เมื่อประชาชนล่าชื่อเสนอกฎหมายตั้งองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ทุกวันนี้ เมื่อรัฐตัดสินใจลงทุนในโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ หรืออนุมัติให้เอกชนเข้าร่วมดำเนินการ ภาพของกลุ่มผู้ประท้วงคัดค้าน กลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการนั้นๆ ก็จะตามมาจนแทบจะเป็นของคู่กันไปเสียแล้ว

แต่กระนั้นก็ดี เสียงเล็กเสียงน้อยจากผู้คนที่ไม่ได้ถืออำนาจใดไว้ในมือก็ยังคงไม่เคยมีใครเหลียวแล ชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ยังต้องก้มหน้ารับผลร้ายจากโครงการต่างๆ ต่อไป โดยไม่อาจแก้ไขเยียวยาในสิ่งที่พวกเขาเสียไปได้ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ได้เปิดช่องทางให้แสงสว่างที่พอจะเป็นความหวังแก่ปัญหาดังกล่าว โดยกำหนดไว้ในมาตรา 67 วรรคสองว่า การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงจะต้องผ่าน 3 ขั้นตอนคือ

1) ต้องทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และรายงานประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (HIA)

2) ต้องจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่

3) ต้องให้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพได้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณา

ทั้ง 3 ขั้นตอนนี้ต้องทำก่อนที่โครงการหรือกิจกรรมจะเริ่มต้นขึ้น เพื่อช่วยป้องกันปัญหาที่จะส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของชุมชน และอาจช่วยไม่ให้เกิดปัญหาความขัดแย้งที่บางครั้งต้องเลยเถิดไปจนถึงขั้นที่ต้องใช้ความรุนแรง

อย่างไรก็ตาม ระบบการทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ก็ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความถูกต้องน่าเชื่อถืออยู่มาก เพราะมีเพียงส่วนราชการที่มีอำนาจหน้าที่อนุมัติและติดตามตรวจสอบ ขณะที่บริษัทที่ปรึกษาซึ่งเป็นเอกชนก็มีลักษณะเป็นลูกจ้างของผู้ทำโครงการ การทำรายงานประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (HIA) ก็ยังไม่มีกฎหมายหรือหน่วยงานใดกำหนดหลักเกณฑ์ให้มีผลในทางปฏิบัติ ส่วนการเปิดรับฟังความคิดเห็นก็มักจะมีการหลบเลี่ยงหรือทำในลักษณะพอเป็นพิธีขาดความจริงใจ

ความหวังสุดท้ายของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการอุตสาหกรรมและอนาคตของสิ่งแวดล้อมไทย จึงต้องให้ความสนใจไปที่ “องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ” ซึ่งรัฐธรรมนูญก็บัญญัติไว้แล้วในมาตรา 67

องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เคยถูกกล่าวถึงไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2540 มาแล้วครั้งหนึ่ง จนมาถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็กล่าวถึงองค์กรนี้อีกเช่นกัน และแม้ว่าจะได้กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลด้วยว่าให้รัฐบาลออกกฎหมายกำหนดรายละเอียดให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันแถลงนโยบายต่อรัฐสภา แต่รัฐบาลทุกชุดที่ผ่านมาก็ยังไม่ได้ทำหน้าที่ออกกฎหมายระดับพระราชบัญญัติเพื่อจัดตั้งองค์กรลักษณะนี้ให้เกิดขึ้นจริง

จนเมื่อเดือนกันยายน 2552ศาลปกครองมีคำสั่งระงับการอนุมัติโครงการ 76 โครงการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด รัฐบาลจึงตื่นตัวและมีข้อเสนอให้แก้ไข พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ที่มีอยู่เดิม กำหนดให้องค์กรใดๆ ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมสามารถขอจดทะเบียนเป็นองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมได้ และให้มีอำนาจพิจารณาให้ความเห็นประกอบโครงการ หากเห็นว่าไม่เป็นกลาง รัฐมนตรีมีอำนาจเพิกถอนได้

แนวทางดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ต้องตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้เกิดองค์กรระดับชาติขึ้นมาถ่วงดุลกับภาครัฐ และไม่อาจได้องค์กรที่เป็นอิสระ เป็นกลาง มีความน่าเชื่อถือเพียงพอมาเป็นทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้นได้

ดังนั้น เพื่อดำเนินการให้เกิดมาตรการคุ้มครองสิทธิของประชาชนและปกป้องสิ่งแวดล้อม ในแบบที่บังคับใช้ได้จริง ภาคประชาชน นำโดยเครือข่ายสิ่งแวดล้อมไทย จึงจัดทำร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมขึ้น มีเนื้อหาสาระที่น่าสนใจคือ

• ให้มีคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จำนวน 9 คน ประกอบด้วย ประธานหนึ่งคน ผู้มีความรู้หรือประสบการณ์ด้านการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและสุขภาพเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งได้รับเลือกจากบุคคลที่เป็นผู้แทนขององค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจำนวน 4 คน และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพจำนวน 4 คน (มาตรา5)

• คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังนี้ (มาตรา 16) 1) กำหนดประเภทโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ 2)ให้ความเห็นต่อโครงการ หรือกิจกรรม ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ รวมทั้งนโยบายหรือแผนซึ่งเป็นที่มาของโครงการหรือกิจกรรมดังกล่าว 3) ส่งเสริม สนับสนุนประชาชนให้มีส่วนร่วมในกระบวนการให้ความเห็นต่อโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพก่อนดำเนินการฯลฯ

• ในการจัดทำรายงานความเห็นเกี่ยวกับโครงการหรือกิจกรรมใด ให้คณะกรรมการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำรายงานดังกล่าว (มาตรา25)

• ให้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ขึ้นเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ ให้สำนักงานมีฐานะเป็นนิติบุคคล และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการ โดยมีประธานกรรมการเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด (มาตรา 27)

ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ กำลังอยู่ในระหว่างเปิดให้ประชาชนช่วยกันลงชื่อให้ครบหนึ่งหมื่นชื่อเพื่อเสนอกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เป็นที่หวังว่าหากได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ก็จะช่วยให้มีองค์กรอิสระที่เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย มาทำหน้าที่เป็นกลไกคอยถ่วงดุลป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น และเป็นอีกหนึ่งทางออกของความขัดแย้งทั้งหลายได้

นอกจากนี้แล้ว ล่าสุดกระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ลงวันที่ 14 กันยายน 2552 กำหนดบัญชีรายชื่อกิจการที่มีผลกระทบต่อประชาชนอย่างรุนแรงตามนัยรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสองออกมา ซึ่งมีผลให้โครงการหรือกิจกรรมที่อยู่นอกเหนือประกาศฉบับนี้ ไม่อยู่ภายใต้บังคับให้ต้องทำรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ไม่ต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และไม่ต้องให้องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพให้ความเห็นประกอบการพิจารณา

มีข้อวิพากษ์วิจารณ์กันว่า ประกาศฉบับนี้ตั้งเพดานหลักเกณฑ์ไว้ต่ำเกินไป เป็นนัยเพื่ออำนวยความสะดวกให้โครงการขนาดใหญ่หลายโครงการหลบเลี่ยงกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสองดังกล่าว เป็นการลักลั่นอาศัยช่องว่างขณะที่ยังไม่มีการจัดตั้งองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมมาควบคุมดูแล

โครงการใหญ่ๆ ในปัจจุบันหลายโครงการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนอย่างเห็นได้ชัด เช่น กรณีการขยายอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุด จ.ระยอง โรงถลุงเหล็กบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โรงไฟฟ้าหนองแซง จ.สระบุรี เหมืองแร่ทองคำ จ.พิจิตร ฯลฯ กลับเป็นโครงการที่หลุดรอดหลักเกณฑ์ในประกาศกระทรวงฉบับดังกล่าวทั้งสิ้น

หากการผลักดันร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของภาคประชาชนเกิดขึ้นได้เร็วเท่าไร ก็จะมีผลให้อำนาจในการกำหนดหลักเกณฑ์โครงการที่จะต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสองนั้นเปลี่ยนมือมาเป็นของคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และอาจจะแก้ไขประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรมดังกล่าวได้

 

หมายเหตุ -ไอลอว์ (iLaw) หรือโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน ขอเชิญชวนประชาชนทั่วไปที่สนใจเป็นหนึ่งในหมื่นรายชื่อที่ร่วมเสนอกฎหมาย อ่านรายละเอียด และดาวน์โหลดแบบฟอร์ม ได้ที่ http://ilaw.or.th/node/255

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท