Skip to main content
sharethis

หนังสือ แนวการวิเคราะห์การเมืองแบบขบวนการทางสังคม
โดย ประภาส ปิ่นตบแต่ง
คำนำโดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร
...........................................

ภาพปกหนังสือ แนวการวิเคราะห์การเมืองแบบขบวนการทางสังคม เขียนโดย ประภาส ปิ่นตบแต่ง 

ปัจจุบัน มีความสนใจถกเถียง แลกเปลี่ยนมิติการเมืองของขบวนการทางสังคมทั้งในส่วนของนักเคลื่อนไหวในขบวนการฯ และมีการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาทางต่างๆ ในวงวิชาการต่างประเทศมีงานเขียนจำนวนมากในเชิงแนวคิด ทฤษฎี ซึ่งก็มาจากการสังเคราะห์ประสบการณ์การเคลื่อนไหวทางสังคม แต่ในสังคมไทยดูเหมือนว่า ถกเถียงแลกเปลี่ยน การเรียนรู้ แม้จะมีอย่างกว้างขวาง แต่ก็ไม่มีงานเขียนมากนัก

ดังนั้น หนังสือ ‘แนวการวิเคราะห์การเมืองแบบขบวนการทางสังคม’ โดย ประภาส ปิ่นตบแต่ง ภาควิชากาปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่มนี้ จึงมุ่งสำรวจองค์ความรู้การวิเคราะห์การเมืองในแนวการวิเคราะห์แบบขบวนการทางสังคม

 

สำหรับเนื้อหาส่วนที่ 1 จะเป็นการการสำรวจกรอบแนวคิดทฤษฎีในการวิเคราะห์การเมืองแบบขบวนการทางสังคม โดยชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการแนวการวิเคราะห์ของสำนักคลาสสิก อันได้แก่สำนักจิตวิทยาสังคม สำนักพฤติกรรมร่วม ฯลฯ ซึ่งเป็นพื้นฐานความคิดสำคัญของการมองการรวมตัวกันของผู้คนแบบฝูงชน ซึ่งต่อมาได้ถูกวิพากย์วิจารณ์จากกระแสการศึกษาโดยทฤษฎีขบวนการทางสังคมแบบใหม่ (new social movement) สำนักวัฒนธรรม (cultural approach) และการเมืองแบบอัตลักษณ์ (identity politics) ซึ่งเป็นแนวการวิเคราะห์ในสายนักวิชาการด้านขบวนการทางสังคมในยุโรป

นอกจากนี้ ในส่วนของนักวิชาการสายทวีปอเมริกาคือ สำนักทฤษฎีการระดมทรัพยากร (resource mobilization) ก็ได้พัฒนาแนวการวิเคราะห์โดยให้ความสนใจกับองค์กรการเคลื่อนไหว ยุทธวิธีการเเคลื่อนไหว(กรอบการวิเคราะห์แบบกระบวนการทางการเมือง (political process)) และการวิเคราะห์โครงสร้างโอกาสทางการเมือง (political opportunity structure) ดังเค้าโครง

การสำรวจกรอบแนวคิดทฤษฎีในการวิเคราะห์การเมืองแบบขบวนการทางสังคมต่อไปนี้

1.สำนักคลาสสิก (สำนักจิตวิทยาสังคม สำนักพฤติกรรมร่วม ทฤษฎีการลิดรอนเชิงเปรียบเทียบ)

2.ทฤษฎีขบวนการทางสังคมแบบใหม่

3.สำนักทฤษฎีการระดมทรัพยากร

4. กรอบการวิเคราะห์โครงสร้างโอกาสทางการเมือง (political opportunity structure) และกรอบการวิเคราะห์แบบกระบวนการทางการเมือง (political process)

  • พัฒนาการของกรอบการวิเคราะห์และจุดเน้นของการวิเคราะห์
  • โครงสร้างโอกาสทางการเมือง (political opportunity structure) : นิยาม ความหมาย และตัวชี้วัด
  • กรอบการวิเคราะห์แบบกระบวนการทางการเมือง (political process) พัฒนาการและจุดเน้นของการวิเคราะห์
  • ปัญหาในการศึกษาและข้อเสนอ

 

5. การวิเคราะห์ยุทธวิธีการเคลื่อนไหวประท้วง (protest) ของขบวนการทางสังคม

พิจารณารูปแบบ ลักษณะ และการจัดประเภท โดยแบ่งเป็น

  1. ยุทธวิธีการใช้ความรุนแรง (violence)
  2. ยุทธวิธีการขัดขวาง ท้าทายระบบการเมืองปกติ (disruptive)
  3. ยุทธวิธีตามช่องทางระบบการเมืองปกติ (conventional)

6. การวิเคราะห์ผลสำเร็จ-ล้มเหลว และผลสะเทือนของขบวนการทางสังคม

โดยจะพิจารณาถึง นิยาม ความหมาย และเกณฑ์ในการชี้วัดและข้อถกเถียง การพิจารณา

ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับผลสำเร็จหรือล้มเหลวและข้อถกเถียง และส่วนสุดท้าย เป็นการสำรวจปัญหาในการศึกษาและข้อเสนอสำหรับการวิเคราะห์ผลสำเร็จ-ล้มเหลว และผลสะเทือนของขบวนการทางสังคม

 

ในส่วนที่ 2 จะเป็นการสำรวจงานศึกษาขบวนการทางสังคมในประเทศไทย เพื่อให้เห็นสถานภาพองค์ความรู้ในการศึกษา เพื่อให้เห็นสภาพปัญหาและนำไปสู่การตั้งโจทย์ในการทำความเข้าหรือการศึกษาวิจัยหรือข้อถกเถียงใหม่ๆ

ผู้เขียนงานชิ้นนี้มุ่งหวังจะให้เป็นตำราพื้นฐานสำหรับการทำความเข้าใจขบวนการทางสังคม การเมืองภาคประชาชน และองค์กรนอกภาครัฐในกระบวนการนโยบายสาธารณะ เพื่อประโยชน์แก่นิสิตนักศึกษาใช้เป็นกรอบในศึกษาการวิเคราห์การเมืองในบริบทที่มีการเคลื่อนไหวและเติบโตในพื้นที่ประชาสังคมของสังคมไทย และจะเป็นประโยชน์ต่อสำหรับนักเคลื่อนไหวในขบวนการทางสังคมที่จะได้ใช้เป็นกรอบในการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และสังเคราะห์ประสบการณ์ต่อไป

ภาพปกหลังหนังสือ แนวการวิเคราะห์การเมืองแบบขบวนการทางสังคม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net