Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในประเทศที่เป็นนิติรัฐ (Legal State) นั้นย่อมมีการบังคับใช้กฎหมายด้วยหลักนิติธรรม (Rule of Law) โดยสาระสำคัญอยู่ที่ความเท่าเทียมกันหรือเสมอกันในเบื้องหน้าของกฎหมาย ซึ่งหลักเกณฑ์ที่บุคคลเสมอกันเบื้องหน้ากฎหมายนั้น มีวิวัฒนาการมาจากอารยธรรมโรมัน ที่รุ่งเรืองยิ่งใหญ่ มีอารยธรรมด้านต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านกฎหมายที่สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันคือหลักที่ว่า “All free men are equal before the law” ซึ่งก็หมายความว่า “อิสรชนทั้งหลายย่อมเท่าเทียมกันในเบื้องหน้าของกฎหมาย” ที่ใช้คำว่า “อิสรชน” หรือ free men ก็เนื่องเพราะในสมัยนั้นยังมีทาสอยู่นั่นเอง

ต่อมาหลัก “อิสรชนทั้งหลายย่อมเท่าเทียมกันในเบื้องหน้าของกฎหมาย” วิวัฒนาการมาเป็น หลักนิติธรรม หรือ The Rule of Law ที่ใช้เป็นสาระสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบัน ซึ่งประกอบไปด้วยหลักเกณฑ์ที่สำคัญ คือ

1. กฎหมายเป็นใหญ่ (Supremacy of Law) หมายถึงว่า ในการปกครองประเทศนั้นกฎหมายต้องเป็นใหญ่ที่สุด อยู่เหนือบุคคลหรือสถาบันใดๆ ซึ่งตรงข้ามกับประเทศที่ไม่ได้ใช้หลักนิติธรรม อาทิ ประเทศที่ปกครองในระบอบเผด็จการ เป็นต้น
 
2. เท่าเทียมกันในเบื้องหน้าของกฎหมาย (Equal before the Law) ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานเดิมตั้งแต่ยุคโรมันนั่นเอง แต่ตัดคำว่าอิสรชน หรือ free men ออก

3. ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย (No-one over the Law) เพราะระบอบประชาธิปไตยหมายถึงอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน เมื่อปวงชนเลือกผู้แทนของตนไปออกกฎหมายแล้ว กฎหมาย (ที่ออกมาโดยชอบตามระบอบประชาธิปไตย) ย่อมอยู่เหนือคนทุกคน ไม่ว่าเขาคนนั้นจะเป็นใคร ไม่ว่าจะเป็นประมุขของรัฐ เศรษฐีร้อยล้าน พันล้าน หรือราษฎรธรรมดาย่อมไม่สามารถอยู่เหนือกฎหมายได้ หากประเทศนั้นเป็นประชาธิปไตยที่ใช้หลักนิติธรรมในการปกครองประเทศอย่างแท้จริง

ในสังคมใดที่ขาดเสียซึ่งหลักนิติธรรม สังคมนั้นย่อมปั่นป่วนไร้เสียซึ่งความสงบสุข และมีโอกาสที่ผู้คนจะลุกขึ้นมาต่อต้านอำนาจรัฐที่ไร้ความเป็นธรรมนั้น ดังตัวอย่างจากรายงานข่าวต่างประเทศชิ้นนี้

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีรายงานข่าวต่างประเทศชิ้นเล็กๆ ชิ้นหนึ่งที่อ่านแล้วรู้สึกสะเทือนใจเป็นอย่างยิ่ง และทำให้หวนคิดเปรียบเทียบถึงสภาพสังคมและการบังคับใช้กฎหมายของไทยเราว่าก็อยู่ในสภาพที่ไม่แตกต่างกันเท่าใดนัก เพียงแต่แตกต่างในรายละเอียดเท่านั้น

รายงานข่าวที่ว่าก็คือการที่พ่อหัวใจสลายชำระแค้น ยิงผู้พิพากษา-นักการเมือง ข่มขืนลูกสาวโดยมีรายละเอียด คือ คุณพ่อชาวลิธัวเนียสวมบทมือปืน ชำระแค้นจำเป็น ยิงสังหารผู้พิพากษาและนักการเมือง หลังก่อเหตุข่มขืนลูกสาว เจ้าตัวแจ้งความตำรวจแต่ไม่ได้รับความสนใจ ขณะที่โลกอินเตอร์เน็ทแห่สนับสนุนและชื่นชม ยกให้เป็นยอดฮีโร่ มิหนำซ้ำประเทศเพื่อนบ้านยังเสนอที่ลี้ภัยให้อีกด้วย

เหตุการณ์ช็อกสังคมในคดีนี้มีนายดราริอุส คีย์เอ็ดส์ วัย 37 ปี ชาวลิธัวเนีย ได้ก่อเหตุใช้อาวุธปืนยิงผู้พิพากษา และนักการเมืองอาวุโสรายหนึ่ง เพื่อชำระแค้นกรณีทั้งสองได้ก่อเหตุข่มขืน ลูกสาวของเขาเมื่อปีก่อน โดยเขาได้พยายามแจ้งตำรวจเพื่อให้ดำเนินการเอาผิดกับบุคคลทั้งสอง เขาติดตามคดีเป็นเวลานับปี แต่ตำรวจกลับไม่ใส่ใจ ระบุว่าไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะเอาผิดบุคคลทั้งสองได้
 
รายงานข่าวระบุว่า ภายหลังเหตุการณ์ชำระแค้นอันน่าตกตะลึงดังกล่าว ชาวอินเตอร์เน็ททั่วโลกต่างแสดงการสนับสนุนการกระทำของนายดราริอุส บางรายบอกว่า “คุณเป็นฮีโร่ของเราทุกคน” “สิ่งที่เขาทำไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากความยุติธรรม” นอกจากนี้ ประเทศเพื่อนบ้านอย่างโปแลนด์ ยังเสนอที่ลี้ภัยให้แก่พ่อหัวใจสลายผู้ชำระแค้นให้ลูกสาวตัวเองรายนี้ด้วย โดยนักการเมืองรายหนึ่งบอกว่า เห็นได้ชัดว่ากฎหมายของลิธัวเนียไร้ประสิทธิภาพและขาดความเป็นธรรม

จากเหตุการณ์ดังกล่าวมีข้อสังเกตว่าผู้ที่ถูกคุณพ่อใจเด็ดคนนี้ใช้อาวุธปืนสังหารเป็นผู้ที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายโดยตรง คือ ผู้พิพากษา และผู้ที่มีหน้าที่ในการออกกฎหมาย คือ นักการเมืองซึ่งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแต่กลับเป็นผู้ละเมิดกฎหมายเสียเอง โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งมีหน้าที่จับกุมผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมายกลับละเลยไม่เอาใจใส่ในหน้าที่ของตน จนเป็นเหตุให้เกิดโศกนาฏกรรมดังกล่าวนี้

ผมเชื่อว่าการเลือกปฏิบัติในการบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรมในทำนองเดียวกันนี้เราสามารถพบเห็นได้โดยทั่วไปในประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลายที่ระบบกฎหมายยังอ่อนแอ ซึ่งก็รวมถึงประเทศไทยเราด้วย ไม่ว่าจะเป็นในสังคมชนบทที่มีเจ้าพ่อทั้งในและนอกเครื่องแบบ หรือเป็นสังคมเมืองที่มีการเลือกปฏิบัติอย่างไม่มีมาตรฐานจนเกิดปรากฏการณ์เสื้อเหลืองเสื้อแดงดังที่เราทราบกันดี

เรามักจะได้ยินข่าวอยู่เสมอว่ามีคนคุ้มคลั่งลุกขึ้นมาเอาอาวุธปืนยิงกราดผู้คนหรือเจ้าหนี้หรือแม้แต่ผู้บังคับบัญชาจนถึงแก่ชีวิต ซึ่งถ้าเราวิเคราะห์ถึงสาเหตุแล้วเราจะพบว่าส่วนใหญ่เกิดจากการไม่ได้รับความเป็นธรรมและไม่สามารถพึ่งพากลไกของรัฐในการบังคับใช้กฎหมายได้

หากเรายังจำเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก นักศึกษา 3,084 คน ถูกจับกุม ผู้นำนักศึกษา 19 คนถูกนำตัวขึ้นศาลทหาร นักศึกษาและประชาชนที่เหลือพากันหนีเข้าป่าไปเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยแล้วจับอาวุธขึ้นต่อสู้กับภาครัฐ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ จนกระทั่งเสียชีวิตในต่างแดน ทั้งหมดล้วนแล้วแต่มีสาเหตุมาจากการไม่ได้รับความเป็นธรรมในการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐนั่นเอง

ฉะนั้น หากเรายังมีการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมอยู่ดังเช่นปัจจุบันนี้ จึงไม่เป็นเรื่องที่แปลกอะไรที่ประชาชนไม่ว่าจะเป็นเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดง จะลุกขึ้นมาทวงสิทธิ อันชอบธรรมของเขา เพื่อให้ได้รับความเท่าเทียมกันในเบื้องหน้าของกฎหมายตามหลัก นิติธรรม และเราคงจะได้พบเห็นคนไทยอีกหลายคนลุกขึ้นมาชำระแค้นเพื่อเรียกร้องร้องความเป็นธรรม ดังเช่นนายดราริอุส คีย์เอ็ดส์ คุณพ่อชาวลิธัวเนียวัย 37 ปี ผู้นี้อีกเช่นกันในอนาคตอันใกล้นี้อย่างแน่นอน หากการบังคับใช้กฎหมายในสังคมไทยยังมีหลายมาตรฐานเช่นในปัจจุบันนี้

---------------------------
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุทธที่ 21 ตุลาคม 2552

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net