตยในการทำงานของกลุ่มประชาชนด้วย
 
สำหรับการประชุมคู่ขนานเวทีอาเซียนหรือ ACSC เป็นความคิดของรัฐบาลมาเลเซียที่จะให้ประชาสังคมมีส่วนร่วมในโดยให้เวลา 15 นาที ซึ่งผู้นำประเทศอื่นก็สนับสนุน และมีการจัด ACSC ต่อมาที่ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทยตามลำดับ
 
คอรินา กล่าวว่า เราพูดเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาสังคมในวันนี้ว่าเป็นการสานเสวนาและปฏิสัมพันธ์ของประชาชนและภาครัฐ อย่างไรก็ตาม สำหรับรัฐเองการสานเสวนาและปฏิสัมพันธ์นี้กลับเป็นทางเลือกว่า อยากมาหรือไม่อยากมาร่วมมากกว่า ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ จะเป็นการจบเสวนาที่ไม่มีผลอะไร
 
ในการนิยามความหมายคำว่าประชาสังคมว่าเป็นใครนั้น โดยปกติแล้วเราหมายถึง หน่วยงานเอ็นจีโอต่างๆ หรือผู้คนระดับรากหญ้า ที่ไม่ได้ทำงานภาครัฐ ทั้งนี้ ประชาสังคมเป็นลักษณะการทำงานที่เป็นกลุ่มก้อนของประชาชน ดังนั้น ความคิดเรื่องที่ว่าอาเซียนจะส่งเสริมการผนึกประชาชนอาเซียนให้เป็นหนึ่ง ทั้งในการทำงานร่วมระหว่างภาคประชาชนกับภาครัฐ จึงอยากเสนอทางเลือกทางหนึ่งว่า ต้องเน้นประชาชนที่มีอยู่มากมายในภูมิภาคนี้ให้เป็นศูนย์กลางในการทำงานทุกเรื่อง ไม่ว่าเรื่องนโยบายและการสานเสวนา
 
ชนิดา จรรยาเพศ แบมฟอร์ด จากโครงการศึกษาและปฏิบัตงานการพัฒนา หรือ FOCUS กล่าวว่า แม้ว่าอาเซียนจะก่อตั้งมา 40 ปีแล้ว แต่ประชาสังคมไทยไม่ได้มีส่วนร่วมกับอาเซียนมากนัก คนเดินถนนก็ไม่มีใครรู้จักอาเซียนเลย แต่เมื่ออาเซียนพูดถึงเรื่องการร่างกฎบัตรอาเซียน ประชาสังคมไทยจึงเริ่มจับตาว่า อาเซียนจะทำอะไร เพราะการร่างกฎบัตรของภูมิภาคเปรียบได้กับการร่างรัฐธรรมนูญของประเทศ ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านมาของประเทศไทย เกิดความขัดแย้งในการร่างรัฐธรรมนูญ เพราะประชาชนไม่มีส่วนร่วม เราไม่อยากถูกบังคับให้รับรัฐธรรมนูญ
 
ชนิดา เล่าว่า เมื่ออาเซียนเริ่มร่างกฎบัตร โดยแต่งตั้งคน 10 คนเพื่อร่างกฎบัตรที่จะมีผลกระทบต่อคนห้าร้อยล้านคน ไทยกังวลมาก เพราะการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญสำคัญกับเรามาก จึงเริ่มตั้งคำถามว่า กฎบัตรนี้จะทำอะไร จะเหมือนการตกลงก่อนหน้านี้ที่อาเซียนทำไว้และปฎิบัติตามบ้างไม่ปฎิบัติตามบ้างหรือไม่ สุดท้าย แม้เราจะได้เข้าไปมีส่วนร่วมเสนอข้อเสนอต่อการร่างกฎบัตร แต่เราก็ยังช้า เพราะเขาเขียนเสร็จในหนึ่งปี
อย่างไรก็ตาม เธอแสดงความเห็นว่า เมื่อดูกฎบัตรก็พบว่าไม่ได้แย่อย่างที่คิด เพราะมีหลักการดีๆ อย่างสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย การพัฒนายั่งยืนเขียนไว้ ซึ่งประชาสังคมไทยจะพยายามทำสิ่งที่เราเคยทำกับรัฐบาล คือทวงถามให้ทำตามสิ่งที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งนี่เป็นเหตุผลที่จัดการประชุมคู่ขนานนี้ขึ้น
 
ชนิดา กล่าวถึงการประชุมภาคประชาสังคมอาเซียน หรือ ACSC ซึ่งเวียนมาถึงไทยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า แม้ว่าจะเป็นครั้งที่ 4 แล้ว แต่สำหรับประเทศไทย คำว่า ภาคประชาสังคม ยังไม่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปนัก โดย คำที่มักใช้กันคือ "ประชาชน" อย่างที่พูดกันว่า อาเซียนเป็นของประชาชน ดังนั้น ในไทยจึงจะเรียกว่า เป็นมหกรรมอาเซียนประชาชน เพราะจะเข้าใจง่ายกว่า ว่าเป็นการสนทนาของประชาชนต่อประชาชน มาพูดคุยมีเวิร์คชอป โดยหลังการประชุม เราได้มีแถลงการณ์ค่อนข้างยาวเพื่อรวมประเด็นที่กังวล และได้นำเสนอต่อผู้นำอาเซียนในการพบปะระหว่างกัน โดยใช้เวลาครึ่งชั่วโมง จุดนี้เองทำให้เห็นว่า อย่างน้อยอาเซียนเองมีความก้าวหน้าในการตอบรับต่อคำเรียกร้องของประชาสังคมที่ให้มีการเปิดพื้นที่ให้ประชาสังคมมีส่วนร่วมมากขึ้น ซึ่งสำหรับการประชุมครั้งที่ 2 นี้ก็อยากเห็นการเพิ่มพื้นที่ให้มากกว่าเดิม เพื่อพูดคุยกันในประเด็นเศรษฐกิจ สังคม-วัฒนธรรม ความมั่นคงและการเมือง รวมถึงอยากให้เพิ่มเรื่องของสิ่งแวดล้อมซึ่งสำคัญต่ออนาคตอาเซียนอย่างมากเข้าไปด้วย
 
