Skip to main content
sharethis

ภาคประชาสังคมเร่งดันเสาสิ่งแวดล้อม ชี้เป็นปัญหากระทบผู้คนนับล้าน ย้ำโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ทำลายทรัพยากร สร้างปัญหาสังคม ส่วนการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ คนจนรับมือปัญหาได้ไม่เท่าคนรวย ชี้การจัดการความหลากหลายทางชีวภาพต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วม

(19 ต.ค.52) เวทีหารือประเด็นสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความหลากหลายทางชีวภาพ ในเวทีมหกรรมประชาชนอาเซียนครั้งที่ 2 และการประชุมภาคประชาสังคมอาเซียนครั้งที่ 5 ‘พัฒนาวาระของภาคประชาชน: สานต่อการหารือระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน’ ระหว่างวันที่ 18-20 ต.ค.52 ณ โรงแรมฮอลลิเดย์อิน รีเจนท์ ชะอำ จ.เพชรบุรี

เปรมฤดี ดาวเรือง มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ กล่าวว่าทางภาคประชาสังคมมีความคาดหวังที่จะผลักดันเสายุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม ให้เป็นเสาหลักอันใหม่ของอาเซียน ถัดจากเสาเศรษฐกิจ เสาสังคม-วัฒนธรรม และเสาการเมืองและความมั่นคง แต่ก็เป็นที่น่าผิดหวังที่ในเวทีวันนี้ไม่มีตัวแทนรัฐบาลประเทศอาเซียนเข้ามารับฟังและร่วมแสดงความคิดเห็น และทำให้เกิดคำถามว่าจะคาดหวังการดำเนินงานของอาเซียนได้มากแค่ไหน
 
เธอกล่าวต่อมาว่า การที่อาเซียนถือกำเนิดมากว่า 40 ปี โดยที่ไม่มีการพูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่เข้าใจได้เพราะในอดีตประเทศในภูมิภาคอาเซียนมีทรัพยากรเพียงพอต่อการใช้ประโยชน์ แต่สถานการณ์ปัจจุบันไม่ได้เป็นเช่นนั้น ความจริงอาจเรียกได้ว่าเราพูดเรื่องนี้ช้าไป เพราะขณะนี้สิ่งพบคือปัญหาสิ่งแวดล้อมและการแย่งชิงทรัพยากรที่เกิดในอาเซียน ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนนับล้านๆ ชีวิต ดังนั้นแนวคิดการก่อตั้งเสาสิ่งแวดล้อมให้เป็นอีกหนึ่งเสาหลักของอาเซียน นั้นไม่ใช่ความฝัน
 
ตัวแทนจากมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ กล่าวแสดงความคิดเห็นด้วยว่า ควรเร่งให้มีกระบวนการจัดตั้งเสาสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างมาตรฐานและกรอบการปฎิบัติให้เกิดความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตคนในภูมิภาครวมทั้งให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางของกระบวนการตัดสินใจ โดยนำมาตรฐานและแนวปฎิบัติที่ดีในระดับสากลมาใช้ดำเนินการเพื่อให้เกิดความยังยืน
 
ในส่วนข้อเสนอหลักที่มีในเสายุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม เปรมฤดีกล่าวว่ามี 3 ประเด็นหลัก คือ 1.โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ เนื่องจากปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมเกี่ยวข้องกับโครงการใหญ่ และส่งผลเกี่ยวเนื่องไปถึงความมั่นคงในการดำรงค์ชีวิตของมนุษย์ และความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งทางที่ดีควรมีการยกเลิกโครงการที่มีผลร้ายแรงเหล่านั้น 2.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือสถานการณ์โลกร้อน อันเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการไม่ใช่แค่นโบาย แต่ควรให้เห็นการปฎิบัติจริง และ 3.ความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งประเทศในอาเซียนล้วนมีความหลากหลายในเรื่องนี้
 
นอกจากนี้ ตามกรอบเสาสิ่งแวดล้อม โครงการลงทุนข้ามพรมแดนของรัฐบาลสมาชิกอาเซียนควรมีการทบทวนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อให้เป็นไปตามกฎบัตรอาเซียนที่ต้องเคารพสิทธิมนุษยชน โดยเปรมฤดี ยกตัวอย่างโครงการลงทุนก่อสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาละวิน โดยกล่าวว่าเป็นตัวอย่างที่ทำให้มองเห็นผลกะทบที่ชัดเจน เนื่องจากประเทศลาว กัมพูชา และพม่า ซึ่งเป็นสมาชิกใหม่อาเซียนที่ต้องกลายเป็นเหยื่อของทุนที่เข้าไปแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ
 
เปรมฤดีให้ข้อมูลว่า บนแม่น้ำโขงตอนล่างมีโครงการก่อสร้างเขื่อน 12 แห่ง เพื่อผลิตไฟฟ้าขายให้ไทยและเวียดนาม ส่วนบนแม่น้ำสาละวินมีการก่อสร้างเขื่อน 13 แห่งตอนต้นของลำน้ำ และในช่วงพรมแดนไทยพม่ามีโครงการเขื่อนอีก 5 แห่ง โดยพื้นที่เหล่านี้มีความสมบูรณ์ของพันพุ์พืช พันธุ์ปลา โดยเฉพาะในประเทศกัมพูชาที่มี โตนเลนสาป ซึ่งเป็นทะเลสาปน้ำจืดขนาดใหญ่ ที่มีปลากว่า 70 เปอร์มาจากแม่โขงและมีกำไรจากการประมงหลายพันล้านยูเอสดอลลาร์ ชาวประมงในกัมพูชาจับปลาได้กว่า 2.5 ล้านตันต่อปี และมีรายได้จากการประมงคิดเป็น 12 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี
 
เปรมฤดี กล่าวด้วยว่า ประเทศจีน ไทย และเวียดนาม มีบทบาทอย่างมากในการใช้ทรัพยากรในภูมิภาค โดยในส่วนของประเทศไทยเองในปีที่ผ่านมามีการผลิตพลังงานไฟฟ้าเกินความจำเป็นกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ คำถามคือเราควรจะทำอย่างไร และสำหรับอาเซียนที่ขณะนี้มีแผนพลังงานของตัวเองจะมีการทบทวนได้อย่างไร เมื่อโครงการส่งผลกระทบต่อประชาชน ส่วนการผลิตกระแสไฟฟ้าให้ประโยชน์กับนักลงทุนและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อำนวยโครงการ
 
เธอกล่าวด้วยว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ซึ่งไม่ใช่แค่เขื่อน ในกรณีของท่อก๊าซธรรมชาติในพม่าก็ทำให้เกิดการอพยพคนหลังการดำเนินโครงการเหล่านี้ในรัฐฉาน ประชาชนกว่า 1 แสนต้องออกจากพื้นที่ ในขณะที่มีประชาชนพม่ากว่า 1.5 ล้านคน เข้ามาเป็นแรงงานอพยพในไทย นอกจากนี้ในกัมพูชาและลาวก็ประสบปัญหาการลงทุนขุดเจาะเหมืองแร่และก๊าซธรรมโดยการลงทุนของประเทศไทย จีน และออสเตรเลีย โดยอาเซียนยังส่งเสริมการส่งออกที่ส่งผลกระทบกับประชาชน
 
ซาย ซาย ผู้ประสานงานสาละวินวอชท์ กล่าวว่า ในวันนี้มีความตั้งใจที่จะมายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีไทย และผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพื่อคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนฮัตจีและเขื่อนท่าซางในพม่าซึ่งการสร้างเขื่อนทั้ง 2 แห่งอยู่ในแผนการนำกระแสไฟฟ้ามาใช้ในประเทศไทยตามแผนจีดีพีของไทย โดยหนังสือดังกล่าวมีองค์กรภาคประชาชน 51 องค์กรจากพม่าร่วมลงนาม แต่ไม่ตัวแทนของหน่วยงานรัฐเข้าร่วมในการประชุม จึงขอยื่อหนังสือให้กับผู้แทนภาคประชาชนที่จะไปเข้าพบนายรัฐมนตรีไทย
 
เขากล่าวด้วยว่าการก่อสร้างเขื่อนฮัตจีและท่าซางทำให้ประชาชนหลายพันคนต้องหนีข้ามพรมแดนเข้ามาในไทย และพบว่าเกิดการต่อสู้มากขึ้นในพื้นที่ที่จะสร้างเขื่อน ดังนั้นจึงไม่ต้องการให้รัฐบาลไทยสนับสนุนการสร้างเขื่อน เพราะเพียงแค่การเตรียมการก่อสร้างก็ทำให้ประชาชนกว่า 70,000 คน อพยพออกจากพื้นที่แล้ว นอกจากนี้เขายังได้ทิ้งท้ายว่า ผู้ลี้ภัยอยากอยู่ในบ้านในครอบครัวอย่างสันติ ในประเทศของของพวกเขา
 
โดโรธี เกรซ เกียเรโร FOCUS on the Global South กล่าวว่าในช่วงเดือนนี้มีการพูดคุยที่สำคัญต่างๆ เกิดขึ้นในประเทศไทย ที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ แม้แต่หัวข้อหลักของอาเซียนในปีนี้ก็คือ ‘อาเซียนสีเขียว’ แม้จะไม่รู้ว่าอาเซียนจะเป็นอาเซียนสีเขียวได้หรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่จะต้องติดตามตรวจสอบการทำงานของอาเซียนต่อไป
 
สิ่งที่มีการค้นพบอย่างสำคัญที่มาจากการประชุมของ UNFCC มีการศึกษาที่น่าสนใจออกมาเมื่อเดือนตุลาคมปีนี้ โดยมีการถกเถียงกันในทางวิทยาศาสตร์อย่างมากเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่โลกกำลังเผชิญอยู่ สิ่งที่เป็นปัญหาคือ ระดับของการปล่อยคาร์บอนในปี 2552 ของโลกเกินกว่าระดับที่ปลอดภัยแล้ว ก่อนที่จะเข้าสู่จุดเปลี่ยนที่สำคัญภายในปี 2050 เราต้องคิดร่วมกันแล้วว่าถึงตอนนั้นโลกจะเปลี่ยน และชีวิตบนโลกก็จะเปลี่ยนไปด้วย มันเป็นคำถามทีเดียวว่าหากถึงเวลานั้น สิ่งแวดล้อมอาจจะยังคงอยู่ได้ แต่มนุษย์และสิ่งมีชีวิตบนโลกจะอยู่อย่างไรเมื่อเงื่อนไขในการมีชีวิตอยู่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง
 
ปริมาณคาร์บอนไดออกไซค์ที่อยู่ในชั้นบรรยากาศในระดับที่ปลอดภัยนั้นผ่านเลยมากว่า 20 ล้านปีแล้ว ปัจจุบันนี้จึงไม่ใช่ครั้งแรกที่การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้เกิดขึ้น เมื่อค่าพีพีเอ็มเกินกว่า 350 ไปแล้วนั้น ทำให้ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้น 75 เมตร ซึ่งจะทำให้เมืองต่างๆ โดยเฉพาะที่อยู่ใกล้ทะเลได้รับผลกระทบจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น เช่น กรุงเทพฯ มะนิลา จาร์กาตาร์ ซึ่งอยู่ในจุดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ รวมถึงลุ่มน้ำต่างๆ ก็จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างสำคัญด้วย เช่น ลุ่มน้ำอิระวดี ลุ่มน้ำสาละวิน ลุ่มน้ำโขง
 
โดโรธี วิเคราะห์ถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศด้วยว่า ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะมันต้องเกิดขึ้น แต่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ เกิดจากกิจกรรมของคนบางคน และกิจกรรมในภาคส่วนเฉพาะบางภาคส่วน เราต้องให้ความสนใจที่ว่าวิกฤติการทางสภาพภูมิอากาศนั้น เป็นความจริงพื้นฐานที่ว่าคนร่ำรวยเพียงส่วนน้อยของโลก รวมทั้งบรรษัทขนาดใหญ่ต่างๆ ในโลกนี้ เป็นต้นเหตุของความจริงที่ก่อให้เกิดวิกฤติการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ คนกลุ่มน้อยเหล่านี้กำลังสร้างผลกระทบให้กับคนส่วนใหญ่ของโลก
 
ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ เมื่อเร็วนี้ เช่น น้ำท่วมที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เหตุการณ์ในประเทศเวียดนาม แผ่นดินไหวที่ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งอาเซียนก็ได้ออกแถลงการณ์บอกว่า ‘ปฏิบัติการเดี๋ยวนี้’ แต่สิ่งที่ต้องตั้งคำถามว่า แล้วผู้นำประเทศอาเซียนนั้นลงมือปฏิบัติเดี๋ยวนี้แล้วหรือ?
 
โดโรธี ให้ข้อมูลต้อมาว่า ความเป็นจริง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกย่อมส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ยากจนที่สุดที่อยู่ในทุกส่วนของโลกนี้ พวกเขาจะรับมือปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจะกระทบคนทั้งหมด ไม่ว่าจนหรือรวย แต่ระดับผลกระทบนั้นแตกต่างกัน การรับมือการจัดการต่อการเปลี่ยนแปลงก็แตกต่างกัน อย่างกรณีน้ำท่วมที่กรุงมะนิลา คนรวยสามารถที่จะจัดการโดยการซื้อเรือ ขณะที่คนจนต้องใช้เชือกเพื่อห้อยโหนชีวิตออกมาจากเหตุการณ์น้ำท่วม
 
เธอถามคำถามที่สำคัญกับในตอนนี้ว่า เราจะร่วมกันแบ่งปันบรรยากาศที่มีอยู่อย่างจำกัดนี้อยู่เพื่อชนรุ่นหลังได้อย่างไร เรากำลังอยู่ในยุคที่ประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นผู้มีส่วนสำคัญอย่างมากในการก่อให้เกิดสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางอากาศนี้ แต่กลับยังไม่จริงใจในการแก้ปัญหานี้ ตอนนี้เรากำลังหยิบยืมทรัพยากรอากาศในอนาคตมาใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมที่หยิบยืมทรัพยากรทางอากาศในอนาคตของประเทศกำลังพัฒนามาใช้ ต้องทำการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ
 
นอกจากนี้ ส่วนสำคัญที่ขาดหายไปในการพูดคุยเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศคือ ความยุติธรรม เรื่องการแบ่งปันพื้นที่อากาศในอนาคต ซึ่งจะเห็นได้ว่าประเทศยักษ์ใหญ่ละเลยที่จะแก้ปัญหา เมื่อพูดถึงการมีชีวิตอยู่ที่ดี หมายถึงอะไร? หมายถึงวิธีการที่มนุษย์ปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอย่างไร เป็นความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมร่วมกับเงื่อนไขทางสังคม ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่มีรากฐานจากแนวคิดการพัฒนาประเทศที่แต่ละประเทศให้ความสนใจ รัฐบาลอาเซียนถือว่าจีดีพี เป็นตัวชี้วัดความเจริญเติบโตของประเทศ การพัฒนาและส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่อยู่บนฐานของการเน้นการบริโภคเป็นสำคัญ ความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมจึงหายไป
 
เมื่อพูดถึงการแก้ปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ควรคิดถึงการเปลี่ยนแปลงระบบ เพราะระบบที่มุ่งเน้นการบริโภคนั้นเป็นรากเหง้าของปัญหา ต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบการพัฒนาที่ไม่ต้องเน้นทุนนิยม ตอนนี้ อาเซี่ยนมีการประชุมประมาณ 500 ครั้งต่อปี และมีการพูดถึงพิมพ์เขียวคาร์บอน อาเซียนต้องมีความรับผิดชอบในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาด้วย
 
