เปิดรายได้ ‘หอพัก’ ม.อ.ปัตตานี นักศึกษาโอดหักค่ากิจกรรมคืนไม่ถึง 2%

“บูมีตานี” หนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติของนักศึกษา คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี ได้สำรวจข้อมูลผู้เข้าพักในหอพักทั้งหมดภาย ม.อ.วิทยาเขตปัตตานี ณ วันที่ 22 มิถุนายน 2552 ที่พบว่า หน่วยหอพักมีรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมหอพักจากนักศึกษาในเทอม 1/2552 เป็นเงินรวม 3,288,800 บาท และในภาคฤดูร้อน 3/2551 เป็นเงิน 1,070,155 บาท รวมทั้งสิ้น 4,240,626 บาท เมื่อประมาณการรายได้ต่อปี พบว่า หน่วยหอพักมีรายรับประมาณ 7.4 ล้านบาท แต่ถูกหักเป็นงบประมาณกิจกรรมของหน่วยหอพักในปีการศึกษา 2552 เป็นเงิน 118,329 บาท มีสัดส่วนเท่ากับ 1.6% ของรายรับดังกล่าวเท่านั้น

นายอนันต์ จิตร์จำนง หัวหน้างานประสานการวางแผน สำนักงานอธิการบดี ม.อ. วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยว่า รายได้ของวิทยาเขตปัตตานี มาจาก หน่วยหอพัก ค่าธรรมเนียมนักศึกษา ค่าบำรุงมหาวิทยาลัย เงินสะสมวิทยาเขต และโรงเรียนสาธิตมัธยม โดยในปีการศึกษา 2552 มีรายได้รวมทั้งหมด 48,264,300 บาท โดยมีรายจ่ายทั่วไป 44,637,600 บาท ซึ่งยังไม่รวมกับงบประมาณที่ขอเบิกใช้เร่งด่วน เช่น งานรับเสด็จ ซ่อมแซมครุภัณฑ์ เป็นต้น

“รายได้ปีต่อปีไม่เพียงพอกับรายจ่ายทั้งหมด แต่ก็ไม่สามารถเก็บเงินเพิ่มจากนักศึกษาได้ โดยเงินรายได้ทั้งหมดต้องนำไปจัดสรรบำรุงรักษาหล่อเลี้ยงทุกเรื่องทั่ววิทยาเขต หลักๆ คือ ค่าจ้างบุคลากร” นายอนันต์ กล่าว
นายอนันต์ เปิดเผยด้วยว่า สำหรับรายจ่ายของหอพัก มีเข้ามาเรื่อยๆ ในรูปแบบตัวเลขที่ไม่ปรากฏในบัญชี แต่ปรากฏในบันทึกข้อความหลายฉบับ เช่น ค่าครุภัณฑ์หอพัก 9 เป็นเงิน 1,181,000 บาท ค่าเปลี่ยนแปลงสนามหญ้าหอพัก 9 เป็นลานจอดรถ เป็นเงินหลายแสนบาท ค่าเปลี่ยนเครื่องรับโทรทัศน์และเครือข่ายทรูวิชั่นของหอพัก 12 ชุด เป็นเงิน 374,300 บาท เป็นต้น ซึ่งไม่ใช่รายจ่ายประจำของแต่ละเทอม

นายอนันต์ เปิดเผยต่อว่า ปัญหาความเสื่อมโทรมของแต่ละหอพัก เกิดจากหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ตรวจสอบสภาพตามระยะแต่ละเทอม กว่าจะพบปัญหาได้ลุกลามแล้ว อย่างหอพัก 5 ที่ถูกปลวกรบกวนทั้งหลัง แต่จะปรับปรุงในไม่ช้า ซึ่งได้ตั้งงบไว้ที่ 3,315,000 บาท

ผศ.สุใจ ส่วนไพโรจน์ อาจารย์ที่ปรึกษาหอพัก 6 และ 7 กล่าวว่า รายรับรายจ่ายของแต่ละหน่วยงานควรจะแบ่งเป็นส่วนๆ ไม่ควรเอาทั้งหมดมารวมเข้ากองกลาง

ผศ.สุใจ กล่าวต่อว่า รู้สึกเป็นห่วงที่งบกิจกรรมของหน่วยหอพักลดลง เพราะกิจกรรมมีส่วนช่วยพัฒนาจิตใจของผู้พัก ซึ่งหอพักในความดูแลของตนได้งบมาเพียง 6,000 บาทต่อหนึ่งหอพัก ต้องจัดสรรให้เพียงพอกับกิจกรรมหอพักทั้งปีการศึกษา

