นักสิทธิมนุษยชนเรียกร้องอัยการตรวจสอบการตั้งข้อหาผู้ต้องสงสัย 3 จังหวัดใต้เกินกว่าเหตุ

โครงการเข้าถึงความยุติธรรมและการคุ้มครองทางกฎหมาย  มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ออกแถลงการณ์เรื่อง “เรียกร้องบทบาทอัยการ กรณีการตั้งข้อหาหนักขาดการตรวจสอบถ่วงดุลพนักงานสอบสวน” หลังได้รับการร้องเรียนตั้งข้อหาเกินกว่าเหตุ และมีการซ้อมทรมาน

21 ต.ค.52  โครงการเข้าถึงความยุติธรรมและการคุ้มครองทางกฎหมาย  มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ออกแถลงการณ์เรื่อง “เรียกร้องบทบาทอัยการ กรณีการตั้งข้อหาหนักขาดการตรวจสอบถ่วงดุลพนักงานสอบสวน” เมื่อวันที่ 20 ต.ค. เรียกร้องให้อัยการเข้ามามีบทบาทในการตรวจสอบพนักงานสอบสวนในกาตั้งข้อหาซึ่งมีผู้ร้องเรียนว่าเกินกว่าเหตุและหลักฐานที่ปรากฏ และการจับกุมคุมตัวผู้ต้องสงสัย ซึ่งมีการร้องเรียนอีกเช่นกันว่ามีการซ้อนทรมาน และข่มขู่ให้รับสารภาพ

 
แถลงการณ์
เรียกร้องบทบาทอัยการ กรณีการตั้งข้อหาหนักขาดการตรวจสอบถ่วงดุลพนักงานสอบสวนให้อำนวยความยุติธรรม สร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม
 
เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2552 นายซานูตี ดอเลาะ และนายซอบรี หะยีได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการจังหวัดปัตตานีกรณีตกเป็นผู้ต้องหาคดีความมั่นคงอย่างไม่เป็นธรรม ทั้งสองเป็นผู้ต้องหาคดีหมายเลขดำที่ พ.๕๘๔/๒๕๕๒ โดยพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรโคกโพธิ์ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ได้ตั้งข้อกล่าวหาในความผิดฐาน“ร่วมกันฆ่าและพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำตามหน้าที่ และต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานซึ่งกระทำตามหน้าที่ มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตพกพาอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุอันสมควร ยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดในหมู่บ้านที่ชุมชน โดยใช่เหตุโดยผิดกฎหมายหรืออั่งยี่หรือซ่องโจรและร่วมกันสะสมกำลังพลเพื่อกระทำการก่อการร้าย”ซึ่งพนักงานสอบสวนได้มีความเห็นควรสั่งฟ้องและส่งสำนวนให้พนักงานอัยการจังหวัดปัตตานีเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2552 และคดีอยู่ระหว่างการขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 5 ถูกควบคุมตัวกว่า 60 วันที่เรือนจำจังหวัดปัตตานี ก่อนหน้านี้ถูกควบคุมตัวตามอำนาจกฎอัยการศึกและพรก.ฉุกเฉินมากกว่า 30 วัน
 
            เหตุการณ์ที่บ้านคลองช้างเหตุเกิดเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 มีเหตุการณ์ปะทะและการจับกุมตัวบุคคลต้องสงสัยก่อเหตุความไม่สงบในพื้นที่บ้านคลองช้าง ต. นาเกตุ อ.โคกโพธิ์ จ. ปัตตานี เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ทหารคือสิบตรีสุรชัย ศิลานนท์ และนายฮัมดี แวสะมะแอ เสียชีวิต และนายซอบรี หะยี และนายซานูตี ดอเลาะได้รับบาดเจ็บโดยญาติและชุมชนระบุว่าการบาดเจ็บเกิดจากการทำร้ายร่างกายของเจ้าหน้าที่ฯ
 