ขอเรียกร้องอาเซียนว่า หนึ่ง การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนต้องวางอยู่บนหลักการพื้นฐานการมีสิทธิของประชาชน มีความเป็นธรรมและเท่าเทียมทางสังคม เศรษฐกิจ และเพศ รวมทั้ง มีการพัฒนาที่ยั่งยืน และมีอธิปไตยทางอาหาร
 
สอง อาเซียนต้องสร้างเงื่อนไขการใช้ชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำและบังคับใช้นโยบาย สาม ภาระของการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น คนที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมต้องรับผิดชอบสูงสุด นอกจากนี้ ทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติต้องไม่ขายให้เอกชนดำเนินการ ทั้งนี้ ต้องหาทางออกที่แท้จริงเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ขอเร่งให้อาเซียนส่งเสริมการพัฒนาพลังงานทางเลือกหมุนเวียน ใช้เทคโนโยลีที่มีประสิทธิภาพและสะอาด ลดงบประมาณทางการทหารแล้วส่งเสริมงบประมาณให้กับชุมชนจากระดับล่างให้มีการจัดการและใช้ทรัพยากร เพื่อระบบนิเวศน์ที่ยั่งยืน และอธิปไตยของชุมชน
 
ด้านเอลปิดิโอ ปีริอา เครือข่ายประเทศโลกที่สาม (Third World Network) จากฟิลิปปินส์ กล่าวในประเด็นความหลากหลายทางชีวภาพ โดยแสดงกราฟในช่วงปี 1990-2004 เพื่อแสดงให้เห็นว่า การจดสิทธิบัตรพันธุกรรมเพิ่มขึ้นอย่างมาก จนปัจจุบันมีการจดเกือบเจ็ดพันสิทธิบัตร ปัญหาที่ตามมาคือ มีการควบคุมสิ่งที่ทำ ไม่ว่าจะปลูกหรือใช้ ก็ต้องขออนุญาตจากผู้จดสิทธิบัตรก่อน เป็นปัญหากับชาวนารายย่อยที่ไม่สามารถแลกเปลี่ยนหรือปลูกได้ นอกจากนี้ จีเอ็มโอยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม กระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ การนำพืชจีเอ็มโอมาปลูกทำ จะทำให้พันธุ์พืชท้องถิ่นเปลี่ยนไป ทั้งยังมีงานวิจัยที่พบว่า พืชจีเอ็มโอส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงสัตว์ที่กินพืชเหล่านั้นเข้าไป
 
เอลปิดิโอ กล่าวว่า อาเซียนกำลังจะมีข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์ ซึ่งจะมีผลให้สิ่งมีชีวิตตัดแต่งพันธุกรรม (GMOs) เป็นสินค้า มีสี่ประเทศที่ลงนามไปแล้ว ขณะที่คนในท้องถิ่นถูกกีดกันออกไปจากการตัดสินใจ เพราะรัฐบาลส่วนใหญ่ของอาเซียนไม่ยอมรับการมีอยู่ของคนเหล่านี้
 
พวกเขาไม่ได้หยุดการเซ็นสัญญา แต่กลับเอาผลประโยชน์มารวมกัน มาดูว่าจะใช้ทรัพยากรในอาเซียนเพื่อการค้าได้อย่างไร ทั้งยังทำให้กฎหมายที่จะต่อต้านการจดสิทธิบัตรทำได้ยากขึ้นด้วย เอลปิดิโอ กล่าว
 
ขณะที่ผู้ลี้ภัยคนหนึ่งจากพม่า แสดงความเห็นต่อการใช้ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมว่า รัฐบาลอ้างว่าพวกเธอใช้ทรัพยากรป่าไม้มากจนไม่มีที่ให้อยู่ ต้องอพยพออกมา แล้วเหตุใดรัฐบาลอาเซียนจึงเข้าไปลงทุนด้านพลังงานในพม่า เพื่อไล่คนพม่าออกมาอีก
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net