Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ครบกำหนดเวลาเกินกว่า 1 ปี ที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 67 วรรค 2 บัญญัติไว้ว่า ให้มีการออกพระราชบัญญัติองค์การอิสระสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เพื่อให้ความเห็นก่อนการดำเนินการโครงการหรือกิจกรรมที่จะมีผลกระทบอย่างรุนแรง และในมาตรา 303 (1) ของรัฐธรรมนูญ ได้กำหนดระยะเวลาที่จะต้องดำเนินการออกกฎหมายดังกล่าวภายในหนึ่งปี นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา แต่ในวันนี้ยังไม่มีการเดินหน้าโดยความรับผิดชอบของรัฐบาลที่จะออกกฎหมายจัดตั้งองค์การอิสระฯดังกล่าว

เจตนารมณ์ของมาตรา 67 วรรค 2 เพื่อให้การอนุมัติโครงการพัฒนาหรือกิจกรรมทั้งของรัฐและเอกชน ให้เป็นไปด้วยความรอบคอบ โปร่งใส และมีรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่น่าเชื่อถือ ตลอดจนให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการให้ความเห็น บนเส้นทางการพัฒนาที่ผ่านมากระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการอนุมัติโครงการของรัฐเป็นไปด้วยความเร่งรีบ เกิดความขัดแย้ง ซึ่งทำให้ประชาชนที่จะได้รับผลกระทบคัดค้านโครงการ เพราะไม่ได้รับรู้และไม่เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร อีกทั้งไม่ได้ร่วมกำหนดเส้นทางการพัฒนาของตนเอง
 
กรณีของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดสะท้อนให้เห็นบทเรียนต่อการที่รัฐไม่จัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมภายหลังเกิดโครงการอย่างเร่งด่วน การไม่ปฏิบัติตามแผนที่กำหนดไว้แต่เดิมว่าต้องมีพื้นที่กันชน ตลอดจนการดำเนินการโครงการแบบเอาใจนักลงทุน แต่ปัดสวะให้ชาวบ้านที่ต้องรับผลกระทบเป็นเวลานาน จนก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพที่เรื้อรัง โดยไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นธรรม ความจำเป็นของการมีองค์การอิสระสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในสังคมไทยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง  เพื่อป้องกันปัญหาไว้ก่อน ประเทศไทยจะได้ไม่ต้องเสียเงินภาษีของประชาชนจำนวนมากมาตามแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาสังคม ซึ่งทำให้ประเทศชาติต้องเสียสูญเสียต้นทุนทางเศรษฐกิจและต้นทุนทางสังคมมากยิ่งกว่าเดิม
 
แต่ดูเหมือนว่าภาครัฐไม่ได้สรุปบทเรียนดังกล่าว แม้ว่าศาลปกครองกลางจะมีคำสั่งวันที่ 29 กันยายน 2552 บรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาคดี ให้ระงับ 76 โครงการเพื่อคุ้มครองชุมชนมาบตาพุด อำเภอบ้านฉาง และใกล้เคียงจังหวัดระยอง    ศาลปกครองกลางได้แสดงเห็นผลไว้อย่างชัดเจนว่า
 
“การประกาศเขตควบคุมมลพิษเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2552 แสดงให้เห็นข้อเท็จจริงที่ตรงกันว่าในเวลาที่ผ่านมาและในปัจจุบันปัญหามลพิษจากการประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมบริเวณชุมชนมาบตาพุดมีอยู่จริงและมีอยู่อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน สถานการณ์ของปัญหามลพิษมีแนวโน้มที่รุนแรงมากขึ้น จึงต้องประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษเพื่อดำเนินการควบคุม ลด และขจัดมลพิษ จึงเห็นว่า คำฟ้องมีมูลและมีเหตุเพียงพอที่จะนำวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาคดีตามที่ขอมาใช้ได้ และผู้ขอจะได้รับความเดือดร้อนเสียหายต่อไปหากมีการอนุญาตให้ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น”
 
แม้แต่ศาลปกครองกลางยังมีความเห็นว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในจังหวัดระยอง ต้องได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ก่อนดำเนินการโครงการพัฒนาอีก 76 โครงการต่อไป และสิทธิชุมชนและบุคคลในสิ่งแวดล้อมตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 ต้องได้รับการคุ้มครอง แสดงให้เห็นคำสั่งศาลปกครองยังมีความหวังต่อสังคมไทย ว่าศาลปกครองมีวิสัยทัศน์ต่อการตระหนักในปัญหาสิ่งแวดล้อมของเมืองไทย และรับรองสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ในทางตรงกันข้ามหน่วยงานของรัฐ เช่น กระทรวงอุตสาหกรรมกลับเดินหน้าประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเกี่ยวกับโครงการหรือกิจกรรมที่เกี่ยวกับการอุตสาหกรรมที่จะมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อที่จะมีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ โดยกำหนดโครงการบางโครงการอย่างคับแคบ  เพื่อให้รัฐบาลดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งจะทำให้ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 
 
ตัวอย่างของโครงการที่จะมีผลกระทบอย่างรุนแรงดังกล่าวได้แก่ การทำเหมืองใต้ดินเฉพาะวิธีที่จะทำให้โครงสร้างยุบตัว อุตสาหกรรมเหล็กขั้นต้นที่มีกำลังการผลิตตั้งแต่ 20,000 ตันต่อวันขึ้นไป อุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นต้นหรือขั้นกลาง ที่มีการใช้ผลิตสารอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง นิคมอุตสาหกรรม โรงงานฝังกลบของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรม โรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ยกเว้นก๊าซธรรมชาติ ก๊าซธรรมชาติสังเคราะห์ มีกำลังผลิตตั้งแต่ 100 เมกะวัตต์ขึ้นไป โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทุกขนาด เป็นต้น จะเห็นได้ว่าลักษณะของอุตสาหกรรมถึงแม้ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมหนัก แต่ยังมีอีกหลายประเภทของโครงการที่ต้องดำเนินการตามมาตรา 67 เช่น โครงการเขื่อน โครงการท่อส่งก๊าซ หรือโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ และโครงการอุตสาหกรรมอีกหลายประเภท ซึ่งมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคน สิ่งแวดล้อม และสุขภาพทั้งสิ้น  
 
กระทรวงอุตสาหกรรมได้เร่งรีบปฏิบัติตามการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งตีความไว้ว่า
 
“ในระหว่างที่ยังไม่มีการจัดทำองค์การอิสระสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หน่วยงานอนุญาตที่เกี่ยวข้องย่อมสามารถใช้ดุลพินิจประกาศให้รู้ทั่วไปว่า โครงการหรือกิจกรรมใดบ้างที่เห็นว่ามีผลกระทบต่อประชาชนอย่างรุนแรง แต่ประกาศดังกล่าวไม่มีผลเป็นเด็ดขาด โดยผู้เกี่ยวข้องยังสามารถโต้แย้งได้ จึงสมควรที่คณะรัฐมนตรีจะกำหนดให้หน่วยงานที่อนุญาตที่เกี่ยวข้องร่วมกันกำหนดให้เป็นไปในแนวทางและมาตรฐานเดียวกัน  ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายกำหนดรายละเอียดในการจัดตั้งองค์การอิสระฯ หน่วยงานอนุญาตสามารถพิจารณาออกใบอนุญาตให้แก่โครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนได้ หากโครงการหรือกิจกรรมนั้นได้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และได้จัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันกำหนดไว้”
 
ด้วยเหตุนี้กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้มีมติแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับองค์การอิสระฯ ดังนี้ ในระหว่างที่ยังไม่มีองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ให้สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ (สผ.) แต่งตั้งผู้แทนองค์กรเอกชนซึ่งดำเนินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม หรือทรัพยากรธรรมชาติ หรือสุขภาพ ตามจำนวนที่เห็นสมควร เพื่อทำหน้าที่เป็นองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม  
 
เมื่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการได้ให้ความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว ให้ สผ. ส่งรายงานดังกล่าว ให้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติให้ความเห็นให้แล้วเสร็จใน ๓๐ วัน เมื่อให้ความเห็นแล้ว ให้ (สผ.) เสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานซึ่งมีอำนาจอนุญาตตามกฎหมายพิจารณาต่อไป 
 
เป็นเรื่องน่าเศร้าของสังคมไทย ที่รัฐบาลและภาครัฐอยากเดินหน้าโครงการโดยไร้ความรับผิดชอบและมีมุมมองของการพิจารณาโครงการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หวังในผลประโยชน์เบื้องหน้า แต่ผลกระทบจะเกิดขึ้นอย่างรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนไทย อีกทั้งไม่มีการกระจายรายได้อย่างแท้จริงต่อคนไทย เพราะการลงทุนเช่นนั้นหุ้นส่วนส่วนใหญ่เป็นของต่างชาติ โดยเฉพาะการลงทุนอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมเหมืองแร่ อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้า เป็นต้น อุตสาหกรรมดังกล่าวเป็นตัวการของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด และมีมลพิษทั้งทางอากาศ น้ำเสีย และวัตถุอันตราย ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างรุนแรง
สังคมไทยจึงไร้ความหวังต่อนักการเมืองซึ่งร่วมกับกลุ่มทุนที่มีวิสัยทัศน์พัฒนาประเทศเพื่อผลประโยชน์แบบผูกขาดของส่วนตนกับทุนต่างชาติ องค์การอิสระสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้ภายใต้รัฐบาลชุดใด นอกจากภาคประชาชนจะผลักดันให้เกิดองค์การอิสระนี้ด้วยตนเอง
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net