“ค่าหอพักปีละ 3,200 บาทต่อคน แต่ได้ค่ากิจกรรมกลับมาเพียงปีละ 6,000 ต่อหนึ่งหอพัก ตกหัวละ 20 บาท แล้วเด็กจะทำกิจกรรมอะไรได้ ซึ่งตามสมควรแล้ว งบกิจกรรมนักศึกษาควรได้ 40% จากค่าหอพัก” ผศ.สุใจ กล่าว

ผศ.สุใจ กล่าวต่อว่า สภาพโดยรวมของหอพักดูทางกายภาพแล้ว รู้สึกหดหู่ ผู้ปกครองที่มาส่งลูกหลานถึงกับผงะเมื่อแรกเห็น ทั้งห้องน้ำที่ทรุดโทรม ก๊อกน้ำที่หมุนได้รอบทั้งหัว เก้าอี้ที่นั่งรอของผู้ปกครองหลุดล่อนเป็นแผ่นๆ ซึ่งน่าอับอายมาก ส่วนการซ่อมแซมเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แจ้งซ่อมไป ช่างก็มาซ่อมแค่เฉพาะจุดเท่านั้น ซึ่งความจริงแล้วควรจะรื้อเปลี่ยนทั้งระบบ

นางเครือมาส แก้วทอน นักวิชาการอุดมศึกษา งานบริการและสวัสดิการนักศึกษา โครงการจัดตั้งกองกิจการนักศึกษา หน่วยกิจการหอพัก เปิดเผยว่า ได้ตรวจสอบหอพักทุกเทอม และเคยเสนอให้มหาวิทยาลัยปรับปรุงหอพักไปแล้วหลายครั้ง แต่ก็ไม่ผ่านการพิจารณา ล่าสุดเสนอให้สร้างรั้วกั้นรอบหอพักเพื่อความปลอดภัย ก็ยังไม่ผ่านการพิจารณาอีก

นางเครือมาส กล่าวด้วยว่า ปีการศึกษา 2553 หน่วยงานบริการและสวัสดิการนักศึกษา ได้รับงบประมาณกิจกรรมหอพักเพียง 118,329 บาท เพื่อทำโครงการต่างๆ ในหอพัก ซึ่งน้อยกว่าปีการศึกษา 2552 ที่ได้มา 2 แสนบาท ดังนั้นกิจกรรมต่างๆ ในแต่ละหอพัก ในปีการศึกษา 2553 จึงเหลือเพียง 6 โครงการเท่านั้น

เสียง ‘เด็กหอ’ ห้องพัก ‘โทรม’ คุณภาพชีวิต ‘ด้อย’
นายซานูซี เจ๊ะมะ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาพัฒนาสังคม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ พี่หอพัก 1
“นักศึกษาในหอพักไม่ค่อยมีความสามัคคีกัน เพราะไม่มีกิจกรรมร่วมกัน อย่าว่าแต่ระหว่างหอเลย หอเดียวกัน ประตูติดกันยังไม่รู้จัก เพราะว่าไม่มีกิจกรรมทำร่วมกัน งบลงมาน้อย กิจกรรมแต่ละโครงการแค่สองพันบาท แล้วจะซื้ออะไรได้ พอต้องจัดจริงๆ ก็ต้องขอเก็บจากน้องปี 1 เพิ่มเติม แล้วนักศึกษาเองก็ไม่มีเงิน เค้าก็ไม่เข้าร่วม”

นายไซฟูเลาะ อับดุลเลาะ นักศึกษาหอพัก 1 สาขาวิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์
“นักศึกษาหอพักต้องแย่งต้องแย่งกันใช้ห้องน้ำในวันที่เรียนตอนเช้าทุกวัน เพราะจำนวนไม่เพียงพอ หนำซ้ำน้ำยังระบายไม่ทันเจิ่งนองทั่วพื้นห้อง เป็นเหตุให้นักศึกษาบางส่วนต้องไปเรียนสาย เรื่องเล็กน้อย เช่น ราวตากผ้าที่ทางหอพักจัดเตรียมให้ ก็ไม่มีความเพียงพอกับจำนวนผู้พัก”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท