Skip to main content
sharethis

แรงงานข้ามชาติชาวไทยใหญ่ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ยืนยันขอให้ศาลเพิกถอนหนังสือเวียนสำนักงานประกันสังคมที่เลือกปฏิบัติและปฏิเสธสิทธิของแรงงานข้ามชาติในการได้รับเงินจากกองทุนเงินทดแทนจากกรณีประสบอุบัติเหตุจากการทำงานเป็นเหตุให้พิการตลอดชีวิต

วานนี้ ( 20 ต.ค. 2552)นางหนุ่ม ไหมแสงแรงงานข้ามชาติซึ่งประสบอุบัติเหตุจากการทำงานเป็นเหตุให้พิการตลอดชีวิตและแรงงานข้ามชาติอีกสองรายได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาเพื่อให้ศาลฎีกามีคำสั่งให้สำนักงานประกันสังคมเพิกถอนหนังสือเวียนรส 0711/ ว.751 ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2544 ที่มีลักษณะเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติกว่าสองล้านคนในประเทศไทยที่ต้องเสี่ยงต่อสภาพการทำงานที่อันตรายและมักเกิดอุบัติเหตุและความเจ็บป่วยจากการทำงานบ่อยครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานจากประเทศพม่า

ด้วยผลของหนังสือเวียนดังกล่าว แรงงานข้ามชาติจึงถูกปฏิเสธสิทธิที่จะได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนในกรณีที่ประสบอุบัติเหตุ หรือเจ็บป่วยจากการทำงาน จึงเป็นหนังสือเวียนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดต่อรัฐธรรมนูญ อนึ่งการยื่นอุทธรณ์ในครั้งนี้ก็เพื่อเป็นการยืนยันถึงสิทธิในการเข้าถึงกองทุนเงินทดแทนของแรงงานข้ามชาติ
    
เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2552 ที่ผ่านมา ศาลแรงงานภาค 5มีคำพิพากษายกฟ้องคดีที่นางหนุ่มไหมแสงและแรงงานข้ามชาติอีกสองรายที่ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนหนังสือเวียนที่เลือกปฏิบัติดังกล่าวโดยศาลแรงงานภาค 5 เห็นว่าประเด็นความชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายของหนังสือเวียนดังกล่าวนั้นปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาโจทก์ที่ 2 และที่ 3 นั้นไม่มีอำนาจฟ้อง

นายสมชาย  หอมลออเลขาธิการมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา(มสพ.) กล่าวว่า:“สาระสำคัญของอุทธรณ์ว่าคำฟ้องในคดีนี้แตกต่างจากคดีแรกด้วยในคดีเดิมนั้น
นางหนุ่มเพียงแต่ขอให้ศาลมีคำสั่งให้คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนจ่ายเงินทดแทนให้แก่นางหนุ่มแทนนายจ้างซึ่งปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา แต่ในคดีนี้ นางหนุ่ม ยื่นฟ้องเพื่อขอให้ศาลแรงงานภาค 5 มีคำสั่งให้สำนักงานประกันสังคมเพิกถอนหนังสือรส 0711/ ว.751 ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2544 ซึ่งเป็นหนังสือเวียนที่กำหนดแนวทางปฏิบัติของสำนักงานประกันสังคมในการจ่ายเงินทดแทนที่มีลักษณะเลือกปฏิบัติระหว่างแรงงานไทยกับแรงงานข้ามชาติและแรงงานข้ามชาติด้วยกันเอง อันเป็นแนวทางปฏิบัติที่ขัดต่อพระราชบัญญัติเงินทดแทนและรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายแม่บท”

ส่วนประเด็นที่ศาลแรงงานภาค 5 เห็นว่าโจทก์ที่ 2 และที่ 3ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น นายสมชายเห็นกล่าวว่านี่เป็นข้อกฎหมายที่สังคมไทยต้องการความชัดเจนเช่นกันเนื่องเพราะก่อนหน้านี้นางหนุ่มและโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ในฐานะ‘ผู้ที่อาจได้รับผลกระทบหรือเดือดร้อนเสียหาย’เคยยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งให้สำนักงานประกันสังคมเพิกถอนหนังสือเวียนฯดังกล่าวแล้วแต่ศาลปกครองเชียงใหม่และศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาว่าคดีนี้ไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองแต่เป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลแรงงาน”

นายสมชายระบุว่าคำตัดสินของศาลฎีกาต่ออุทธรณ์คดีนี้จะเป็นการวางบรรทัดฐานถึงบทบาทของกระบวนการยุติธรรมในการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง(Judicial Review) ว่า หนังสือ รส 0711/ ว.751 ที่สปส.วางหลักเกณฑ์การจ่ายเงินทดแทนฯ มีลักษณะเลือกปฏิบัติและไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะหากพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของกองทุนเงินทดแทนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นทุนในการจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างที่ประสบอันตรายแทนนายจ้างในกรณีที่นายจ้างต้องจ่ายเงินทดแทนโดยกำหนดให้นายจ้างต้องส่งเงินสมทบในอัตราที่เหมาะสมกับความเสี่ยงภัยของกิ จการที่นายจ้างประกอบธุรกิจ และแม้โจทก์ทั้ง 3 คนจะเป็นแรงงานข้ามชาติแต่กองทุนเงินทดแทนเป็นหลักประกันทางสังคมที่กฎหมายกำหนดให้คุ้มครองแรงงานทุกคนโดยไม่ได้คำนึงถึงความแตกต่างทางด้านสัญชาติ หรือสถานะบุคคล ฯลฯ นอกจากนี้โจทก์ทั้ง 3
มีสถานะบุคคลเป็นคนต่างด้าวในทะเบียนราษฎรไทย ทั้งยังเป็นแรงงานที่ได้รับอนุญาตให้อยู่อาศัยและทำงานในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว การออกหนังสือดังกล่าวจึงเป็นการเลือกปฏิบัติ”    

อนึ่ง การปฏิเสธของสำนักงานประกันสังคมที่จะอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงกองทุนเงินทดแทนยังคงอยู่ภายใต้การพิจารณาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศและผู้รายงานพิเศษสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net