เวทีคู่ขนาน วิพากษ์รัฐอาเซียน เมินส่งเสริมสิทธิพลเมือง

 

วันที่ 19 ต.ค. 52 ที่ห้องประชุมเพชรบุรีแกรนด์ฮอลล์ โรงแรมฮอลลิเดย์อินน์ รีเจนท์ ชะอำ จ.เพชรบุรี  มีการจัดเวทีหารือประเด็นสังคมและวัฒนธรรมในหัวข้อ “สิทธิและโอกาสที่เท่าเทียมสำหรับทุกคน” ในเวทีมหกรรมประชาชนอาเซียน ครั้งที่ 2 และการประชุมภาคประชาสังคมอาเซียน ครั้งที่ 5 โดยมีนายอัษฎา ชัยนาม ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศตัวแทนนายกษิต ภิรมย์ เข้าร่วมอภิปรายร่วมกับตัวแทนจากภาคประชาชนหลายฝ่าย

ติงอาเซียนเพิกเฉยข้อเรียกร้องภาคประชาสังคม
นางสาวสมคิด มหิสยา ตัวแทนจากมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) กล่าวว่า อาเซียนต้องทบทวนว่าภายหลังจากภาคประชาสังคมออกแถลงการณ์ไปเมื่อต้นปี 52 อาเซียนได้ดำเนินการอะไรไปบ้าง โดยสิ่งที่ไม่ได้รับความสนใจจากอาเซียน คือเรื่องสิ่งแวดล้อม การศึกษา และสาธารณสุข

นางสาวสมคิด เรียกร้องต่ออาเซียนว่า อาเซียนยังไม่ได้จัดงบประมาณทางด้านการศึกษา ส่วนงบประมาณทางด้านสาธารณสุขก็ยังไม่เพียงพอ การจัดการในเรื่องความช่วยเหลือด้านมหันตภัยในต่างประเทศ อย่างกรณีนาร์กีสก็ยังไม่เป็นระบบ อาเซียนควรจัดหน่วยงานด้านบรรเทาภัยธรรมชาติในกรณีฉุกเฉิน และร่วมกันช่วยเหลือเพื่อนมนุษยชนอย่างโปร่งใส นอกจากนี้ในด้านการศึกษา ทุกคนต้องเข้าถึงการศึกษา ควรมีการวางแผนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

“อาเซียนควรสนับสนุนให้การศึกษาเข้าถึงทุกคน มีแผนการระดับภูมิภาค มีการศึกษาทางเลือก มีการช่วยเหลือแบบพหุภาคี ยอมรับในความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม มีความเท่าเทียมกันทางเพศ” นางสาวสมคิดกล่าวและแสดงความหวังว่า หลังจากภาคประชาสังคมออกแถลงการณ์แล้ว จะได้รู้ความคืบหน้าต่อไป

 
กษิตหาย อัษฎาสวมบทสตั๊นแมน ชี้อาเซียนต่างกับอียู สำเร็จยาก
นายอัษฎา กล่าวว่า“รู้สึกเหมือนสตั้นแมนหรือนักแสดงแทน เมื่อมีฉากเสี่ยงตายมักจะใช้ตัวแสดงแทนดารา เป็นตัวแทนของนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ เนื่องจากท่านติดภารกิจต้องเดินทางไปยังต่างประเทศ ซึ่งการมาในครั้งนี้เปรียบเสมือนการกลับบ้านมาเจอเพื่อนเก่าๆ ในอดีต”

นายอัษฎา กล่าวถึงสาเหตุที่ประชุมอาเซียนยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรว่า อาเซียนและยุโรปแตกต่างกันในหลายๆ ด้านตั้งแต่การรับประเทศเข้าเป็นสมาชิก ประเทศที่เข้าร่วมสหภาพยุโรปหรืออียู ต้องเป็นประชาธิปไตย มีระบบการค้าขายแบบทุน ทำให้มีความพร้อมในการแก้ไขปัญหาร่วมกันได้มากกว่าประชาคมอาเซียนที่มีความหลากหลายในด้านสังคมวัฒนธรรม

ส่วนปัญหาทางด้านความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจนั้น นายอัษฎา กล่าวว่า ทำได้ยาก คนรวยก็รวย ส่วนคนจนก็จน เป็นกันหมดทั้งโลก ซึ่งเราควรตระหนักถึงเรื่องนี้ด้วย

ผู้พิการจวกอาเซียนไม่ส่งเสริมสิทธิ
นางสาวสุพัฒนาพร ธนะนิคม ตัวแทนจากสมาคมคนพิการนานาชาติเอเชีย – แปซิฟิก (Disabled People International-Asian- Pacific Forum: DPI-AP) กล่าวว่า ตลอดเวลา 40 ปีที่อาเซียนก่อตั้งขึ้นมา อาเซียนไม่ได้ใส่ใจปัญหาของคนพิการเลย ทั้งทางด้านสิทธิความเท่าเทียม เสรีภาพ ความเสมอภาคในการดำรงชีวิต อาเซียนควรจะส่งเสริมการอาชีพอย่างเพียงพอและเหมาะสมให้ประกอบอาชีพอย่างมีศักด์ศรีและเคารพถึงสิทธิมนุษยชน ผู้พิการนั้นจะต้องพบอุปสรรคในการดำรงชีวิต ทั้งในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ทัศนคติ การเข้าถึงเทคโนโลยี ความยากจน และการคมนาคมที่ยากลำบาก อาเซียนจึงควรจะตระหนักในประเด็นปัญหานี้

นาวสาวสุพัฒนาพร ฝากถึงการประชุมอาเซียนในปีหน้าว่า อยากให้มีตัวแทนของผู้พิการนำเสนอปัญหาวิถีชีวิต วัฒนธรรมต่างๆ และวิธีการในการแก้ไขปัญหาต่อไป

เยาวชนแนะตั้งกองทุนการศึกษาอาเซียน
นางสาวเช แอนด์ ตัวแทนเยาวชนอาเซียนประเทศกัมพูชา กล่าวว่า เยาวชนควรมีสิทธิเทียบเท่าผู้ใหญ่ ควรให้โอกาสให้เยาวชนเข้าไปร่วมตัดสินใจในนโยบาย การศึกษาเป็นสิทธิขึ้นพื้นฐานไม่ใช่อภิสิทธิ์ เยาวชนต้องเข้าถึง และควรมีการสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนการศึกษาซึ่งเป็นกองทุนจากทุกประเทศเพื่อการศึกษาของคนไร้สัญชาติ ส่วนสาธารณสุขยังมีไม่เพียงพอและไม่เข้าถึงเยาวชน ประกันสังคมถูกครอบงำโดยรัฐบาล 
นางสาวเช แอนด์ เรียกร้องว่า ควรตั้งศูนย์หรือพื้นที่ของเยาวชนเพื่อให้ได้แสดงออกแลกเปลี่ยนความคิดเห็น วัฒนธรรม รวมถึงอาเซียนควรออกกฎบัตรเยาวชนอาเซียนด้วย

ถามอาเซียนส่งออกแรงงานหรือวัวควาย
นายซามีดูไร สินาปัน ตัวแทนจาก Task Force on ASEAN Migrant Workers (TF-AMW) กล่าวว่า แรงงานข้ามชาติเป็นปัญหาสำคัญ และสาเหตุที่แรงงานเลือกข้ามพรมแดนก็เพราะไม่มีงานทำ

“อาเซียนมีประชาชน 570 ล้านคน แต่มีแค่ 270 ล้านคน ที่มีงานทำ การส่งออกแรงงานของอาเซียนเหมือนวัวควาย แต่นี่เราไม่ได้พูดถึงวัวควายเราพูดถึงคน คนเดินออกจากประเทศเพราะในประเทศไม่มีงานทำ เพราะความยากจน ความหิวโหย มีคนฆ่ากันตาย พวกเขาทนไม่ได้จึงต้องอพยพออกมา เมื่อ 40 ปีก่อนอาเซียนเป็นองค์กรที่ออกกฎหมายได้ ออกข้อตกลงต่างๆ ได้ แต่ทำไมถึงไม่มีการช่วยเหลือผู้คนเหล่านี้”

นายซามี กล่าวต่อว่า แรงงานควรได้รับสวัสดิการที่ดีและรายได้ที่เป็นธรรม โดยประชาชนอาเซียนต้องเป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อโน้มน้าวรัฐบาลให้จัดตั้งสหภาพแรงงานจัดตั้งภาคีเพื่อหาข้อสรุปของปัญหาทั้งหมด

จวก!รัฐลอยแพชนเผ่าพื้นเมือง
นายเจน คาร์ลิ่ง ตัวแทนจาก Asian Indigenous People’s Pact (AIPP) กล่าวว่าคนพื้นเมืองหรือกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศอาเซียน ชาวเขา ชนเผ่าต่างๆ กว่า 1,000 ชาติพันธุ์ มีความแตกต่างทั้งทางภาษา และวัฒนธรรม มากกว่าในแถบภูมิภาคอื่น ประเด็นสำคัญคือพวกเขาไม่ได้รับการยอมรับ พวกเขาไม่ได้รับสิทธิใดๆ จากภาครัฐ ไม่มีสิทธิถือครองที่ดินทำกิน ถูกละเมิดสิทธิ ขณะเดียวกันวัฒนธรรมของพวกเขาก็ถูกมองว่าเป็นวัฒนธรรมที่ป่าเถื่อน อาเซียนจึงควรส่งเสริมความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม และยอมรับในความหลากหลายของชาติพันธุ์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท