Skip to main content
sharethis

มูลนิธิสยามกัมมาจล แกนนำสภาเด็กและเยาวชนรวมพลังประกาศเสียงดังในวงเสวนา ‘มอง พ.ร.บ.เด็กแบบเด็กๆ’ ปลุกกระแสธรรมาภิบาล ชวนเด็กและเยาวชนทั่วประเทศอย่านิ่งเฉยใช้สิทธิอย่างสร้างสรรค์ทำกิจกรรมดี ๆ เพื่อร่วมพัฒนาประเทศ เชื่อวัยรุ่นไทยมีดี  หากได้รับการปลูกฝังตั้งแต่เด็กจะช่วยตัดวงจรโคตรโกงในสังคม            

แม้ในทางกฎหมายจะเปิดโอกาสให้เด็กเข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชน มาเกือบ 2 ปีแล้วนับแต่มีการประกาศใช้  พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. 2550 และมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2551นั้น ในวันนี้ยังมีข้อติดขัดหลายอย่าง   เยาวชนจากสภาเด็กและเยาวชนแห่งชาติจึงหยิบยกมาพูดคุยกันในวงเสวนาเรื่อง ‘มอง  พ.ร.บ.เด็กแบบเด็ก ๆ’ ที่จัดขึ้นในงานมหกรรมพลังเยาวชน พลังสังคม ‘ร่วมสร้างประเทศไทย...ด้วยการให้’ ที่มูลนิธิสยามกัมมาจลและผู้ใหญ่ใจดีจาก 102 องค์กรร่วมกันจัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ และมีสมาชิกสภาเด็กและเยาวชนจากทั่วประเทศเข้าฟังจำนวนมาก โดยมีสาระที่น่าสนใจคือ

นายบุญชัย ฤทธิปัญญาวงศ์ หรือ ‘เบญ’ อนุกรรมการด้านเด็กและเยาวชนวุฒิสภา กล่าวถึงความสำคัญของพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ว่า เป็นกฎหมายที่ให้สิทธิที่เด็กและเยาวชนควรจะได้รับอย่างเท่าเทียมเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป อาทิเช่น การรับรองการเกิด การศึกษา เป็นต้น ที่สำคัญคือให้มีการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนแห่งชาติขึ้นมา โดยให้มีคณะทำงานตั้งแต่สภาเด็กระดับตำบล อำเภอ จังหวัดและประเทศ ซึ่งทำให้เด็กและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมและมีบทบาทมากขึ้น อย่างไรก็ตามแม้กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2550 แต่ที่ผ่านมา สภาเด็กและเยาวชนยังไม่ค่อยมีบทบาทเท่าที่ควร ปัจจุบันคณะทำงานสภาเด็กและเยาวชนจึงพยายามให้วัยรุ่นทุกคนได้รับรู้รับทราบเกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้
 
นายแบงค์ งามอรุณโชติ อนุกรรมาธิการด้านตรวจสอบการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภาหนึ่งในผู้ร่วมร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ กล่าวว่าความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชนเกิดขึ้นทุกวัน แต่บางครั้งต้องดับลงไปเพราะขาดกฎหรือกติกาสาธารณะบางอย่างที่จะทำให้กระบวนการระหว่างการทำงานของนักกิจกรรมเบาบางลงไป ทั้งเรื่องการสนับสนุน ทรัพยากรและความร่วมมือ อย่างไรก็ตามเมื่อมี  พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติขึ้นตนอยากเน้นใน ด้านธรรมาภิบาล หรือความละอายต่อการทุจริต คอร์รัปชั่น ที่เชื่อว่าต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็กๆ 
 