นายซานูตี ดอเลาะ และนายซอบรี หะยีได้ให้การในชั้นสอบสวนว่า มิได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด โดยระบุว่าเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2552 นายฮัมดี แวสะมาแอ ผู้ตาย ได้ไปแจกบัตรเชิญงานแต่งงานที่บ้านของนายซอบรี หะยี และนายซานูตี ดอเลาะอยู่ด้วย ต่อมามีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจหลายสิบนายเข้ามาปิดล้อมหมู่บ้าน ด้วยความตกใจ นายฮัมดีและผู้ร้องทั้งสองได้วิ่งเข้าไปในบ้านที่เกิดเหตุที่บ้านคลองช้างตำบลนาเกตุ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้เข้ามานำตัวผู้ร้องทั้งสองออกมาบริเวณหน้าบ้านหลังดังกล่าว แต่ไม่ได้นำตัวนายฮัมดีออกมาด้วย โดยเจ้าหน้าที่ได้ทำร้ายร่างกายผู้ร้องทั้งสองอย่างสาหัสบริเวณหน้าบ้านเพื่อให้ผู้ร้องทั้งสองรับสารภาพว่าเป็นกลุ่มแนวร่วมในการก่อความไม่สงบ โดยมีชาวบ้านหลายรายเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย ต่อมาผู้ร้องทั้งสองทราบภายหลังว่ามีการปะทะภายในบ้านจนเป็นเหตุให้นายฮัมดีและเจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต โดยนับตั้งแต่วันที่ผู้ร้องทั้งสองถูกควบคุมตัวผู้ร้องทั้งสองถูกซ้อมทรมานทำร้ายร่างกายได้รับบาดเจ็บสาหัสจนต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลโคกโพธิ์และโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร อีกทั้งผู้ร้องทั้งสองยังถูกข่มขู่และบังคับให้รับสารภาพระหว่างการควบคุมตัวทั้งที่โรงพยาบาลและในค่ายทหารดังกล่าวมาโดยตลอด
ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรมมีความเห็นว่าการตั้งข้อกล่าวหาของพนักงานสอบสวนอาจเป็นการตั้งข้อกล่าวหาที่รุนแรงเกินกว่าความเป็นจริงและเกินกว่าพยานหลักฐานที่ปรากฏและได้มา และสนับสนุนการเรียนร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการจังหวัดปัตตานีของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองคน
 
“ขอเรียกร้องให้อัยการซึ่งเป็นบุคคลกรหนึ่งในกระบวนการยุติธรรมทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของพนักงานสอบสวนอย่างเคร่งครัดและเป็นธรรม เนื่องจากที่ผ่านมาในสถานการณ์ความขัดแย้งทำให้มีการจับกุมควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงและคดีอาญาเป็นจำนวน จำนวนหนึ่งถูกฟ้องดำเนินคดีด้วยข้อหาที่ไม่เป็นธรรมและการข้อหาหนักเช่นการก่อการร้าย อั้งยี่ซ่องโจร คดีอาญาโทษหนัก โดยไม่มีหลักฐานที่หนักแน่นพอจนทำให้ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงล้นคุก ไม่สามารถได้รับการประกันตัว การดำเนินคดีโดยปราศจากหลักฐานที่เพียงพอทำศาลได้ตัดสินยกฟ้องจำนวนกว่า 30% ซึ่งหากถ้าดูในรายละเอียดของคดีต่างๆ พบว่าพนักงานสอบสวนมีปัญหาในเรื่องการได้รับข้อสนเทศหรือหลักฐานโดยไม่ชอบ ทำให้ศาลไม่รับฟังและมีคำสั่งยกฟ้อง ทำให้สังคมขาดความเคารพเชื่อถือกระบวนการยุติธรรม และชาวไทยเชื้อสายมลายูเห็นว่ารัฐใช้กระบวนการยุติธรรมมากลั่นแกล้งพวกตน นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้”นายสมชาย หอมลออ ประธานมูลนิธิฯ กล่าว
 
นายสมชาย หอมลออ ยังกล่าวต่อไปว่า “องค์กรสิทธิมนุษยชนสงสัยว่า การฟ้องร้องดำเนินคดีผู้ต้องหาในสามจังหวัดภาคใต้ เกิดจากแนวคิดของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมที่ว่า ขังผู้ต้องหาไว้ให้นานที่สุดแม้ไม่มีหลักฐานเพียงพอเพื่อไม่ให้ออกไปก่อเหตุ ซึ่งถือเป็นการกลั่นแกล้งและยัดเยียดข้อหาแก่ผู้ต้องหาและขัดต่อหลักพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชนที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญและประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความอาญา ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำผิดจริง ดังนั้นเพื่อเรียกสร้างความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมคืนมา อัยการจึงควรมีบทบาทในการกลั่นกรองคดีและมีคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง หรือการขอให้พนักงานสอบสวนสอบเพิ่มเติมอย่างเป็นธรรมต่อผู้ถูกกล่าวหาและเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้เสียหายได้จริง”
 
มีรายงานว่าคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบของศูนย์ทนายความมุสลิม ทั้งสามจังหวัดรับผิดชอบแต่ละจังหวัดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และศูนย์ทนายความมุสลิมที่กรุงเทพมหานคร พบว่า มีคดีของศูนย์ฯ ที่ศาลพิพากษาแล้วรวมทั้งหมด 32 คดี ศาลลงโทษประหารชีวิต 2 คดี จำคุกตลอดชีวิต 1 คดี รอการลงโทษ 2 คดี ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง 1 คดี ศาลชั้นต้นยกฟ้อง 23 คดี และมีคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณา 344 คดี จากคดีที่รับผิดชอบทั้งหมด 373 คดี
 
“ในกรณีที่ศาลชั้นต้นตัดสินแล้วทุกคดีที่มีการตั้งข้อหาคดีความมั่นคงเช่นอั้งยี่ ซ่องโจรและข้อหาก่อการร้ายนั้นศาลชั้นต้นมีคำสั่ง “ยกฟ้อง”ในข้อหาดังกล่าวทั้งสิ้น โดยทางพนักงานอัยการไม่สามารถนำเสนอพยานหลักฐานเชื่อมโยงการกระทำความผิดดังกล่าว ดังนั้นการตั้งข้อหาหนักและข้อหาทางการเมืองเช่นนี้ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้รับความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม สร้างความเสียหายให้กับความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมและการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ฯ” นายสิทธิพงศ์ จันทรวิโรจน์ เลขาธิการศูนย์ทนายความมุสลิม กล่าวเพิ่มเติม
 
ทั้งนี้นายซานูตี ดอเลาะ และนายซอบรี หะยี ได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมกับอัยการจังหวัดปัตตานีในวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2552 เลขรับที่ 3420 และก่อนหน้านี้ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรมก็ได้ทำหนังสือขอให้หน่วยงานทหารตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ในการปิดล้อมตรวจค้นบ้านคลองช้างดังกล่าวไปแล้วเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2552 และวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2552 เพราะการปฎิบัติการของหน่วยงานความมั่นคงฯที่เกิดเหตุปะทะทำให้มีผู้เสียชีวิตหนึ่งคนเป็นเจ้าหน้าที่ทหารและอีกหนึ่งคนเป็นชาวบ้าน และนายซานูตี ดอเลาะ และนายซอบรี หะยีถูกซ้อมทำร้ายร่างกายและถูกพนักงานสอบสวนฟ้องคดีในปัจจุบัน แต่ยังไม่ได้รับทราบความคืบหน้า
 
ติดต่อ ข้อมูลเพิ่มเติม:
โครงการเข้าถึงความยุติธรรมและการคุ้มครองทางกฎหมาย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
02-6934939, 086-7093000 และศูนย์ทนายความมุสลิม 08-9873-1626
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท