Skip to main content
sharethis
 
 
 
 
เวทีมหกรรมประชาชนอาเซียน ครั้งที่ 2 และการประชุมภาคประชาสังคมอาเซียน ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 18-20 ต.ค.52 ณ ห้องประชุมเพชรบุรีแกรนด์ฮอลล์ โรงแรมฮอลลิเดย์อินน์ รีเจนท์ ชะอำ จ.เพชรบุรี องค์กรจากประเทศอาเซียน 5 ชาติ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย พม่า ฟิลิปปินส์และไทย โดยได้หยิบยกประเด็นปัญหาของพื้นที่ๆ มีความขัดแย้งของชนกลุ่มน้อยมาหารือกัน
 
นายศราวุธ ศรีวรรณยศ ประธานสภาองค์การมุสลิมแห่งประเทศไทย กล่าวว่าการจัดประชุมครั้งนี้เกิดขึ้นโดยองค์กรภาคประชาชนในอาเซียน เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมและสันติภาพ โดยมีองค์กรจากประเทศอาเซียน 5 ชาติ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย พม่า ฟิลิปปินส์และไทย โดยได้หยิบยกประเด็นปัญหาของพื้นที่ๆ มีความขัดแย้งของชนกลุ่มน้อยยกขึ้นมาร่วมกันพิจารณา 3 พื้นที่ด้วยกัน คือ โรฮิงยา ในรัฐอารากันของพม่า ซึ่งประสบปัญหาอย่างหนักจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิเสธการเป็นพลเมืองจากรัฐบาลพม่า เช่นเดียวกับชนกลุ่มน้อยกลุ่มอื่น ที่ต้องเร่ร่อนออกนอกประเทศ ไม่สามารถประกอบอาชีพ เป็นของตนเองได้ ทำให้เกิดปัญหาชาวเรืออพยพ หรือ BOAT PEOPLE ไปทั่วในอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อินโดนีเซีย มาเลเซีย
 
เขากล่าวว่า ข้อเรียกร้องของชาวโรฮิงญาก็คือ สิทธิการเป็นพลเมืองของชนชาติ และการเข้าไปมีส่วนร่วมพัฒนาประชาธิปไตยในพม่า ที่ประชุมได้เห็นว่า สิ่งเหล่านี้คือ สิทธิขั้นพื้นฐานชาวโรฮิงญาซึ่งสมควรที่จะได้รับในฐานะเป็นพลเมืองของประเทศ เช่นเดียวกับคนส่วนใหญ่ในพม่าที่นับถือศาสนาพุทธหรือเช่นเดียวกับชนกลุ่มน้อยกลุ่มอื่นๆโดยพื้นฐานที่จะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่มีการรังเกียจเดียดฉันท์ คิดว่าผู้นำรัฐบาลอาเซียน จะต้องนำข้อเรียกร้องนี้ไปสู่รัฐบาลพม่าต่อไป
 
“ส่วนในบ้านเรา การใช้กฎหมายที่ก่อให้เกิดความรุนแรง ด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางในภาคใต้ นำไปสู่การต่อต้านซึ่งเกิดขึ้นมาจากกลุ่มที่ไม่พอใจ ในการที่รัฐใช้ความรุนแรง คนบริสุทธิ์ส่วนมากถูกพาไปกักขัง ทำให้ต้องสูญเสียอิสรภาพ อาชีพ และอนาคต คนนับพันถูกขัง โดยไม่มีการสืบสวนและตั้งข้อหา บางคนถูกทรมาน แม้ปัจจุบันทางเจ้าหน้าที่จะรับสารภาพว่า ปฏิบัติการดังกล่าวจะลดน้อยลงแล้วก็ตาม เราจะเห็นได้ว่าการส่งเสริมกฎอัยการศึกในพื้นที่ของความขัดแย้งเป็นผิดพลาดที่สำคัญ ซึ่งเราอยากจะเห็นการยกเลิกทั้งหมด เพื่อให้เกิดแนวทางแก้ไขในเชิงสันติวิธี” นายศราวุธกล่าว
 
ประธานสภาองค์การมุสลิมฯ กล่าวต่อว่า ส่วนในประเด็นของฟิลิปปินส์ก็เช่นเดียวกัน มันเป็นผลพวงมาจากเหตุการณ์ถล่มตึกเวิรล์ดเทรด รัฐบาลในอาเซียนดำเนินตามนโยบายของประธานาธิบดีบุช ซึ่งมีการทำให้เกิดความสงสัยและความหวาดระแวงในหมู่ประชาชน และประชากรมุสลิมในอาเซียน ความหวาดระแวงนำไปสู่ความแตกแยกในหมู่ประชาชน แม้ว่าปัจจุบันรัฐบาลอเมริกาได้ยอมรับความแตกต่างมากยิ่งขึ้น จากการเลือกตั้งประธานธิบดีโอบามา เราก็อยากจะเห็นมาตรการที่ดีกว่านี้ ให้ชาวบังซาโมโรมีสิทธิในการที่จะกำหนดวิถีชีวิตและเลือกชะตากรรมของตนเอง” และว่า
 
“ประเด็นที่สำคัญ มีการเสวนากันเรื่องเขตปลอดนิวเคลียร์ในอาเซียน โดยมีความวิตกกังวลจากกลุ่มเอ็นจีโอ ซึ่งบางประเทศในอาเซียนกำลังพยายามที่จะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ นอกจากนี้ยังมีการให้สัตยาบันปฏิญญากรุงเทพฯ จากการประชุมในหัวข้อประชาชนเรียกร้องความยุติธรรมและสันติภาพโดยมีกลุ่มอาเซียนเอ็นจีโอ 45 องค์กรร่วมกันลงนามในการให้สัตยาบัน” นายศราวุธกล่าว
 
ทั้งนี้ สาระสำคัญของปฏิญญาดังกล่าวมีประเด็นข้อเสนอต่อรัฐบาลอาเซียนดังต่อไปนี้
 
1.เรียกร้องให้รัฐบาลได้สนใจโดยสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการให้หลักประกันสิทธิ ที่จะได้รับความยุติธรรมและสันติภาพ โดยมีชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เพื่อให้บรรลุถึงปัจจัยพื้นฐานและกระบวนการจัดสรรทรัพยากรของชาติอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม
 
2.พึ่งหลีกเลี่ยงการใช้ปฏิบัติการทางทหารในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง โดยเลือกใช้แนวทางสันติวิธี เพื่อจิตวิญญาณของความสมานฉันท์ โดยแสวงหาความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน
 
3.ส่งเสริมและสนับสนุนการแนวทางการปรึกษาหารือร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน โดยคำนึงถึงประโยชน์และความรับผิดชอบร่วมกันที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งดังกล่าว
 
4.ส่งเสริมความร่วมมือในระดับภูมิภาคและนานาชาติ ในการดำเนินการตามนโยบายเพื่อค้ำประกันหลักยุติธรรมและสันติ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน
 
5.เร่งรีบแก้ไขมาตรการอย่างเร่งด่วนในกรณีชะตากรรมของชาวโรฮิงญา ปัญหาภาคใต้ของประเทศไทย และมินดาเนา โดยการปรึกษาร่วมกันระหว่างรัฐบาลอาเซียน บนพื้นฐานของความยุติธรรมและความชอบธรรมของประชาชน
 
6.เป็นพันธกรณีของประเทศพม่า ไทยและฟิลิปปินส์ ในการทบทวนนโยบายความมั่นคง และกระบวนการยุติธรรมที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในภูมิภาค
 
7.ให้ความร่วมมือกับสหประชาชาติ ประชาคมนานาชาติและพลังกลุ่มพลังประชาสังคม ในการให้การคุ้มครองช่วยเหลือ สิทธิของคนไร้ถิ่นฐานจากความขัดแย้ง หรือคนที่ถูกกีดกันจากความยุติธรรมและได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจากรัฐของตนเอง รัฐต้องให้หลักประกันกับคนไร้ถิ่นฐานในการเดินทางกลับประเทศของตนเองอย่างปลอดภัย โดยยอมรับสถานะผู้ลี้ภัย และหลีกเลี่ยงมาตการการกักขัง อันเนื่องมาจากการขาดเอกสารการอพยพโดยยินยอมให้สำนักงานใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติได้เข้ามาประเมินแก้ไขปัญหาดังกล่าว
 
8.ให้การรับรองสนธิสัญญาที่เกี่ยวข้องกับผู้ลี้ภัย ผู้อพยพ คนไร้รัฐและปฏิญญาสากลว่าด้วยการปกป้องสิทธิของคนทำงานต่างด้าวและสมาชิกในครอบครัว
 
9.ให้ความสำคัญบทบาทของเด็กและสตรีในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ความขัดแย้งดังกล่าว
 
10.ส่งเสริมสนับสนุนความโปร่งใสของรัฐบาล และให้ความสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมของความรับผิดชอบ วัฒนธรรมของความซื่อสัตย์และโปร่งใสโดยละทิ้งวัฒนธรรมแห่งการกดขี่และคอรัปชั่น
 
11.ส่งเสริมความร่วมมือในระดับภูมิภาคเพื่อยกระดับการเคลื่อนไหวของประชาชนอย่างมีเสรีภาพในการข้ามแดน เพื่อกระตุ้นความร่วมมือทางการค้าและวัฒนธรรม เพื่อการเจริญเติบโตและพัฒนาอย่างยั่งยืน
 
12.ส่งเสริมมาตรการการปรึกษาหารือในหมู่สมาชิกของอาเซียน โดยคำนึงถึงประโยชน์ร่วมกันในการปกป้องประเทศ และภัยที่คุกคามโดยแสวงหามาตรการความมั่นคงร่วมกัน
 
13.จัดตั้งคณะแสวงหาความจริงและคณะกรรมการสมานฉันท์ระดับชาติ ในประเทศพม่า ไทย และฟิลิปปินส์ เพื่อสถาปนาความยุติธรรมความเชื่อมั่นในประชาสังคมดังกล่าว และเปิดเผยการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอดีต ทบทวนนโยบายความมั่นคงทั้งหมดเพื่อการนำไปสู่การแก้ไขและปรับปรุงใหม่
 
14.ส่งเสริมความพยายามในการใช้กฎหมายส่วนบุคคล อิสลามเกี่ยวกับครอบครัวและมรดก ในภูมิภาคที่มีชุมชนมุสลิมอาศัยอยู่
 
15.มุ่งเน้นถึงการเสวนา การส่งเสริมการพูดเพื่อสันติภาพ และการเจรจาในทุกระดับ
 
16.ปรับปรุงแผนการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจและการเมืองในภาคใต้ของประเทศไทย โดยยกเลิกการปฏิบัติการทางทหาร
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net