ขณะที่ ดร.ลอย ทรานห์ ดัก จากมูลนิธิสันติภาพและการพัฒนาแห่งเวียดนาม กล่าวว่า เป้าหมายของอาเซียนในการสร้าง “ประชาคมอาเซียน” อีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะเกิดขึ้นได้ยากหากไม่มีความร่วมมือของประชาชน พลังของประชาชนเป็นสิ่งที่ไม่สามารถมองข้ามได้ และจะเป็นพลังที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคอาเซียน แต่พลังนี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อคนสามารถรวมตัวกัน และเมื่อรวมกันเป็นเอกภาพได้ก็ไม่มีใครที่จะไม่ฟังพวกเรา
เขากล่าวเสริมว่า พลังของประชนจะมีประสิทธิภาพ หากมีความมุ่งมั่นชัดเจน ทั้งนี้ จะต้องถามตัวเองว่าต้องการอะไรจากความร่วมมือ จะกระตือรือร้นในการเข้าร่วมขับเคลื่อนหรือเป็นเพียงผู้เฝ้ามอง มีอีกหลายอย่างที่ต้องทำให้ชัดเจน นอกจากนี้สิ่งสำคัญคือบทบาทในกระบวนการส่งเสริมความเป็นเอกภาพคืออะไร เมื่อรัฐประชุมเป็นร้อยๆ ครั้ง ต่อปี แต่สำหรับภาคประชาชนเองไม่ควรแข่งขันที่จะมีการประชุมมากครั้งเช่นนั้น แต่จะทำอย่างไรเพื่อสร้างความเข้าใจต่อกันให้มากขึ้น สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียว เป็นมิตรกัน สร้างความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นกว่าภาคประชาสังคมนอกภูมิภาคอย่างไร
 
ทั้งนี้ ส่วนประกอบสำคัญคือประชาชนที่มีความเป็นเอกภาพนั้น ควรรวมจากระดับรากหญ้าแล้วขึ้นมาเป็นระดับประเทศ ถ้าทำได้จะทำให้สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมกับอาเซียน เพื่อทำให้ประเด็นที่ขับเคลื่อนมีความก้าวหน้ามากขึ้น และไม่ควรจำกัดตัวเอง แต่ควรมีความสัมพันธ์กับกระบวนการอื่นๆ ถ้าทำได้จะช่วยเพิ่มพลังมากขึ้น
 
ดร.ลอย กล่าวว่า จุดประสงค์เป้าหมายมีผลต่อการเข้ามามีส่วนร่วมของผู้คน วิธีการที่ดี ผู้นำที่ดี องค์กรที่ดี เหล่านี้มีส่วนสำคัญในการผนึกคนมาร่วมกัน รวมทั้งประสานงาน ร่วมมือเป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อให้เป้าหมายประสบความสำเร็จ ทั้งนี้เห็นด้วยกับการให้ความสำคัญในการทำงานระดับท้องถิ่น ภายในประเทศของตนเอง แม้ความร่วมมือระดับประเทศสร้างความเข้มแข็งในการต่อสู้ แต่ไม่สามารถทดแทนภารกิจในประเทศได้ ดังนั้นการเริ่มจากข้างล่างขึ้นข้างบนเป็นสำคัญ
 
ตัวแทนจากภาคประชาสังคมของเวียดนามกล่าวถึงการเป็นเจ้าภาพประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนของประเทศเวียดนามครั้งต่อไป ในปี 2010 ด้วยว่า รัฐบาลเวียดนามจะมีการนำเสนอในเวทีประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่จะจัดขึ้นที่ประเทศไทย ในระหว่างวันที่ 23-25 ต.ค.ที่จะถึงนี้ ว่าจะมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง ซึ่งคาดว่าจะเป็นการเปลี่ยนภาพที่เห็นอยู่ให้เกิดเป็นการปฏิบัติ นอกจากนี้ยังต้องการเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมให้มากขึ้น และมีการประสานงานที่กว้างขวางขึ้นด้วย
 
เขากล่าวด้วยว่า อาเซียนไม่ได้เป็นเกาะที่อยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่มีความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ แต่จะขับเคลื่อนได้จะต้องมีความเป็นเอกภาพภายในภูมิภาค โลกาภิวัตน์ทำให้ประชาชนห่างเหินจากกัน ซึ่งในยุโรปก็มีการต่อสู้ในเรื่องนี้ ควรให้มีการร่วมกลุ่มในภูมิภาค รวมกลุ่มของประชาชน ยกตัวอย่างการร่วมกลุ่มของประเทศในลาตินอเมริกาที่ช่วยเหลือกันอย่างมีเอกภาพ ซึ่งเขาสนับสนุนให้มีการสร้าง “ภูมิภาคประชาชน”
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net