“แต่ละคนจะมีมาตรวัดอยู่ในใจ เวลาเราทำผิดครั้งแรก ร่างกายจะตอบสนองว่าไม่ควรทำ เวลาไปดื่มเหล้า สูบบุหรี่ครั้งแรก จะอาเจียน เมา เหม็น แต่เมื่อไหร่ที่ทำบ่อยๆ จะเกิดความเคยชิน ดังนั้นเราจะปลูกฝังความละอายเหล่านี้ให้อยู่ในตัวเด็กและเยาวชนได้อย่างไร เป็นโจทย์หลักที่ต้องการให้เครือข่ายเยาวชนมาร่วมกันทำเรื่องนี้เพื่อให้หยั่งรากลงไปในจิตใจของเยาวชนไทย” แบงค์ กล่าว
 
นายเอก วงศ์อนันต์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ซึ่งเคยทำกิจกรรมคลุกคลีกับเยาวชนมานานระบุว่า มีกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด หรือ  พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก  พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัว  พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ล้วนเกี่ยวข้องกับเด็ก แต่ทั้งหมดเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยการคุ้มครอง เยียวยาและช่วยเหลือเมื่อเด็กมีปัญหา ในขณะที่  พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและการพัฒนาศักยภาพเด็ก เปิดโอกาสให้เด็กมีสิทธิ มีเสียงอย่างชัดเจนมากขึ้น 
 
นายรัชฏะ ศรีบุญรัตน์ ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า  พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ เป็นกฎหมายฉบับแรกที่ประกาศขึ้นตามกฎหมายตามพระราชบัญญัติ เด็ก วัยรุ่นมีสิทธิอย่างเต็มที่ และหมวดหนึ่งที่กำหนดไว้ในมาตรา 33 ระบุชัดเจนว่า เด็กและเยาวชนมีสิทธิในการให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเกี่ยวกับนโยบายยุทธศาสตร์ และที่สำคัญเรื่องงบประมาณ ที่เป็นเรื่องแรกที่กำหนดไว้แล้วรัฐบาลต้องฟังเรา นี่เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด จึงอยากจะเชิญชวนให้เพื่อนๆ ทุกคนมาใช้สิทธิในการร่วมสร้างประเทศไทย ตอนนี้ไม่มี พ.ร.บ.ฉบับใดเอื้อประโยชน์ให้กับวัยรุ่นได้มากเท่านี้ ที่สำคัญ พ.ร.บ.นี้ไม่มีบทลงโทษ ฉะนั้นวัยรุ่นสามารถเข้ามาใช้ความสร้างสรรค์ที่มีอยู่มากมายให้เป็นประโยชน์กับประเทศชาติร่วมกัน ไม่ต้องกลัวว่าหากทำไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.จะได้รับบทลงโทษ
 
นายอรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ระบุว่าในอดีตที่ผ่านมา การส่งเสริมพัฒนาเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่เป็นแบบสั่งการ (Top down) ผู้ใหญ่ เป็นคนคิด ในขณะที่เด็กมีบทบาทในการตัดสินใจว่าเห็นด้วยหรือไม่กับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นน้อยมาก ฉะนั้น  พ.ร.บ.ฉบับนี้จึงถือเป็นมิติใหม่ของสังคม ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนสามารถลงมติในการเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับนโยบายระดับประเทศ ซึ่งในปี 2553 สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทยและสภาเด็กและเยาวชน กทม.จะร่วมกันจัดงานยิ่งใหญ่ โดยจะคัดเลือกเยาวชนจากทั่วประเทศจำนวน 84 คนเข้ามาทำหน้าที่ในการนำเสนอพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระองค์ทรงสอนคนไทยทั้งชาติ อีกทั้งกระตุ้นให้เกิดพลังในการพัฒนาพื้นที่ของตนเอง
 
นี่คือเสียงสะท้อนของพลังเยาวชนที่ขอใช้สิทธิตามกฎหมายและต้องการให้ผู้ใหญ่เปิดโอกาสและสนับสนุนให้เยาวชนได้มีส่วนร่วมใช้พลังมากมายมาช่วยพัฒนาประเทศ.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net